Open House BU 2019 ปีนี้ หลายคณะมาแรงด้วยธีมโลกแห่งอนาคต “Creativity + Technology” ตอกย้ำความสร้างสรรค์และพลังแห่งโลกยุคดิจิทัล เพราะเทคโนโลยีก้าวไกลและมีบทบาทกับชีวิตประจำวันเรามากขึ้น ทั้งในโลกแห่งการเรียนและโลกแห่งการทำงาน
วันนี้เราจะพาทุกคนมาท่องโลกอนาคต ชมสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีสุดล้ำที่เหล่านักศึกษาและอาจารย์คิดค้นขึ้น จาก 2 คณะแห่งโลกอนาคต – คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม และคณะวิศวกรรมศาสตร์
เรามาเริ่มกันที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมกันเลยดีกว่า
สัมผัสโลกแห่งจินตนาการ สุดล้ำ !
เริ่มต้นกันที่ เกม VR (Virtual Reality) ซึ่งเปรียบเสมือนโลกแห่งจินตนาการ ภาพจำลองที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเครื่องมือเหล่านี้ ทำให้เราสามารถ มองเห็น ฟังเสียง สัมผัส สร้างประสบการณ์สุดล้ำ พร้อมอุปกรณ์ที่ครบครันทันสมัย
ประสบการณ์น่าตื่นเต้นมากมายรออยู่ เช่น เกมยิงปืนในอวกาศ ได้แรงบันดาลใจจากโลกไซไฟซึ่งสอดคล้องกับธีมงานใน ม.กรุงเทพ ปีนี้คือ “โลกแห่งอนาคต” และเกมยิงธนู ที่ได้แรงบันดาลใจจากตัวละคร “ยอน” จากเกม “ROV” ให้เราได้สัมผัสว่าในการยิงธนูออกไปแต่ละครั้งนั้น ตัวละครนี้รู้สึกอย่างไรนั่นเอง
ผลงานส่วนใหญ่มาจากพลังของนักศึกษาที่สร้างสรรค์ขึ้น และได้รางวัลจากการแข่งขัน นำมาให้ผู้มาร่วมงานได้ทดลองเล่นกัน
ปัจจุบันคนไทยหันมาใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้น จนทำให้ขาดแคลนผู้ผลิตด้านนี้ จึงเกิดแนวคิดใหม่ที่ว่า “เปลี่ยนจากผู้เล่น เป็นผู้สร้าง” เปิดโอกาสให้ผู้สนใจและชื่นชอบทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาศึกษา เพื่อนำไปประกอบเป็นอาชีพอันน่าตื่นเต้น และยังตอบสนองความต้องการของตลาดยุคปัจจุบันและอนาคตได้อีกด้วย
สายเฮลตี้ สายคลีน อย่ารอช้ามาปลูกผักกันดีกว่า !
การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นํ้าวน หรือ Smart Farm-Hydroponics ได้แนวคิดจากการปลูกผักกินเอง ซึ่งปัญหาที่ประสบพบเจอเสมอ คือ ต้องเสียเวลาดูแลค่อนข้างมาก และมีขั้นตอนยุ่งยาก แต่สามารถแก้ปัญหาให้การปลูกผักง่ายขึ้น ไม่เสียเวลา และไม่ต้องออกแรงจับจอบให้เหนื่อย
ปัญหาหมดไปเพราะเครื่องนี้มีระบบ เปิด/ปิด น้ำอัตโนมัติให้นํ้าวน โดยน้ำจะเข้าท่อ ไหลลงกลับไปที่เดิมแล้ววนเข้ามาใหม่ ถ้าแสงไม่พอยังสามารถเปิดไฟได้อัตโนมัติ เพื่อให้พืชสังเคราะห์แสง
นอกจากนี้ยังมีการ เปิด/ปิด การพ่นหมอกอัตโนมัติ หากอุณหภูมิสูงเกินไป ที่สำคัญและเข้ากับยุคดิจิทัลคือ การควบคุมสั่งงานได้ผ่านทางโทรศัพท์ โดยสามารถตรวจสอบอุณหภูมิ วัดความชื้น วัดแสง ทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องมาคอยกังวลหรือดูแลในเรื่องของการรดน้ำอีกต่อไป
เราจึงได้ผักสลัดต่าง ๆ ที่สด สะอาด ไร้สารพิษอีกด้วย
เที่ยวได้สบายใจ ต้นไม้ของคุณไม่ตายเเน่นอน
ระบบรดนํ้าต้นไม้อัตโนมัติ ด้วยเทคโนโลยีระบบเซ็นเซอร์วัดระดับความชื้นภายในดิน โดยไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการควบคุม เพราะใช้เพียงแบตเตอรี่ โดยจับอุณหภูมิความชื้นเมื่อดินหรืออากาศเเห้งระบบจะสั่งปั๊มรดนํ้าอัตโนมัติ พอความชื้นในดินได้ค่าที่ต้องการก็จะสั่งหยุดทันที แต่ถ้าใครมีอินเทอร์เน็ตเสริมด้วย ก็จะพิเศษเข้าไปอีก เพราะมีตัวควบคุม สามารถดูข้อมูล ค่าความชื้น และอุณหภูมิในดินได้
