พี่ฟรองซ์-ธนวัฒน์ พรหมโชติ เยาวชนต้นแบบ ใคร ๆ ก็เป็นได้

การเรียนพร้อมกับการทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจทำให้มีพลังในการทำตามความฝัน

            เยาวชนต้นแบบเป็นยังไง ? คำถามนี้คงจะเป็นคำถามที่ใครหลายคนอาจจะเคยสงสัย แต่ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วคำตอบนั้นคืออะไร ต้องเป็นเด็กที่เรียนเก่งทุกวิชา ได้เกรดเฉลี่ยสูง เพื่อเป็นที่หนึ่งของชั้นเรียน ต้องทำกิจกรรมได้ทุกอย่าง ต้องเก่งกีฬาทุกประเภท หรือเพียงแค่ว่าทำชื่อเสียงให้แก่สถาบัน ถ้าทุกคนยังสงสัยกันอยู่ วันนี้ เรามีตัวอย่างเยาวชนต้นแบบ มาให้ทุกคนทำความรู้จักกัน พี่ฟรองซ์-ธนวัฒน์ พรหมโชติ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

bu-thanawat-cover

“ปม” ที่เราไม่ได้ผูก

            เชื่อว่ามีหลายคนมีสิ่งที่เรียกว่าปมด้อย ซึ่งเหมือนกันกับพี่ฟรองซ์ แต่เขาผ่านมันมาได้ พี่ฟรองซ์ เล่าย้อนวันวานในวัยเด็กให้ฟังว่า “ครอบครัวของพี่เป็นครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ เป็นครอบครัวที่คุณพ่อกับคุณแม่แยกกันอยู่ มันเป็นปมหนึ่งในชีวิตพี่ แต่ว่า ตัวพี่ไม่ได้ซีเรียสกับสถานะครอบครัว แต่พี่เลือกใช้ชีวิตด้วยวิธีคิดที่ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตของตัวเอง และครอบครัวมีความสุขที่สุด”

            “เพื่อให้ความสุขนั้นมาเติมเต็มสิ่งที่เราขาด เป็นเรื่องที่คิดแค่วันนี้ เพราะว่า เราไม่ต้องไปคิดถึงอนาคตให้มากมาย ถ้าเรามัวแต่คิดถึงอนาคต จะทำให้รู้สึกว่า กดดันตัวเอง เช่น บางคนจะชอบพุ่งไปแต่เป้าหมาย แต่ไม่ได้ดูระหว่างทางว่า เราพร้อมหรือเปล่า พี่คิดว่าถ้าเรายิ่งเอาปมมากดทับ ก็ยิ่งทำให้เราไม่ก้าวต่อไป ปม คือ ปม ถ้ามันแก้ยากก็ไม่ได้ต้องแก้มัน คือหมายความว่า ปล่อยให้มันเป็นปมอย่างนั้น เพราะว่าปัจจุบัน ก็คือ ปัจจุบัน สุดท้ายสังคมก็ตัดสินจากการกระทำของเรา มากกว่าเรื่องราวเบื้องหลังชีวิตของเรา ”

เราคือเด็กหลังห้อง

            ผู้ที่ออกแบบการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง และมีความฝันที่มุ่งมั่นมาตั้งแต่เป็นเด็ก  “ตั้งแต่ชั้นประถม 6 พี่มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นครู ชอบพาเด็กในหมู่บ้านมาสอนหนังสือ หนีเรียนในคาบของตัวเอง ไปสอนน้องชั้นอื่น ไปเล่นกิจกรรม ตบมือ 1 ครั้ง 2 ครั้ง กับพวกเด็ก ๆ แต่ด้วยความที่เราเรียนไม่ดี เราก็คิดว่า เราจะสอนให้เด็กรู้เรื่องหรือเปล่า เวลาเรียนครูจะเรียกแต่เด็กเรียนดี แต่เราไม่ได้รู้สึกน้อยใจ แค่คิดว่า ทำไม เขาไม่เรียกเรา แต่ไม่ได้ดันทุรังตัวเองไปแข่งกับเขา เพราะเราไม่ได้ซีเรียส”

