วันวานกับคนสำคัญที่เราอาจมองไม่เห็นในงานเปิดบ้าน Open House BU ม.กรุงเทพ

เปิดใจพูดคุยผู้อยู่เบื้องหน้า-เบื้องหลังความสำเร็จในงาน Open House BU 2019

            เปิดบ้านมหาวิทยาลัยกรุงเทพ Open House BU 2019 ได้ผ่านพ้นไปแล้วอย่างน่าประทับใจ แต่กว่างานจะออกมาได้สำเร็จและยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ต้องมีทั้งผู้อยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานกันอย่างสุดความสามารถ จากความสำเร็จดังกล่าวนี้ทำให้ เราอดไม่ได้ที่จะนำบุคคลสำคัญที่บางคนเราอาจมองไม่เห็นเหล่านี้มาเล่าถึงความทุ่มเทของพวกเขากัน

รุต-วิศรุต ถูกคะเนย์ ตำแหน่งมีเดีย คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการผลิตอีเว้นท์ เด็กหนุ่มใสซื่อผู้หลงใหลการถ่ายภาพและวิดีโอ

รับผิดชอบหน้าที่อย่างมีความสุข

            ผมได้รับมอบหมายให้อยู่ฝ่ายมีเดีย ทำหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอในงาน Bangkok Night ซึ่งเป็นการแสดงโชว์ม่านน้ำผ่านแสง สี เสียง ก่อนถึงวันงานต้องมีการรันงานเพื่อถ่ายวิดีโอเก็บไว้ พอทดสอบเสร็จก็จะนำวิดีโอมาเปิดดูว่าต้องมีจุดไหนที่ต้องแก้ไข จะได้ผิดพลาดน้อยที่สุด

การทำงานมีความกดดัน แต่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้

            ทุกฝ่ายมีความเครียดและความกดดันที่แตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว ฝ่ายที่ผมรับผิดชอบอยู่นั้นส่วนมากก็จะมีปัญหาในด้านแสง เพราะสภาพอากาศช่วงก่อนวันงานมีฝนตกเกือบทุกวันเลย ทำให้ผมมีความกดดันในเรื่องนี้มาก ๆ ยิ่งมีเวลาในการทดสอบแสง สี เสียง น้อยมาก พอฝนตกก็ยิ่งใช้เวลามากเลยครับ แต่โชคดีที่ทีมงานทุกฝ่ายช่วยเหลือกันตลอด ทำงานกันอย่างเต็มที่ ช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ดี เช่น เอาร่มมาบัง นำซองกันน้ำมาคลุมอุปกรณ์ นอกจากนี้ก็ยังมีอาจารย์มาช่วยเหลือให้คำแนะนำด้วย

เสน่ห์นิเทศศาสตร์

            ผมว่าคณะนิเทศศาสตร์แต่ละสาขามีความน่าสนใจแตกต่างกันไป สนองตอบความชอบที่แตกต่างกันของแต่ละคน อย่างถ้าใครชอบการจัดคอนเสิร์ต ก็เหมาะกับสาขาอีเว้นท์ เสน่ห์อีกอย่างคือ นิเทศศาสตร์ไม่ได้เน้นทฤษฎีเพียงอย่างเดียว แต่เน้นปฏิบัติด้วยครับ

ขอ 3 คำให้กับงานเบื้องหลัง

            เหนื่อย แต่ คุ้ม

5 สาวมนุษยศาสตร์ฯ คนเบื้องหลังที่ผันมาอยู่เบื้องหน้ากับความทุ่มเทในการทำงาน

            สาวสวยคนแรก เดือน-จตุพร พรหมสนิท ตำแหน่งสวัสดิการ คนต่อมาสาวผมสั้นยิ้มสวย ป็อป-กชพรรณ อรุณวงค์ ตำแหน่งเลขานุการ สาวตัวเล็กยิ้มละลาย ลูกน้ำ-กรวินท์ พงษ์วิทยาภานุ ตำแหน่งนันทนาการ สาวสวยใส่แว่น มิ้น-อทิติยา ดุกล้า ตำแหน่งประชาสัมพันธ์และสวัสดิการ และสาวสวยคนสุดท้าย หญิง-แพรพรรณ ลีทหาร ตำแหน่งประชาสัมพันธ์

