สติดิจิทัล Digital Mindfulness การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนในความปกติใหม่

ตื่นรู้ เติบโต และตระหนักถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีสติ

           “ปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ได้ทั้งโลกจริงและโลกเสมือน ต้องมีสติในทั้งสองโลก ไม่ลืมตัวตนจริง ซึ่งสติดิจิทัลจะดึงเรากลับมา” ที่กล่าวไปคือแนวคิดสำคัญของการใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัลที่เราต้องอยู่ท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมาย

           สติดิจิทัล (Digital Mindfulness) การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนในความปกติใหม่ คือโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับบุคลากรและนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จัดโดย คณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนานักศึกษา และคณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนาบุคลากร สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณลักษณะและทักษะด้าน “สติดิจิทัล” สำหรับบุคลากรด้านกิจการนักศึกษา ผู้นำนักศึกษา และนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทั่วประเทศ

           โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สติดิจิทัล (Digital Mindfulness) การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนในความปกติใหม่” จัดขึ้นในรูปแบบ Virtual Workshop ผ่าน Zoom Meeting ถ่ายทอดสด (Live) จากสตูดิโอ 2 กลุ่มอาคารนิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ปองทิพย์โอสถานุเคราะห์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (วิทยาเขตหลัก) โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 43 คน จาก 17 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนทั่วประเทศ และการจัดอบรมจะขยายไปสู่กลุ่มนักศึกษาในเครือข่ายทั่วประเทศอีกด้วย

           เราติดตามเรื่องราวการอบรมและนำมาบอกเล่าแบ่งปันให้กับทุกคน มาติดตามความน่าสนใจของโครงการนี้ไปพร้อมกัน

           การจัดโครงการสติดิจิทัล (Digital Mindfulness) การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนในความปกติใหม่ มีคณะกรรมการดำเนินงานดังนี้

           อาจารย์ฉลอง แขวงอินทร์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ประธานฝ่ายกิจการนักศึกษาของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย

           ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประธานอนุกรรมการฝ่ายพัฒนานักศึกษาของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย

           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันวร จะนู รองอธิการบดี สายงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายพัฒนาบุคลากร ของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย

           ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรมว่า “การอบรมเรื่อง Digital Mindfulness ถือเป็นเรื่องใหม่ เป็นองค์ความรู้ที่เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะเราต้องดูแลนักศึกษา และสังเกตได้ว่าพฤติกรรมของนักศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป บทบาทของนักศึกษามีความสำคัญมาก ๆ ต่อการพัฒนาสังคม ทำอย่างไรเราจะเรียนรู้ไปพร้อมกับน้องนักศึกษา ทั้งกลุ่มที่เป็นผู้นำ และไม่ใช่เพียงนักศึกษาเอกชนเท่านั้น จากหลากหลายมหาวิทยาลัย สิ่งสำคัญคือการทำงานร่วมกัน การสร้างเครือข่าย”

ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

           “ในยุคดิจิทัลที่เราเจอการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทุกเวลา สิ่งสำคัญคือการพัฒนาทักษะที่เราจะรู้เท่าทัน มีความพร้อมที่จะอยู่กับโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุข ผลลัพธ์การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันนี้เป็นเรื่องของความสุข ทำอย่างไรจะให้น้องนักศึกษาเรียนรู้ได้กับการพบเจอเรื่องใหม่ ๆ ปรับตัวเองได้เวลาเจอปัญหา และสามารถแก้ปัญหาได้ การจัดการอบรมในวันนี้ถือเป็นการ Learning by doing ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เป็นทีมงาน New Normal มีคณาจารย์ทั้งฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร รวมถึงน้องนักศึกษาปี 1 ปี 2 ที่ได้ทำงานร่วมกัน อยากให้ทุกคนได้เห็นภาพนี้ เพราะเป็นการเรียนรู้ในยุค New Normal” ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันวร จะนู รองอธิการบดี สายงานกิจการนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

           ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันวร จะนู รองอธิการบดี สายงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่เราได้จัดในวันนี้ เราได้คิดมาสักพักแล้วว่า เรื่องใหม่ในปัจจุบันคือดิจิทัล เพราะคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่อยู่ในสื่อดิจิทัลค่อนข้างมีหลากหลาย เราในฐานะที่อยู่ในสายงานกิจการนักศึกษา ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะ การเข้าไปเรียนรู้ในสื่อดิจิทัลมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย”

