งานสร้างสรรค์จากนวัตกรรมทางความคิดกลายเป็นภาชนะรักษ์โลก คิดแล้วทำ By Think and Do

จับเข่าคุยเรื่องธุรกิจคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม กับรุ่นพี่อดีตนักศึกษากิจกรรม ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            กระแสเรื่องการรักษ์โลกทำให้เราต้องปรับตัว เรียนรู้ที่จะกลับไปใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพื่อลดปริมาณขยะ เน้นใช้สิ่งที่ย่อยสลายได้ ธุรกิจเครื่องปั้มภาชนะรักษ์โลก คิดแล้วทำ By Think and Do ที่มีผู้ก่อตั้ง เป็นอดีตรุ่นพี่นักศึกษาศิษย์เก่าสายกิจกรรม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พี่กิ่ง-ศราพร กำแพงสิน และทีม ได้เริ่มปลุกปั้นธุรกิจ โดยใช้เวลาเรียนรู้ ลองผิดลองถูกมากกว่า 5 เดือน ในตอนนี้มีเครือข่าย กลุ่มการเรียนรู้มากมาย โดย Facebook Fanpage มียอดผู้ติดตามกว่า 1,500 คน และมีเพิ่มขึ้นทุกวัน เราขอชวนมาล้อมวงเรียนรู้เรื่องราวการทำธุรกิจรักษ์โลกของรุ่นพี่ BU จากบทสัมภาษณ์ที่เป็นกันเองนี้ได้เลย

จุดเริ่มต้นของธุรกิจคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม

            การทำธุรกิจมักจะมีจุดเริ่มต้นมาจากความสนใจ ความชอบ และการเป็นคนช่างสังเกต ประกอบกับการเติบโตมากับธรรมชาติ สนใจเรื่องธรรมชาติ สมุนไพร และทำให้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย พี่กิ่ง-ศราพร กำแพงสิน เล่าให้เราฟังว่า “จุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้ เราได้เห็นข้อมูลจากเพจ เรื่องการทำจานชามจากผักตบชวา จากตรงนั้นเราสนใจ เพราะผักตบชวา เราเห็นทั่วไปในแม่น้ำ เราจึงไปสมัครไปเรียนรู้พร้อมกับเพื่อน อีกทั้งพื้นความรู้ที่เรามี เราสนใจเรื่องโซล่าเซลล์ เราเรียนรู้เรื่องสมุนไพร ยิ่งทำให้เราสนใจเรื่องภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ แต่บ้านของเราไม่ได้มีผักตบชวา นั่น !! จึงเป็นโจทย์แรกของเรา เราเริ่มโดยการมองหาสิ่งใกล้ตัวที่เราพอจะเอามาทำเป็นจานได้”

            บ้านของพี่กิ่ง มีต้นกล้วย นั่นคือแรงบันดาลใจต่อมาในการแปรรูปต้นกล้วยให้กลายเป็นจานที่มูลค่าเพิ่มขึ้น “บ้านเรามีต้นกล้วย จึงลองใช้มาทำเป็นจาน คนที่เรารู้จักระหว่างเรียนก็มีต้นกล้วยเช่นกัน เพราะบ้านของเขาอยู่ในจังหวัดอยุธยา พวกเราจึงรวมตัวกัน นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ มาลองทำให้เกิดขึ้นจริง”

