มากกว่ารักใส ๆ คือมาตรฐานใหม่ของความหลากหลาย ค้นหาตัวตนบนสเปรกตัมสีรุ้งกับ Heartstopper

ชวนดู Heartstopper ซีรีส์ Coming-of-Age แสนอบอุ่นหัวใจ เพราะทุกความรักล้วนสวยงาม

         คำเตือน: บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์ Heartstopper (2022)

         นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก Heartstopper (2022) เธอทำให้ใจฉันหยุดเต้น ซีรีส์แนว Coming-of-Age สุดน่ารัก ซึ่งพัฒนามาจากกราฟิกโนเวลของ อลิซ โอสแมน ที่บอกเล่าเรื่องราวการเติบโตและการค้นหาตัวเองของวัยรุ่น LGBTQIAN+ ผ่านความสัมพันธ์ระหว่าง ชาร์ลี สปริง (รับบทโดยโจ ล็อก) นักเรียนเกรด 10 ผู้ถูกคนในโรงเรียนบูลลีเพราะเป็นเกย์ และ นิโคลัส ‘นิก’ เนลสัน (รับบทโดยคิต คอนเนอร์) นักเรียนเกรด 11 ราชารักบี้ประจำโรงเรียนชายล้วนทรูแฮม ผู้เริ่มตั้งคำถามกับรสนิยมทางเพศของตัวเองหลังได้รู้จักกับชาร์ลี ในโลกที่ความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง

         เหตุผลที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จจนขึ้นแท่นซีรีส์ใจฟูแห่งปี ไม่ใช่เพียงเพราะเรื่องราวความรักอบอุ่นหัวใจที่ทำเอาคนดูต้องยิ้มตามจนแก้มปริ แถมพากันอยากมีแฟนไทป์โกลเดนรีทรีฟเวอร์แบบนิคกันไปนักต่อนัก แต่เป็นเพราะการที่สามารถนำเสนอภาพแทน (representation) ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผ่านประสบการณ์ร่วมหลากมิติ ตั้งแต่ช่วงสับสน ค้นหาตัวเอง และเปิดเผยตัวตน (come out) ที่สร้างทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสั่นสะเทือนภายในใจ ผ่านเรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงออกมาเป็น 8 อีพีบนหน้าจอ

ซ่อนอยู่อย่างโจ่งแจ้ง

         ในสังคมที่ยังคงติดกับอยู่กับกรอบเพศทวิลักษณ์ (gender binary) ที่กล่าวว่า เพศมีเพียง ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’  Heartstopper สะท้อนปัญหาดังกล่าวออกมาได้อย่างแยบยลผ่าน setting ตัวละครวัยมัธยมปลายที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันที่มีการแบ่งแยกเพศ (gender segregation) แบบหญิงล้วน และชายล้วนอย่างชัดเจน

         และแม้จะมีกรอบเพศของโรงเรียนครอบไว้ แต่ความหลากหลายในสเปกตรัมสีรุ้งก็ยังคงเบ่งบานอย่างสวยงามผ่านตัวละครต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ๆ ในแก๊งของชาร์ลีอย่าง แอลล์ (รับบทโดย ยาสมิน ฟินนีย์) เด็กสาวข้ามเพศผิวดำ ผู้แอบตกหลุมรัก เทา (รับบทโดย วิลเลียม เกา) หนุ่มสเตรตเพียงหนึ่งเดียวในกลุ่มที่ดูท่าแล้วคงจะไม่ได้ปล่อยให้รักของแอลล์เป็นรักข้างเดียว หรือ ไอแซ็ก (รับบทโดย โทบี โดโนแวน) ผู้ซึ่งอลิซเปิดเผยในภายหลังว่า เป็นตัวแทนของชาว Aromantic Asexual หรือผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางใจและทางเพศกับผู้อื่น

         นอกจากนี้ยังมี ทารา (รับบทโดย คอรินนา บราวน์) เด็กสาวผู้ค้นพบว่าตัวเองไม่ชอบจูบผู้ชาย และได้มาคบกับเลสเบียนอย่าง ดาร์ซี (รับบทโดย คิซซี เอดเจลล์) ในเวลาต่อมา ไปจนถึงตัวละครที่ยังคงอยู่ในช่วงค้นหาตัวเองอย่าง เบน (รับบทโดย เซบาสเตียน ครอฟต์) ที่เดินอยู่บนเส้นทางคู่ขนานกับนิก แต่การแสดงออกของทั้งสองกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

