Mental Healing เมื่อใจของเธอเจ็บปวด มาหาทางฮีลใจให้บรรเทา

จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยพลัง จะพาโบยบินไปยังความฝันที่หวังไว้

         จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การดูแลสุขภาพจิตใจก็มีความสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย เมื่อสุขภาพใจดีทำให้เรามีพลังในการเรียนและการทำงาน พวกเราสนใจเรียนรู้เรื่องจิตใจ จึงได้ไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโรคและกลุ่มอาการที่สร้างผลกระทบต่อจิตใจในวัยเรียนมาแบ่งปันกับเพื่อนทุกคน พร้อมยกตัวอย่างอาการเจ็บป่วยทางจิตใจจากภาพยนตร์และซีรีส์มาเป็นกรณีศึกษาให้ได้เรียนรู้ด้วยกัน

พลังของจิตใจช่วยเติมเต็มฝันให้เป็นจริง

         วัยรุ่นอย่างพวกเรามีเรื่องที่ต้องทำมากมาย บางคนเรียนและทำงานหาเงินส่งตัวเองเรียนไปด้วย บางคนเรียนออนไลน์แล้วไม่มีความสุข การรับมือกับจิตใจที่เปราะบาง อารมณ์ที่แปรปรวนเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเรียนรู้

         ทุกคนรู้หรือไม่ว่า มี 3 สภาวะทางด้านจิตใจที่มักเกิดขึ้นในวัยรุ่น อาจจะมีสาเหตุมาจากความเครียด เช่น เรื่องครอบครัว เพื่อน คนรัก การเรียน การทำงาน รวมถึงปัจจัยอื่นอีกมากมาย

         เราไปทำความเข้าใจกันว่า 3 สภาวะทางจิตใจที่เราเลือกมานำเสนอให้ทุกคนรู้จัก มีผลต่อวัยรุ่นอย่างไรกันบ้าง พร้อมทั้งวิธีจัดการหรือดูแลตัวเองหากตกอยู่ในสภาวะนั้น แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษาและแนวคิดการดูแลจิตใจ เสมือนมีเพื่อนที่เข้าใจคุณอยู่เคียงข้าง

Imposter Syndrome เมื่อฉันยังไม่ดีพอ

         เคยเป็นไหม ไม่ได้มีใครว่าอะไรเราหรอก แต่เรากลับกดดันตัวเอง คิดว่าตัวเองยังไม่ดีพอ คิดไปเองว่าเรายังไม่เก่ง ทั้งที่เราเองก็พัฒนาตนเองและเรียนรู้อย่างมากมาย นี่คืออาการของโรคที่เรียกว่า Imposter Syndrome คิดว่าตัวเองไม่เก่ง กดดันตัวเองให้ทำงานหนักขึ้น เพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จ

กรณีศึกษา: แพนด้าโป ที่คิดไปว่าตัวเองไม่ดีพอ

         อาการของคนที่ชอบคิดว่าตัวเองยังไม่เก่งพอ ต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ต้องทำงานเยอะ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ มีให้เห็นอยู่ในภาพยนตร์เหมือนกัน เรื่องที่เราเลือกมาคือ Kung Fu Panda แพนด้าที่มีชื่อว่าโป มีแนวโน้มจัดอยู่ในอาการ Imposter syndrome

         วันวานในอดีตของโปเป็นแค่แพนด้าลูกเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวที่ได้รับการคาดหวังให้กลายเป็นพ่อค้าก๋วยเตี๋ยวเหมือนพ่อของเขา แต่เมื่อจับพลัดจับผลูได้กลายเป็นนักรบมังกร ก็มีทั้งความกดดันและข้อกังขาในความสามารถและรูปร่างของเขาว่าเหมาะสมกับตำแหน่งนักรบมังกรหรือไม่ นั่นทำให้เขาเริ่มท้อและเกือบจะยอมแพ้ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นมาได้ด้วยความช่วยเหลือและคำชี้แนะจากอาจารย์ของเขา ก็ทำให้โปผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้