           “เรื่องสำคัญที่ต้องเสริมให้กับนักศึกษาคือ สติดิจิทัล เป็นเครื่องมือที่จะเข้าถึงนักศึกษาของพวกเรา เป็นหน้าที่โดยตรงของสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสายงานกิจการนักศึกษาที่จะเข้ามาช่วยดูแลด้านนี้ วันนี้เราเริ่มจากบุคลากรก่อน บุคลากรสามารถที่จะเป็นโค้ชให้กับน้องนักศึกษาได้ เนื้อหาตอบโจทย์กับบุคลากรทุกท่าน จากนั้นก็จะนำไปสู่การเรียนรู้ของนักศึกษา การอบรมของเราเกิดขึ้นที่สตูดิโอของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เราได้เห็นเทคโนโลยีที่ใช้ ถือเป็น New Normal ที่เราเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยี เหมือนที่ทางดร.พีรยาได้กล่าวถึง ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ได้มาเข้าร่วมอบรมในวันนี้”

อาจารย์ฉลอง แขวงอินทร์ รองอธิการบดี จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

           อาจารย์ฉลอง แขวงอินทร์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวในการเปิดการอบรมว่า “ขอขอบคุณฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ทำให้กิจกรรมวันนี้น่าสนใจ สมกับการจัดอบรมของเราในชื่อว่า สติดิจิทัล และขอขอบคุณทุกสถาบันที่ได้มาเข้าร่วมการอบรม ทุกท่านกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นโค้ชในการดูแลนักศึกษาเรื่องสติดิจิทัล ตลอดเวลาในการอบรมอยากให้ทุกท่านมีสติครับ”

           เริ่มการอบรมด้วยการแนะนำวิทยากรที่มาให้ความรู้ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านดังนี้

           อาจารย์อิศรา สมิตะพินทุ (อ.เอ้) โค้ชผู้บริหารและกระบวนการด้านการเป็นผู้นำและการพัฒนาสติ ผู้ก่อตั้งบริษัทอินสปายรา จำกัด

           อาจารย์ระวี ตะวันธรงค์ (อ.กัส) นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (Society of Online News Providers-SONP) ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาการสื่อสารในยุคดิจิทัล

           อาจารย์ทัศน์วรรณ สิริพรหมเจริญ (อ.นุ้ย) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานักศึกษาแบบองค์รวม ฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

อาจารย์อิศรา สมิตะพินทุ (อ.เอ้) โค้ชผู้บริหารและกระบวนการด้านการเป็นผู้นำและการพัฒนาสติ ผู้ก่อตั้งบริษัทอินสปายรา จำกัด

จารย์ระวี ตะวันธรงค์ (อ.กัส) นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (Society of Online News Providers-SONP) ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาการสื่อสารในยุคดิจิทัล

อาจารย์ทัศน์วรรณ สิริพรหมเจริญ (อ.นุ้ย) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานักศึกษาแบบองค์รวม ฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สติดิจิทัล (Digital Mindfulness) การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนในความปกติใหม่

           การอบรมในวันนี้ผู้เข้าอบรมทุกท่านต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา อ.เอ้-อิศรา เปิดประเด็นด้วยรอยยิ้ม ขณะที่ อ.กัส-ระวี กล่าวเสริมว่าตนเองอยู่ในวงการสื่อ ทำข่าวมาหลายปี มีเรื่องให้ตื่นเต้นอยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้นการที่เรารับสารทางสื่อออนไลน์ เราต้องมีสติ เรื่องราวการเรียนรู้ของเราในวันนี้จึงมีความสำคัญมาก และทำให้เราสามารถนำไปสอนนักศึกษาต่อได้

           หัวใจสำคัญของการอบรมคือ ทำอย่างไรให้เราปรับตัวอยู่ในโลกความเป็นจริง และโลกเสมือน แต่สุดท้ายแล้วพวกเราต้องเป็นตัวจริง เป็นคนจริง เพราะบางครั้งเราใช้ชีวิตอยู่ในโทรศัพท์มากเกินไป จนลืมตัวตนที่แท้จริง ไม่ได้เห็นโลกความเป็นจริง ไม่ได้ออกไปพูดคุยกับผู้คน การมีทักษะที่เรียกว่า สติดิจิทัล จะช่วยดึงเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน เราต้องสร้างสมดุลระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนให้ได้

           การอบรมแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก เน้นการพูดคุยสร้างการมีส่วนร่วมและละลายพฤติกรรมผู้เข้าร่วม ส่วนที่สอง 8 ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Quotient Framework) และส่วนที่สาม สติดิจิทัล ความรู้เนื้อรู้ตัวในการใช้สื่อดิจิทัล

อบรมเชิงปฏิบัติการแบบ Virtual Workshop

           อ.เอ้-อิศรา ออกแบบการอบรมแบบออนไลน์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วม นำด้วยคำถามและข้อมูลที่น่าสนใจ โดยให้ผู้เข้าร่วมพิมพ์แชทตอบ เปิดไมค์ตอบ และยกมือตอบ ซึ่งสามารถทำผ่านโปรแกรม Zoom Meeting คำถามที่น่าสนใจ เช่น Q : โดยเฉลี่ยเราหยิบโทรศัพท์มือถือกี่ครั้งต่อวัน A : 58 ครั้งต่อวัน Q : เราหยิบมือถือขึ้นมาดูโดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลานานเท่าไหร่ A : ครั้งละ 1 นาที Q : คนไทยใช้เวลาโดยเฉลี่ยวันละกี่ชั่วโมงอยู่บนอินเทอร์เน็ท A : 9 ชั่วโมง 1 นาที เป็นต้น

           คำถามดังกล่าวกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วม ทำให้เราได้ฉุกคิดถึงการใช้เวลาในโลกออนไลน์ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนานด้วยการตอบคำถามผ่านแชททาง Zoom Meeting

ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Quotient Framework)

           มาถึงหัวใจสำคัญของการอบรมคือ Digital Quotient Framework หรือ DQ อ.เอ้-อิศรา ให้ข้อมูลว่า DQ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราใช้งานสื่อดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องมือนี้ได้รับการสร้างสรรค์โดย DQ institute (www.dqinstitute.org) โดยมีหลากหลายองค์กรที่ได้นำ DQ Framework มาปรับใช้ ในเอเชียมีมหาวิทยาลัยนานยางที่สิงคโปร์เป็นสถาบันนำร่อง ขณะนี้ DQ Framework ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก

           อ.กัส-ระวี กล่าวอธิบายเพิ่มว่า DQ มีอยู่ 3 ระดับดังนี้

           ระดับที่ 1 การเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล (Digital Citizenship) ใช้อย่างเกิดประโยชน์ รับผิดชอบ ปลอดภัย

           ระดับที่ 2 ความคิดสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล (Digital Creativity) สร้างสรรค์ข้อมูลและเปลี่ยนความคิดใหม่ ๆ ให้เป็นความจริงด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัล

           ระดับที่ 3 ผู้ประกอบการยุคดิจิทัล (Digital Entrepreneurship) แก้ปัญหาที่ท้าทายใหม่ ๆ ในโลกหรือเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ            

           จะเห็นได้ว่าในโลกของดิจิทัลที่เริ่มจากตัวเราที่เป็นผู้ใช้งาน ใช้ติดต่อสื่อสารแบบเฉพาะบุคคล ขยายไปสู่การใช้และการผลิตข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ รวมไปถึงการเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อดิจิทัล ในปัจจุบันเราสร้างตัวตนในโลกดิจิทัล เรามีรายได้จากโลกดิจิทัล เราต้องใช้สื่อดิจิทัลให้เกิดประโยชน์

8 ทักษะที่จะช่วยให้เราใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างสร้างสรรค์

           ทักษะที่ 1 ตัวจริงออนไลน์ (Digital Citizen Identity)
           ตัวตนของเราที่จริงแล้วมีหลากหลายมุม เราอยู่ในโลกจริงเรามีตัวตนแบบหนึ่ง เมื่อเราเข้าไปในอินเทอร์เน็ท เรามีตัวตนอีกแบบหนึ่ง การสื่อสารในโลกออนไลน์เราควรมีตัวตนจริงที่ทำให้คนรับรู้ว่าเราเป็นใคร ไม่ปลอมแปลงเป็นคนอื่น นอกจากภาพ เนื้อหา ข้อความที่เรานำเสนอไป อาจไม่ใช่ทั้งหมดที่เราเป็น อยากให้ตัวตนของเราในโลกออนไลน์เหมือนโลกจริงมากที่สุด และทุกครั้งที่เรากดโพสต์กดแชร์ บ่งบอกถึงตัวตนของเรา ซึ่งอยากให้ทุกคนตระหนักในเรื่องนี้