เห็นแบบนี้ก็เที่ยวได้สบายใจหายห่วง ไม่ว่าอยู่ใกล้หรือไกลแค่ไหน ก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็คตรวจสอบได้ตลอดเวลา
นั่งเฉย ๆ ไฟก็ติดแล้ว
Smart Home เเนวคิดที่เกิดจากผู้สูงอายุค่อนข้างลำบาก เวลาต้องคอยลุก คอยนั่งไปหยิบจับ เวลาจะใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เราจึงพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้เป็นการใช้งานควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อความสะดวกสบาย ทันใจ ใช้ได้ทั่วรอบบ้าน
ด้วยระบบ Auto Light ใช้งานผ่านการวัดค่าความมืด ความสว่างของหน้าจอมือถือ เมื่อหน้าจอมืดไฟในบ้านก็จะสว่าง และ Auto Fan จะควบคุมอุณหภูมิ เปิด/ปิด พัดลมหรือแอร์อัตโนมัติ ด้วยเซ็นเซอร์อุณหภูมิ และยังสามารถสั่งงานผ่านเสียงด้วย Google Assistant
ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่า “เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดจากปัญหาที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันเรา การใช้ความคิดสร้างสรรค์จะเป็นสะพานเชื่อมโยง เพื่อนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาช่วยแก้ไขให้ชีวิตดีขึ้น”
เราเดินทางสู่ความล้ำหน้ามายังคณะต่อไป ซึ่งอาจเป็นคณะขวัญใจของสาวหลายคนเลยก็ว่าได้ นั่นคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ พี่ ๆ เหล่านี้มีสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีที่หลากหลาย น่าสนใจไม่แพ้กัน
ต้นไม้ AI ช่างรู้ใจ เชื่อมโยงความรู้สึกพืชและมนุษย์
แนวคิดในการสร้างมาจากการที่อยากจะเชื่อมโยงความรู้สึกระหว่างต้นไม้กับมนุษย์ อยากรู้ว่าเมื่อเราสัมผัสกับต้นไม้ เหล่าต้นไม้จะรู้สึกอย่างไร สามารถนำไปปรับใช้กับมนุษย์ได้ เช่น ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรู้สึกตัว หรือประสาทสัมผัสรับรู้ไม่ได้
วงจรการทำงานมีอยู่ 2 ขั้นตอนหลัก ๆ ได้แก่
1.ออกแบบวงจรเกี่ยวกับไฟ ด้วยเงื่อนไขว่า ถ้าเราสัมผัสต้นไม้ ไฟก็จะเปลี่ยนตาม
2.สร้างโปรแกรมในการทำงาน จากสมมติฐานว่าต้นไม้จะรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกสัมผัส โดยสร้างวงจรการส่งผลการทำงานฝังกับต้นไม้ จากนั้นจะสั่งการไปที่ไฟเพื่อเปลี่ยนสี
หุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์
แผงโซล่าเซลล์ส่วนมากจะติดไว้บนหลังตา ถ้าเราทำความสะอาดเองก็จะเกิดอันตรายขึ้น นี่คือจุดประสงค์ของการสร้างหุ่นยนต์นี้ขึ้นมา เพื่อทำความสะอาดแทนมนุษย์ ช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสีย และยังเป็นความแปลกใหม่ ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
การทำงานผ่าน 2 ระบบ คือ ระบบแมนนวล จะอยู่ในตัวหุ่นยนต์ และระบบสับถ่าน โดยมีรีโมทที่ควบคุมอัตโนมัติ
ในอนาคต จะสามารถทำให้หุ่นยนต์มีขนาดเล็กลง กะทัดรัดมากขึ้น และที่สำคัญ ตอนนี้หุ่นได้รับความสนใจขนาดที่ว่า มีคนมาขอซื้อไอเดียไปต่อยอดแล้ว
แขนกลหุ่นยนต์ทำแพนเค้ก
ผลงานจากโจทย์ในชั้นเรียน ว่าถ้าอยากกินแพนเค้ก จะให้หุ่นยนต์ทำได้ไหม ปรากฏว่า ได้!
