ฤกษ์งามยามดีเวียนกลับมาอีกครั้ง ก่อนส่งท้ายปี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีไทยให้นักศึกษาได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง วันลอยกระทง ตามประวัติความเป็นมา วันลอยกระทงมีมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ มีความเชื่อว่าเป็นการบูชาและขอขมาแม่พระคงคา รวมไปถึงการสะเดาะเคราะห์ การเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแสดงให้เห็นถึงความผูกพันของมนุษย์ที่มีต่อสายน้ำ เราจึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ต้องดูแลรักษากันและกันให้ยั่งยืน
ปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันจันทร์ 11 พฤศจิกายน ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 งานนี้โต้โผใหญ่ในการจัดงานคือสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากคณะต่าง ๆ ชมรม กลุ่มกิจกรรม มาจัดกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้ชื่องานว่า BU Loy Krathong Festival 2019 เทศกาลแห่งสายน้ำ ลูกทุ่งหมอลำ สนุกสุดมันส์ ทั้ง BU จัดงานบริเวณอาคาร A4, A5 ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Main Campus)
เราขอไล่เรียงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ พร้อมกับเปิดเผยเบื้องหลัง ความคิดเห็น และความรู้สึกของผู้ร่วมงาน เรามาติดตามฟังไปพร้อมกันได้เลย
ลอยกระทงแบบรักษ์โลก
ก่อนเข้าสู่งาน เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ พี่มิ้น-ปนัดดา สกุลพิพัฒน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
พี่มิ้นบอกว่า “แนวคิดการจัดงานลอยกระทงในปีนี้ เน้นเรื่อง Circular Living หรือการรักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นอกจากเน้นความเป็นธรรมชาติแล้ว เรายังบวกกับความสนุกสนาน เราเลือกการแสดงที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีความเป็นท้องถิ่น คือการแสดงหมอลำ ที่ตอบโจทย์มากที่สุด ไม่ว่าเป็นเด็กรุ่นไหน น้องๆ สามารถสนุกกับเพลงลูกทุ่งของเราได้ จากที่เราทำการสำรวจในทุกงานที่จัด เราเห็นน้อง ๆ ได้มีส่วนร่วม และ Enjoy กับเรามากที่สุด”
พี่มิ้น เน้นย้ำว่า การจัดงานลอยกระทง เป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงาม และทางสโมสรนักศึกษามีแนวคิดที่จะลดการสร้างขยะในวันลอยกระทง โดยเน้นกระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ
ประกวดกระทงสวยงาม…เน้นความพอเพียงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ประเดิมช่วงเช้าของวันลอยกระทงตั้งแต่เวลา 9.30 – 12.00 น. ด้วยการประกวดกระทงสวยงาม โดยมีตัวแทนจากคณะต่าง ๆ เข้าร่วมประกวดแข่งขันทำกระทง ณ โรงอาหาร 1 จำนวน 6 ทีม โดยแต่ละกลุ่มมีแนวคิดที่น่าสนใจในการทำกระทง มุ่งเน้นวัสดุจากธรรมชาติ หยวกกล้วย ใบตอง ดอกไม้สดสีสันต่าง ๆ
เราได้ตัวแทน 3 ทีม ที่คว้ารางวัลจากทางคณะกรรมการมานั่งพูดคุยกัน พวกเขามีแนวคิดในการทำกระทงที่เป็นมิตรต่อโลกอย่างไร ต้องไปติดตามกัน
ตัวแทนจากคณะเศรษฐศาสตร์ พี่ณิชาพร-ณิชาพร แก้วมั่นธรรม กล่าวว่าการทำกระทงใช้ดอกบัวมาตบแต่ง ใช้ผักตบชวาเป็นฐาน ทำกระทง 4 ชั้น ใช้ชื่อทีมว่า วิถีชีวิตและความอุดมสมบูรณ์เศรษฐกิจไทย จุดเด่น คือ ปลาตะเพียนที่สานจากใบจาก
ส่วนอีกหนึ่งทีม พี่ชานนท์-ชานนท์ ตรีวรกุลชัย จากคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ บอกว่ากระทงเราจะเน้นความเรียบง่าย เรียบหรู เราใช้ใบพลับพลึงทำแล้วพับเป็นกลีบดอกบัว อาจจะไม่ได้ละเอียด แต่จะเน้นความเรียบง่าย สวยงาม กระทงของเราจะออกมาเป็นสีขาว สื่อถึงความบริสุทธิ์