         การคิดว่าตัวเองไม่เก่งของโป ทำให้เขาไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวเอง ในภาพยนตร์เราได้เรียนรู้ว่าโปพยายามที่จะฝันฝ่าอุปสรรคทางด้านจิตใจ การที่จะก้าวข้ามเรื่องแบบนี้ หรือพยายามอยู่กับมันให้ได้ แค่ตัวเราคนเดียวอาจจะไม่พอ เราอาจจะเริ่มจากตัวเอง หรือลองเปิดใจระบายกับใครซักคนก่อนที่จะเดินหน้าต่อ นั่นอาจจะดูช้าดูไม่ทันใครเขา แต่คนเราก็มีวิธีนำตัวเองไปสู่ความสำเร็จที่แตกต่างกัน ถ้าเราลองถอยหรือหยุดพักซักหน่อย เราก็อาจจะมีวิธีที่เหมาะกับเราซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการก้าวเดินต่อไปได้

Burnout Syndrome เครียดเกินไปจนกลายเป็นหมดกำลังใจ

         เรียนหนัก ทำงานหนัก ครอบครัวมีปัญหา คนรักไม่มีเวลาให้ ทุกอย่างถาโถมเข้ามาจนกลายเป็นอาการของโรคที่ชื่อว่า Burnout Syndrome โดยเฉพาะหากต้องรับผิดชอบงานที่ไม่ถนัดเป็นเวลานานจนทำให้เกิดความเครียด เหนื่อยล้า ไม่มีแรง กำลังใจ หรือสมาธิ รู้สึกว่างานนั้นเกินความสามารถของเรา

กรณีศึกษา: ผู้พิพากษาหญิง ที่รับผิดชอบงานยาก จนเครียด

         หากใครเคยดูซีรีส์เกาหลีสุดฮิต Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน คงรู้จักตัวละครผู้พิพากษา เธอมีชื่อว่าชิม อึนซอก งานที่ทำทุกวันคือการพิจารณาคดี ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับเยาวชนที่กลายเป็นอาชญากร การทำงานหนักส่งผลให้เครียดอย่างมาก นี่อาจจะจัดอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า Burnout Syndrome

         สิ่งที่ทำให้ชิม อึนซอก กลายเป็นแบบนี้ ด้วยเรื่องงานที่ถาโถม เคร่งเครียด รวมถึงเรื่องครอบครัว การสูญเสียลูกชายที่ยังเป็นปมฝังลึกของเธอเมื่อหลายปีก่อน เป็นบาดแผลในใจ จนทำให้พฤติกรรมที่ขาดการดูแล จนร่างกายขาดสารอาหาร และการโหมงานอย่างหนักที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน เกิดกำเริบจนร่างกายรับไม่ไหวและหมดสติไปในที่สุดบางครั้งการก้าวผ่านเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยาก

         การชะลอหรือยับยั้งไม่ให้อาการหนักไปมากกว่านี้ควรเป็นสิ่งที่เริ่มทำทันที อาจจะเริ่มจากการดึงตัวเองกลับมา อยู่กับตัวเองในช่วงเวลาที่ไม่มีใครรบกวนเพื่อผ่อนคลาย ที่สำคัญมีเวลาหรือคนที่ไว้วางใจพูดคุยระบายปัญหาต่าง ๆ ด้วย หากเครียดมาก อาจจะต้องใช้ยาช่วย หรือบำบัดด้วยวิถีแบบธรรมชาติ ดูแลจิตใจให้ผ่อนคลายก็จะช่วยลดความเครียดลงได้

Depression ภาวะซึมเศร้า ผิดหวัง กังวล โทษตัวเอง

         อาการซึมเศร้า Depression กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของวัยรุ่นทั่วโลก รู้สึกด้อยค่า รู้สึกผิด หดหู่ เป็นกังวล ไม่อยากทำในสิ่งที่เคยชอบ อารมณ์แปรปรวน ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำงาน จนอาจถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

