ค่ำคืนที่ใครหลายคนได้นอนหลับพักผ่อนอยู่ใต้ผ้าห่มอบอุ่นสบาย แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้เวลาช่วงกลางคืนในการช่วยเหลือผู้คน รถตู้คันสีขาวที่วิ่งด้วยความเร็ว พร้อมกับเสียงสัญญาณที่ดังตลอดระยะทาง เสียงวอที่ดังด้านหน้ารถ เปรียบเสมือนเสียงสัญญาณร้องทุกข์ สำหรับอาสาสมัครกู้ภัยคนนี้แล้ว สิ่งนี้ทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำนั่นคือการช่วยเหลือผู้คน
เราขอพาทุกคนมาทำความรู้จักชีวิตของอาสาสมัครกู้ภัย จิตอาสายามรัตติกาล พี่บลุ๊ค-สหรัฐ สำลี เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัย มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ประจำจุดวัฒนะโยธิน และอดีตประธานชมรม BU EMS นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยหนุ่มที่รักการช่วยเหลือเป็นชีวิตจิตใจ กว่าจะมาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยในวันนี้ได้ เขาต้องเรียนรู้และฝึกฝนตนเองอย่างไรบ้าง
พี่บลุ๊ค-สหรัฐ สำลี เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัย มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง
ชีวิตจิตอาสาที่รักการช่วยเหลือผู้คน
บลุ๊คเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เรียบง่าย แต่กินใจ และเหตุผลในการมาเป็นอาสาสมัครหน่วยกู้ภัยให้เราฟังว่า เพราะรักในการช่วยเหลือ เราจึงอยากทำทุกวิธีให้เราสามารถช่วยทุกคนได้อย่างเต็มที่ ก่อนที่จะมาเป็นกู้ภัยเราก็ชอบช่วยเหลืออยู่แล้ว ไม่ว่าจะช่วยคนข้ามถนน ช่วยเก็บขยะ ช่วยเหลือทุกอย่าง วันนึงก็คิดว่ามันอาจจะมีวิธีช่วยที่ดีกว่านี้ หรือแตกต่างจากที่เราทำอยู่ เราลองหาวิธี หาข้อมูลเพจที่ช่วยเหลือคน จนมาเจอว่ามูลนิธิปอเต็กตึ๊งเปิดรับสมัครอาสาสมัครกู้ภัยอยู่ เราก็สมัครเลย
เราเริ่มทำงานช่วยเหลือครั้งแรกตอนอายุ 16 ปี ประมาณ ม.4 ตอนแรกก็ทำเฉพาะช่วงปิดเทอม ถ้าเปิดเทอมก็จะวันเว้นวัน แต่จะเข้างานไม่ดึกมาก ประมาณ 1 ทุ่ม ถึง เที่ยงคืน ก็ต้องเลิก เพราะเราต้องตื่นเช้าไปเรียน ถ้าช่วงปิดเทอมก็อยู่ถึงผลัดเวรถึงแปดโมงเช้า
เราถามต่ออีกว่า อายุ 16 ปี ทำไมบลุ๊คถึงเลือกจะทำงานอาสาสมัครกู้ภัยที่ต้องเสียสละหลายอย่าง แทนการทำกิจกรรมอื่นที่เพื่อนวัยเดียวกันทำ บลุ๊คเล่าด้วยท่าทีมุ่งมั่น ส่วนหนึ่งก็เป็นความชอบส่วนบุคคลด้วย ต้องว่างถึงจะออกไปทำได้ เราเลยอยากใช้เวลาที่เราว่างตรงนี้ให้เกิดประโยชน์
กว่าจะมาเป็นอาสาสมัครกู้ภัย
งานอาสาสมัครกู้ภัยไม่ใช่งานง่าย ๆ เพราะต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความชำนาญในการช่วยเหลือ บลุ๊คอธิบายว่างานนี้ทุกคนสามารถทำได้แน่นอน เพราะก่อนที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่จริง ทุกคนจะได้รับการฝึกอบรมการช่วยเหลือก่อน