คำตำหนิ คือ แรงผลักของชีวิต

            ทุกคนต้องมีเรื่องที่เคยโดนดูถูก จนนำมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง เช่นเดียวกับ พี่ฟรองซ์ เมื่อตอนที่ได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรครั้งแรก “พี่ได้รับหน้าที่ให้ไปเป็นพิธีกรวงดนตรีลูกทุ่ง แต่พี่เป็นคนสมาธิสั้น จำสคริปต์ไม่ค่อยได้ ชอบนอกสคริปต์ตลอด ซ้อมมาประมาณ 2 เดือน พี่ก็ยังถือที่รองกระดาษตลอด จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งมาบอกว่า นี่คือ พิธีกรใช่ไหม หาได้ดีเท่านี้เหรอ ? พี่ตกใจมาก แต่ว่าสุดท้ายพี่แคร์ในสิ่งที่อาจารย์พูด พี่พูดกลับไปว่า ใช่ครับผมทำดีที่สุดแล้ว”

            “ในที่สุดโรงเรียนได้รับรางวัลดาวรุ่งน้องใหม่ พี่รู้สึกภูมิใจ เพราะผ่านการฝึกมากพอควร การดูถูกนั้น พี่คิดว่า มันไม่ใช่จุดประกาย แต่มันคือ สิ่งที่เราต้องเอามาผลักดันตัวเอง จนรู้สึกว่า อยากทำกิจกรรมต่อไปเรื่อย ๆ อยากทำอะไรที่ท้าทายมากกว่าแค่มานั่งจำสคริปต์”

จากเด็กหลังห้องสู่ความเป็นเด็กกิจกรรม

            วันกีฬาสีอาจจะเป็นวันธรรมดาทั่วไปของบางคน แต่มันคือ วันสำคัญสำหรับเด็กกิจกรรม ในบางครั้ง อาจจะทำให้ใครคนหนึ่งค้นพบตัวเอง พี่ฟรองซ์บอกว่า “สิ่งที่จุดประกายอันแรกในชีวิต คือ กีฬาสี ตอน ม.3 โรงเรียนประกาศว่าสีของพี่ชนะ แต่ไม่มีใครเอนเตอร์เทนเลย อ้าวเงียบกันทำไม เราก็เลยลุกขึ้นมาเอนเตอร์เทนเพื่อน ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากของพี่เลย ตอน ม.4 พี่ได้ขึ้นไปคุมกองเชียร์ พอมองย้อนกลับไป รู้สึกว่ามันเริ่มใช่ตัวเองแล้ว”

            การเป็นผู้นำในวันนั้น ทำให้ได้ค้นพบความสามารถของตัวเอง “เรารู้สึกว่า เราเริ่มมีความเป็นผู้นำ ผู้นำในเรื่องของการเอนเตอร์เทน จากนั้น ก็ทำมาเรื่อย ๆ พอขึ้นม.5 เริ่มมีตำแหน่งได้เป็นสภานักเรียน เพราะได้เป็นสภานักเรียนนี่แหละ ก็เลยเป็นผู้นำสายวิชาการ จากสายเอนเตอร์เทน มาเป็นสายวิชาการ พอทำมาเรื่อย ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในโรงเรียนก็ยกตำแหน่ง “ประธานนักเรียน” ให้ จากการเลือกตั้ง ให้ได้โชว์ศักยภาพได้มากยิ่งขึ้น”

            “การมีตำแหน่ง คือ ได้มีพื้นที่ที่ปล่อยศักยภาพของตัวเอง ถือว่าเป็นความภูมิใจของเราว่า แต่ก่อนเป็นเด็กท้ายแถว แต่เดี๋ยวนี้ เราเริ่มมีคนรู้จัก มันก็เป็นเรื่องที่พี่ก็มาชั่งใจว่า สรุปแล้ว พี่จะเอาเรียน หรือจะเอากิจกรรม ซึ่งตั้งแต่เด็ก จริง ๆ พี่จบมาตอน ม.6 เกรด 2.30 ไม่ได้เลิศเลอ เพราะเนื่องจากว่า พี่ทำกิจกรรม เขาเรียกว่า ทำคุณความดีให้กับโรงเรียน ไม่ใช่ที่จะเอามาแลกกันได้ แต่อาจารย์ทุกคนเมตตาเรา จนจบมา 2.30 ไม่ได้วัดว่าเก่ง หรือไม่เก่ง พี่คิดว่าพี่เก่งในแบบของพี่ คนเกรด 4 แต่ไม่ได้เก่งกิจกรรมก็มี คนเกรด 2 เก่งกิจกรรม แต่ไม่เก่งเรื่องเรียน ก็สลับกัน”