         แม้การเล่าเรื่องจะพยายามนำเสนอมุมมองหรือวิธีคิดของตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศในหลากหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างแน่นอนกับตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศคือ การระทมทุกข์ที่มีสาเหตุมาจากการที่สังคมเลือกปฏิบัติต่ออัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา หลายคนต้องเจอกับคำพูดบั่นทอนอย่างคำว่า ‘เสียดาย’ หลายคนถูกบูลลี และเลือกปฏิบัติอย่างที่ไม่เคยโดนมาก่อน และก็น่าเศร้าที่สิ่งเหล่านั้นไม่ต่างอะไรจากโลกแห่งความเป็นจริงที่ความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงเลย

         หัวใจหลักของ Heartstopper คือการเล่าเรื่องราวการเติบโตและเรียนรู้ตัวเองในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตตัวละครต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นิก หนุ่มฮอตประจำโรงเรียน ผู้ซึ่งเติบโตมาอย่างดีตามกรอบเพศ (gender role) ที่สังคมคาดหวังว่าเด็กผู้ชายควรจะเป็น เช่น เก่งกีฬา และชอบเพศตรงข้าม นิกถูกรายล้อมไปด้วยกลุ่มเพื่อนที่มีนิสัยตามภาพจำ (stereotype) ของสังคม ที่อาจไม่ใช่พฤติกรรมที่ดี แต่ก็ยอมรับได้ เพราะเป็นนิสัยแบบเด็กผู้ชายเขาทำกัน นั่นก็คือ ขี้แกล้ง และชอบรังแกคนอื่น ตลอดเวลาที่ผ่านมานิกไม่เคยออกมาเทกแอ็กชันอะไรกับพฤติกรรมของเพื่อนในกลุ่ม ไม่ว่าจะทั้งส่งเสริมหรือต่อต้าน ทำให้นิกถูกเหมารวมให้เป็นเหมือนกับเพื่อนสเตรตจ๋าบ้าพลังของตนไปด้วย ผลลัพธ์ที่ตามมาจึงทำให้นิกถูกมองเป็นคนที่สเตรตที่สุดคนหนึ่งในโรงเรียน

         โดยหากมองแบบผิวเผิน บทบาททางเพศอาจไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสียเท่าไร ทว่าเมื่อลองสังเกตดี ๆ จะพบว่า บทบาทดังกล่าวได้สร้างกรอบที่กีดกันความสามารถและตัวตนของผู้คนมากมายเอาไว้มากกว่าที่คิด ยกตัวอย่างเช่น ชาร์ลี บุคคลที่ถูกคาดหวังให้เล่นกีฬาไม่เก่งเพราะเป็นเกย์ และต้องพบกับคำสบประมาทอยู่เสมอ แม้จะเป็นคนที่วิ่งเร็วมากแค่ไหนก็ตาม

ประสบการณ์ร่วมของความสับสน ดิ้นรน และเปียกปอน

         เมื่อคนที่ไม่เคยสงสัยในเพศสภาพของตัวเองอย่างนิก ได้มารู้จักกับชาร์ลีในฐานะเพื่อนร่วมคลาสในคาบเช็กชื่อ ทั้งสองก็ได้พัฒนาความสัมพันธ์กันขึ้นมา ตามแบบฉบับของเด็กไฮสคูลที่เต็มไปด้วยความสดใส มีทัก มีเย้าหยอก และไปแฮงก์เอาต์ด้วยกันบ่อย ๆ จนได้กลายมาเป็นเพื่อนที่แสนพิเศษของกันและกัน

         นิกรู้สึกได้เป็นตัวเองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเมื่ออยู่กับชาร์ลี (ชนิดที่แม่ยังทัก) และมองชาร์ลีเป็น เพื่อนสนิท แต่ในขณะเดียวกันความสับสนก็ก่อตัวขึ้นภายในใจ เพราะนิกเริ่มไม่มั่นใจว่าตนคิดกับชาร์ลีเพียงแค่เพื่อนอีกต่อไปแล้ว และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้นิกเริ่มค้นหาตัวตนของตัวเอง

         ซึ่งกระบวนการในการค้นหาตัวตนของนิกก็ทำเอาเหล่า LGBTQIAN+ ทั่วโลกสะดุ้งกันถ้วนหน้าเลยก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอล้วนเป็นประสบการณ์ร่วมที่พวกเขาเคยผ่านมาแล้วทั้งสิ้น อย่างการค้นหาบน Google ว่า ‘am I gay?’ (ฉันเป็นเกย์หรือเปล่า) ที่ทำให้ใครหลายคนหลุดยิ้มออกมา ทว่ารอยยิ้มเหล่านั้นกลับหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะสถานการณ์กลับตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ แววตาสับสนของนิกถูกตัดสลับกับภาพข่าวการทำร้ายร่างกายคนรักเพศเดียวกันมากมาย ไปจนถึงข่าวคัดค้านสมรสเท่าเทียม จนกระทั่งนิกได้ลองทำแบบทดสอบออนไลน์ และได้ผลลัพธ์ว่าตนมีโอกาสเป็นคนรักเพศเดียวกัน มากถึง 62%