ขั้นตอนแรกคือต้องสมัครเข้าไปก่อน พอสมัครแล้วเราก็จะมีชื่อในมูลนิธิเลย แต่ก่อนที่จะไปปฏิบัติงานจริง จะมีการอบรม การฝึกตั้งแต่ลำดับจาก 0-10 ที่เราฝึกมาก็จะเป็นการประเมินผู้ได้รับบาดเจ็บ ช่วยเหลือผู้ป่วย การเคลื่อนย้ายผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เคลื่อนย้ายผู้ป่วย การทำ CPR หรือ การช่วยเหลือเบื้องต้น การใช้เครื่อง AED หรือ เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่
ส่วนระยะเวลาในการฝึกรูปแบบต่าง ๆ จะไม่เหมือนกัน แบ่งเป็นช่วงบางการฝึกก็ปีละ 1 ครั้ง หรือ 2-3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง บางการฝึกเราก็จะได้รับใบประกาศ บางการฝึกจะเป็นรูปแบบพี่สอนน้อง บางการฝึกก็จะเป็นการฝึกใหญ่เลย ถ้าเกิดว่าไม่ผ่านการฝึกตรงนี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่สามารถไปช่วยได้ แต่ว่าก็ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยบอกอีกทีนึง แต่ถ้าเราผ่านการฝึกเราก็จะสามารถทำได้อย่างเต็มที่ด้วยตัวเองได้เลย
อาสาทำด้วยใจ
สำหรับเจ้าหน้าที่กู้ภัยของปอเต็กตึ๊ง อย่างแรกเลยเขาจะต้องเข้าเวรทุกวันและมีเงินเดือน เพราะว่าทำเป็นอาชีพ เป็นงานประจำเลย แต่อย่างผม ผมทำเป็นอาสาสมัคร ก็จะเข้าไปทำเฉพาะตอนที่เราว่างและสามารถเข้าไปทำได้ ถ้าวันไหนเราไม่ว่าง เราไม่เข้าก็ไม่เป็นไร อีกอย่างคืออาสาสมัครจะไม่ได้เงินเดือน เพราะเราทำเป็นจิตอาสา
เรียกได้ว่าเป็นงานที่ต้องเสียสละทั้งเวลา เงิน แรงกายและแรงใจ คนที่มาทำงานนี้ต้องทำด้วยใจล้วน ๆ เราขอปรบมือให้เลย
ชีวิตประจำวันของอาสา
ยิ่งคุยกันก็ยิ่งทำให้เราได้ฟังรายละเอียดงานที่น่าสนใจมาก บลุ๊คเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ในมูลนิธิมันจะมีหลายโซน บางโซนก็คือช่วยคนเจ็บธรรมดา แต่ถ้าคนเจ็บเขาสาหัสจนขั้นเสียชีวิต มันก็จะเกินหน้าที่ของเราที่ต้องดำเนินการ จะมีรถที่มาดำเนินการรับศพ เพราะว่าต้องมีการปั๊มลายนิ้วมือ มีการทำอะไรให้มันถูกต้อง แบ่งหน้าที่กันไป ในส่วนของอาสาสมัครก็จะเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น
ตามปกติเลยเวลาเข้าเวร เราก็จะต้องไปประจำจุดจอดของตัวเองครับ วันไหนที่มีเหตุเกิดขึ้น ถ้าเราอยู่ใกล้จุดเราก็จะรีบออกไปเพื่อช่วยเหลือ หน้าที่หลักของเราก็คือการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือช่วยเหลือเรื่องอื่น เช่น งูเข้าบ้าน รถเสีย เป็นต้น แต่ละวันมันก็จะไม่เหมือนกันครับ บางวันที่เราไปเข้าเวรไม่มีเหตุ ไม่มีเคสอะไรเลยก็มี ถ้าวันไหนที่ไม่มีเหตุอะไรเราก็จะนั่งอยู่ในรถเฉย ๆ รอฟังวิทยุเรื่อย ๆ ถ้ามีเหตุเราก็จะรีบออกไป
เราช่วยเขา เราต้องเซฟตัวเองก่อน