น้องบูม-ภูมิ ไชยทองศรี จากคณะนิเทศศาสตร์ หนึ่งในทีมประกวดทำกระทงบอกกับเราว่า กระทงของเราเน้นวัสดุธรรมชาติ ทำแบบร่วมสมัยดั้งเดิม โดยส่วนฐานล่าง ใช้ผักตบชวา ซึ่งมีน้ำหนักเบา แต่ราคาแพง ใช้ผสมฐานต้นกล้วยมีน้ำหนักมากกว่า และลอยน้ำได้ดีกว่าเลยใช้ในส่วนด้านบน ส่วนองค์ประกอบจะมีกลีบบัวเป็นชั้นที่สองกับสาม ส่วนชั้นล่างเป็นการเย็บกลีบบัวแบบดั้งเดิมของไทย มีความสวยงามของไทยเดิม และมีความประณีตของการทำกระทง
ขอชื่นชมในความตั้งใจของทุกทีมในการเข้าร่วมแข่งขัน ศึกษาค้นคว้า เรียนรู้การทำกระทงอย่างตั้งใจ และใช้ความคิดสร้างสรรค์สไตล์เด็กม.กรุงเทพ ถึงแม้จะมีเวลาจำกัด แต่ทุกทีมก็เอาชนะใจกรรมการได้อย่างยอดเยี่ยม
สีสันยามเย็น…ลอยกระทง ออกร้าน งานกิจกรรมคึกคัก
ตามมาด้วยช่วงบ่ายไปจนถึงช่วงค่ำ คึกคักไปด้วยการปิดถนน บริเวณหน้าอาคาร A4 เพื่อให้เหล่านักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมชมงานออกร้าน บูท และซุ้มกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย จากคณะ ชมรม และกลุ่มกิจกรรมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รวมแล้วกว่า 20 บูท มีนักศึกษาเข้าร่วมชมงานตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงค่ำอย่างคึกคัก
เรามาฟังความในใจของนักศึกษาที่ร่วมกันจัดกิจกรรมออกร้านในงานวันนี้กันว่าพวกเขามีความคิดอย่างไรต่อประเพณีลอยกระทง
มาที่ร้านยำสุดแซ่บ โดดเด่นสะดุดตา พี่ธรรมชาติ-ธรรมชาติ โยสาจุล นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปี 3 บอกว่า อยากให้คนมาเที่ยวชมงานได้ทานของอร่อย จึงคัดสรรยำคุณภาพมานำเสนอ ยำหมูยอ ยำกุ้งสด ยำมาม่า สารพัดยำต่าง ๆ งานลอยกระทงพี่ธรรมชาติแสดงความคิดเห็นว่า นี่คือประเพณีที่ชาวต่างชาติชื่นชอบ และอยากมาสัมผัสที่ประเทศไทย และเป็นประเพณีที่น่าสนับสนุนให้คงสืบต่อไป และเป็นประเพณีที่สวยงาม
อีกหนึ่งร้านจากนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ พี่นิ-นิภัทร์ลดา วิทยาลัย จากคณะนิติศาสตร์ ชั้นปี 4 บอกว่า เตรียมเฟรนฟรายมาขาย ใส่ภาชนะที่ทำมาจากใบตอง สอดคล้องกับแนวคิดการจัดงาน พี่นิมีมุมมองต่อวันลอยกระทง ถือว่าเป็นประเพณีที่ดีสำหรับประเทศไทยเรา แต่ในปัจจุบันกระทงสร้างขยะมากขึ้น เราให้เป็นประเพณีเหมือนเดิมได้ แต่อาจจะมีวิธีการลอยกระทงในหลากหลายรูปแบบ เช่น ลอยกระทงออนไลน์ ลอยกระทงด้วยวัสดุธรรมชาติ เพื่อลดการสร้างขยะ
และขาดไม่ได้ ร้านขายกระทงกะลา พี่ปนัดดา-ปนัดดา บุนนาค จากคณะบริหารธุรกิจ ชั้นปี 3 บอกกับเราว่า เตรียมกระทงที่ทำจากกะลา เป็นอันใหญ่กับอันเล็ก เป็นกะลาที่ประดิษฐ์ใส่เทียนหอม เป็นกระทงที่ช่วยลดโลกร้อน เน้นวัสดุธรรมชาติ พี่ปนัดดาบอกว่า วันลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่มีมานานแล้ว เป็นเหมือนกับการขอขมาพระแม่คงคา และขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ประกวดเทพธิดา BU เทพบุตร เมืองกรุง และดาวรุ่งทุ่งบียูจำแลง
งานลอยกระทงที่ขาดไม่ได้เลยคือการประกวดประขันเรื่องความสวยความงามและความสามารถ โดยบริเวณด้านหน้าอาคาร A4 – A5 ตรงข้ามเรือนไทย จัดตั้งเป็นเวทีประกวด และการแสดงโชว์มากมาย งานนี้มีการประกวด 3 สไตล์ คือ เทพธิดา BU, เทพบุตร เมืองกรุง และดาวรุ่งทุ่งบียูจำแลง ผู้เข้าประกวดได้แสดงความสามารถกันอย่างเต็มที่ พร้อมกับมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมตัดสิน และมอบรางวัลในปีนี้ เรามาติดตามชมภาพกันได้เลย
เราเกาะขอบเวทีอีกแล้ว คว้าตัวผู้ชนะการประกวดมาพูดคุยกันว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้