         ซึ่งความรู้สึกกดดันที่นิกกำลังเผชิญอยู่นี้อาจเป็นผลมาจากความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ด้วยก็เป็นได้ ความกลัวที่เกิดจากการถูกตีตราไว้ว่าเป็นผู้ชายต้องห้ามทำอย่างนั้น เป็นผู้ชายต้องห้ามทำอย่างนี้ และกลัวที่สุดคือการเป็นผู้ชายต้องห้ามชอบผู้ชายด้วยกัน

         เมื่อนั้นเสียงเพลงที่บิลด์มา 2 นาทีก็จบลง

         ตามด้วยน้ำตาที่ไหลออกมา บนใบหน้าที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวและสับสนของนิกที่ทำเอาคนดูใจสลายไปตามกัน ๆ

รากอคติที่ฝังลึก

         ในวันที่นิกยังคงคิดไม่ตกเรื่องเพศของตนเองและมีชาร์ลีคอยสนับสนุนอยู่ข้าง ๆ กลุ่มเพื่อนเกรด 11 ของนิคก็ยังคงแสดงพฤติกรรมเหยียดคนรักเพศเดียวกันอย่างต่อเนื่อง และมองเป็นเพียงเรื่องขำขัน เพราะยังไงเสียคนที่เป็นเกย์อย่างชาร์ลีก็คงได้ยินจนชินไปแล้ว ซึ่งการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) สามารถแสดงออกมาได้หลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น

         (1) การเกลียดกลัวฯ จากภายใน (personal or internalized homophobia) เช่น การมองว่ารักเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม

         (2) การเกลียดกลัวฯ ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal homophobia) เช่น การเล่นมุกหรือใช้คำพูดเหยียดเพศ

         (3) การเกลียดกลัวฯ ในสถาบันต่าง ๆ อย่างรัฐบาล สถาบันทางธุรกิจ สถาบันการศึกษา (institutional homophobia) ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในระดับนโยบาย เช่น การปฏิเสธการจ้างงานหญิงข้ามเพศ

         (4) การเกลียดกลัวฯ ในวัฒนธรรม (cultural homophobia) ซึ่งหมายถึงค่านิยมที่เชิดชูรักต่างเพศ (heteronormativity) และการยึดกรอบเพศทวิลักษณ์กับทุกสิ่ง เช่น การคิดว่าในความสัมพันธ์ของชายรักชาย จะต้องมีคนหนึ่งเป็นผู้ชาย แข็งแรง แมน ๆ และอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิงเพราะตัวเล็ก หรือบอบบางกว่าอยู่เสมอ

         ในประเด็นนี้ Heartstopper ได้สื่อสารให้คนดูเข้าใจง่าย ๆ ว่าการเกลียดกลัวไม่ได้มีเพียงแค่การใช้วาจาเท่านั้น แต่ยังมีอคติล่องหนลอยอยู่ทั่วสังคมเราที่หลายคนอาจไม่รับรู้หรือมองข้ามไป แต่ผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับต้องเผชิญกับมันตลอดเวลา จนกลายเป็นความชินชาที่ไม่ควรชินแม้แต่น้อย

ให้เวลากับตัวเอง

         ”นายยังไม่ต้องคิดให้ออกตอนนี้ก็ได้ ฉันเองก็ไม่ได้จู่ ๆ ตื่นขึ้นมาแบบ ‘อ้อ ก็เป็นเกย์ไปเลยสิ’” คือคำพูดของชาร์ลี หลังนิกระบายความหนักอึ้งในใจให้ฟัง

         “อย่ารู้สึกกดดันว่าต้องเปิดตัวกับใคร ถ้านายยังไม่พร้อม” คือคำแนะนำของทารา หลังนิกเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของตนและชาร์ลีให้กับทาราและดาร์ซีฟัง

         การเปิดตัว (come out) มักถูกมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นหากใครต้องการนิยามตัวเองเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่นั่นไม่ใช่ความจริงเลยสักนิด และ Heartstopper ได้เน้นประเด็นนี้หลายต่อหลายครั้งเพื่อบอกกับผู้ชมว่า การเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนของแต่ละคนล้วนใช้เวลาแตกต่างกันออกไป เพราะทุกคนมีปัจจัยที่แตกต่างกัน การเปิดเผยและยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศสู่สาธารณะจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยังต้องใช้มากกว่าความกล้าในการทำ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดจึงเป็นการเข้าใจและยอมรับตัวตนของตนเองนั่นเอง