เราถามต่ออีกว่าความยากและอันตรายของการทำงานกู้ภัยคืออะไร บลุ๊คตอบเราอย่างตรงไปตรงมาว่า ความอันตรายของงานนี้คือการที่เราเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงในจุดเกิดเหตุต่าง ๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดเหตุอะไรขึ้น เราจะช่วยเขาได้ เราต้องเซฟตัวเองก่อน ไม่ว่าผู้ได้รับบาดเจ็บจะสาหัสแค่ไหน เราต้องเอาตัวเองให้ปลอดภัยไว้ก่อน
เวลาเราไปที่เกิดเหตุในทุกครั้งเราจะแบ่งหน้าที่กัน สมมติมีรถกู้ภัยไป 3 คัน มีเจ้าหน้าที่ 8 คน เราจะไม่รุมไปช่วยคนเจ็บทั้งหมด เราต้องประเมินคนเจ็บก่อน ถ้าไม่เจ็บมาก เข้าไป 2 คนก็ช่วยได้ ส่วนคนที่เหลือก็จะไปเก็บข้อมูลบ้าง ช่วยโบกรถคันอื่นบ้าง ถ้าเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน เวลาไปถึงที่เกิดเหตุ รถของหน่วยกู้ภัยจะต้องจอดห่างจากจุดเกิดเหตุ 10-15 เมตร เพื่อให้รถที่ขับผ่านมาทีหลังขับห่างไปไกล ๆ เพื่อที่เราจะได้ปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อน
เรื่องเล็กเล็ก ที่ไม่เล็กสำหรับงานกู้ภัย
บลุ๊คเล่าให้เราฟังต่อถึงช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุดระหว่างปฏิบัติหน้าที่ พร้อมบอกเคล็ดลับในการทำงานให้ปลอดภัย เพื่อเซฟผู้ป่วยและตัวเองไปพร้อมกัน ช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุดคือการขับรถไปส่งผู้ได้รับบาดเจ็บทุกครั้ง ไม่ว่าจะขับมานานแค่ไหน ยังไงมันก็ยังตื่นเต้นอยู่เพราะเราต้องแข่งกับเวลา
ในการที่เราขับไปส่งผู้ป่วยทุกครั้ง ข้อ 1. เราต้องเช็คตัวเองให้พร้อม 2. ถ้าเกิดว่าคนป่วยน้ำหนักตัวไม่เยอะมาก หรือว่าญาติคนป่วยขึ้นไปไม่เยอะมาก มันก็เป็นข้อดีในการขับรถของเรา มันจะช่วยยืดระยะในการเบรกได้ แต่ถ้าเกิดว่าผู้ป่วยน้ำหนักเยอะ แล้วญาติของผู้ป่วยขึ้นไปเยอะอีก การขับรถของเรามันก็จะอันตรายขึ้นไปด้วย เพราะว่าน้ำหนักบนรถมันมีส่วนครับ เต็มที่เราจึงจะให้ญาติขึ้นได้แค่ 1-2 คนเท่านั้น ถ้าเกิดว่าขึ้นไปเยอะมันก็จะทำให้ระยะในการเบรกของเรามันเพิ่มขึ้น อย่างเคยเบรกได้ 2 เมตรแล้วรถหยุด มันก็จะเพิ่มขึ้นไปเป็น 2.5-3 เมตร
เราเคยเจอเหมือนกันที่รถติดมาก ๆ จนเราไม่สามารถขับรถไปให้ถึงที่เกิดเหตุได้ เราก็ต้องลงจากรถแล้วเอากระเป๋าปฐมพยาบาลวิ่งไปให้ถึงที่เกิดเหตุก่อน แล้วรถค่อยตามมาที่หลัง เราต้องไปถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
เคสที่ยากและประทับใจที่สุด
ในตอนที่เรายังไม่ได้ฝึก ตอนที่เข้าไปทำแรก ๆ มันยากทุกเคสเลย เพราะว่าเรายังไม่มีความรู้ แต่พอได้เข้าอบรม ได้ฝึกผ่านมาแล้ว มันก็รู้สึกว่าไม่มีความยากในการปฏิบัติหน้าที่นะ นอกจากว่าจะเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างเสี่ยง อย่างบนทางด่วนที่รถวิ่งเร็ว ๆ หรือว่าเลนขวาสุดเวลาเกิดอุบัติเหตุ เพราะเวลาเกิดเหตุตอนแรก เราจะมีรถคันเดียวที่ไปเจอ ไม่สามารถปิดสถานที่เกิดเหตุได้ มันก็จะอันตรายสำหรับเราด้วย
