เอ๋อเหรอ ที่ไม่เออออ ชวนคิด ชวนคุยเรื่องราวของคนพิเศษผ่านงานภาพยนตร์

ตกตะกอนความคิดกับภาพยนตร์เรียกน้ำตาที่ทำให้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์

         คำเตือน : บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ เอ๋อเหรอ (2548) Beautiful Wonderful Perfect

         บางครั้งเราได้ความบันเทิงจากภาพยนตร์ บางทีเราได้ข้อคิดจากภาพยนตร์ หรือบางอย่างเราก็เติบโตและได้พัฒนาความคิดไปพร้อมกับการได้ชมภาพยนตร์ หากเราใช้ความคิดพินิจพิจารณา และกลั่นนำสิ่งที่ดีหรือแม้แต่สิ่งไม่ดีที่เป็นบทเรียน มาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตประจำวัน

         เอ๋อเหรอ (2548) เป็นผลงานภาพยนตร์ของ พชร์อานนท์ มิ่งขวัญตา ว่าด้วยเรื่องราวของสำรวยและต๋อง พ่อ-ลูกดาวน์ซินโดรมที่เกิดเหตุการณ์พลัดพรากกัน ทำให้สำรวยต้องออกตามหาลูก ซึ่งต๋องและลูกแก้ว (เพื่อนสนิทของต๋อง) ดันบังเอิญไปพัวพันกับแก๊งค้ามนุษย์เข้าอีก

         ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความตลกร้าย ของเรื่องราวที่เล่นกับความเป็นเด็กและผู้เป็นดาวน์ซินโดรมที่ต้องพบเจอกับแก๊งค้ามนุษย์ ซึ่งถูกนำมาเล่าให้เบาบางลง โดยใส่ความ Comedy ลดทอนบางอย่างลง ทว่าเมื่อได้ดูแล้ว กลับสะท้อนความลึกซึ้งถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ในบางครั้งเราอาจจะไม่ได้ตระหนักรู้ 

         บทความนี้เราพาทุกคนมาจับประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเรื่องราว หรือรายละเอียดยิบย่อยในภาพยนตร์มาขบคิด ซึ่งต้องขอบอกเลยว่าไม่ธรรมดาครับ

ความแตกต่างและการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม

         เมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องคนพิการดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน ทั้งต่อคนพิการหรือคนที่ไม่พิการด้วย เพราะอาจจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันหรือส่อเสียดไปในทางดูหมิ่นเหยียดหยามได้ เมื่อมีการพูดถึงประเด็นนี้จึงควรอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจ การรับฟังและความบริสุทธิ์ใจ

         โดยพื้นฐานของดาวน์ซินโดรมนั้นจะมีโครงสร้างใบหน้าที่มีลักษณะเฉพาะ พูดช้าพูดไม่ชัดหรือมักจะเป็นคนที่อารมณ์ดี ร่าเริงและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ภาพของดาวน์ซินโดรมจากสิ่งที่เราเห็นในภาพยนตร์ผ่านตัวละครหลักอย่างสำรวยและต๋องก็ดูจะเป็นเช่นนั้น

         เหตุผลที่คนในสังคมบางคนในเรื่องดูจะรังเกียจสำรวยและต๋องนั้น อาจจะไม่สำคัญและเท่ากับการกระทำของพวกเขา เพราะมันมีผลต่อสำรวยและต๋องโดยตรง เช่น การที่ต๋องถูกเด็กในโรงเรียนแกล้งหรือการที่สำรวยถูกพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยาม

         ทำความเข้าใจกันก่อนว่าดาวน์ซินโดรมนั้นไม่ได้เป็นโรคติดต่อแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ หากสังเกตตัวละครของสำรวยและต๋องในเรื่องนั้น นอกจากลักษณะพื้นฐานของดาวน์ซินโดรมแล้วตัวละครจะมีความเก้อเขิน หรือเงอะงะ มีการกระทำหรือคำพูดที่ดูเหมือนจะกวนประสาทในบางครั้ง ที่จริงคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมก็ไม่ใช่ว่าจะมีลักษณะนิสัยแบบนี้กันทุกคน เห็นได้อย่างต๋องหรือเด็กวัดในเรื่องที่ทั้งคู่ดูจะมีลักษณะนิสัยที่ไม่เหมือนกัน