เรียนรู้ ทดลองทำ และถ่ายทอดองค์ความรู้

            กระบวนการทำธุรกิจ ไม่ได้จบในขั้นตอนเดียว มีองค์ประกอบอีกมากมาย โดยเฉพาะการเรียนรู้ ทดลองทำ เพื่อพัฒนาตัวต้นแบบของสินค้า และต้องพัฒนาฝีมือไปเรื่อย ๆ พี่กิ่งบอกกับเราว่า “เราทดลองทำอยู่พอสมควร เปลี่ยนแปลงรูปแบบต่าง ๆ หาสูตรที่เหมาะสม หาเพื่อนที่มีสวนกล้วยมาร่วมด้วย พยายามทำจากใบตอง ขึ้นรูปเป็นจานกระดาษออกมา เราหาเครื่องจักรที่จะช่วยผลิตด้วย สเปคของเครื่องคือต้องเป็นเครื่องที่ใช้ง่ายในการขึ้นรูปเป็นจาน ไม่ว่าผู้หญิง คนสูงอายุก็สามารถใช้เครื่องจักรนี้ปั้มเป็นจานออกมาได้”

            ธุรกิจของพี่กิ่งและเพื่อน ๆ จึงไม่ได้เน้นการผลิตเพื่อขายอย่างเดียว แต่เป็นธุรกิจที่สอนและสร้างองค์ความรู้ในการผลิตภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ พี่กิ่ง อธิบายเพิ่มว่า “เครื่องปั้มภาชนะต้องสั่งผลิต เป็นการทดลอง พัฒนา เรียนรู้ร่วมกันในกลุ่ม จนได้เครื่องจักรในการปั้มจาน ภายในเวลา 3 เดือนนี้ เราเรียนรู้ หาวัสดุ ผลิตเครื่องปั๊ม และถ่ายทอดความรู้นี้ต่อ จานที่ปั้มออกมาจากวัสดุธรรมชาตินี้ เราสังเกตว่าทิ้งช่วงเวลาไว้ ก็ไม่มีราขึ้น เราไม่ได้มีแค่ต้นกล้วยอย่างเดียว ที่นำมาทดลองใช้ มีใบบัว ใบโกโก้ ใบทองกวาง ใบสดแบบนี้ พอเวลาผ่านไป สีสันของใบไม้เริ่มเปลี่ยนไป ตรงนี้ เราเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลของเรา เพื่อพัฒนาตัวสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น”

            “ธุรกิจของเราเน้นการพัฒนาเครือข่าย ไม่ตีกรอบความคิด ช่วยกันคิดต่อยอด กลุ่มการเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ให้พวกเขาได้เรียนรู้การทำจานจากเรา ตอนนี้งานที่ทำจึงเน้นการสอน การสร้างเครือข่าย เพื่อขยายกลุ่มคนที่สนใจทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบนี้ เป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้กับกลุ่มคน ชุมชน ให้เขาสามารถเอาความรู้นี้ไปพัฒนาชุมชนหรือมีธุรกิจเล็ก ๆ ของเขาได้”

เจอปัญหาแล้วต้องหาคำตอบ

            พี่กิ่ง สาวแกร่ง สายลุยงาน บอกกับเราอีกว่า “อุปสรรคในการทำธุรกิจมีทุกขั้นตอน เวลาที่เราทำงาน เราเป็นคนที่ถ้าหากเจอปัญหาแล้วต้องหาคำตอบ การเริ่มต้นทำผลิตภัณฑ์คือ อยากจะทำเพื่อใช้เองก่อนเป็นอันดับแรก ให้ตอบโจทย์ความต้องการของเรา เราเรียนรู้ตั้งแต่เรื่องเครื่องจักรที่ใช้ผลิตจาน ตอนแรกเครื่องจักรที่ทำยังไม่ตอบโจทย์เรา เราต้องลองทำและแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเป็นที่พอใจของเรา”