บางทีเคสที่สาหัสมาก ๆ ญาติเขาก็จะกดดัน สมมติว่าเกิดเหตุแล้วผู้ได้รับบาดเจ็บเขาขาหักท่อนบน ช่วงต้นขา บริเวณนั้นทั้งหมดมันจะมีเส้นเลือดใหญ่ เส้นประสาทต่าง ๆ อยู่ตรงนี้ทั้งหมด ถามว่าเราช่วยเหลือเขาได้เลยมั้ย ช่วยได้ แต่ว่าเคสแบบนี้มันจะอยู่ในขั้นแดง คือร้ายแรง เราจำเป็นต้องเรียกรถพยาบาลมา เราต้องรอรถขั้นแอดวานซ์ของโรงพยาบาลมาก่อน เพราะถ้าผิดพลาดนิดเดียวมันอาจจะทำให้พิการได้ การช่วยเหลือตรงนี้ต้องมีการฝึกอบรมที่มากพอ และเราต้องมั่นใจในตัวเองว่าเราทำได้
ส่วนเคสที่ประทับใจที่สุด เป็นเคสคนจมน้ำที่สัตหีบครับ ตอนนั้นเราไปเที่ยว แล้วเกิดเหตุกับครอบครัวที่ไปเที่ยวเหมือนกัน มีพ่อ ลูกแล้วก็ย่าครับ ก็คือลูกเขาลงไปเล่นน้ำ แล้วจมน้ำ พ่อลงไปช่วยได้ แต่ว่าพ่อจมน้ำแทน แล้วก็มีคนแบกมาตรงชายหาด ผมกับพ่อเห็นพอดีก็เลยวิ่งเข้าไปช่วย ก็ปั๊มหัวใจตั้งแต่ที่ชายหาดจนถึงโรงพยาบาล แล้วหมอก็มาบอกเราว่าคนที่จมน้ำที่เราช่วย เขารอดชีวิต แล้วเขาก็ออกมาขอบคุณ เคสนี้เป็นเคสที่ประทับใจที่สุดครับ
ท้อได้ แต่ต้องเข้าใจด้วย
เพราะใช้เวลาชีวิตช่วยเหลือคนอื่น ๆ มากขนาดนี้ เคยมีบ้างไหมที่ท้อ
ช่วงแรกก็มีครับ มีเหนื่อยมีท้อบ้าง แต่ว่าตอนหลังเราก็ทำความเข้าใจได้ว่า เราไม่สามารถช่วยทุกคนได้ เราไม่ได้เรียนมาเพื่อช่วยฟื้นคืนชีพ ขนาดหมอช่วยบางเคสก็ยังต้องเสียชีวิต เราก็ต้องทำเข้าใจในส่วนนี้ เคยมีเคสนึงเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นมอเตอร์ไซค์ชนเสาไฟฟ้า คือเหตุมันเกิดขึ้นนานแล้ว ตัวผู้ประสบเหตุก็เสียชีวิตแล้ว
พอเราไปถึง (ที่เกิดเหตุ) ทางญาติไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงไม่ช่วย แต่ความจริงเราไปถึงและเช็คแล้วว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว แต่ญาติเขาบอกว่าเรายังไม่ทำอะไรเลย แต่ทำไมมาบอกว่าเขาเสีย ตอนนั้นเราเลยรู้สึกแย่ นอยด์มาก เพิ่งเริ่มทำงาน เพิ่งผ่านอบรมมา ก็มีนอยด์บ้างว่าทำไมตัวเองเรียนมา ทำไมช่วยเขาไม่ได้ ก็ไม่เข้าเวรไปประมาณสองเดือนเลย เพราะนอยด์ หลังจากนั้น หัวหน้า พ่อกับแม่ก็มาปลอบ มาบอกว่ามันไม่ใช่หน้าที่เราทั้งหมดที่จะช่วยเหลือ เราก็ช่วยได้เท่าที่เราช่วยได้แล้ว เราได้บอกความจริงกับญาติแล้ว
คิดอย่างไรกับคนชอบบอกว่าของมีค่าหายระหว่างที่หน่วยกู้ภัยทำงาน
ต้องบอกก่อนว่า มีคนโทรมาแจ้งกู้ภัย กู้ภัยถึงจะออกไปช่วยเหลือได้ คนโทรมาแจ้งคือคนที่ถึงที่เกิดเหตุก่อน พวกเรากู้ภัยจะแก้ปัญหาและป้องกันเหตุการณ์ตรงนี้ด้วยการจอดรถหันหน้าเข้าที่เกิดเหตุเลย เพราะว่าที่หน้ารถแต่ละคันจะมีกล้องหน้ารถอยู่ เวลาเราปฏิบัติการ กล้องจะได้บันทึกภาพทุกอย่างไว้ ภาพมันจะบอกเลยว่าเราทำอะไรบ้าง ณ จุดนั้น