           ทักษะที่ 2 จัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management)
           เราให้เวลากับโลกออนไลน์เท่าไร มีการแบ่งเวลาอย่างไร การจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสมทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งการเรียน การทำงาน รวมไปถึงเรื่องสุขภาพร่างกายด้วย หากออนไลน์เป็นระยะเวลานานอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

           ทักษะที่ 3 รับมือกับการโดนรังแก (Cyberbullying Management)
           เราถูกรังแกหรืออาจจะไปรังแกคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้ เราได้ตระหนักถึงตรงนั้นหรือยัง อย่างไรการบูลลี่คือการตั้งใจทำร้าย ในอดีตเป็นเรื่องปกติ ที่จะบอกหรือทักทายคนอื่นว่า อ้วน ดำ แต่ทุกวันนี้มีช่องทางการสื่อสารมากมาย โดยเฉพาะสื่อโซเชียล เราควรต้องให้ความสำคัญมากขึ้น คำแนะนำในการป้องกันการบูลลี่ คือ Stop คือการหยุดทุกอย่าง ตั้งสติ Block คือ ปิดกั้นช่องทางในการเห็นและการติดต่อ และ Tell คือการบอก การรายงาน 3 ขั้นตอนนี้ Stop Block and Tell สามารถช่วยเรารับมือกับการถูกรังแกทางออนไลน์ได้

           ทักษะที่ 4 รักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Cybersecurity Management)
           การรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลคือเรื่องสำคัญ ข้อมูลส่วนตัวของเรา กิจวัตรในชีวิตประจำวัน ความคิดเห็น มุมมองบางอย่างที่ลึกซึ้ง และเป็นส่วนตัวมาก เราไม่ควรเปิดเผยมากจนเกินไป เราไม่ควรแชร์ข้อมูลส่วนตัวผ่านช่องทางที่ไม่ปลอดภัย ต้องตรวจสอบต้นทางก่อนให้ข้อมูล

           ทักษะที่ 5 ใช้แบบใจเขาใจเรา (Digital Empathy)
           การใช้งานสื่อออไลน์เน้นการตอบสนองอย่างรวดเร็ว เราต้องใช้สื่อแบบเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เพราะเราอาจจะไม่เห็นหน้ากันในการสื่อสาร สื่อสารผ่านตัวอักษร บางครั้งขาดน้ำเสียง อารมณ์ ทำให้เราอาจจะเข้าใจกันผิดได้ เราต้องใช้สื่ออย่างเข้าอกเข้าใจ คุยกันต่อหน้าจะเข้าใจกัน การคอมเมนต์ทุกคนเห็นต้องระมัดระวัง จะคอมเมนต์ใครก็ตามให้พูดกันดี ๆ เพราะฉะนั้นการมี Empathy คือเราต้องคิดเยอะขึ้น เอาใจเขามาใส่ใจเราทุกการกระทำในโลกออนไลน์ รวมไปถึงในโลกความเป็นจริงด้วย

           ทักษะที่ 6 รู้จัก รอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint)
           ทุกครั้งที่เรากดเข้าอินเทอร์เน็ต ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ มีการบันทึกไว้ว่าเราไปค้นอะไร ดูอะไร สามารถตามรอยการใช้งานของเราได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นบนโลกดิจิทัล จะมีทั้งรอยเท้าที่เราตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจจะกลายเป็นสิ่งที่เชื่องโยงกันถึงตัวเราเอง และไม่มีวันหายไป ต่อให้ลบ ก็ยังคงอยู่ และอาจจะมีการแชร์ต่อกันเรื่อย ๆ ได้อยู่เสมอ

           ทักษะที่ 7 คิดเป็นและแยกแยะ (Critical Thinking)
           การคิดเชิงวิพากษ์ คิดตั้งคำถาม และไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ คือคุณสมบัติสำคัญของพลเมืองดิจิทัล ตัวอย่าง เรื่องข่าวปลอม (Fake news) บางเรื่องจริง บางไม่เรื่อง เราต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะ กลั่นกรอง ก่อนแชร์หรือส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นสู่สาธารณะ

           ทักษะที่ 8 รักษาความเป็นส่วนตัว (Privacy Management)
           เราต้องรักษาความเป็นส่วนตัวของเราไว้ แต่ละช่องทางและแต่ละแพลตฟอร์ม รู้จักใช้งาน และรู้จักตั้งค่าความเป็นส่วนตัว แบ่งแยกพื้นที่โลกส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะให้เหมาะสม           

