ปัญหาการกลั่นแกล้ง การรังแก หรือคำนิยมใช้ในปัจจุบันที่เรียกว่า “บูลลี่” สามารถพบได้เป็นประจำและเกิดขึ้นบ่อยในประเทศไทย ทำให้เหยื่อจากการถูกบูลลี่ได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจ ไร้ที่พึ่ง ไร้ทางออก ด้วยมองเห็นปัญหาและอยากช่วยแก้ไข จึงเกิดโครงการที่ชื่อว่า DO NOT BULLY ME หยั่มมาบูลลี่เรานะ! ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มโดย กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรียนอยู่ในโครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Leader Incubation Program) จัดโดยคณาจารย์สายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
การขับเคลื่อนโครงการ DO NOT BULLY ME ในครั้งนี้ เป็นพลังของนักศึกษาที่ชักชวนน้องวัยมัธยมมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างการเรียนรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลง เยียวยาหัวใจที่เจ็บปวดจากการถูกบูลลี่ เป็นกิจกรรมที่จัดในรูปแบบ ONLINE ผ่านทาง Zoom Meeting เรามาติดตามเรื่องราวของโครงการสร้างสรรค์สังคมในครั้งนี้จากสมาชิกในโครงการ DO NOT BULLY ME หยั่มมาบูลลี่เรานะ!
โครงการ “DO NOT BULLY ME หยั่มมาบูลลี่เรานะ”
ที่มาที่ไปของโครงการ โบ้-พลวัฒน์ ช้างโต นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หัวหน้าโครงการการบูลลี่ในสถานศึกษาได้บอกกับเราว่าโครงการ DO NOT BULLY ME เป็นโครงการขับเคลื่อนทางสังคมมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนวัยมัธยมศึกษาที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกรังแกทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยจะมุ่งเน้นไปยังการเสริมสร้างความเข้าใจ และคอยช่วยเหลือเยียวยาความรู้สึก สภาพจิตใจของน้องที่ถูกรังแก
โบ้-พลวัฒน์ ช้างโต นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
จากประสบการณ์จริงสู่โครงการที่เราใฝ่ฝัน
เพราะเคยเจอประสบการณ์จริงจึงอยากทำโครงการนี้ บิว-ภัทราภรณ์ พราหมณ์วงศ์ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ย้อนวันวานว่าส่วนตัวเคยมีประสบการณ์การถูกบูลลี่เหมือนกัน โครงการส่วนใหญ่ที่เจอมีแต่ให้ความรู้ว่าการบูลลี่คืออะไร ยังไม่มีโครงการอะไรที่จะมาคอยสนับสนุน หรือคอยปลอบโยนทางด้านจิตใจให้เราที่เป็นเหยื่อของการบูลลี่
บางทีเรารู้สึกหมดหวังมาก ไม่รู้เลยว่าควรหาทางหรือวิธีแก้ไขยังไง การที่มีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น ที่มันออกมาจากประสบการณ์จริง ๆ ของเราทั้งหมด เป็นสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ มันทำให้เราเยียวยาหัวใจ รู้สึกเหมือนมีคนคอยให้กำลังใจเราในแต่ละวันว่า วันนี้เราเก่งมาก ๆ แล้วนะ มันเลยเป็นจุดเล็ก ๆ ในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง การสร้างแรงบันดาลใจ และยังเป็นการชุบชีวิตใครสักคนให้ออกมาจากจุดนั้นได้ ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข
บิว-ภัทราภรณ์ พราหมณ์วงศ์ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์
เริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนสังคมสถานศึกษาของไทย
การเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะมาช่วยขับเคลื่อนโครงการไปด้วยกัน เป็นน้องวัยมัธยมที่ใช้เวลา 7-8 ชั่วโมงอยู่ที่โรงเรียน บิวอธิบายเพิ่มเติมว่า เวลาส่วนใหญ่ในการใช้ชีวิตประมาณ 80-90% ใช้ชีวิตอยู่ในสถานศึกษา เราจะต้องไปโรงเรียนทุกวัน และพบเจอกับคนหลากหลายนิสัย หลากหลายรูปแบบ การพบเจอกับสังคมที่ใหญ่ขึ้นทุกวัน จึงเปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราต้องเรียนรู้ ปรับตัวรับมือกับความแตกต่างหลากหลายของผู้คน
ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนเกิดขึ้นได้บ่อยและยังพบอีกว่าปัญหาการบูลลี่ในสถานศึกษาของประเทศไทยค่อนข้างสูงมากเลยทีเดียว สำหรับน้องนักเรียนบางคนที่ยังมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ไม่มากพอ หรือยังไม่ค่อยมีความมั่นใจ พร่องในเรื่องการเห็นคุณค่าในตัวเอง หรือ Self-esteem ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันตัวเองจากปัญหาการถูกบูลลี่ เราจึงเลือกที่จะเจาะจงไปยังกลุ่มสถานศึกษาและอยากที่จะคอยแนะนำน้อง ให้ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อที่จะให้เขาพร้อมที่จะเติบโตและสร้าง Self-esteem ในการเข้าสังคมได้อย่างมีความสุข
SELF-ESTEEM เพิ่มความมั่นใจในตัวเรา
การจัดโครงการมีกิจกรรมที่สนุก สร้างสรรค์ ให้ความรู้ เข้าใจคนรุ่นใหม่ เพื่อให้น้องมัธยมที่เข้าร่วมเข้าใจเรื่องการบูลลี่มากยิ่งขึ้น เช่น กิจกรรม Self-esteem เพิ่มความมั่นใจในตัวเรา เป็นกิจกรรมเพื่อให้น้องได้เข้าใจความสำคัญของ Self-esteem เน้นพัฒนาความมั่นใจในตัวเอง ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง เพิ่มความภูมิใจในตัวเอง และยินดีที่ได้เป็นตัวเอง แถมในช่วงท้ายยังมี Breakout Room เพื่อให้น้องแต่ละคนได้มาแชร์เรื่องราว แลกเปลี่ยนความคิดกับผ่านการย้อนมองดูตัวตนของตัวเองกันอีกด้วย
ต้นเหตุของการบูลลี่ไม่ได้เกิดจากการล้อปมด้อยเสมอไป
ลงลึกถึงสาเหตุการบูลลี่ บิวได้เล่าข้อมูลที่น่าสนใจว่า การบูลลี่สามารถพบได้หลายรูปแบบ โดยบางครั้งการล้อข้อด้อย หรือปมด้อยอาจจะไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเสมอไป บางครั้งการอิจฉาก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการบูลลี่ ไม่ว่าจะเป็น อิจฉาเรื่องผลการเรียนของเพื่อนที่ดีกว่า อิจฉาที่คุณครูให้ความสำคัญกับเด็กคนอื่นมากกว่า อิจฉาที่คนอื่นหน้าตาดีกว่า และอีกหลากหลายรูปแบบ บางทีเราก็ไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมคนที่เขาต้องการบูลลี่เราถึงทำแบบนี้
อีกทั้งยังเปิดเผยเผยว่าตนเองก็เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่บูลลี่คนอื่นเหมือนกัน เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราสนุกที่ได้บูลลี่คนอื่น แต่การหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่นเป็นสิ่งที่ผิด เพราะเขาไม่ได้สนุกกับเราด้วยแน่นอน สำหรับคนที่ถูกบูลลี่ ไม่ว่าจะโดนอะไรมา เข้มแข็งไว้ ยังมีคนอื่นอีกมากที่คอย support เราอยู่เสมอ
ความเข้าใจต่อการถูกบูลลี่
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ทีมผู้จัดเตรียมไว้คือ กิจกรรม YES OR NO ใช่หรือไม่ กับมุมมองและความเข้าใจต่อการบูลลี่ เป็นกิจกรรมที่จะจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อฝึกให้น้องเปิดมุมมองทำความเข้าใจกับการบูลลี่ และสามารถรู้จักการแยกแยะว่าสถานการณ์แบบไหนจัดว่าเป็นการบูลลี่ และสถานการณ์แบบไหนถึงจะไม่จัดว่าเป็นการบูลลี่
การข่มขู่จากจำนวนคนที่มากกว่า ทำให้เหยื่อไร้ที่พึ่ง
บูลลี่เป็นกลุ่มน่ากลัวมากกว่าที่เราคิดไว้ ริส-ฮาริส เกิดภักดี นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าว่าการรวมหัวกันบูลลี่เหยี่อเพียงคนเดียว เป็นประเภทที่พบได้บ่อยมากที่สุดในสถานศึกษา ทำให้เกิดผลกระทบกับเหยื่อที่ไม่สามารถหาที่พึ่งพาหรือขอความช่วยเหลือจากใครได้ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่จากกลุ่มคนรังแก ผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้เพราะถูกข่มขู่จากคนที่บูลลี่หรือเลือกที่จะไม่สนใจ