ทุกเคสที่เราไปทำต้องถ่ายรูปเก็บเป็นหลักฐาน ถ้าเกิดว่าผู้เกิดเหตุมีอะไรติดตัวในตอนนั้นบ้างเราต้องถ่ายไว้ทั้งหมด และเก็บไว้ให้เขา เพราะถ้าเกิดเราไม่เก็บ พอเขาไปถึงโรงพยาบาล เขาจะว่าเราได้ว่าของเขาหาย บางทีที่รถชนแล้วรถติดนาน ๆ รถที่เกิดเหตุอาจจะเคลียร์แล้ว แต่ทำไมรถมูลนิธิยังไม่ออก ก็คือ เราต้องรอญาติเขา รอของส่วนตัวของเขา เราต้องรอให้ทุกอย่างเรียบร้อยครับ
หน่วยกู้ภัยจะออกไปช่วยเหลือได้ ต้องได้รับแจ้งเหตุก่อน เราจึงถามต่ออีกว่าแบบนี้บลุ๊คเคยได้รับสายที่โทรมาป่วนหรือไม่ แล้วมีวิธีรับมือและจัดการเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร
เคยครับ ก็คือเวลามีคนโทรเข้ามาแจ้งเหตุ เราจะต้องบันทึกเบอร์ของผู้แจ้งไว้ เพื่อที่ว่าเวลาเราไปถึงที่เกิดเหตุ ตรงไหนที่เราไม่รู้เราจะได้โทรถามเขาได้ แต่ทีนี้พอเราไปถึงที่เกิดเหตุแล้วเราโทรหาเขาแล้วเขาไม่รับ ตรงนี้เราก็จะเริ่มเอะใจแล้ว แล้วก็เราก็ต้องถามพื้นที่โดยรอบว่ามีเหตุเกิดขึ้นไหม มันก็จะมีบางเคสนะที่เขาโทรมาแกล้งเราบ่อย ๆ เราก็ต้องเอาเบอร์ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้
เวลานี้เหตุการณ์นี้มันก็เฟลนะครับ คือ 1.มันเสียเวลา 2.เวลาได้รับแจ้งเราต้องรีบไปอยู่แล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าที่เกิดเหตุ ผู้ได้รับบาดเจ็บเขาอาการเป็นยังไง เราก็ต้องรีบไว้ก่อน มันก็จะมีความเสี่ยงที่เราต้องขับรถเร็วเพื่อไปให้ถึงเร็วที่สุด ถ้าเกิดว่าไปแล้วมันไม่มีหรือไปแล้วเราเกิดอุบัติเหตุเอง มันก็ลำบากด้วย
ความสุขของจิตอาสา
เราได้ความสุขทางใจ ความสุขของเราคือการได้ช่วยเหลือ อย่างเช่น ถ้าตอนนั้นเขาอยู่ในขั้นระดับสาหัสแล้วเราสามารถช่วยเขาได้ เราก็จะรู้สึกภูมิใจที่เราช่วยให้เขาได้กลับไปหาครอบครัว กลับไปยิ้มกับครอบครัวได้ เรารู้สึกมีความสุขเหมือนกัน อีกอย่างคือการที่เราได้กำลังใจจากญาติผู้เกิดเหตุ บอกเราว่า “พี่สู้ ๆ นะ” หรือบางคนเขาซื้อของมาบริจาคให้เรา บอกให้เราทำต่อไปนะ สู้ ๆ มันอาจจะดูเป็นคำพูดที่ธรรมดา แต่ว่ามันกลายมาเป็นแรงผลักดันให้เราได้มาก
นอกจากการได้ช่วยเหลือและได้รับกำลังใจแล้ว คนรอบตัว เพื่อนร่วมงานก็เป็นอีกหนึ่งความสุขของการทำงานสำหรับบลุ๊ค เพราะทุกคนคอยช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี
พี่ ๆ ลุง ๆ ที่อยู่ในมูลนิธิมานาน ผ่านการอบรมมาเยอะ เขาจะคอยบอก คอยสอนทุกอย่าง จะไม่มีมาตำหนิกัน มีแต่จะคอยบอกว่า แบบไหนควรทำ แบบไหนไม่ควรทำ คอยสอน คอยแนะนำตลอด
BU EMS รักงานจิตอาสา ช่วยคนยามฉุกเฉิน
