พี่หยก-กุลจิรา กิ่มเกิด ครูสอนภาษาอังกฤษกับความฝันที่รอเวลาสานต่อ

อดีตรุ่นพี่บัณฑิต ม.กรุงเทพ ที่ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรค

          “ไม่ว่าใครจะอยู่จะไปชีวิต ชีวิตเราก็ต้องเดินต่อไป” พี่หยก-กุลจิรา กิ่มเกิด รุ่นพี่สาขาภาษาอังกฤษ ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ที่มีโอกาสทางการงานเข้ามาในชีวิตมากมาย แต่ฝันของเธอก็ต้องรอเวลาสานต่อเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เราได้มีโอกาสนั่งสนทนากับ “พี่หยก” ที่ผ่านประสบการณ์การทำงานมากมายหลังเรียนจบ

ตอนเรียนกับตอนเรียนจบแล้ว

          เราถามย้อนไปให้พี่หยกเปรียบเทียบว่า ตอนที่เรียนกับเรียนจบแล้วแตกต่างกันอย่างไร พี่หยกบอกว่า แตกต่างกันมาก ตอนที่พี่เรียนพี่ยังไม่มีภาระเท่าไหร่ ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอจบมากลายเป็นว่าพี่ต้องปรับตัวสักพัก ต้องวางแผนกับการใช้ชีวิต ต้องรู้จักเวลาให้มากขึ้น รู้มารยาททางสังคม มันเครียดมาก ส่วนในตอนที่พี่เรียนอยู่คือพี่สนุกมาก มันสนุกจริง ๆ ถึงแม้ตอนนั้นจะมีเรื่องเครียดบ้าง รู้สึกว่าเรียนยากบ้าง แต่เราสามารถขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรืออาจาร์ยที่สอนเราได้ เพราะฉะนั้นพอจบมามันเคว้งไปสักพักเลย ชีวิตหลังจบมาใหม่คือไม่ได้ดีมาก แต่ก็ไม่ถึงกับแย่

          สิ่งที่คาดหวังไว้ก่อนเรียนจบในตอนนั้น คือมีหลายอย่าง อยากจบมาแล้วมีงานทำเลย เจอบริษัทดี เจอเพื่อนดี หรือได้ที่ทำงานใกล้บ้าน ส่วนเรื่องเงินในตอนนั้นพี่ไม่ได้กังวลเรื่องเงินเดือนมากเท่าไหร่ เพราะตอนนั้นพี่ยังไม่มีภาระ ขอแค่เจอเพื่อนดี เจ้านายดี ก็พอแล้ว

ความฝันที่รอเวลา

          พี่หยกบอกกับเราว่า ความฝันคืออยากเป็นคือไกด์ มัคคุเทศก์ หรืออะไรที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว พี่อยากทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพราะว่าอยากเจอผู้คนใหม่ ๆ อยากได้แรงบันดาลใจ อยากแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่

          แต่พอมีโควิดเข้ามา พูดแล้วพี่อยากร้องไห้เลย เพราะว่าความฝันพี่พังลงไปต่อหน้าต่อตาเลย คือพี่สนใจที่จะทำงานท่องเที่ยวก่อนจะเรียนจบ แต่ที่บ้านไม่เห็นด้วยอยากให้ทำงานประจำก่อน แต่พี่เป็นคนดื้อรั้นหาสมัครงานเลย พี่ได้ทำงานกับคนรู้จักได้สักพัก จากที่เศรษฐกิจซบเซาอยู่แล้วพอโควิดมาอีก มันก็แย่เลย การท่องเที่ยวซบเซา พี่ไม่สามารถไปสมัครงานด้านท่องเที่ยวได้อีก แถมบริษัทท่องเที่ยวหลายที่ก็ปิดตัวลง จนสุดท้ายแล้ว พี่ก็เลยต้องพักความฝันนี้ไปก่อน