กรณีศึกษา: อียอร์ ความเศร้าที่รักษาด้วยความเข้าใจ

         โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ถูกพูดกันถึงมากทั้งในสื่อและในโลกโซเชียล โรคซึมเศร้ามีที่มาจากหลากหลายสาเหตุ มาจากปัจจัยภายใน สภาพจิตใจ สารเคมีในสมอง และปัจจัยภายนอก อาจจะเกิดจากการที่เราเจอปัญหาและหาทางออกไม่ได้ เกิดความกังวลใจติดต่อกันเป็นเวลานาน จนส่งผลกระทบกิจวัตรประจำวัน และอาจถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ หลายครั้งที่เราได้ยินข่าวผู้คนเลือกที่จะจบชีวิตของตัวเอง เพราะโรคซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง

         เราจะมาเล่าถึงตัวละครตัวหนึ่งที่แสดงออกถึงโรคนี้ในระยะยาวนั่นก็คือ อียอร์ จาก Winnie The Pooh ตุ๊กตาลาแสนเศร้า สิ่งที่ทำให้ผู้คนมองว่าอียอร์เป็นตัวแทนแห่งโรคซึมเศร้าเรื้อรังนั้น ก็มาจากพฤติกรรมที่มักจะทำหน้าหม่นหมอง ขี้กังวล และมีน้ำเสียงที่ฟังแล้วชวนหดหู่อยู่ตลอดเวลา แต่โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากแค่สิ่งแวดล้อม อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สารเคมีในสมอง หรือกรรมพันธุ์ก็ส่งผลเช่นกัน คนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นหรือไม่เป็น

         ลองเริ่มเช็คจากรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือ เซื่องซึม ใจลอยไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับหรืออ่อนแรงมากกว่าสองอาทิตย์หรือเปล่า ถ้ามีอาการตามที่กล่าวไปเบื้องต้น นัดปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เพื่อเข้ารับการปรึกษาและรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

รับคำปรึกษาจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ

         การเข้าไปพบจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาสภาวะจิตใจเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก ค้นหาข้อมูลแหล่งผู้ให้คำปรึกษาที่น่าเชื่อถือ แล้วติดต่อนัดหมาย ที่สำคัญคือการเปิดใจ พร้อมที่จะแบ่งปันปัญหานั้นให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

         กรณีศึกษาที่เรานำเสนอไปเป็นการเรียนรู้เพื่อเป็นตัวอย่าง ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าคนที่มีอาการเหล่านี้แล้ว จะต้องเป็นโรคพวกนี้แน่นอน แต่ละคนมักมีหลายตัวแปรที่ทำให้ข้อสรุปนั้นแตกต่างออกไป สำหรับใครที่ลองเช็กตัวเองแล้ว มีอาการตามที่กล่าวมาเบื้องต้น อาจจะลองนัดพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาหรือยืนยันอาการอีกที ไม่ต้องกังวลหากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม อย่างน้อยก็อาจจะทำให้เราสบายใจมากขึ้น

         มหาวิทยาลัยกรุงเทพก็มีบริการให้คำปรึกษาทั้งสุขภาพกายและใจ สำหรับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย คือบริการ BU care สามารถติดต่อเข้ารับบริการ นัดพบคุณหมอได้ที่ BU Links https://bulinks.bu.ac.th

         เราทุกคนต้องการการรับฟัง ต้องการคนที่เข้าใจ พร้อมที่จะให้เวลารับฟังความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อเกิดอาการที่เราเล่าให้ฟังไป ใคร่ครวญและทบทวนอย่างจริงจัง เพื่อค้นหาสาเหตุที่เกิดขึ้น ทางที่ดีการพบกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญก็จะทำให้เราคลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้นได้ ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพกายและใจ เพราะใจที่เปี่ยมไปด้วยพลังจะพาเราไปถึงความฝันที่หวังไว้

ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com

Writer & Graphic

ตั้งตี้ชุมนุมรอบกองไฟโปรเจค

Writer

ใช้ชีวิตให้เหมือนวันนี้เป็นวันสุดท้าย

Writer

นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ทั้งชีวิตถวายให้งาน

Writer

If there's something out there that you're supposed to do, if you have a passion for it, then stop wishing and just do it.-Wanda Sykes