ทำงาน Open House ให้ดี ต้องแนะนำได้ทุกคณะ ไม่ใช่แค่คณะของตัวเอง

            นอกจากจะทำงานเบื้องหลัง พวกเรายังมาช่วยงานเบื้องหน้าด้วย ไม่ว่าจะการเป็น MC หรือทำหน้าที่คอยต้อนรับน้อง ๆ นักเรียนที่เข้ามาร่วมชมงานและเล่นกิจกรรมของคณะ แต่หน้าที่หลัก ๆ ของพวกเราคือคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับคณะมนุษยศาสตร์ฯ ว่ามีสาขาอะไรบ้าง ให้คำปรึกษา และแจ้งน้อง ๆ เรื่องลำดับกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเราไม่ได้ให้ข้อมูลเพียงคณะเราแค่คณะเดียว แต่เราให้ข้อมูลของมหา’ลัยด้วย เช่น คณะอื่นอยู่ตรงไหน วิธีการเดินทางไปคณะอื่น ๆ ค่ะ

ก้าวข้ามปัญหาพร้อมรับมืออย่างมีสติ

            ทุกคนส่วนมากมีปัญหาเรื่องการแบ่งเวลาเรียนค่ะ คือเราต้องเรียนและต้องมาทำงานในฝ่ายที่เรารับผิดชอบด้วย บางวันเวลาเรียนกับทำงานก็ตรงกัน วิธีที่พวกเราใช้ก้าวข้ามปัญหานั้นไปให้ได้ก็คือการมีสติค่ะ ต้องรู้จักแบ่งเวลาให้เป็น เพราะถ้าแบ่งเวลาไม่ถูก เราก็อาจเสียการเรียนไปด้วย

ทำงานที่ชอบแล้วจะมีความสุข

            หากได้มีโอกาสทำงาน Open House ในปีหน้าอีก พวกเราก็อยากทำงานฝ่าย MC และด้านบริการเหมือนเดิม เพราะเรามีความสุขกับการทำงานด้านนี้ หากเราทำงานที่เรามีความสุข เราก็จะทำมันออกมาได้เต็มที่ค่ะ

เสน่ห์มนุษยศาสตร์ฯ

            จุดเด่นทางกายภาพของคณะคือตึกที่สูงมากเลยค่ะ ส่วนในด้านการเรียนจุดเด่นคือการลงมือทำจริง เช่น การบินก็จะมีการเรียนรู้การทำงานโดยใช้อุปกรณ์บนเครื่องบิน การปฏิบัติต่อผู้โดยสาร และยังได้เรียนกับอาจารย์ที่มากประสบการณ์ด้วย หรืออย่างสาขาเชฟ ก็มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ตอบโจทย์และทันสมัยที่สุด ได้เรียนรู้จริงและลงมือทำจริงกับสุดยอดอาจารย์และ Celeb Chef ที่มีชื่อเสียงและเชี่ยวชาญในวงการอาหารมานาน อยากรู้ว่าสนุกและท้าทายแค่ไหน คงต้องมา Open House มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ในปีหน้ากันนะคะ

สาวสวยสดใสที่มาพร้อมกับการทำงานอย่างเต็มที่ มด-กชพร จันทรนิจกร ตำแหน่ง MC และฝ่ายงาน VR และ E-sports จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม

ทำหน้าที่อย่างจัดเต็ม

            มดได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น MC คอยเรียกน้อง ๆ ให้เข้ามาแข่ง ROV และมีอีกหน้าที่หนึ่งคือโชว์การเล่นเกม VR เพราะมดเคยเป็นรองแชมป์ประเทศเกม Beat Saber ซึ่งเป็นเกม VR โดยต้องโชว์ในโซน VR เพื่อเรียกน้อง ๆ ให้มาร่วมกิจกรรม

ตั้งสติและวางแผนในการเตรียมงาน

            คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมีหลากหลายสาขามาก ๆ แต่สาขาที่เรียกได้ว่าโดดเด่นและยอดฮิตมากก็คือสาขาเกมและสื่อเชิงตอบโต้ ซึ่งการเตรียมงานอย่างแรกเลยคือ จัดหาคนให้มาทำหน้าที่แต่ละฝ่ายให้เหมาะสมที่สุด เพราะสาขานี้มีหลายโซนมาก ๆ ทั้งโซนเวิร์กช็อป โซน VR โซนเล่นเกม โซนแข่งเกม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยากคือการหาคนที่เหมาะสมกับหน้าที่แต่ละฝ่ายค่ะ