          พี่ไม่ได้ทิ้งความฝันไป แค่พัก เพราะโควิดทำให้พี่ต้องคิดถึงความมั่นคงของงานและคิดถึงรายได้ที่ต้องมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พี่หาวิธีการแก้ปัญหาและวิธีเอาตัวรอดให้ได้ก่อน และรอให้โควิดหมดไปค่อยหาช่องทางอีกที ถึงแม้ว่างานที่พี่อยากทำมันยังไม่สามารถในตอนนี้ได้ แต่ถ้าเรารอ และยังคงพยายามกับมัน พี่ว่ามันก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

สถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงโควิด-19

          จากความฝันที่จะทำงานด้านการท่องเที่ยวที่รอเวลาไว้ก่อน “พี่หยก” หันมาจับงานการเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งตรงกับสายที่เรียนมา งานนี้ก็ได้รับผลกระทบจากจากโควิดเช่นเดียวกัน พี่หยกเล่าว่าตอนแรกที่มีโควิดมากคือตกงานเลย เพราะว่าพี่ทำงานเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษอยู่ ต้องหยุดสอน ทำให้ขาดรายได้ไป ไม่สามารถออกไปสอนได้ เพราะเราก็ไม่แน่ใจว่ามันปลอดภัยแค่ไหน ต้องหางานอื่นทำไปก่อน อาจจะเป็นงานที่ไม่ได้ได้รับค่าตอบแทนมากมายแต่ถือว่าก็ยังช่วยประทังชีวิตต่อไปได้ และพี่หยกก็ได้ทำงานประจำในที่ทำงานแห่งหนึ่ง  

          ความกดดันกับการเริ่มต้นทำงาน พี่หยกรับมืออย่างไร เราถามต่อเนื่อง มันยากอยู่เหมือนกันที่เราจะรับมือจัดการกับความกดดันได้ แต่ สำหรับตัวพี่ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอกับความกดดันแบบไหน พี่ก็จะเตรียมตัวอย่างหนักก่อนเลย อับดับแรกพี่ก็วางแผนดี ๆ สมมุติถ้าต้องนำเสนองาน พี่ก็จะต้องเข้าใจงานให้ดีก่อน พูดคุยกับตัวเองให้เข้าใจ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ พี่ก็จะยิ้มให้ตัวเอง แล้วพยายามจะตั้งสติ หลังจากนั้นพี่ก็จะให้กำลังใจตัวเอง บอกตัวเองว่าคนเราไม่ได้เพอร์เฟคไปซะทุกอย่าง ก็ต้องมีเรื่องที่เก่งและไม่เก่งกันบ้าง สู้ ๆ  แบบนี้ แต่ถ้าเรายังรู้สึกกดดันกับสถานการณ์นั้น แนะนำให้ตั้งสติ แล้วฟังมาก ๆ แล้วทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น จะได้หาทางออกได้

การทำงานช่วยให้เราเติบโต

          มุมมองความคิดพี่หยกมีต่อเรื่องการทำงาน คือการตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ บางครั้งพี่ก็เหนื่อยมาก ๆ อยากเลิกงานแล้วรีบกลับบ้าน แต่พี่ไม่เคยปฏิเสธเลย ด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ช่วงนั้นที่บริษัทก็เลิกจ้างพนักงาน พี่ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ตอนนั้นมันเคว้ง ถึงเราจะสอนพิเศษไปด้วย แต่พี่เหมือนเดินพลาดไปก้าวใหญ่ ตอนนั้นเครียด แล้วก็รู้สึกโทษตัวเอง จนกลับมาอยู่บ้านกับแม่ มาช่วยแม่ขายของก่อนและก็รับสอนพิเศษไปด้วย