ริส-ฮาริส เกิดภักดี นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ริสได้กล่าวเสริมว่า การบูลลี่ในสถานศึกษาส่งผลกระทบในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวน้องที่ถูกบูลลี่ ไม่สามารถไปเผชิญหน้ากับคนที่บูลลี่เราได้ เกิดความหวาดกลัว วิตกกังวล ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนได้ ทำให้เกิดผลการเรียนแย่ตามมา อาจส่งผลไปยังการขาดเรียนหรือลาออกได้ และจะเป็นปัญหาตามมาในด้านการศึกษาในสถานศึกษาได้
หาเวลาพักผ่อนให้ตนเองบ้างนะ
การนันทนาการคลายเครียด กิจกรรมบอกเล่าเรื่องราวระบายความในใจ กิจกรรมนี้นอกจากจะทำให้น้องคลายเครียดกันแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อให้น้องรู้จักการรับมือกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า โดยน้องทุกคนต้องหาของมาหนึ่งชิ้น เพื่อช่วยกันสร้างเรื่องราวให้มีเนื้อเรื่องต่อกัน โดยจะต้องมีของที่น้องเลือกมาอยู่ในเรื่องราวด้วย ทำให้น้องต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์จัดการกับปัญหาตรงหน้า และช่วยกันเพื่อให้เรื่องราวนี้สามารถดำเนินไปถึงจุดจบได้ด้วยดี
ไม่มีใครเข้าใจตัวเราได้มากกว่าเราที่เห็นคุณค่าในตัวเอง
มองเห็นคุณค่าในตัวเอง รับมือกับการถูกบูลลี่ โฟร์โมสต์-อรัญญา สินมา นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงความคิดเห็นว่า การเพิ่ม Self-esteem หรือการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันตัวเองจากการถูกบูลลี่
โฟร์โมสต์-อรัญญา สินมา นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
การเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง การยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่ตัวเองมี และเพิ่มคุณค่า โดยไม่มองว่ามันเป็นข้อด้อย ทำให้เราสามารถปัดความคิดเชิงลบจากคนที่บูลลี่เราได้ หรือถ้าเราไม่ต้องการที่จะยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสนใจ เพราะว่าอย่างน้อยเราก็มีความมั่นใจในตัวเอง และสามารถมีความสุขในการใช้ชีวิตต่อไปได้
การเดินหน้ารับมือกับปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ กิจกรรม Deal with it พิชิตทุกสถานการณ์ และแล้วก็มาถึงกิจกรรมสุดท้ายของวัน กิจกรรมที่จะให้น้องมาร่วมกลุ่มกันเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาของคนที่ถูกบูลลี่ โดยเลือกใช้เครื่องมือ 8 อย่างที่มีให้ในการแก้ไขปัญหา โดยแต่ละกลุ่มจะต้องส่งตัวแทนออกมาเล่าวิธีการแก้ไขปัญหาและเครื่องมือที่กลุ่มของตัวเองเลือกใช้ในสถานการณ์การถูกบูลลี่
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังคงมีการบูลลี่ในสถานศึกษาอยู่ แต่ด้วยสื่อและกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ก็ช่วยให้หลายคนตระหนักถึงปัญหานี้ได้ แม้ว่าจะยังมีคนไม่ใส่ใจ และยังทำการบูลลี่ผู้อื่นต่อไป ทางแก้ที่พวกเราทำได้ก็คือการเพิ่ม Self-esteem ให้กับตัวเอง รักและเห็นคุณค่าของตัวเอง การที่เรามั่นใจในตัวเองจะทำให้รับมือกับการบูลลี่ได้ดีขึ้น ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับน้องที่เคยถูกบูลลี่มาก่อน และเราทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกัน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ โครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Leader Incubation Program) จัดโดยคณาจารย์สายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