คนส่วนมากชอบเล่นเกม เลยไม่ยากที่จะดึงดูด

            กิจกรรมนี้ทีมงานทุกคนต้องช่วยกันคิดอยู่แล้วค่ะ แต่ด้วยความที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมีสาขาเกมเป็นที่นิยม และคนส่วนใหญ่ก็ชอบเล่นเกมกันอยู่แล้ว เลยไม่ยากที่จะดึงดูดคนที่ชอบเล่นเกมเข้ามา เช่น การแข่งเกม ROV หลายคนก็ชอบเล่นเกม ROV อยู่แล้ว พอน้องเข้ามาเล่นแล้วได้รางวัล เช่น ไอเทมโค้ด เสื้อ ก็ยิ่งดึงน้องให้เข้ามาได้ ส่วนคอนเทนต์ที่จะให้น้อง ๆ เล่นก็เป็นเกมที่นักศึกษาสาขาเกมเป็นคนคิดขึ้นมา เพื่อให้น้องที่จะเข้ามาเรียนที่นี่ได้รู้ว่า อยู่แค่ปี 1 ก็สร้างเกมได้แล้วนะ ถือเป็นการดึงดูดน้องให้สนใจมากขึ้นค่ะ

กว่าจะเป็นเกมที่เล่นและนำมาโชว์ได้ ไม่ง่ายอย่างที่คิด

            เกมที่เอามาโชว์หรือนำมาให้น้อง ๆ ได้เล่นในวัน Open House เป็นงานของนักศึกษาปี 1 ที่ทำโปรเจ็กต์ส่งอาจารย์ โดยเกมที่ผ่านเข้ารอบการคัดเลือกทั้งหมดก็จะได้ออกมาโชว์ หากน้องได้เข้ามาดูก็ต้องแปลกใจว่า เฮ้ย!!! ปี 1 ก็ทำได้แล้วเหรอ ซึ่งถ้าถามว่าการทำเกมนั้นยากหรือหนักไหม ก็ต้องตอบว่า การทำเกมไม่ได้ทำได้แค่คนเดียว แต่ต้องระดมทั้งความคิดสร้างสรรค์ หลักการการเขียนโค้ด และไอเดียต่าง ๆ ให้มารวมกัน จึงค่อนข้างที่จะหนักค่ะ แต่พอเห็นผลงานเราออกมาแล้วก็คุ้มค่าเหนื่อยจริง ๆ

ความแตกต่างระหว่างการทำงานคนเดียวและการทำงานเป็นทีม

            การทำงานเดี่ยวมันคือความคิดของเรา เราอยากทำอะไร อยากใส่ไอเดียอะไร ใส่โค้ดอะไร สามารถใส่ลงไปได้หมดอย่างอิสระ เพราะเป็นความคิดของเราคนเดียว ซึ่งถ้าเป็นงานที่ใหญ่มากก็จะลำบากหน่อย เพราะเราทำคนเดียว แต่การทำงานเป็นทีมจะทำให้งานมีประสิทธิภาพมากกว่า ใช้เวลารวดเร็วกว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าคนในทีมต้องรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การเรียนสาขาเกมต้องอาศัยทีมเวิร์ก เพราะไม่สามารถที่จะทำคนเดียวได้ ถ้าอยากจะให้งานของเรามีความสร้างสรรค์ มีความน่าสนใจ เราก็ต้องพึ่งความคิดหลายคนมาทำให้สมบูรณ์มากที่สุดค่ะ

ขอ 3 คำให้กับการทำงานเบื้องหลัง

            เล่น แล้ว สร้าง

งานอาร์ตบนกำแพงคณะศิลปกรรมศาสตร์อันแสนโดดเด่น ผ่านการเตรียมงานโดยชายหนุ่มร่างสูงผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความขี้เล่น แฝงแววความติสต์ไม่มีใครเหมือน เจดัย-อัครพล รัตนตยาธิคุณ ตำแหน่งงาน Illustrator และการออกแบบงานวาด