ไบเซ็กชวลไม่ถูกหลงลืมอีกต่อไป

         “ตอนฉันเขียนคอมิก ฉันรู้ดีว่าเรามีการนำเสนอภาพแทนของไบเซ็กชวลน้อยจริง ๆ” อลิซ ผู้เขียน Heartstopper กล่าว

         ในวันที่สื่อต่าง ๆ มีการนำเสนอเรื่องราวความหลากหลายทางเพศของชายรักชาย และหญิงรักหญิงมากขึ้นทุกวัน ผู้ที่มีแรงดึงดูดมากกว่าสองเพศอย่างไบเซ็กชวลก็ยังเป็นคนที่ถูกหลงลืมบนหน้าสื่ออยู่เรื่อยมา

         การลบตัวตนของไบเซ็กชวล (Bisexual erasure) เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศมาตลอด และมักปรากฏตัวพร้อมกับความเกลียดกลัวไบเซ็กชวล (biphobia) ซึ่งมักตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ชาวไบเซ็กชวลไม่มีอยู่จริง เพราะถ้าพวกเขาชอบเพศตรงข้าม พวกเขาก็ต้องเป็นสเตรต และหากชอบเพศเดียวกัน พวกเขาก็ต้องเป็นเกย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเท่านั้น รวมไปถึงการบอกว่าไบเซ็กชวลเป็นคนหลายใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในอคติยอดฮิตที่ชาวไบเซ็กชวลต้องพบเจอเสมอมา

         ดังนั้นจงจินตนาการวินาทีที่นิกสืบค้นคำว่า ‘ไบเซ็กชวล’ ผ่านหน้าจอ  นั่นคือวินาทีที่ชาวไบเซ็กชวลทั่วโลกส่งเสียงโห่ร้องเคล้าน้ำตา เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ไบเซ็กชวลที่ปรากฏตัวผ่านสื่อมักถูกลบตัวตนด้วยประโยค “ฉันไม่ได้ชอบผู้ชาย ฉันชอบนายแค่คนเดียว” หรือ “ถ้าเจอคนที่ใช่ เดี๋ยวก็กลับไปชอบ (เพศตรงข้าม) เหมือนเดิม” เสมอมา

         การได้เห็น Heartstopper นำเสนอภาพแทนพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา แม้จะยังไม่ฟันธงว่านิกจะนิยามตัวเองว่าเป็นไบเซ็กชวลหรือไม่ ก็ยังนับว่าเป็นเป็นชัยชนะของชาวไบเซ็กชวลอยู่ดี

เพราะทุกคนคู่ควรกับความรักที่ดี

         แม้จะมีคนที่เข้าอกเข้าใจนิกอย่างทารา ดาร์ซี่ และชาร์ลี่ แต่นิคก็ยังต้องเจอกับอุปสรรคหลายอย่างบนเส้นทางค้นหาตัวตน อย่างการเผชิญหน้ากับเพื่อนเหยียดเพศของตัวเอง จนถึงขั้นมีเรื่องชกต่อยกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ชาร์ลีตีตัวออกห่าง เพราะมองว่าตนเป็นสาเหตุให้นิกต้องเจ็บตัว แต่ในท้ายที่สุดแล้ว นิกผู้ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองก็ได้เปิดตัวกับชาร์ลีว่าตนเป็นไบเซ็กชวล และตะโกนบอกรักชาร์ลีริมทะเล ซึ่งประโยคดังกล่าวไม่เพียงเป็นประโยคบอกรักชาร์ลีเพียงเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการตะโกนบอกโลกว่านิก เนลสันคนนี้พร้อมที่จะยอมรับและเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว

         แต่แล้วเมื่อนิกกลับถึงบ้าน บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยมวลความสุข กลับถูกแทนที่ด้วยภาพห้องครัวที่นิกและ ซาราห์ แม่ของนิก (รับบทโดยโอลิเวีย โคลแมน) กำลังนั่งอยู่ด้วยกัน ที่แม้จะไม่ได้ตึงเครียด แต่ก็ไม่ได้สบายใจ