         เหตุการณ์ในเรื่องอย่างการที่สำรวยนั้นเดินซุ่มซ่ามจนไปชนคนเข้า คำพูดที่ดูกวนประสาทที่อาจทำให้ผู้ฟังเกิดการโมโหได้ หรือการที่เข้าไปอาบน้ำในห้องน้ำผู้หญิง  หากในชีวิตจริงเราเจอเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งที่ต้องเข้าใจคือคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมนั้นในบางครั้งบางเหตุการณ์ เราไม่สามารถปฏิบัติกับพวกเขาอย่างทั่วไปได้ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจและความเป็นมิตร

         ใช้เหตุผลที่จะทำให้เหตุการณ์ตรงนั้นจบลงด้วยดีที่สุด เพราะคนเหล่านี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม สิ่งสำคัญคือนอกจากความเข้าใจตรงนี้ เราจะต้องเปิดใจให้กว้างไว้และให้เกียรติพวกเขา รวมถึงคนพิการประเภทอื่นด้วย เหมือนที่เราให้เกียรติคนธรรมดาทุกคน เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะได้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขแล้ว

ครอบครัวคือโรงเรียนแรกของชีวิต

         ประสบการณ์ การศึกษา คนรอบตัว สิ่งที่เราพบเจอหรือได้รับ สิ่งที่เรากระทำหรือถูกกระทำ มีอะไรอีกบ้างที่เป็นสิ่งที่หล่อหลอมว่าคนคนหนึ่งเป็นจะเป็นคนอย่างไร เอ๋อเหรอมีการบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เห็นได้ทุกยุคทุกสมัยแม้แต่ในปัจจุบัน คือการกลั่นแกล้งกันในสังคมโรงเรียน

         ฉากหนึ่งที่สำรวยมาส่งต๋องที่โรงเรียน แล้วต๋องถูกเด็กคนหนึ่งตบหัวพร้อมกับด่าว่า “ไอ้เด็กปัญญาอ่อน” แล้วต๋องตอบกลับพร้อมรอยยิ้มว่า “ขอบคุณครับ” แล้วหันไปยิ้มให้กับสำรวยผู้เป็นพ่อเหมือนเป็นสิ่งที่ทั้งสองนั้นรู้กัน

         ความรู้สึกที่เห็นเหตุการณ์ในซีนนี้คือ “เหนือชั้น” สิ่งที่ต๋องถูกกระทำนั้นเหมือนถูกปัดออกไปอย่างง่ายดายเหมือนฝุ่นเม็ดเล็กๆที่เกาะอยู่บนชายเสื้อ  ผู้เขียนเคยมีโอกาสรับชมคลิป Talk show คลิปหนึ่งโดยคุณ Brooks Gibbs นักเขียน นักจิตวิทยาสังคม ชาวอเมริกันเปรียบเทียบประมาณว่าการกลั่นแกล้งเป็นแค่เกมของการแพ้ชนะ และวิธีที่จะชนะคือการไม่โกรธหรือโมโห

         มันช่างเหมือนกับสิ่งที่ต๋องตอบโต้กลับไปจริง ๆ แต่ถ้าเราเป็นต๋อง มันจะง่ายแบบนั้นหรือเปล่า เราจะเลือกตอบโต้กลับไปหรือจัดการความรู้สึกแย่ ความรู้สึกโกรธ โมโหของตัวเองได้แค่ไหนกัน

         ว่ากันอย่างตรงไปตรงมาการที่ต๋องนั้นจะถูกแกล้งโดยเด็กในโรงเรียน เป็นสิ่งที่เราพอจะเดากันได้อยู่แล้ว เพราะเขานั้นไม่เหมือนใคร สิ่งสำคัญที่พอจะชี้นำให้เด็กอย่างเขานั้น สามารถรับมือกับการเหตุการณ์ที่ต๋องจะต้องพบเจอเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นเพราะการถูกสอน ถูกอบรม จากสำรวยผู้เป็นพ่อในเรื่อง ซึ่งนอกจากสิ่งดี ๆ ที่สำรวยสอนต๋องนั้น บางอย่างเราพอจะคิดได้ว่า สำรวยรู้ว่าลูกของเขาต้องเจอกับอะไร เพราะสำรวยเคยผ่านมาก่อนจนเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขาจึงมีวิธีที่จะชี้ทางให้ต๋องนั้นสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมหรือคนในโรงเรียนได้

         คำพูดที่คุ้นเคยที่เรามักจะเคยได้ยินกันมาว่า “เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว”…“เด็กไม่ผิดหรอกมันยังไม่รู้เรื่อง”….“ลูกฉันเป็นคนดี” น่าแปลกใจที่ว่าพอพูดถึงการกลั่นแกล้ง หรือการ Bully เหตุการณ์ที่เรามักเคยพบเจอ พบเห็น หรือได้ยิน กลับเกิดขึ้นจากผืนผ้าขาวเหล่านี้มากมาย

         ผืนผ้าสีขาวเหล่านี้มันเป็นสีขาวจริงหรือเปล่า หรือมันแปดเปื้อนเพราะอะไร “เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว” ก็อาจจะจริงด้วยอายุ วุฒิภาวะ ความไร้เดียงสาของเด็ก แต่พอมีเหตุการณ์กระทำเหล่านี้เกิดขึ้นเราพูดได้หรือเปล่าว่า “เด็กไม่ผิดหรอก เพราะยังไม่รู้เรื่อง”

         แน่นอนว่าตัวแปรของมูลเหตุนั้นมีมากมายและผันผวนได้อีกเยอะ บางครอบครัวมีปัญหา หรือเด็กบางคนไม่มีครอบครัวด้วยซ้ำ แต่สิ่งสำคัญที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นด้วยก็คงจะเป็นสถาบันครอบครัวที่ต้องมีหน้าที่คอยดูแล ขัดเกลาเด็กเหล่านี้ไม่ว่าจะด้วยความรัก ความห่วงใย หรืออะไรก็ตาม สิ่งนี้เป็นหน้าที่ที่ควรต้องทำ อย่างน้อยก็เพื่อไม่ไปทำให้ผ้าขาวผืนอื่นต้องเลอะ เพราะเด็กเหล่านี้ต้องออกไปใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนอื่น

         ถ้าเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาวการดูแลก็คงเป็นเหมือนการที่เราคอยเอาใจใส่ไม่ให้ผ้าผืนนี้เลอะเปรอะเปื้อน  ส่วนการอบรมและการสอนก็คงเหมือนการซักผ้า เราซักผ้าเพื่อให้ผ้าสะอาด แต่ละคนก็คงจะซักไม่เหมือนกันบางคนซักมือ บางคนซักเครื่อง บางคนใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มหรือผงซักฟอกยี่ห้อที่ไม่เหมือนกัน

         ก็เหมือนกับวิธีการอบรมการสอนของแต่ละครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือเราจะดูแลผ้าขาวอันแสนบริสุทธิ์ของเราหรือเปล่า เพราะครอบครัวคือโรงเรียนแรกและคงจะเป็นตลอดไปจนวันสุดท้ายของชีวิตเรา

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะเป็นคนดีได้

         หนึ่งในวาทกรรมที่เชื่อว่าคนทุก Generation จะเคยได้ยินกัน แล้วมันจริงหรือ ? คนเราเลือกเกิดไม่ได้นั้นเป็นข้อเท็จจริงแต่เลือกที่จะเป็นคนดีได้หละจริงไหม สิ่งที่เราเห็นได้จากภาพยนตร์ คือภาพของครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นดาวน์ซินโดรม ใช้ชีวิตกันอย่างสงบสุขดูน่ารักและอบอุ่น ที่น่าฉงนใจคือถึงแม้จะไม่มีเรื่องของแก๊งค้ามนุษย์ในหนัง เรื่องราวในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ผู้คนปฏิบัติกับพวกเขาช่างดูอคติและขุ่นเคืองเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะปรีชา (พ่อของลูกแก้ว) ที่ดูจะรังเกียจครอบครัวสำรวย เพียงเพราะสิ่งที่พวกเขาไม่เหมือนคนอื่น

         การกระทำของสำรวย คุณพ่อดาวน์ซินโดรมในเรื่องซึ่งไม่ว่าตัวเขาหรือลูกจะเจอเหตุการณ์อะไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าเขานั้นจะหลบเลี่ยงหรือปล่อยไป “ถึงไม่มีใครรัก แต่พ่อแม่พี่น้องก็รักต๋องนะลูก” หนึ่งในประโยคที่สำรวยบอกกับต๋อง คำพูดที่ดูเหมือนตัดพ้อ แต่ในขณะเดียวกันกลับรู้สึกอบอุ่นหัวใจ จากสิ่งที่สำรวยและต๋องต้องเผชิญในการใช้ชีวิต