ต่อยอดจากสิ่งเล็ก ๆ ให้ยิ่งใหญ่

            การได้ทำกิจกรรมมากมายทำให้ชีวิตของพี่ฟรองซ์มีชีวิตชีวา “ถ้าพี่มีเวลาว่าง พี่จะชอบทำกิจกรรมกับคนเยอะ ๆ กับเครือข่ายที่เป็นเด็กและเยาวชน หรือคนที่มีอุดมการณ์เรื่องของการพัฒนาเด็ก เพราะมีประโยชน์ต่อสังคม ดูโลกสวยเป็นนางงามมิตรภาพ (หัวเราะ) แต่จริง ๆ แล้วเราอยากทำกิจกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสังคม ในที่นี้ คือ พอเราทำปุ๊บ สังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลง”

            “ตอนนี้พี่ทำเกี่ยวกับสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งพี่เป็นรองประธานสภาเด็กและเยาวชนเเห่งประเทศไทย เเละประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสระบุรี เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การที่พี่ได้หาตัวเองว่า ชอบอะไรกันแน่ อยากทำอาชีพอะไร ปัจจุบัน พี่ฝึกงานอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ ช่อง ONE ด้วย พี่ได้เรียนรู้งานหลายสาย พี่คิดว่าถ้าพี่หาตัวเองเจอ สังคมจะได้รับคุณค่าจากสิ่งที่พี่สร้าง หมายความว่า การทำสิ่งต่าง ๆ จนเรารู้สึกว่าเรามีคุณค่า และจากนั้น เราก็ถ่ายทอดคุณค่าของเราให้กับสังคม นั่นแหละที่เรียกว่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ลองไปดูได้แนวคิดของพี่ได้นะ เพราะพี่เป็นคนเขียนพาดหัวของเพจสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย”

รางวัลจะทรงคุณค่าก็ต่อเมื่อสิ่งที่ทำนั้นมีคุณค่า

            “พี่ฟรองซ์” ไม่ได้เป็นเพียง “เยาวชนต้นแบบ” เท่านั้น แต่เขายังได้รับรางวัลการันตีความสามารถมากมาย รางวัลที่ได้รับ คือ รางวัลเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2562 เป็นรางวัลที่จัดขึ้นประจำทุกปี ซึ่งในหลวงรัชกาล ที่ 10 โปรดเกล้า ฯ ให้ผู้แทนพระองค์มอบรางวัลนี้ มีทั้งหมด 11 ประเภท เขาได้รางวัลประเภทพัฒนาเยาวชน การบำเพ็ญประโยชน์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน

            “พี่คิดว่า มันเป็นรางวัลที่ทุกคนสมควรได้ แต่พอมองย้อนกลับไป พี่ก็ทำกิจกรรมหลายอย่าง แต่พี่ไม่ทำกิจกรรม เพื่อจะให้ได้มาซึ่งรางวัล แต่รางวัลเป็นสิ่งที่เพิ่มแรงบันดาลใจและกำลังใจ”