          พอเจอโควิดหนัก ๆ จนต้องหยุดสอนเด็ก ตอนนั้นเหมือนกำแพงมันพังลงเลย กลายเป็นคนว่างงานถาวร อาทิตย์แรกหนักมาก ตอนนั้นก็ว่างจริง ๆ บวกกับไปเจอคลิปเขาสอนทำวุ้นมะพร้าวขาย พี่ก็เลยลองทำดู แล้วฝากน้าไปขายที่ตลาด ขายได้ไม่กี่สัปดาห์ก็ต้องหยุด เราก็กลับมาว่างงานอีกครั้ง

          แต่ช่วงนั้นมีผู้ปกครองเด็กที่เราเคยสอนอยู่ติดต่อมา เขาบอกลูกเรียนไม่เข้าใจ ให้พี่สอนออนไลน์ เราก็เลยสอนออนไลน์ให้ ก็โทรไลน์กัน พอกลับมามีสติ เรื่องรายได้มันก็ยังไม่พอ แต่มันก็ยังดีกว่าไม่ได้ ก็สอนออนไลน์ มาจนจะเปิดเทอม ถึงช่วงมกราคมที่ผ่านมาที่ต้องมาหยุดสอนอีกครั้ง ก็ตัดสินใจที่จะไปช่วยงานที่ร้านขายยาของพี่ชาย ไปช่วยเช็คสต๊อกของและดูบัญชี พอต้นเดือนกุมภาพันธ์พี่ก็กลับมาสอนปกติ แต่เด็กที่เรียนก็น้อยลงครึ่งหนึ่ง หายไปสิบกว่าคนได้ ท้อบ้าง เหนื่อยบ้าง ในเมื่อเรายังมีภาระที่ต้องรีบผิดชอบอยู่ ถ้าเราไม่ช่วยตัวเองก่อนใครก็มาช่วยเราไม่ได้

แรงบันดาลใจในการทำงาน

          ถึงแม้ชีวิตหลังเรียนจบจะมีอุปสรรคหลายอย่าง แต่เราก็มองเห็นพลังใจที่ซ่อนอยู่ในตัวพี่หยกมากมาย โดยเฉพาะการทำงานเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษที่ยังทำควบคู่ไปกับงานอื่น ๆ ที่เข้ามา

          ตอนแรกพี่ไม่ได้อยากเป็นติวเตอร์หรือรับสอนพิเศษเลย เพราะคิดภาพตัวเองไม่ออก แต่พอมาลองทำแล้วกลายเป็นว่าพี่มีความสุขมาก เวลาที่เขาเอาความรู้จากเราไปใช้ เวลาที่พวกเขาบอกว่า หนูทำข้อสอบได้ หนูตอบคำถามครูได้ พี่รู้สึกมีความสุขที่ได้ยินมาก ถึงแม้มันอาจจะไม่ใช้การเริ่มต้นที่ดีแต่มันก็ทำให้เรายิ้มได้ พี่ชอบที่พี่สามารถให้ในสิ่งที่เรามีกับคนอื่นได้ และถ้าเขาสามารถนำไปต่อยอดได้ เราก็ยิ่งมีความสุข ถึงแม้บางทีเราอาจจะเจอกับเด็กหลายรูปแบบ แต่มันก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าคนเราไม่เหมือนกัน เด็กบางคนเขาก็ต้องการวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราต้องลองเปิดใจ และลองเข้าใจพวกเขาดู แค่นั้นเอง

ชีวิตในปัจจุบัน

          “พี่หยก” ยังคงสอนพิเศษภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิดก็ไม่ได้ดีขึ้นมาก เราต้องมีการคัดกรองคนที่มาเรียนกับเรา และลดจำนวนคนลง มีระยะห่างมากขึ้น ให้ล้างมือบ่อย ๆ ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อพ่นห้องเรียนหลังจากสอนเสร็จ ใช้แอลกอฮอล์ฉีดพ่นตามโต๊ะเรียน เก้าอี้ พื้น และรอบห้อง และด้วยที่เราสอนส่วนใหญ่เป็นเด็ก บางครั้งพวกเขาก็อยากเล่นกันหรือแบ่งขนมกัน พี่ก็ไม่อนุญาตแบ่งขนมกันกิน แต่ให้เลื่อนเวลาออกมาให้ผู้ปกครองพาไปกินข้าวหรือขนมก่อนมาเรียน และพยายามเตือนว่าอย่าถอดหน้ากากอนามัย 