         เหตุผลของปฏิกิริยาจากสิ่งที่สำรวยเลือกที่จะแสดงออกกลับไป ต่อสังคมในแบบของเขานั้นมีได้มากมาย

         แต่ผลลัพธ์หนึ่งที่พอเข้าใจได้คือการกระทำเช่นนี้ ช่วยลดปัญหาและแรงปะทะต่อการกระทำจากอคติของสังคมที่ปฏิบัติต่อพวกเขาได้แน่ ๆ จากชีวิตประจำวันที่สำรวยและต๋องต้องพบเจอ

         สิ่งหนึ่งคือในบางทีเราไม่สามารถตัดสินใครได้ว่าใครสักคนจะเป็นคนดีหรือไม่ดี จากสิ่งที่เขากระทำ (เว้นแต่แก๊งค้ามนุษย์…อันนี้กรณีพิเศษ) เพราะหากลองตั้งคำถามดูว่าคนดีคืออะไร ? เป็นยังไง ? แล้วคนอย่างไรหล่ะ ถึงจะเรียกว่าเป็นคนดี ? คำตอบของแต่ละคนก็คงจะไม่เหมือนกัน

         ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนในวงสนทนา ถึงประเด็นข้างต้นคำตอบที่ได้กลับพบว่าถึงแม้คำจำกัดความของคำว่า “คนดี” แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่ความหมายแทบคล้ายกันหมด ใจความสำคัญของคำตอบจะมีวงกลมที่ซ้อนทับกันอยู่ เหมือนคำตอบจะเป็นความนัยที่เข้าใจตรงกันต่อคำจำกัดความคำว่าคนดี ก็คงต้องเป็นคนที่ทำอะไรดี ๆ เทือกๆ นั้นแหละเนอะไม่น่ายาก

         คำตอบหนึ่งของคำถามคือ “อยู่เฉย ๆ ก็เป็นคนดีแล้ว” ความคิดเห็นหนึ่งของเพื่อนผู้เขียนที่ดูเหมือนจะกึ่งกวนประสาทผุดขึ้นมา แต่คำอธิบายที่ตามมาว่า “การอยู่เฉย ๆ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน” กลับดูน่าสนใจพอควร ความหมายในที่นี้อาจจะหมายถึงเราก็ใช้ชีวิตของเราตามปกติไม่ไปทำอะไรไม่ดี ทำร้ายหรือทำอะไรไม่ดีกับใคร แต่ในอีกนัยหนึ่งก็คิดได้ว่ามันคือการ “เมินเฉย” หรือเปล่า ฉันใช้ชีวิตของฉันพวกคุณก็ใช้ชีวิตของพวกคุณไป…พอคิดแบบนี้ก็แอบรู้สึกตะหงิดใจ แปลกเหมือนกันนะ

         ชีวิตจริงมันซับซ้อนกว่านั้นเยอะ เรื่องราวของเอ๋อเหรอ หากเราเป็นสำรวยหรือต๋องคงสบถในใจ อย่าว่าแต่เลือกเกิดเลย จะให้เลือกเป็นคนดี หรือคนที่อยู่เฉย ๆ ก็ยากแล้ว เมื่อสังคมประเดประดัง กีดกัน ทำร้ายเรา เป็นเราจะรับมือกับ ความกดดัน การกระทำ แรงปะทะ หรืออะไรต่าง ๆ อย่างไร รับไหวหรือเปล่า จะให้กัดฟันเดินหน้าใช้ชีวิตเป็นให้คนดีอย่างไร เพราะเอ๋อเหรอทำให้คิดตามประสาวัยรุ่นได้ว่า “ขอสำรวยและต๋องเดินสะดวกเถอะ!” ยังยากเลย