           ทั้ง 8 ทักษะคือทักษะสำคัญของคนรุ่นใหม่และคนที่ต้องใช้งานสื่อดิจิทัลอยู่ตลอดเวลา การรับมือกับอารมณ์ของตนเอง และรู้จักใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจอยู่เสมอ

รู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกตนเอง ใช้สื่อออนไลน์อย่างมีสติ

           ส่วนสุดท้ายของการอบรม เป็นการชวนคิด ชวนคุย ให้ใช้สื่ออย่างมีสติ ทีมวิทยากรได้ตั้งคำถามอีกว่า เราสนใจเนื้อหาแบบใด มากที่สุด เรากดไลก์ เพราะอะไร ชอบจึงไลก์ อ่านแล้วไลก์ ไลก์เพราะกลัวว่าจะเสียมารยาท เพราะเป็นโพสต์ของเจ้านาย ไลก์มาต้องไลก์กลับ

           ขณะที่เราอ่านโพสต์ ให้ลองพิจารณาว่า เราคิดอะไร เรารู้สึกอะไร และเราตอบสนองอย่างไร การใช้สื่อสังคมออนไลน์อาจส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น โพสต์ไปเที่ยวของเพื่อน อยากไปบ้าง กดดัน อิจฉา ไปบอกแฟนให้พาไปบ้าง เป็นต้น

           การมีสติคือการรู้ตัว เกิดอะไรขึ้นกับความคิด เกิดอะไรกับความรู้สึก เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเรา ในแต่ละวันที่เราเล่นโซเชียล แล้วเราไม่รู้ตัว เราจะรู้สึกเหนื่อย หมดพลัง เวลาเห็นโพสต์ของเพื่อน ดี ๆ เราแสดงความยินดี แต่เรารู้สึก อิจฉา ด้อยกว่า จิตตก หรือไม่ ? เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนตนเอง รู้สึก และรู้เท่าทันตนเองให้ได้

           ที่สำคัญคือการสังเกตตัวเอง เวลากดอะไร ให้เรารู้สึกนั้นจริง ๆ กดไลก์ ให้รู้สึกดีใจด้วยจริง ๆ คิดให้ช้าลง ตั้งใจสร้างความรู้สึกแบบนั้น เห็นเพื่อนแต่งงาน อย่าเพิ่งกด ให้คิดถึงความสัมพันธ์ สิ่งดี ๆ ระหว่างเรากับเพื่อน เวลาไลก์และคอมเมนต์จะจริงใจมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องกดไลก์ทุกอัน ไม่ต้องทำตามมารยาท แต่ให้รู้สึกจริง ๆ กดไลก์เพราะต้องการให้กำลังใจเขาจริง ๆ

หัวใจของการมีสติคือความงดงาม

           โลกออนไลน์จะมีความหมายมากยิ่งขึ้น ถ้าเราตั้งสติ ใช้ชีวิตให้ช้าลง โดย อ.เอ้ อ.กัส และอ.นุ้ย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า หากเรากำลังรู้สึกไม่ดี ปรับความรู้สึกช้าลง และเปลี่ยนความรู้สึกให้ดีขึ้น เช่น อิจฉา เปลี่ยนเป็น ดีใจด้วย ด้อยกว่า เปลี่ยนเป็น รักตัวเอง จิตตก เปลี่ยนเป็น มีความหวัง กังวล เปลี่ยนเป็น มั่นคง โกรธ เปลี่ยนเป็น เข้าใจ เซ็ง เปลี่ยนเป็น สนใจ มีความอยาก เปลี่ยนเป็น พอเพียง เสียใจ เปลี่ยนเป็น เติบโต น้อยใจ เปลี่ยนเป็น เมตตา สิ่งที่กล่าวมา เราต้องเลือกและจัดการด้วยการกลับมามีสติ เฝ้าดูตนเอง เฝ้าสังเกตอารมณ์ของตนเอง แล้วเราจะมีสติมากยิ่งขึ้น

           กว่า 3 ชั่วโมงของการอบรมที่ผู้เข้าร่วมต้องมีสติและได้สนุกสนานไปกับเนื้อหาการอบรม เราได้มุมมองใหม่ และได้ฉุกคิดเกี่ยวกับใช้สื่อสังคมออนไลน์มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือการพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มี “สติดิจิทัล” อยู่กับตัวตลอดเวลา อีกทั้งยังใช้ชีวิตในโลกเสมือนและโลกจริงได้อย่างมีความสุข

           เราขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อองค์ความรู้การพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Quotient Framework) สู่เพื่อนทุกคนไปพร้อมกัน