การทำหุ่นยนต์แขนกลนี้ต้องใช้โปรแกรมการจำลองทดลองการเคลื่อนที่ เพื่อไม่ให้แขนชนกันเอง หลังจากทำขั้นตอนนี้เสร็จแล้ว ก็จะดูว่าแพนเค้กทำอย่างไร ใช้ส่วนผสมใดบ้าง แล้วทำการชิมอีกรอบเพื่อให้สูตรความอร่อยลงตัว
จากนั้นย้อนกลับไป ใส่โปรแกรมการเคลื่อนไหวของแขน ให้สามารถปรุงแพนเค้กออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด
ปัญหาในการทำ จะมีเรื่องของความหนืดของแป้ง ซึ่งถ้าหนืดเกินไป พอเทแป้งก็จะเกิดเป็นฟอง แต่ถ้าเหลวเกินไปก็จะมีความกระจายตัว แล้วจะตักไม่ได้
แขนกลนี้มีความล้ำหน้าในระดับที่ใช้กับอุตสาหกรรม ทั้งความแข็งแรง ทนทาน และยังมีความแม่นยำสูง แค่นำมาประยุกต์ให้กลายมาเป็นแขนกลทำแพนเค้กนั่นเอง
แขนกลนี้ไม่ได้จำกัดว่าต้องทำแพนเค้กอย่างเดียวเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะออกแบบโปรแกรมให้ทำอะไร เพราะมันทำได้ทุกอย่าง
ปลูกผักแบบคอนโด
การคิดค้นสำหรับปลูกผัก จะกลายเป็นเทรนด์ในยุคนี้และยุคหน้า สิ่งประดิษฐ์นี้ใช้น้ำไหลเวียนเพื่อให้ผักดูดซับน้ำได้ดีขึ้น ต้องเขียนโปรแกรมออกแบบวงจรขึ้นมาเพื่อดูแลผักและควบคุมอุณหภูมิความชื้น แสงสว่าง ใช้หลอดไฟสีต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของผัก
Turtlebot 3
หุ่นยนต์ล้ำยุค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับรถยนต์ไร้คนขับ เกิดจากการย่อฮาร์ดแวร์ให้มีขนาดที่เล็กลง แต่ยังคงคุณภาพความเป็นหุ่นยนต์ยุคใหม่ได้อย่างครบถ้วน พร้อมระบบซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย มีกล้องเหมือนรถยนต์ไร้คนขับและมีเซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ด้วย
เราเริ่มจะเข้าใกล้ยุคอนาคตแห่งหุ่นยนต์เข้าไปทุกทีแล้ว
Light & Sound
ระบบแสง สี เสียง ของสาขาวิชาวิศวกรรมมัลติมีเดียและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จะใช้การควบคุมด้วยมือทั้งหมด รวมถึงดีเจด้วย เพื่อที่จะได้อรรถรส และเข้าถึงอารมณืได้มากกว่าระบบ auto ที่ขาดสัมผัสแบบอารมณ์มนุษย์ไป
นี่คือการผสมผสานของความเป็นมนุษย์และเทคโนโลยี ทำให้การควบคุมส่วนต่าง ๆ ต้องปราณีต และรอบคอบ เพื่อให้แสง สี เสียง ออกมาสมบูรณ์
สิ่งสำคัญจริง ๆ ของหุ่นยนต์ในงาน ไม่ได้จะเน้นที่ผลงานให้แปลกประหลาด แต่จะเน้นตรงที่กระบวนการคิดสร้างสรรค์ ใช้จินตนาการเพื่อประดิษฐ์และตอบโจทย์การก้าวสู่อนาคต นั่นหมายความว่า นักศึกษาจะได้อะไรจากสิ่งที่ทำในเชิงความคิดและทักษะเพื่อการต่อยอด และพร้อมจะระเบิดกรอบเดิม ๆ เพื่อก้าวไปสู่อนาคตต่อไป