Social Change Leader เรียนรู้การเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม

เปิดประตูการเรียนรู้ ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจเรื่องสังคม

         การเริ่มต้นเดินทางในรั้วมหาวิทยาลัยสำหรับพวกเราชาวเฟรชชี่ นักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่ง่ายนัก ทุกคนล้วนแตกต่าง “ต่างถิ่นที่มา ต่างความสามารถ และต่างวิถีความเป็นอยู่” และด้วยความต่างเหล่านี้จึงเกิดเป็นแรงจูงใจสำคัญ ที่ทำให้พวกเราได้เริ่มต้นในสิ่งที่เหมือนกัน นั่นก็คือการเข้าร่วม โครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Leader Incubation Program) จัดโดย สายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำให้กับนักศึกษารุ่นใหม่ ต่อยอดการทำกิจกรรมและทำงานเพื่อสังคม

ผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม Social Change Leader

         ด้วยยุคสมัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกคนสามารถสร้างอิทธิพลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างง่ายดาย หลายคนใช้โอกาสตรงนี้เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นดาวเด่นของโลกยุคใหม่ หลายคนพยายามไขว้คว้าเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เคย “ยาก” เมื่อครั้งอดีต เมื่อปัจจัยการแข่งขันในสังคมเริ่มมากขึ้น จึงก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างตัวตนของแต่ละบุคคล ซึ่งส่งผลสำคัญต่อมานั่นก็คือ หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองคือใคร ต้องเป็นแบบไหน และจะดำเนินชีวิตไปเพื่ออะไร

         โครงการ SCL มีแนวความคิดตั้งต้นว่าอยากให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้ พัฒนาตนเองจากการลงมือทำจริง ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยเป็นการเรียนรู้แบบ Project-based จากประเด็นสังคมที่สนใจ โดยเป็นการเรียนรู้ร่วมกันทั้งนักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาที่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นโค้ช รวมถึงชุมชนที่นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้ และต่อยอดเป็นโครงการเพื่อสังคม

         ด้วยเหตุนี้การเข้าร่วมโครงการ Social Change Leader (SCL) จึงเป็นคำตอบสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เริ่มเรียนรู้จากจุดที่ใกล้ที่สุด ทว่าเข้าถึงยากที่สุด นั่นก็คือการทำความรู้จักและรักตัวเอง และเมื่อเราได้ให้ความสำคัญกับตัวเราเองมากพอแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการเรียนรู้เพื่อบุคคลรอบข้าง สิ่งแวดล้อมและสังคม

         เป้าหมายของโครงการคือการพัฒนาผู้เรียน พัฒนาโครงการเพื่อสังคมที่สามารถต่อยอดและลงมือทำได้จริง เป็นความคาดหวังหรือเป้าหมายที่เราตั้งไว้ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือนักศึกษาได้พัฒนา Soft Skill ในระหว่างการทำโปรเจ็กต์มากกว่า Soft Skill คือทักษะชีวิต มีความสำคัญในการดำรงชีพ เช่น การปรับตัว เรียนรู้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความเป็นทีมที่สามารถต่อรองแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

Master Class เชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่และผู้เชี่ยวชาญ

         การเรียนรู้ในโครงการที่เกิดจากนักศึกษา อาจารย์ และชุมชนแล้ว เรายังได้เชื่อมต่อวิทยากรภายนอกที่เข้ามาบ่มเพาะนักศึกษาร่วมกัน ขอบเขตของกิจกรรมการเรียนรู้ เริ่มจากการที่พวกเราได้รับการโค้ชจากอาจารย์ และพี่ ๆ วิทยากรหลายฝ่าย เช่น พี่ ๆ Saturday School หรือมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ ได้เรียนรู้จากวิทยากรชื่อดังอย่าง พี่เอ้-อิศรา สมิตะพินทุ จาก Inspira : Inspire a GREAT Day at Work Consulting Agency และ พี่อาร์ท-ศิริวัฒน์ คันทารส กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพื่อนกระบวนกร จำกัด

         เราจึงได้เรียนรู้ทฤษฎีและเครื่องมือที่ฝึกทักษะการคิด การมองปัญหาสังคม การทำงานเป็นทีม อีกทั้งยังได้ฝึกฝนทักษะการสังเกต การเก็บข้อมูล และการลงมือทำงานกับชุมชน

         ก้าวแรกของพวกเราจึงเป็นการฝึกทักษะชีวิตและวิธีการคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) โดยทีมโค้ชคุณภาพ และเมื่อความรู้ได้ตกผลึกดีแล้ว พวกเราจึงพร้อมสู่การก้าวต่อไปข้างหน้าเพื่อจุดมุ่งหมายสำคัญ นั่นก็คือการช่วยเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคม โดยการได้ลงไปในพื้นที่ชุมชน เพื่อเรียนรู้ปัญหา เพื่อต่อยอดไปสู่การแก้ไข

จากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน

         การออกเดินทางครั้งแรก เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ประหม่าและคาดหวัง พวกเราทุกคนเตรียมพร้อมเพื่อที่จะได้นำความรู้ต่าง ๆ ที่ได้สั่งสมมาออกมาใช้งานจริงกันที่ ชุมชนแหลมใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม

         อาจารย์ทัศนวรรณ สิริพรหมเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานักศึกษาแบบองค์รวม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าให้เราฟังถึงเป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ว่า ต้องการที่จะฝึกทักษะการเรียนรู้ เพื่อเป็นผู้นำ เข้าใจปัญหาสังคมมากยิ่งขึ้น

         ตลอดระยะเวลาในการเดินทางเข้าสู่ชุมชนแหลมใหญ่ สิ่งแวดล้อมรอบข้างพอจะทำให้พวกเราคาดเดาได้ว่าพื้นที่แห่งนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในชุมชนอนุรักษ์ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไร้โรงงานอุตสาหกรรม ลักษณะที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิม เรือประมงที่จอดเทียบท่าเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ รวมทั้งกลิ่นอายของน้ำทะเล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่เราสังเกตเห็น ในครั้งแรกก็ทำให้เราเกิดข้อสงสัยว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

ละลายแล้วปั้นใหม่

         เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง ความสงสัยของทุกคนที่ก่อตัวขึ้นก็ได้ถูกชี้แจงแถลงไขให้กระจ่างโดย พี่แป้ง-คุณกิติพร พรหมเทศน์ นักออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ (Learning Facilitator) โค้ชคนสำคัญของกิจกรรมการลงพื้นที่ในครั้งนี้

         พี่แป้งได้อธิบายวัตถุประสงค์หลักของการมาที่นี่ คือการให้นักศึกษาได้ออกมาใช้ความรู้ ความสามารถ ที่ได้เรียนรู้มา ลงสู่สนามจริง ได้เจอบุคคลที่ใช้ชีวิตจริงและที่สำคัญคือการที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิธีการปรับเปลี่ยนและใช้ความรู้ที่มีได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน

         พี่แป้งบอกเล่าความในใจที่ทำให้หัวใจเราพองโตอีกว่า “พี่คาดหวังว่า น้องจะได้เครื่องมืออะไรบางอย่างไปใช้ในการพัฒนาทักษะ แล้วก็วิธีคิดของการเป็นผู้นำนักศึกษา กระบวนการกลุ่มและการลงพื้นที่น่าจะจุดประกายการเรียนรู้ แล้วสามารถเอากลับไปใช้จริงได้ พี่เห็นว่าน้องสะท้อนได้ดีขึ้น ตั้งใจในการทำกิจกรรมมาก โดยเฉพาะกิจกรรมการตั้งคำถาม การลงพื้นที่ชุมชน พี่รู้สึกดีใจ รู้สึกเป็นเกียรติที่น้องไว้วางใจให้พี่มาเป็นโค้ช และจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

         ก่อนเริ่มเข้าโจทย์สำคัญ พี่แป้งมีกิจกรรมมากมายเพื่อที่จะทำให้พวกเราผ่อนคลาย กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างความคุ้นชินและความสนิทสนมให้พวกเราเท่านั้น แต่เป้าหมายสำคัญคือการทำให้เราทุกคนรู้จักความสามารถและตัวตนของกันและกันมากขึ้น เช่นใครชอบหรือถนัดอะไร และอะไรที่เราจำเป็นต้องมีเมื่อต้องทำงานร่วมกัน

โจทย์ชีวิต

         สิ่งที่ท้าทายพวกเราคือโจทย์ “เรียนรู้และถ่ายทอดปัญหาของชุมชนจากคนในชุมชน” เมื่อได้รับโจทย์สำคัญ พวกเราทุกคนต้องแยกกลุ่มและกระจายกัน เพื่อที่จะได้เข้าถึงชาวบ้านในชุมชนได้อย่างทั่วถึง โดยหัวข้อหลักคือการถามไถ่คนในพื้นที่ถึงปัญหาที่พวกเขาได้รับ โดยใช้กระบวนการที่เราได้เรียนรู้ เพื่อที่จะได้ใช้ในการสร้างความเชื่อใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งวิธีการที่จะทำให้พวกเราสามารถเข้าถึงปัญหาได้อย่างสุภาพ เหมาะสม และตรงไปตรงมา ยิ่งไปกว่านั้นเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการ

Learning by doing

         ไม่มีสิ่งใดชัดเจนเท่ากับการลงมือทำ เมื่อพวกเราเข้าใจในหน้าที่ หลังจากนี้ก็ถึงเวลาในการลงพื้นที่ปฏิบัติจริง แน่นอนว่าพวกเราเปี่ยมไปด้วยทฤษฎีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องง่าย ๆ ของขั้นตอนแรกอย่างการปฏิบัติตัวแรกพบต่อคนในชุมชน การวางตัวเพื่อขอสัมภาษณ์ การเก็บข้อมูล และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราได้ฝึกฝนกันมา