         ได้เวลาของอีกหนึ่งฉากสำคัญ หรือฉาก เปิดตัวกับครอบครัว

         นิกรวบรวมความกล้า ตัดสินใจบอกกับแม่ว่าตนกำลังคบกับชาร์ลี และการตอบรับของแม่นิก ก็คือสิ่งที่ทำให้คนดูทั่วโลกต้องน้ำตาตกไปพร้อม ๆ กัน เมื่อเธอเข้าไปสวมกอดนิกและบอกกับเขาว่า  “ลูกรัก ขอบใจที่บอกแม่นะลูก แม่ขอโทษ ถ้าแม่เคยทำให้รู้สึกว่าลูกบอกแม่ไม่ได้” แม่ของนิคได้กลายเป็นแม่แห่งชาติขึ้นมาในทันที โดยไม่ต้องใช้ประโยคหวานอมขมกลืนอย่าง “เป็นอะไรก็เป็น ขอให้เป็นคนดีก็พอ” แถมยังมีแฟนคลับบางคนที่ถือโอกาสใช้ฉากนี้ในการเปิดตัวกับครอบครัวของตนเองด้วยเช่นกัน

         บทของแม่นิกที่แม้จะออกมาน้อย แต่กลับมีอิมแพกต์เป็นอย่างมากในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าครอบครัวเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศกล้าที่จะเป็นตัวเองโดยสมบูรณ์ และแม้ในโลกความจริงเราอาจไม่ได้มีแม่นิกเป็นของตัวเอง แต่การได้เห็นภาพครอบครัวที่โอบกอดและบอกรักลูกผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกนำเสนอผ่านหน้าจอ ก็ถือเป็นความหวังและก้าวที่สำคัญของการสร้างความยอมรับภายในครอบครัวต่อไป เป็นการปิดซีรีส์ Heartstopper ในซีซั่นที่ 1 ลงได้อย่างสวยงาม

         Heartstopper ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับซีรีส์ที่นำเสนอความรักและความสัมพันธ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อคนมีความหลากหลายทางเพศขึ้นมา ให้พวกเขาสามารถมองเห็นตัวตน ประสบการณ์ของตัวเองผ่านหน้าสื่อได้มากขึ้น และไปต่อยาวๆ กันอีก 2 ซีซัน

         เพราะแท้จริงแล้วเพศไม่เคยเป็นระบบคิดฐานสอง ทุกเฉดของความหลากหลายคือความเป็นจริงบนโลกใบนี้ และต่อให้ปฏิเสธ เบียดขับ หรือตีตราพวกเขามากแค่ไหน ความจริงและตัวตนของพวกเขาก็จะไม่มีวันถูกลบเลือนหายไปไหนได้อย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ

Erasure of Bisexuality. Glaad.org. สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2565,จาก https://www.glaad.org/bisexual/bierasure

Connie Evans, PA Entertainment Reporter. (เมษายน 15, 2565) Heartstopper creator says she is ‘drawn’ to writing about queer experience. Independent. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565 จาก https://www.independent.ie/entertainment/heartstopper-creator-says-she-is-drawn-to-writing-about-queer-experience-41557709.html

Homophobia. University of Houston. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565 จาก https://uh.edu/lgbtq/resources/_files/homophobia.pdf

Srabani Biswas. (พฤษภาคม 1, 2565) This Nick Nelson Scene From ‘Heartstopper’ Inspired a Fan to Come Out to Her Parents. Netflixjunkie.  สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565 จาก  https://netflixjunkie.com/netflix-news-this-nick-nelson-scene-from-heartstopper-inspired-a-fan-to-come-out-to-her-parents

EMILY GULLA. (เมษายน 22, 2565) Heartstopper fans can’t stop talking about this relatable moment from new Netflix show. Cosmopolitan. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565 จาก https://www.cosmopolitan.com/uk/entertainment/a39794217/heartstopper-fans-obsessed-relatable-moment/

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Netflix Tudum https://www.netflix.com/tudum/heartstopper

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Netflix Canada https://twitter.com/Netflix_CA

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Netflix UK & Ireland https://twitter.com/NetflixUK

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Most https://twitter.com/Most

Writer

อะไรจะดีไปกว่าการแต่งแต้มศิลปะบนเรือนร่าง และสลัดมันฝรั่ง หลังเดินป่า 10 กิโล

Writer

ทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจากกันไป

Writer

ยังไม่เก่ง ก็ไม่เป็นไร สู้คนอื่นไม่ไหว ก็ไม่เป็นไร ถ้าวันนี้เดินไม่ไหว ก็พักเติมพลังให้ตัวเอง แล้วค่อยลุกมาสู้ต่อพรุ่งนี้นะ

Writer

เชื่อมั่น เชื่อใจ ลงมือทำ ตอกย้ำ เชื่อมั่น มั่นใจ

Writer

Your time is limited, so don’t waste it living someone else’s life