            “พี่ได้รางวัลมาพี่ภูมิใจมาก ๆ เพราะพี่คิดว่ารางวัลจะทรงคุณค่า ก็ต่อเมื่อเราสร้างคุณค่าให้กับรางวัล ด้วยสิ่งที่เราเคยทำมา ทำต่อเรื่อย ๆ นั่นเอง รางวัลนี้จะคู่ควรกับเรา พี่เรียกว่าคุณค่า ที่คุณคู่ควร (หัวเราะ) ต่อมายังได้รางวัล คือ รางวัลวัฒนคุณาธร เป็นรางวัลที่มอบให้เด็กและเยาวชน ผู้ทำคุณประโยชน์แก่กระทรวงวัฒนธรรม พี่ทำเกี่ยวกับสื่อ แต่พี่อยู่ภาคนโยบายเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองเด็กที่ใช้สื่อออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น การรณรงค์ประเด็นการพนันออนไลน์ และรางวัลสุดท้าย คือ รางวัลอาสาสมัครดีเด่น ทั้งหมดเป็นรางวัลระดับชาติหมดเลย แต่พี่ไม่ได้เป็นนักล่ารางวัล ทุกรางวัลเป็นการเสนอชื่อจากหน่วยงาน เเละเป็นการนำผลงานที่เป็นประจักษ์ นำเสนอต่อคณะกรรมการ พี่รู้สึกดีใจ และภูมิใจที่ได้รับทุกรางวัลมาก”

มุมมองของคำว่า “เยาวชนดีเด่น”

            การทำสิ่งต่าง ๆ มากมาย เป็นประสบการณ์สำคัญ ถ้าจะให้นิยามตัวเอง “น่าจะเรียกว่าผู้เปลี่ยนเเปลงมากกว่า เพราะพี่ไม่ได้เป็นคนนำอย่างเดียว พี่เป็นคนตามด้วยเหมือนกัน บางครั้ง สังคมไทยต้องการทั้งสองสิ่งนี้ในเวลาเดียวกัน หลายคนจะมองว่า เยาวชนต้นแบบ คือ คนที่เลิศเลอสมบูรณ์แบบ นั่งพับเพียบเรียบร้อย คลานเข่า ไหว้สวย ๆ แต่สำหรับพี่ เยาวชนต้นแบบ ก็คือคน ไม่ได้ดีไปทุกอย่าง”

            “คนเรามีจุดที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง ถึงถูกเรียกว่า “ต้นแบบ” พี่คิดว่า พี่เป็นเยาวชนต้นแบบด้านกิจกรรม พี่สามารถทำกิจกรรมได้กับคนกลุ่มใหญ่ คนกลุ่มน้อย คนทุกกลุ่ม เยาวชน แค่เป็นคนธรรมดา แต่คนอื่นมองว่า มีความพิเศษมีสิ่งที่เขามองแล้ว ว้าว!”

เรียนรู้จากข้อผิดพลาด

            คำติชมและข้อผิดพลาด คือ การเรียนรู้ที่ดีที่สุด “พี่จะมีคำหนึ่งที่จำไว้เสมอคือ เก็บคำชื่นชมต้นแบบชมไว้ให้ลึกที่สุด เอาข้อผิดพลาดหรือคำติชมขึ้นมาให้สูงที่สุด แล้วเวลาเราจะลงมือทำอะไร เราจะรู้สึกว่า เราโดนติเตียนจุดไหน จุดนั้น เราจะต้องนำมาพัฒนา และคำชมมันก็จะสะสม ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นกำลังใจ”

            “ไม่มีคนที่เป็นเยาวชนต้นแบบที่ดีที่สุด แต่เยาวชนต้นแบบ คือ คนที่สามารถทำให้คนอื่นเก่งด้วยนะ ไม่ใช่ว่าตัวเองเป็นต้นแบบแล้ว เก่งเลย มันไม่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว แต่ถ้าต้องให้พูดจริง ๆ คือ การเป็นตัวของตัวเอง แล้วสามารถสร้างประโยชน์ ให้กับสังคมด้วย นั่นคือ คนที่สามารถทำให้คนอื่นเก่งได้ แบบนั้นเรียกว่าเยาวชนต้นแบบที่ดี แต่ถ้าเก่งคนเดียว แล้วเรียกว่า เป็นเยาวชนต้นแบบ พี่ว่า มันยังไม่ใช่ เพราะเยาวชนต้นแบบต้องทำงานกับคนหลากหลายได้ เรียนรู้จากคนหลายแบบ นั่นแหละ คือ เยาวชนต้นแบบในความคิดของพี่”