นอกจากจะทำงานอาสาสมัครกู้ภัยกับมูลนิธิปอเต็กตึ๊งแล้ว แอบรู้มาอีกว่าบลุ๊คยังเป็นถึงอดีตประธานคนแรกของชมรม BU EMS (Emergency Medical Services) ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ บลุ๊คเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปในการมาเข้าชมรมนี้ให้เราฟังว่า
ตอนที่เราเข้ามาเรียนปี 1 เห็นคนที่เขาเป็นลม รถล้ม แล้วรู้สึกว่า กว่าจะมาแจ้งห้องพยาบาล กว่ารถห้องพยาบาลจะไปถึงจุดเกิดเหตุ มันก็ต้องใช้เวลา ถ้าเกิดว่ามีคนในมหาวิทยาลัยช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็น คนตรงนั้นก็จะปลอดภัยเพิ่มขึ้น 50%
และเพราะมีความรู้และประสบการณ์ในการช่วยเหลือมากกว่าคนอื่น ๆ เขาจึงได้รับความไว้วางใจจากรุ่นพี่ในชมรมวิทยุสมัครเล่นให้เป็นประธานคนแรกในนามชมรม BU EMS จากเดิมที่เป็นเพียงชมรมที่ให้ทดลองเล่นวิทยุสื่อสาร แต่ภายหลังได้นำการช่วยเหลือเข้ามาเสริม และเปลี่ยนระบบจากการเล่นวิทยุธรรมดามาเป็นการเรียนรู้ควบคู่การช่วยเหลือเต็มรูปแบบ จนได้รับความสนใจจากนักศึกษาเป็นจำนวนมาก มียอดการสมัครเข้าชมรมเกือบร้อยคน
ในฐานะประธานตอนนั้นบลุ๊คมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ? รู้สึกภูมิใจมากครับที่มีชมรมนี้ ได้เห็นคนที่มีใจรักในการช่วยเหลือจริง ๆ สมัครเข้ามา ผมจะบอกน้อง ๆ ในชมรมเสมอว่าเราอยู่กันเป็นครอบครัว มีอะไรบอก สอน คุยกัน ห้ามด่า ห้ามตำหนิกัน เวลามีอะไรเราก็จะคอยช่วยเหลือกันเสมอ
พูดคุยกันมาถึงตรงนี้แล้ว บอกได้เลยว่า บลุ๊คเป็นบุคคลที่หลงรักการช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบเลยจริง ๆ เราจึงอยากถามต่ออีกสักนิดว่า รักในการช่วยเหลือผู้อื่นขนาดนี้ เคยมีบ้างไหมที่ช่วยเหลือคนอื่น จนกระทบกับตัวเอง เขาตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงจริงใจ
เคยมีเหมือนกันที่เรากำลังรีบจะมาเรียน รีบจะมาสอบแล้วเจออุบัติเหตุ แต่เราไม่สามารถที่จะไม่มองแล้วขับผ่านไปได้ ไม่ว่าตอนนั้นเราจะติดอะไรอยู่ เราต้องจอดช่วยเหลือ โทรเรียกรถพยาบาลก่อน มาเช็คชื่อเข้าเรียนไม่ทันเพราะหยุดช่วยก่อนก็มีครับ แต่เราบอกอาจารย์เขาก็เข้าใจนะ เพราะเรามีรูปมีหลักฐานให้เขาดูว่าเราไปช่วยเหลือคนมาจริง ๆ เขาจะไม่ได้ว่าอะไรครับ
เราถามต่อเพื่อปิดท้ายอีกว่า การช่วยเหลือส่งผลกระทบกับการเรียนแบบนี้ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ยังจะทำอยู่ไหม ? ตอบเลยว่าถ้าย้อนกลับไปได้ก็ยังเลือกจะทำงานอาสาสมัครกู้ภัยอยู่ครับ เพราะว่า เรารักในการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังเลือกจะทำอยู่ดี
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก พี่บลุ๊ค-สหรัฐ สำลี นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