สติดิจิทัล เปลี่ยนโลกด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ที่ตื่นรู้

ชวนคนรุ่นใหม่มาสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนในความปกติใหม่

          เปลี่ยนโลกด้วยพลังแห่งสติ “สติดิจิทัล” คือทักษะที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะการตระหนักรู้ในทุกสิ่งที่ทำอย่างมีสติจะทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้

          “ถ้าเรามี AWARE ADAPT ARISE เราจะมีสติในการรับสาร มีอิสระ มีความสุขในการดำรงชีวิต รวมไปถึงการสร้างสังคมไทย ให้เป็นสังคมแห่งการตื่นรู้” ข้อความดังกล่าวคือคำกล่าวเปิดโครงการอบรมสติดิจิทัล (Digital Mindfulness) ของ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย

          สติดิจิทัล (Digital Mindfulness) การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนในความปกติใหม่ คือโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับบุคลากรและนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จัดโดย คณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนานักศึกษา และคณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนาบุคลากร สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมป์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สสอท.)

          โดยต้องการพัฒนาคุณลักษณะและทักษะด้าน “สติดิจิทัล” สำหรับบุคลากรด้านกิจการนักศึกษา ผู้นำนักศึกษา และนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทั่วประเทศ

          การจัดอบรมสติดิจิทัลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จากการอบรมครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2563 เน้นไปที่กลุ่มอาจารย์ บุคลากร ถัดมาในเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นกลุ่มผู้นำนักศึกษาจาก 17 สถาบัน การจัดอบรมในครั้งนี้สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถ่ายทอดสดการอบรมทาง Zoom Meeting จากสตูดิโอ 2 กลุ่มอาคารนิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ปองทิพย์โอสถานุเคราะห์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (วิทยาเขตหลัก)

ดร.พรชัย มงคลวนิช
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม
นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย

          ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องสติดิจิทัลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในสถานการณ์ปัจจุบันเราต้องสามารถคิดแยกแยะระหว่างข่าวจริงกับข่าวลวง

          โลกของดิจิทัลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว จำนวนของการเผยแพร่ก็มีมากขึ้น ถ้าเราไม่กลั่นกรองข่าวสาร เราก็จะอยู่ในโลกของความกลัว ความกดดันอยู่ตลอดเวลา การมีสติจึงสำคัญ ในขณะที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้คือคณาจารย์และนักศึกษา

          ถ้าเรามี AWARE ADAPT ARISE เราจะมีสติในการรับสาร มีอิสระ มีความสุขในการดำรงชีวิต รวมไปถึงการสร้างสังคมไทย ให้เป็นสังคมแห่งการตื่นรู้

          ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประธานอนุกรรมการฝ่ายพัฒนานักศึกษาของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรามาเจอกันเป็นครั้งที่สอง ความเป็นของโครงการเกิดจากการร่วมมือของหลายฝ่าย เราเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่าย ในครั้งที่แล้วเป็นการอบรมให้กับคณาจารย์ ครั้งนี้สำคัญมากเป็นการอบรมให้กับน้อง ๆ นักศึกษา

ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์
รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ประธานอนุกรรมการฝ่ายพัฒนานักศึกษาของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย

          ครูหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมในครั้งนี้เราเริ่มจากจุดเล็ก ๆ Small is beautiful สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือเราจะขยายพลังจากจุดเล็ก ๆ ไปเป็นเครือข่ายที่สามารถทำให้เรื่องของสติดิจิทัลเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นทักษะของอนาคต ที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับน้อง ๆ นักศึกษาทุกคน เป็นบัณฑิตที่สำคัญในอนาคตข้างหน้าได้

          สถานการณ์ของสื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีทั้งด้านดีและด้านที่เป็นผลกระทบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคือการสร้างทักษะดิจิทัล วันนี้เราจะเข้าใจและเข้าถึงความหมายของสติดิจิทัล สติดิจิทัลคือการมีสติ มีจิตสำนึกตื่นรู้ เราต้องใช้เวลาช้าลงบ้าง สามารถคิดวิเคราะห์ คิดแยกแยะสิ่งที่เราได้พบเห็น