            ยิ่งทำ ยิ่งเรียนรู้ และยิ่งพัฒนาธุรกิจให้เติบโต “ตอนนี้เราสามารถทำตามแผนที่เรามี เราจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ง่ายขึ้น สำหรับคนที่สนใจปั๊มจาน เราก้าวข้ามหลายอย่าง ก้าวข้ามความไม่เข้าใจ ทุกคนที่เราพบและได้มีโอกาสพูดคุย อยากเป็นส่วนหนึ่งของการลดโลกร้อน แต่ปัญหาที่เจอมา หากลงทุนทำธุรกิจเรื่องปั๊มจานไปแล้ว คำถามที่ตามมาคือเราขายใคร ใครคือตลาดในการขายสินค้า เป็นอุปสรรคที่ใหญ่มาก” ซึ่งตรงนี้ แต่ละคนที่อยู่กลุ่มก็พยายามเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง พี่กิ่งบอกเสริมว่า เราอาจจะไม่ได้เริ่มจากการนึกถึงกำไรเป็นตัวเงินที่จะได้มากมาย แต่เป็นการค่อย ๆ ขยายตลาด ค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมคน

            “สิ่งที่ตามมาคือเราอาจจะไม่ได้ผลิตจำนวนเยอะมากในการใช้งาน เพราะเราไม่สามารถผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรมได้ คนที่เป็นกำลังการผลิตสำคัญ คือ คนที่มีพื้นที่ มีวัตถุดิบที่เป็นใบไม้ เพื่อใช้ในการผลิต ต้นกล้วยที่ตัดทิ้ง ไม่ใช่ขยะอีกต่อไป แต่เป็นเพชร เป็นทองคำ ที่สามารถนำมาแปรรูปให้กลายเป็นสินค้าที่มีคุณค่าได้ ต้นกล้วยตอนนี้เราสามารถบอกได้ว่าหนึ่งต้นกล้วยมีมูลค่าเท่าไหร่ เราทำด้วยความตั้งใจ เยื่อกระดาษของจานหรือภาชนะต้องมาจากต้นกล้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใส่สารฟอก หรือสารช่วยย่อยใด ๆ”

องค์ความรู้เรื่องธรรมชาติ…รู้จักชนิดของใบไม้

            มนุษย์เราอยู่กับธรรมชาติหลายพันปีแล้ว ความรู้เรื่องธรรมชาติ เช่น ใบไม้ชนิดต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ทำธุรกิจต้องนำมาทบทวน รื้อฟื้น เรียนรู้คุณสมบัติของใบไม้แต่ละชนิด

            พี่กิ่งบรรยายให้เราเห็นภาพว่า “ใบไม้ ถึงแม้จะเป็นชนิดเดียวกัน เช่น ใบไม้ ใบตอง ใบบัว ใบสัก หรือแม้แต่ต้นกล้วย ความหนาบาง ใหญ่ เล็ก ความกรอบ ความฉ่ำน้ำ มีความแตกต่างกัน แต่ละสวนที่เราได้ใบไม้เหล่านี้มา ก็มีความแตกต่างกัน เราให้ไอเดียกับคนผลิตว่า ใบไม้สด ควรจะมีลักษณะแบบนี้ เมื่อนำมาต้ม ใช้ไฟประมาณนี้ อุณหภูมิที่ใช้ควรเป็นเท่าไหร่ แต่ละคนพอรู้ข้อมูล เขาต้องคำนวณแล้วว่า เขาจะผลิตได้เท่าไหร่ เป็นความรู้ทางธรรมชาติ ผสมผสานกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงความคิดเชิงธุรกิจในการผลิตด้วย”

            “การทำธุรกิจแบบนี้ กำไรของเราคือตั้งแต่เริ่มต้นที่เราได้วัสดุมาจากธรรมชาติแล้ว” พี่กิ่งบอกว่า เพียงแค่เริ่มต้นที่คิดจะทำ เราก็ได้กำไรแล้ว “จริง ๆ ในชีวิตเรา สูญเสียเวลา พลังงาน ไปกับเรื่องในชีวิตประจำวันมากมาย พอเราเริ่มต้นทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เราได้กำไรแล้ว เป็นการเอาชนะใจตัวเราเองด้วย ผลิตภัณฑ์จากโฟม ทำได้ไม่ยากสมัยนี้ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ มีกระบวนการขั้นตอนที่ต้องอาศัยความละเอียด และอดทน เป็นการเรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง และยังเป็นการสร้างงาน สร้างคนด้วย”