สาวสวยของเราคนแรก ผู้ชนะเลิศ “เทพธิดา BU” พี่ตัวเล็ก-ปริญญานาฎ ด่านซ้าย นักศึกษาคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ บอกกับเราว่า “หนูมีความภาคภูมิใจมาก ก่อนเข้าประกวดก็มุ่งมั่นและมีความคาดหวัง หนูรีบคว้าโอกาสเพราะว่าการที่เราทำในสิ่งที่เรากลัวหรือว่าในสิ่งที่เราไม่กล้าทำ เป็นการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น หนูคิดว่าหนูจะเก่งขึ้น การเข้าร่วมงาน เหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งในการที่สืบสานวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว แต่ว่าไม่มีโอกาสได้ทำสักที ครั้งนี้เป็นการมีส่วนร่วมจริงจัง ได้ทำเพื่อคณะ แล้วหวังว่าในอนาคตจะได้ทำเพื่อมหาวิทยาลัย”
ส่วนเทพบุตรเมืองกรุง ปีนี้ได้แก่ พี่พายุ-เหมวัตย์ สหัสเดชะวงศ์ คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว บอกว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นครับ แล้วรู้สึกดีใจมากเลย ตอนแรกไม่คิดว่าตัวเองจะได้รางวัลนี้ด้วยครับ การเตรียมตัว ผจะซ้อมเดิน แล้วก็ปรับบุคลิกภาพ เดิน ซ้อมเดินหน้ากระจก สังเกตว่าตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง มีดูการประกวดต่าง ๆ หาความรู้เพิ่ม ผมประทับใจ พี่ ๆ ทีมงานหรือทุกอย่างที่จัดขึ้นมาเลยครับ ที่ให้การดูแลพวกเราเป็นอย่างดี”
ปิดท้ายที่ดาวรุ่งทุ่งบียูจำแลง พี่จิ๊บ-ปณิชา สุขศรี จากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาศิลปะการแสดง ชั้นปี 3 เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความตั้งใจ อยากลองทำ และเมื่อทำแล้ว ก็ทำอย่างเต็มที่ พี่จิ๊บ บอกว่า “เราไม่เคยประกวดมาก่อน แล้วเพื่อนเชียร์ว่าแบบ ประกวดแบบที่ไม่ได้หวังว่าอยากจะได้ที่1 หรืออยากได้ตำแหน่ง ถือว่าเราลองทำสักตั้งหนึ่ง แต่เราทำออกมาเต็มที่ ในเรื่องของการตอบคำถาม การเดิน การอะไร คือเราซ้อมมาหมดเหมือนกัน”
การประกวดเรียกเสียงเชียร์จากเพื่อน ๆ ที่เข้ามาชมงานได้มากมาย เก็บเกี่ยวประสบการณ์เอาไว้พัฒนาตัวเองต่อไป
ขอขมาจากแม่พระคงคา
ก่อนจะลาค่ำคืนลอยกระทงไป คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรของของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ร่วมกันลอยกระทง บริเวณหน้าเรือนไทย พร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอขมา และขอพร จากแม่พระคงคา
กระทงที่โดดเด่นเป็นสง่าในค่ำคืน เป็นฝีมือของ พี่รัก-รักษิต บุญนาค นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่มีผลงานศิลปะจากการตัดกระดาษสร้างสรรค์ในงานใหญ่ระดับโลกมาแล้วมากมาย
ประสบการณ์การเรียนรู้จากงานลอยกระทง
การจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย และมีทีมนักศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงาน พี่ลีวาย-นครินทร์ โคตรศรี อุปนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกกับเราถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการจัดงานว่า “การลอยกระทงเป็นประเพณีที่สวยงาม คือจะให้เปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยน น่าจะปรับเปลี่ยนด้วยความเหมาะสม ตามหลักประเพณียังคงแบบเดิมที่มีการลอยกระทง เพราะเป็นประเพณีที่สวยงาม ประเทศอื่นไม่มี เราควรที่อนุรักษ์และสืบสานประเพณีนี้ไว้”
พี่ลีวาย เสริมว่า งานที่นักศึกษาได้มีส่วนร่วม ทำให้เราได้เรียนรู้การบริหารจัดการคน การคิดที่เป็นระบบ ทุกคนในทีมงานสำคัญทั้งหมด เรามองภาพเป็นภาพเดียวกัน เพราะประชุมกันบ่อย ทำให้งานสำเร็จไปได้เป็นอย่างดี
เป็นอีกหนึ่งคืนที่ BU เต็มไปด้วยแสงไฟ สีสัน มิตรภาพจากเพื่อนพ้องน้องพี่ต่างคณะที่มาร่วมงานกันมากมาย พวกเราได้เรียนรู้ประเพณีลอยกระทง การรักษาสิ่งแวดล้อม การทำงานร่วมกัน และมิตรภาพที่เกิดขึ้นในงานวันนี้ แล้วพบกันใหม่ในงานลอยกระทงปีหน้า จะมีอะไรดี ๆ รออยู่ ต้องติดตามกันให้ได้เลย