         ทว่าสังคมมนุษย์ที่มันขับเคลื่อนไปได้ก็เพราะว่ายังมี “คนดี” สิ่งนี้เชื่อว่าหาข้อถกเถียงยาก แม้แต่ในเรื่องราวของเอ๋อเหรอ เราก็ยังได้เห็นการช่วยเหลือกันของตัวละครทั้งที่รู้จักกันและไม่รู้จักกัน เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้สำรวยและต๋องต้องพบเจอเพราะการเป็นดาวน์ซินโดรม โดยเฉพาะการกลั่นแกล้ง รังเกียจ แต่ละการกระทำนั้นจะหนักเบาเพียงไหน เรากลับไม่กล้าตัดสินการกระทำของคนเหล่านั้น ด้วยเพราะอาจไม่รู้ว่าการกระทำเหล่านั้นเกิดจากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจหรือแม้แต่จิตใต้สำนึก

         ทีนี้ก็อยู่ที่เราแล้วแหละว่าจะเลือกเป็นคนอย่างไรกับคนรอบตัวกับสังคม ลองคิดว่าชีวิตเราต้องไปเป็นตัวละครในหนังสักเรื่องหนึ่ง เราอยากจะเห็นตัวเองเป็นคนแบบไหนในหนังเรื่องนั้น อยากให้คนรอบตัวเราเป็นแบบไหน ส่วนผู้เขียนขอเริ่มจาก “เป็นคนที่อยู่เฉย ๆ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน” ก่อนแล้วกันนะ ขอดูก่อนว่าเราจะเจอคนยังไง เจอกับเหตุการณ์อะไรบ้าง ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน

ทำทุกวันให้เหมือนวันสำคัญ

         ประเทศไทยนั้นกำหนดให้ทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายนเป็นวันคนพิการแห่งชาติ โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความสำคัญ ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนเพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและตระหนักถึงความเท่าเทียมกัน ซึ่งในความเท่าเทียมนั้นไม่ได้เป็นเรื่องศักยภาพหรือความบกพร่องทางร่างกาย แต่เป็นการให้คุณค่าให้เกียรติกันอย่างเท่าเทียม

         สังคมของเราในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่ามีการเปิดกว้างพอสมควรแล้ว อย่างน้อยก็มากกว่าสมัยก่อนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เป็นจำนวนมากมีความเข้าใจ และจิตใจที่ไม่มีความอคติ พร้อมจะเปิดรับและสนับสนุนคนพิการทุกคนด้วยใจจริง เพื่อให้สังคมนั้นเดินหน้าต่อไปได้อย่างงดงาม

         เราอาจจะเคยเห็นหน่วยงาน องค์กร ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เปิดรับผู้พิการเข้าทำงาน เช่น ร้านกาแฟที่เปิดรับผู้พิการทางการได้ยิน หรือผู้พิการทางการเรียนรู้เข้าทำงาน และโครงการอื่นอีกจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือถ้ามีโอกาสเราก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันตามกำลังที่เรามี ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ เพียงแค่ผ่านการกระทำเล็กน้อยบางอย่างของเรา แบ่งปันความเข้าใจซึ่งกันและกัน เท่านี้ก็เป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว

         ไม่ว่าจะเป็นวันอะไรก็ตาม แต่เราทำให้ทุกวันเป็นวันสำคัญ ทำให้ทุกวันให้เป็นเหมือนวันปกติวันหนึ่ง ทุกวันที่เราอยู่ร่วมกันด้วยความจริงใจ อยู่เคียงข้างช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป เพราะทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ต่างเป็นแรงผลักดันที่ทำให้สังคมของเรานั้นเติบโตไปได้ ยอมรับในความแตกต่างของความเป็นมนุษย์ เรียนรู้กันและกันเพื่อสร้างสังคมที่โอบกอดทุกความแตกต่างหลากหลาย ให้ความเท่าเทียมกับทุกคนกันนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ

ภาพยนตร์เรื่องเอ๋อเหรอ (2548) กำกับและเขียนบทโดย พชร์-อานนท์ มิ่งขวัญตา

พญ.นพวรรณ ศรีวงค์พานิช. ดาวน์ซินโดรม คืออะไร ?. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2565,
จาก https://www.princsuvarnabhumi.com/content-what-is-down-syndrome

Broos Gibbs. (2557, กันยายน). How to Stop A Bully. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2565,
จาก https://www.youtube.com/watch?v=7oKjW1OIjuw&t=227s

กรมประชาสัมพันธ์. (2564 , พฤศจิกายน). วันคนพิการแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2565,
จาก https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/53621

Writer

เหนื่อยวันนี้ สบายวันไหน

Writer

เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งเชื่อ

Writer

ถ้าตั้งใจ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้