มุ่งมั่นและใส่ใจในการผลิต

            ในยุคที่สิ่งต่าง ๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกสบาย การทำธุรกิจจากธรรมชาติ ต้องอาศัยเวลา การลงทุน และสั่งสมองค์ความรู้ พี่กิ่ง เล่ามุมมองความคิดให้เราฟังต่อว่า “การทำธุรกิจแบบของเรา การที่เราได้ไปเจอผู้คนที่เขามีความสนใจจะทำจานหรือภาชนะจากธรรมชาติ บางทีเขาไม่มีต้นทุนเป็นตัวเงิน แต่เขามีของที่หาได้ใกล้ตัว และที่สำคัญเขามีจิตสำนึกที่จะทำ เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม กระแสหรือว่าเทรนด์อาจจะผ่านไปผ่านมาอย่างรวดเร็ว แต่การมีจิตสำนึก จะเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนยาวนาน”

            กิ่ง และทีมได้มาถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการทำภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ ให้น้อง ๆ ม.กรุงเทพ เป็นระยะเวลาสักพักหนึ่งแล้ว และการได้มาร่วมงาน N.I.C.E. Market ซึ่งเป็นตลาดรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ได้เผยแพร่และส่งต่อความคิดรักษ์โลกให้กับคนในกลุ่มที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

            “การรักษาสิ่งแวดล้อม เราต้องแก้ที่ต้นเหตุ แก้ที่ความคิดของคน ถ้าเราไปแก้ปลายทาง บางทีสูญเสียมากขึ้น แก้ที่ต้นเหตุผลจะยั่งยืน”

ทางเลือกให้กับผู้บริโภค

            การทำธุรกิจของพี่กิ่งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ให้ความสำคัญ พี่กิ่งยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า “ถ้าเราไปทานข้าว มีร้านที่ใช้วัสดุธรรมชาติ กับร้านที่ยังใช้กล่องโฟมหรือพลาสติกอยู่ เราจะเลือกร้านใด แน่นอนเราต้องเลือกร้านจากวัสดุธรรมชาติ สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ แสดงถึงการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการเปลี่ยนแปลง เพราะขยะจะเกิดขึ้นจากเราน้อยลง”

            “แม้กระทั่งในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าเราลดการสร้างขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เราใช้ถุงผ้า ใช้กล่องอาหาร ที่นำกลับมาล้างใช้ซ้ำได้อีก ขอแค่เราทำในมุมที่เราทำได้ คนละไม้ คนละมือ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว”

สร้างธุรกิจให้เติบโต…ด้วยเครือข่ายที่แข็งแกร่ง

            กลุ่มธุรกิจและเครือข่ายของพี่กิ่ง ทำธุรกิจอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย แบ่งปันทรัพยากรที่มีให้กัน พี่กิ่งเล่าต่อว่า “กลุ่มของเรา ใครมีทุนอะไร เอามาแชร์กัน เช่น คนที่มีวัสดุธรรมชาติ คนที่มีความรู้ คนที่มีคอนเนคชั่นกับชุมชน เราเดินหน้าธุรกิจไปด้วยกัน สร้างความเชื่อถือจากความใส่ใจ ธุรกิจในแบบของเราคือการแบ่งปันความรู้ เรามีความรู้ เราไปสอนเขาให้ทำเป็น เราไม่ได้คิดแค่กำไร ขาดทุน หนึ่งบวกหนึ่ง ไม่ใช่สองบาท”

            “งาน N.I.C.E Market ที่เราได้มาเข้าร่วมอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ทำให้กลุ่มของเราแน่นแฟ้นมากขึ้น น้อง ๆ ที่อยู่ต่างภาค ต่างจังหวัด มีโอกาสเจอกันยาก เราโทรหาเขา ให้มาช่วยกัน ไกลที่สุดที่น้อง ๆ ในทีมเดินทางมา คือจากจังหวัดพังงา” พี่กิ่งเล่าถึงประสบการณ์ดี ๆ เพิ่มอีกว่า