การทำงานจะราบรื่น ถ้าจัดตารางเวลาได้เหมาะสม

            ปกติภาระในการเรียนก็ค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องพยายามเอาเวลาพักของเรามาทำงานครับ ต้องแบ่งเวลาเรียนและเวลาทำงานเป็นส่วน ๆ ไป พอมีเวลาเหลือ เราก็นัดกันมารวมตัวช่วยงาน Open House กัน

รับมือกับปัญหาด้วยพลังมิตรภาพ

            ในโลกนี้ไม่ว่าเราจะทำงานในสาขาอะไรก็ตาม ยังไงก็ต้องมีปัญหาการทำงานแน่ ๆ แต่พอเรามีปัญหาอะไรปุ๊บ เราก็จะคุยกันครับ แต่ต้องเข้าไปคุยด้วยพลังมิตรภาพนะว่ามีปัญหาอะไร ทำไมถึงได้ผิดใจกัน ที่สำคัญคือต้องหาทางแก้ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์อย่างเดียวครับ

แม้ไอเดียจะแตกต่าง แต่ก็ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานได้

            ความมีเสน่ห์ของคณะนี้คงเป็นความปั่นของตัวนักศึกษาน่ะครับ (หัวเราะ) คือนักศึกษาทุกคนจะเป็นคนกวน ชอบทำอะไรติสต์ ๆ ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะเรื่องของ illustrator และกราฟิกดีไซน์ที่ทางคณะเราเปิดกว้างมาก ทำให้ผลงานออกมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันของนักศึกษาเลย

แม้เป็นคนเบื้องหลัง แต่ไม่เคยเป็นปัญหา

            ไม่เคยน้อยใจที่ทำแค่งานเบื้องหลังเลยครับ เพราะถึงเราจะทำงานเบื้องหลัง แต่สุดท้ายงานเบื้องหลังมันก็ออกมาจัดโชว์อยู่ด้านหน้าอยู่ดี พอเขาเห็นผลงานของเราแล้วเขาชอบ แค่นั้นก็พอใจแล้วครับ

หญิงสาวบุคลิกดี มีแววตาเป็นอาวุธ และเสน่ห์เฉพาะตัว จีน-กฤตพร ศิริอุดมเดชกุล ตำแหน่งงาน Management ผู้ประสานงานคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์

ไม่ว่างานอะไรก็ต้องมีการเตรียมตัว

            งาน Open House ก็ตามชื่อเลยค่ะว่าเป็นการเปิดบ้าน เป็นการโชว์ให้น้องดูว่า เฮ้ย—คณะเราทำไมถึงต้องมาเรียน คือเด็กส่วนใหญ่ที่มาดูเขาก็มีความสนใจประมาณหนึ่งอยู่แล้ว เราจึงต้องมาคิดว่า จะทำยังไงให้น้องมาดูแล้วรู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ บางคนไม่รู้ว่าคณะเรามีอะไรบ้าง เราก็ต้องทำให้น้องเขารู้ว่า ถ้าเข้ามาเรียนที่คณะนี้จะได้เจอกับอะไร อย่างคณะเรามีอุปกรณ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งพอน้องเข้ามาก็จะได้จับจริงโดยปีนี้มีสาขาดิจิทัลมีเดีย ก็มีการเวิร์กช็อปเรื่อง CG, Sound
            ส่วนเบื้องหลังภาพยนตร์ การออกกอง ก็จะเป็นไฮไลต์ของสาขาศิลปะภาพยนตร์ โดยจีนเป็นฝ่ายประสานงานจากทุกห้องว่า ห้องหรือสตูไหนที่มีโชว์ รวมทั้งการที่วิทยากรมาพูด จากนั้นก็ต้องหาสตาฟเพื่อที่จะมาคุมงานในแต่ละห้อง หา MC มาพูดเกี่ยวกับรายละเอียดและหลักสูตรการเรียนในห้องนั้น ๆ ค่ะ

สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือความกดดันในการทำงาน

            กดดันเลยล่ะ เพราะว่าคณะเราใหญ่และคนเยอะมาก บางทีเราไม่ได้รู้จักกันทั้งหมด ทำให้การที่เราจะมานั่งตามคนหลายคนนั้นค่อนข้างยาก แล้วการที่เราต้องทำงานกับคนเยอะ ๆ เรายิ่งต้องจัดแจงข้อมูลมากขึ้นตามนั้น เวลาทำงานอะไรไปเราก็ต้องเช็กตลอดเวลา คือถ้าเป็นงานกลุ่มกับเพื่อน เราอาจจะไม่ต้องเช็กละเอียดขนาดนี้ แต่พอเป็นงานคณะที่เป็นงานใหญ่ ทำให้เราต้องเช็กทุกอย่างให้ละเอียดว่าถูกต้องจริง ๆ เพราะถ้าเกิดผิดพลาดอะไรไป ความผิดก็จะอยู่ที่เราแล้ว เพราะเราเป็นคนที่ต้องสื่อสารกับฝ่ายต่าง ๆ

แบ่งเวลาให้ได้คือสิ่งสำคัญ

            ตอนนี้จีนเรียนปี 3 ก็จะมีวันที่เรียนวิชาเอกและวิชาโท 2 วันเต็มๆ 1 วันที่เรียนวิชาเดียว และอีก 2 วันที่อัดเต็มๆ เรียกว่าค่อนข้างหนักเลยค่ะ เพราะฉะนั้นวันไหนเรียนเสร็จปุ๊บ ก็จะเอาการบ้านมาทำเลย รีบทำให้เสร็จ จากนั้นก็ใช้เวลาที่เหลือทำงานคณะทั้งหมด บางทีอาจจะแบ่งวันว่างให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้างค่ะ

ประสบการณ์คือบทเรียนสำหรับอนาคต

            การทำงานในคณะก็เหมือนการออกไปทำงานด้านนอกได้เลยนะคะ เพราะคนเบื้องหลังหลายคนก็เป็นรุ่นพี่ที่เคยออกไปทำงานข้างนอก แล้วกลับมาช่วยงานคณะ หลายคนที่กลับมาก็นำระบบการทำงานจริง ๆ จากข้างนอกมาสอน ซึ่งทำให้การทำงานของคณะเหมือนจำลองการทำงานรูปแบบจริง ๆ เลย ทำให้ได้ฝึกความเป็นโปรเฟสชันแนลในระดับหนึ่ง จีนเลยรู้สึกว่า พอเราเรียนจบไป เราก็ได้รู้สเกลการทำงานจริงมาประมาณหนึ่งแล้ว ถ้าทำงานจริงก็น่าจะปรับตัวได้ไม่ยาก

ขอ 3 คำให้ Open House

            โห…อันนี้คิดไม่ออกอะ อืม…งาน สร้าง คน ได้ไหม (หัวเราะ)

            พอเห็นการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของเขาและเธอเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเกินจริงเลยถ้าจะเรียกพวกเขาว่าเป็น “บุคคลสำคัญแห่งงาน Open House” เพราะถ้าไม่มีพวกเขา งานในปีนี้ที่ผ่านมาคงไม่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามเช่นที่เห็น เราขอชื่นชมและอยากปรบมือให้ทุกคนดัง ๆ เลย!

Writer

เรียนคณะนิเทศศาสตร์ เวลาว่างชอบอ่านนิยาย Manga และ Comic มันเป็นเหมือนการเรียนด้านการเขียนบทไปในตัวเพราะเรา สามารถหา Referenceการ สร้างตัวละครที่เราจะเขียนขึ้นมา ความชอบอีกอย่างคือการ เสพงานศิลป์ และดูหนังมันทำให้เรามี Passionในการเขียนบทและสร้างผลงานได้ดีขึ้น

Writer

สาวน้อยขี้อายเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น ร่าเริง สดใส หาความสุขให้ตัวเองอยู่เสมอและหาความรู้ใหม่เกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองสนใจเพื่อนำมาพัฒนาตัวเอง เพราะความพยายามไม่เคยทรยศใคร

Photographer

Dek BU Film ที่ชอบดูหนัง ดูซีรี่ย์ เป็นชีวิตจิตใจเพราะการดูหนังได้ข้อคิดดี ๆ เยอะ สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตตัวเองได้ และยังชอบฟังเพลง เล่นเกมส์ ดูอนิเมะ เป็นงานอดิเรก

Photographer

เป็นคนชอบถ่ายรูป เพราะการถ่ายภาพทำให้เราผ่อนคลาย และเป็นงานอดิเรกที่สามารถเยียวยาจิตใจ