          ส่วนด้านชีวิตประจำวันเราเป็นคนที่กลัวการใช้รถสาธารณะไปเลย ยิ่งออกไปเจอคนเยอะ เราจะรีบเดินหนี ถ้าเราต้องไปซื้อของที่ร้านขายของชำหรือเซเว่น ถ้าเห็นคนเยอะเราจะยังไม่เข้าไป บางครั้งถ้ากลับมาจากสถานที่มีคนเยอะ เราก็จะรีบอาบน้ำสระผม และซักผ้าเลย

          เรากังวลถึงขั้นที่ดูหนังอยู่แล้วพูดออกมาว่า เขาไม่ใส่หน้ากากอนามัยกันเหรอ ตลกมาก แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตเรา เราก็ได้แต่เดินต่อไป ถึงเราจะหยุด แต่ภาระต่าง ๆ มันไม่ได้หยุดไปกับเรา ถึงคนเราจะมองบวกขนาดไหน แต่บางทีก็มีช่วงเวลาที่มองบวกไม่ได้ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อหวังให้เราดีขึ้นให้ได้

          ถ้าสถานการณ์ในตอนนี้ดีขึ้นอยากจะทำอะไร ? พี่เคยวางแผนว่าอยากไปเป็นครูอาสาบนดอย เคยดูโครงการไว้แล้ว แค่ติดช่วงโควิดเลยทำให้พลาดโอกาสนี้ไป แต่ระยะเวลาที่เราจะไปเป็นครูอาสามันแค่ 3-4 วันเอง อยากไปนานกว่านี้ ไปอยู่ที่นั้นเลย แต่พี่ยังมีภาระอื่นที่ต้องจัดการ ยังมีครอบครัวที่ต้องดูแล ถ้าเราพร้อมจริงหรือไม่มีภาระอะไรแล้ว คงไปเป็นครูบนดอยแบบไม่ต้องคิดเลย

          พี่หยกฝากบอกถึงน้องม.กรุงเทพทุกคนที่กำลังเรียนและทำงานว่า สิ่งที่เราชอบกับสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้มันอาจจะไปด้วยกันไม่ได้ แต่ชีวิตก็ยังต้องเดินต่อไป อยากให้ลองเปิดมุมมองดูและยอมรับมัน ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดจะทำ มันก็ไม่ได้แย่เสมอไปหรอก ถึงแม้ในที่สุดแล้ว เราจะไม่โอเคกับมัน หรือถ้ามันไม่ได้จริง ๆ แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว ถึงแม้งานบางอย่างอาจจะไม่เหมาะกับเราจริง ๆ อย่าเพิ่งท้อ อย่างน้อยเราก็ยังได้อะไรกลับมาอย่างแน่นอน เป็นกำลังใจให้กับเด็กจบใหม่ และเด็กใกล้จบทุกคน

          เราเชื่อว่าเรื่องราวของรุ่นพี่ศิษย์เก่าคนนี้ คงจะทำให้ใครหลายคน ที่ยังคงสับสน กังวล กับเส้นทางชีวิตหลังเรียนจบของตัวเองอยู่ในเวลานี้ มีกำลังใจในการเดินหน้าต่อไป เราเชื่อว่าทุกคนจะสามารถผ่านสถานการณ์วิกฤตนี้ไปได้อย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่หยก-กุลจิรา กิ่มเกิด รุ่นพี่สาขาภาษาอังกฤษ ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer & Photographer

คติประจำใจ “It's not always the tears that measure the pain. Sometimes it's the smile we fake”