เด็กหนุ่มผู้ทำงานเก่ง (ม้ากมาก)

            พี่ฟรองซ์ เป็นคนที่ทำงานหลายที่มาก แต่ยังแบ่งเวลาได้ดี และตอนนี้ก็กำลังฝึกงานอยู่ที่ฝ่ายข่าวช่อง ONE 31 โดยได้รับคัดเลือกจากโครงการ BU Come ONE ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาม.กรุงเทพได้เข้าร่วมทำงานจริงกับพี่ ๆ ในอุตสาหกรรมบันเทิงตัวจริงอย่างช่อง ONE 31

            “พี่ฝึกงานได้ประมาณ 2 เดือน ใกล้จะจบแล้ว และการที่ได้ทำงานสภาเด็ก ฯ พี่จึงมีเครือข่ายเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสมาคม มูลนิธิ องค์กร Unicef ณ ขณะนี้ พี่คิดในหัวว่า เราจะเลือกในสิ่งที่เราชอบทำมาก่อน หรือเราจะไปโฟกัสในสิ่งที่เรากำลังตื่นเต้นกับมันดี พี่กลับมองว่า ทุกอย่างที่เข้ามานั้น คือ โอกาส เราต้องใช้โอกาสที่เข้ามาให้เป็นแรงผลักดันตัวเอง โดยการเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข จะได้ไม่เสียดายทีหลัง

            “ส่วนเรื่องของการแบ่งเวลาเรียนมหาวิทยาลัยคือ พี่ใช้วิธีแบบนี้ ถ้าสมมุติเรียนวิชาเขียนข่าว พี่ออกไปทำกิจกรรมพี่ก็เขียนกิจกรรมที่พี่ไปทำ คือ เอางานกิจกรรมมาปรับใช้กับการเรียน นั่นแหละคือวิธีการที่พี่เลือก ถ้าเกิดย้อนกลับมาได้ พี่จะเอางานโครงการที่เป็นโปรเจ็กต์มาปรับว่า เราจะทำยังไงให้นิเทศศาสตร์ไม่เป็นแค่การผลิตสื่อ ไม่ได้เก่งแค่ถ่ายรูป หรือตัดต่อวิดีโอ แต่เราสามารถถ่ายทอดความรู้สึกให้กับคนอื่นได้ เราสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับนิเทศศาสตร์ได้ เหมือนกับเราได้เรียนในห้องเรียนกับนอกห้องเรียน”

            “เด็กไทยจะเก่งได้ เราต้องทำให้คนอื่นเก่งด้วยไม่ใช่เก่งแค่คนเดียว แบบนั้น ไม่ได้เรียกว่าคนเก่ง แต่คนเก่ง คือ คนที่สามารถถ่ายทอดคุณค่าที่ตนเองทำได้ให้คนอื่น ๆ ได้ทำต่อได้ เปรียบเทียบถ้ามี ฟรองซ์แล้ว จะต้องมี ฟรองซ์ 1 2 3 เหมือนชีวิตพี่ พี่ทำกิจกรรมได้รางวัลมา หรือทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม พ่อแม่เห็นครอบครัวเรามีความสุข กลายเป็นความสมบูรณ์ในจิตใจทันที พี่คิดว่าเราได้จากสังคมมาเท่าไร เราก็คืนให้กับสังคมมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น”

            แม้ว่าพี่ฟรองซ์จะไม่ได้นิยามว่าตัวเองคือเยาวชนต้นแบบ ตามนิยามของคนทั่วไปก็ตาม แต่บทสนทนาที่เกิดขึ้น ทุกคนคงเห็นแล้วว่า “เยาวชนต้นแบบ” คนนี้ไม่ธรรมดา

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก พี่ฟรองซ์-ธนวัฒน์ พรหมโชติ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

สาวคูลสุดมั่นที่ผมสั้นม้าเต่อ เลิศเลอไปกับแฟชั่น จริงจังเรื่องการกินเหมือนมีซูบินเป็นไอดอล