         ทุกคนลงพื้นที่กันอย่างจริงจังและมุ่งตรงไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือ “การค้นหาคำตอบของข้อมูลที่พวกเรากำลังศึกษาและอยากรู้” แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจว่า พวกเราทุกคนได้รับบทเรียนชีวิตแบบใหม่ ได้เกิดแนวคิดแบบใหม่และได้มีประสบการณ์แบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำได้ อาทิเช่น บางคนขี้อาย พูดไม่เก่ง แต่เมื่อได้ลองลงพื้นที่และค่อย ๆ ใช้หลักการการตั้งคำถามที่ได้เรียนมา ปรากฏว่าค้นพบว่าตัวเองทำได้ เราได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม

ถอดบทเรียนการเรียนรู้

         เพื่อนในโครงการที่เราได้พูดคุยช่วยถอดบทเรียนการเรียนรู้ในครั้งนี้ ทำให้เราได้ทบทวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในค่าย ณัฐพร เทพานนท์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงความคิดเห็นว่า การมาเข้าค่ายในครั้งนี้ ต่างจากตอนสมัยเรียนมัธยม เพราะเป็นค่ายที่เราได้ลงมือทำ ได้เข้าไปเจอปัญหานั้นจริง ๆ โดยเฉพาะตอนที่เราลงพื้นที่ไปเจอชาวบ้าน ทำให้เราได้เห็นปัญหาในมุมมองที่แตกต่างจากการนั่งเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว

         กัญยาณี ดาราพันธ์ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เสริมว่า การลงไปสัมภาษณ์คนในพื้นที่ ตอนแรกก็กลัวว่าเขาจะให้เราสัมภาษณ์หรือเปล่า เขาจะเมินเราหรือเปล่า ก็หวั่นใจ แต่ว่าคนในพื้นที่ก็อัธยาศัยดี เขาเดินเข้ามาถามเราก่อนเลย ทำให้ลดความกังวลลง เราได้ข้อมูลความรู้จากเขาเยอะมาก ได้รู้ว่าในพื้นที่มีปัญหาอะไรบ้าง 

         ส่วนเพื่อนอีกหนึ่งคนของพวกเราคือ ปิติกร พรหมมา นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แบ่งปันมุมมองเรื่องความสัมพันธ์จากการไปค่ายว่า ความรู้สึกที่ได้ไปค่ายคือรู้สึกมีความสุข แล้วก็สนุกไปกับกิจกรรมมาก ๆ เลยครับ ทำให้ผมรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ ทำให้เพื่อน ๆ กับเราสนิทกันมากขึ้น

         ปิดท้ายที่ ฐานิญา โยเฮือง นักศึกษาคณะคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกถึงความสนุกจากค่ายว่า ความรู้สึกจากการไปค่าย รู้สึกว่าสนุกมาก แล้วก็อีกหนึ่งข้อที่ชอบมากคือตอนที่ได้ทำเวิร์คชอป เรื่องที่แบ่งกลุ่มกัน 3 คน ให้คนหนึ่งฟัง คนหนึ่งถาม เรารู้สึกว่าเราได้เห็นมุมมองที่เพื่อนมีให้กับเรา ไม่คิดเหมือนกันว่าเพื่อนจะมองเราแบบนี้ ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าเพื่อน ๆ น่ารักกันมากเลย

         การได้เข้าร่วม โครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Leader Incubation Program) ประสบการณ์การเรียนรู้จากโครงการ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือความคาดหมายของพวกเราทุกคน

         วิชาและประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นท่ามกลางการปฏิบัติงาน ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง นอกจากจะทำให้พวกเราทำงานสำเร็จไปได้ด้วยดีแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเราทุกคน และที่สำคัญยังช่วยกระตุ้นให้พวกเราไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในสังคม รวมถึงพัฒนาตนเองเพื่อเติบโตออกไปสู่โลกภายนอกที่พวกเราทุกคนสามารถสร้างสรรค์ให้สวยงามได้

         แบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติมสักเล็กน้อย บทความชิ้นนี้เก็บข้อมูลในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังระบาดไม่รุนแรงนัก พวกเรารักษาระยะห่าง สวมหน้ากาก และล้างมืออย่างสม่ำเสมอระหว่างอยู่ในค่าย ขอขอบคุณเพื่อนทุกคนในโครงการ และคณาจารย์ทุกท่านที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ โครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Leader Incubation Program) สายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

หยุดหนึ่งครั้ง มีคนนำไปแล้วหนึ่งก้าว

Photographer