            “เดี๋ยวนี้ในทุกชุมชนที่เรารู้จัก เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเกษตรอินทรีย์ มีตลาดที่ใช้วัสดุธรรมชาติ ภาชนะรักษ์โลกที่เราทำจึงตอบโจทย์ตรงนี้ เราต้องพัฒนา เรียนรู้ให้มากขึ้น เพราะมีคนรอคอยคำตอบจากเรา เราลองผิด ลองถูก บางครั้งทำออกมา เสียแล้วเสียอีก จนผ่านช่วงนั้นมา เป็นอย่างที่เราเห็นตอนนี้ เราตอบโจทย์ตัวเองได้ ตอนนี้เราขยายส่งต่อให้คนอื่น ๆ เขามีความรู้ตรงนี้ด้วย การ Save world ทำคนเดียวไม่ได้ การที่เรานึกว่าขายของตัวเอง แล้วมีคนซื้อเป็นล้านชิ้น เรายังไปถึงตรงนั้นไม่ได้ แต่ที่เราทำได้คือการแบ่งปัน”

            พี่กิ่งอธิบายถึงเครือข่ายการทำธุรกิจจากจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ อยุธยา อุทัยธานี พังงา  ภูเก็ต เครือข่ายเหล่านี้มีภายใน 3 เดือน ทั้งที่ธุรกิจเพิ่งเริ่ม “เครือข่ายที่ได้มา ได้มาจากความเชื่อใจ ตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มลงมือทำให้เขาได้เห็น เราล้มแล้วลุก เขาเห็นเราตลอด”

แบ่งปันความรู้การทำธุรกิจ

            พี่กิ่งย้ำให้เราฟังเสมอ เรื่องการแบ่งปันความรู้ ทั้งความรู้เรื่องการทำภาชนะ และความรู้เรื่องการตลาดรวมถึงโอกาสที่ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือชุมชน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นอีกหนึ่งเครือข่าย ที่พี่กิ่งได้มาให้ความรู้กับน้อง ๆ นักศึกษา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Growing a Circular Living @ BU ที่ร่วมบ่มเพาะรณรงค์การปลูกพื้นที่สีเขียวในใจของวัยรุ่นม.กรุงเทพ ให้หันมารักษาสิ่งแวดล้อม

            “การให้ความรู้ของเรา เน้นการฟัง เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เรามีอีกชื่อหนึ่งว่า บ้านการเรียนรู้ Home to Home ไม่ใช่ศูนย์การเรียนรู้ เพราะเราไม่ใช่ศูนย์กลาง เรารู้สิ่งใดบอกสิ่งนั้น แล้วแลกเปลี่ยนสิ่งที่เรามีให้เขา และเขาก็แบ่งปันสิ่งที่เขามีให้เรา เคยมีคนสนใจทำภาชนะจากใบยางพารา เขาส่งใบยางพารามาให้ เราเริ่มคิดแล้ว เอาใบมาเรียงต่อกัน เราต้อง DIY เราเป็นเด็กนิเทศศาสตร์ เรียงใบไม้ต่อกันเหมือนกระดาษ เพื่อเอามาขึ้นรูปเป็นจาน พอลองทำ ปรากฏว่าทำได้ แล้วสวยด้วย ใบยางพารา ใบโกโก้ ใบใผ่ ทำได้ง่ายมาก ยังมีใบอื่น ๆ อีกไหม ที่ทำได้ ส่งมาให้เราลองได้ เราเน้นความยั่งยืน แลกเปลี่ยนต่อยอดการเรียนรู้ร่วมกัน”