          การทำงานร่วมกันและการสร้างเครือข่ายมีความสำคัญ เรามีธีมของ Workshop ว่า AWARE ADAPT ARISE โดยมีความหมายว่า AWARE คือจุดเริ่มต้นหรือการตระหนักรู้ ADAPT คือสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ต่อในบริบทของตนเองได้ ARISE คือการนำไปขยายผล เกิดไอเดียใหม่ เกิด Prototype ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          ผู้เข้าอบรมจะได้พัฒนาตนเองจากข้างใน และขยายผลสู่ข้างนอก ที่เราต้องเรียนรู้ที่จะผสมผสานให้เราสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง น้อง ๆ ผู้นำจะเป็นผู้สร้างสรรค์โครงการที่เกิดจากกิจกรรมในครั้งนี้ พร้อมทั้งได้รับเกียรติจากคณาจารย์ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ร่วมกัน เราหวังว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดี สร้างเครือข่ายที่ยั่งยืน

          วิทยากรที่ให้การอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย

          อาจารย์อิศรา สมิตะพินทุ (อ.เอ้) โค้ชผู้บริหารและกระบวนการด้านการเป็นผู้นำและการพัฒนาสติ ผู้ก่อตั้งบริษัทอินสปายรา จำกัด

          อาจารย์ศิริวัฒน์ คันทารส (อ.อาร์ท) กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพื่อนกระบวนกร จำกัด

          อาจารย์ทัศน์วรรณ สิริพรหมเจริญ (อ.นุ้ย) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานักศึกษาแบบองค์รวม ฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

          อาจารย์อัฏฐ์ กู้พงษ์ศักดิ์ (อ.อัฎฐ์) อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

อาจารย์อิศรา สมิตะพินทุ (อ.เอ้)
โค้ชผู้บริหารและกระบวนการด้านการเป็นผู้นำและการพัฒนาสติ ผู้ก่อตั้งบริษัทอินสปายรา จำกัด

อาจารย์ศิริวัฒน์ คันทารส (อ.อาร์ท)
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพื่อนกระบวนกร จำกัด

อาจารย์ทัศน์วรรณ สิริพรหมเจริญ (อ.นุ้ย)
ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานักศึกษาแบบองค์รวม ฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

อาจารย์อัฏฐ์ กู้พงษ์ศักดิ์ (อ.อัฎฐ์)
อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

          กระบวนการอบรมเน้นการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และชวนน้อง ๆ ผู้เข้าอบรมให้กลับมามีสติอยู่กับตนเอง เราจะสำรวจความรู้สึกของตนเอง การรู้ตัวเอง เห็นตัวเอง เข้าใจตนเอง และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปขยายผล ไปต่อยอด ตื่นเช้ามาในทุกวัน เราควรถามตัวเองว่าเช้านี้เรารู้สึกอย่างไร พอเห็นตัวเองชัด สิ่งที่เข้ามาวันนี้ก็ชัดเจนตามไปด้วย บางทีเราขุ่นมัวสิ่งที่เราปะทะก็ทำให้ขุ่นมัวตามไปด้วย แต่ถ้าเราสดใส เรื่องที่เข้ามาปะทะก็สดใสตามไปด้วย

          ทั้งนี้การอบรมในครั้งที่สอง ได้มีการทบทวนและพูดคุยเรื่องทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Quotient Framework : DQ) คือความสามารถของการเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล มี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 การเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล (Digital Citizenship) ใช้อย่างเกิดประโยชน์ รับผิดชอบ และปลอดภัย ระดับที่ 2 ความคิดสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล (Digital Creativity) สร้างสรรค์ข้อมูลและเปลี่ยนความคิดใหม่ ๆ ให้เป็นความจริงด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัล ระดับที่ 3 ผู้ประกอบการยุคดิจิทัล (Digital Entrepreneurship) สามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายใหม่ ๆ ในโลก หรือเพื่อสร้างโอกาสใหม่

          เราทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับทักษะทั้งสามระดับ เราเป็นทั้งผู้ใช้ และผู้สร้างคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ เราจึงยิ่งต้องตระหนักถึงเรื่องการสื่อสารอย่างมีสติอยู่เสมอ

          ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Quotient Framework) แบ่งเป็นมิติทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ ประการแรก ตัวจริงออนไลน์ (Digital Citizen Identity) นำเสนอตัวตนในโลกออนไลน์ให้เหมือนตัวจริง ไม่ปลอมตัว ไม่สร้างภาพ ประการที่สอง จัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management) จัดสรรเวลาใช้งานไม่ให้กระทบกับชีวิตด้านอื่น ไม่เล่นจนติด ควบคุมให้เกิดสมดุลระหว่างโลกออนไลน์และโลกภายนอก

          ถัดมาคือเรื่องการรับมือกับการโดนรังแก (Cyberbullying Management) รับรู้ รับมือกับการคุกคาม ข่มขู่ กลั่นแกล้ง บนโลกออนไลน์ อย่างชาญฉลาด ยืดหยุ่น อดทน เข้มแข็ง และต้องรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Cybersecurity Management) สร้างระบบความปลอดภัยของข้อมูล ป้องกันการโจรกรรมหรือโจมตีระบบ

          การมีสติดิจิทัลยังต้องคำนึงถึงจิตใจผู้อื่นด้วยการใช้แบบใจเขาใจเรา (Digital Empathy) คิดถึงความรู้สึกคนอื่น แม้ไม่เห็นหน้ากัน แชทกันอย่างสุภาพ และไม่ด่วนตัดสินใคร อีกทั้งยังต้องรู้จักรอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) คือตระหนักรู้ถึงผลที่จะตามมาว่าอาจกลับมาทำให้เราเดือดร้อนในวันข้างหน้า ไตร่ตรองให้รอบคอบคือเรื่องการคิดเป็นและแยกแยะ (Critical Thinking) แยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและที่ผิด ความน่าเชื่อถือหรือน่าสงสัย เนื้อหาดีหรือเข้าข่ายอันตราย ตั้งข้อสงสัย ตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้

          ประการสุดท้ายคือเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัว (Privacy Management) แชร์อย่างมีดุลพินิจ เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่น (ไม่ใช่ทุกคนอยากให้โลกรู้ทุกอย่าง) ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้อย่างเหมาะสม คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิของตนและผู้อื่น

          อีกทั้งการใช้สื่อดิจิทัลต้องมีสติและรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง บ่มเพาะความรู้สึกในเชิงบวก เช่น ร่วมยินดีกับเพื่อนในโซเชียล รักตนเอง มีความหวัง สร้างความมั่นคงทางจิตใจ เข้าอกเข้าใจ ใส่ใจ พอเพียง เติบโต และมีความเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น

          การเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมใช้เวลาเต็มวันในช่วงเช้าและช่วงบ่าย กิจกรรมในช่วงบ่าย น้อง ๆ ผู้เข้าอบรมจาก 17 สถาบัน ได้มีการพูดคุยกลุ่มย่อย (Breakout room) เพื่อสร้างสรรค์โครงการ (Project) ที่จะก่อให้เกิดการตระหนักรู้เรื่อง “สติดิจิทัล” โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมพูดคุยเป็นกระบวนกร (Facilitator) ในกลุ่มย่อย บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างสนุกสนาน น้อง ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันความคิดเห็นร่วมกัน

          ทั้งนี้คณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนยังได้เข้าร่วมและให้คำแนะนำกับนักศึกษา พร้อมด้วยคณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ร่วมเป็นทีมเบื้องหลังในการจัดงาน เกิดการทำงานร่วมกันต่างคณะและสาขาวิชา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการใช้สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์

          การนำเสนอโครงการไม่ได้หยุดเพียงแค่การนำเสนอความคิดเท่านั้น แต่น้อง ๆ จะได้สร้างสรรค์โครงการจริง และมีทีมโค้ชคณาจารย์ร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำตลอดโครงการ สติดิจิทัลจึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ใช้สื่ออย่างมีสติ อีกทั้งยังเกิด AWARE คือการตระหนักรู้ ADAPT คือนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ และ ARISE คือการนำไปขยายผล ต่อยอด เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต

Writer & Photographer

BU CONNECT x Lifelong Learning Center Bangkok University สนุกกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รอบรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