เผยเคล็ดลับการทำธุรกิจ

            เคล็ดลับในการทำธุรกิจของพี่กิ่ง คือ “ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองมี แล้วหันกลับไปมองหลังบ้าน วัสดุอะไรที่เรามองข้ามเขา เอามาแบ่งปันกับเราได้ อุปสรรคเกิดขึ้นเป็นการเรียนรู้ ถ้าหยุดทำงาน แน่นอน ไม่มีอุปสรรค เราต้องน้อมรับในอุปสรรค”

            อีกอย่างที่ทุกธุรกิจขาดไม่ได้คือเรื่องการสื่อสาร ด้วยความเป็นเด็กนิเทศ ม.กรุงเทพ พี่กิ่ง ลงมือทำสื่อด้วยตนเอง Facebook Fanpage พี่กิ่งเป็นแอดมินและมีน้อง ๆ ช่วยด้วย เน้นการตอบเร็ว ตอบไว ให้ข้อมูลชัดเจน การมีทีมงานที่น่ารัก ที่คอยสนับสนุนพี่กิ่งตลอดเวลา พี่กิ่งบอกเราด้วยรอยยิ้มว่า “ธุรกิจที่ยั่งยืนคือธุรกิจที่คนทำธุรกิจมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน”

เด็กรุ่นใหม่กับเรื่องสิ่งแวดล้อม

            การมาเข้าร่วมงาน N.I.C.E Market ของพี่กิ่ง ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พี่กิ่งมั่นใจว่าน้อง ๆ รุ่นใหม่ ที่ได้มาเห็นกระบวนการทำภาชนะรักษ์โลก จากวัสดุธรรมชาติ แล้วบางคนซื้อกลับไปใช้ที่บ้าน จะเป็นพลังในการบอกต่อ กระจายแนวคิดดี ๆ นี้ออกไปให้กว้างขึ้น

            “เซทของจานที่ขายในงาน มี 6 ใบ มีน้อง ๆ ซื้อไป พี่มั่นใจว่า คนอื่น ๆ จะได้เห็นจานของพี่แน่นอน ไม่ได้หวังว่าเขาจะซื้อซ้ำ แต่คนที่เห็นจานแบบนี้ อาจจะไปกระตุ้นความคิดบางอย่างในตัวเขาได้ อย่างน้อยคือกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องการหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำ ลดการใช้พลาสติกลง”

เดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง

            พี่กิ่งและทีม ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง มีจัด Workshop หรือการอบรมเชิงปฏิบัติเรื่องการทำภาชนะรักษ์โลกอย่างสม่ำเสมอ พี่กิ่งบอกกับเราว่า ไม่เคยเหนื่อย ไม่เคยท้อ สนุกที่จะเรียนรู้ และพร้อมจะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

            ธุรกิจที่คิดเพื่อสิ่งแวดล้อมของพี่กิ่ง รุ่นพี่ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจ ที่จะสร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้นคว้าหาข้อมูล ทดลองทำ และพัฒนาตัวสินค้าอย่างต่อเนื่อง และได้แบ่งปันความรู้เหล่านั้นให้คนที่สนใจทำธุรกิจ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้ธุรกิจเติบโตอีกด้วย

            เราขอชื่นชมในความตั้งใจ การฝึกฝน การพัฒนาตนเอง ของพี่กิ่ง และพี่ทุกคนในทีม ธุรกิจเครื่องปั้มภาชนะรักษ์โลก คิดแล้วทำ By Think and Do และ บ้านการเรียนรู้ Home to Home อีกทั้งพี่ ๆ ยังได้ถ่ายทอดและส่งต่อความรู้ให้กับคนที่สนใจจะทำธุรกิจเช่นเดียวกัน เหล่านี้เป็นจุดเล็ก ๆ ที่เราได้เริ่มต้นทำเพื่อโลกของเราแล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่กิ่ง-ศราพร กำแพงสิน ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer & Photographer

BU CONNECT x Lifelong Learning Center Bangkok University สนุกกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รอบรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