หลายครั้งที่เราทุกคนฟังดนตรีด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ฟังเพื่อผ่อนคลาย ฟังเพื่อความบันเทิง ฟังเพื่อการเรียนรู้ และฟังเพื่อรักษาจิตใจ รู้ไหมว่าดนตรีช่วยบำบัดจิตใจ ร่างกาย และรักษาความเจ็บป่วย ด้วยศาสตร์ที่เรียกว่าดนตรีบำบัด
พวกเราสนใจเรื่องดนตรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้การค้นคว้าข้อมูลเรื่องดนตรีเพื่อนำมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกันเป็นเรื่องที่ท้าทาย ดนตรีบำบัด เป็นกระบวนการใช้ดนตรีเพื่อรักษาฟื้นฟูจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การร้อง การเล่นดนตรี ซึมซับเรื่องดนตรีให้กลายเป็นส่วนหนึ่งชีวิต
การซึมซับความงดงามของดนตรีในชีวิตประจำวัน เราสามารถเป็นทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง พวกเราจึงอยากพาทุกคนมารู้จักบุคคลที่อยู่แวดวงดนตรีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้แก่ อาร์มี่–กันตพงศ์ สงวนพร ประธานชมรมดนตรีสากล ขับร้อง และประสานเสียง รุ่นพี่สาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์ และการจัดการนิทรรศการและการประชุม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาคือผู้ที่มีความรู้ด้านดนตรี หลงใหลในการฟังเพลง ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก มาทำความรู้จักรุ่นพี่คนนี้กันเลย
อาร์มี่-กันตพงศ์ สงวนพร
ประธานชมรมดนตรีสากล ขับร้อง และประสานเสียง
รุ่นพี่สาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์ และการจัดการนิทรรศการและการประชุม
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ตัวตนของคนรักดนตรี
การที่เลือกเรียนสาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์ และการจัดการนิทรรศการและการประชุม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทำให้อาร์มี่ได้ทำงานกับผู้คนที่หลากหลาย และยังสะท้อนถึงตัวตนของเขาที่ผูกพันกับเรื่องดนตรีอีกด้วย เพราะในงานอีเว้นท์ทุกงาน มักมีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ อาร์มี่บอกกับพวกเราว่า “ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยเรียน แต่มีความหลงใหลและความชอบ จึงมีการเรียนรู้ด้วยตนเองและพัฒนามาตลอดจนถึงปัจจุบัน” เขายังบอกอีกว่าเป็นคนฟังดนตรีทุกแนว ชอบความหลากหลายของดนตรี ยิ่งฟังดนตรีก็ยิ่งช่วยพัฒนาการร้องเพลงไปพร้อมกันด้วย
ความดึงดูดใจและเสน่ห์ของดนตรี
เมื่อหลงใหลในเสียงเพลง ทุกช่วงจังหวะชีวิตของอาร์มี่จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องเพลงมาโดยตลอด ตั้งแต่เรียนมัธยม จนกระทั่งถึงมหาวิทยาลัย เขายังเลือกเข้าชมดนตรี ขับร้อง และประสานเสียง “ส่วนตัวคิดว่าดนตรีสามารถถ่ายทอดและสื่อสารอารมณ์ที่หลากหลายผ่านตัวโน้ต และเมื่อเราเข้าใจดนตรีมากยิ่งขึ้น เราก็จะสามารถสื่อสารกับผู้รับฟังได้ดีมากยิ่งขึ้น” อาร์มี่บอกเล่าให้เราได้ฟัง
บทบาทประธานชมรมดนตรีสากล ขับร้อง และประสานเสียง
การเข้าชมรมดนตรีสากล ขับร้อง และประสานเสียง ยิ่งทำให้เขาสะสมความรู้ในเรื่องดนตรีมากยิ่งขึ้น พัฒนาด้านการร้องเพลง ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนที่ชอบเหมือนกัน ทำกิจกรรมด้านดนตรีทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ การได้ทำงานด้านดนตรีที่รัก พบเจอผู้คน ทำให้ยิ่งสะสมและพัฒนาความรู้ในเรื่องดนตรี และใช้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาจิตใจ เมื่อเจอเรื่องที่กังวลใจ ดนตรีก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ฟื้นฟูจิตใจ
แบ่งปันมุมมองที่มีต่อดนตรีบำบัด
ประธานชมรมดนตรีสากล ขับร้อง และประสานเสียง แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดนตรีบำบัดว่า “การบำบัดด้วยดนตรีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความพร้อมที่จะรับฟัง ความพร้อมที่จะเปิดใจ ถ้าเราเต็มใจ ดนตรีก็อาจจะช่วยให้ผ่อนคลายได้ ไม่มากก็น้อยแน่นอนครับ”
ตัวของอาร์มี่เองก็ใช้ดนตรีผ่อนคลายตนเองในชีวิตประจำวัน เขาบอกว่า “เมื่อมีความเครียด หรือนอนไม่หลับ ก็มีการใช้ดนตรีบำบัดเข้าช่วย เพื่อลดความเครียดและผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนตัวแนวดนตรี ที่นำมาใช้จะเป็น Rhythms & Blues หรือ R&B, Soul โซล และ Riff and Run”
ลักษณะของเพลงแบบ Rhythms & Blues เป็นแนวเพลงช้า ลึกซึ้ง นุ่มนวล ขับเน้นอารมณ์ ใช้การร้องที่ขับเคลื่อนให้เพลงมีพลัง ส่วนเพลง Soul โซล ก็มีความคล้ายกับ R&B แต่อาจจะมีจังหวะที่สนุกสนานเพิ่มขึ้น
ส่วนลักษณะของการ Riff and Run เป็นการผสมผสานด้านการร้องเพลงไปด้วย ใช้การร้องที่ผ่านตัวโน้ตทุกตัว เป็นการสร้างความผ่อนคลาย การเปล่งเสียง ร้องออกมาจากความรู้สึก อาจจะไม่ตรงโน้ตเหมือนการร้องเพลงประกวด ก็ช่วยสร้างความสบายใจ เหมือนเราได้ปลดปล่อย คลายความกังวลจากทุกอย่าง และสื่อสารด้วยการร้องเพลง ฟังเพลงด้วยใจ ก็อาจเรียกว่าเป็นการบำบัดด้วยดนตรีได้
เพลงและการบำบัดด้วยเสียงดนตรี
เพลงที่ใช้สำหรับดนตรีบำบัดมีหลากหลายแนว เน้นเพลงเพื่อผ่อนคลาย เพลงที่เหมาะมากที่สุด อาจจะเป็นแนวเพลงบรรเลงที่ไม่มีเนื้อร้อง ทั้งนี้กระบวนการการใช้ดนตรีบำบัด หากต้องการทำอย่างถูกต้อง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีบำบัดโดยเฉพาะ ทั้งนี้สามารถหาความรู้เพิ่มเติมจากการศึกษาด้วยตนเองก่อนในเบื้องต้น การบำบัดด้วยเสียงเพลงเริ่มต้นได้ง่าย คือใช้การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นหลัก ฟังดนตรีที่ชื่นชอบ อยู่ในสถานที่ผ่อนคลายอย่างเต็มที่ เพียงเท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ดนตรีบำบัด
ใช้ดนตรีเพื่อความผ่อนคลาย
รุ่นพี่ชมรมดนตรีสากล ขับร้อง และประสานเสียง ยังบอกพวกเราอีกว่า การฟังดนตรีเพื่อรักษาจิตใจให้ผ่อนคลาย ลดความกังวล สามารถทำได้ทุกคน “ดนตรีไม่มีผิดถูก จึงมองว่าสามารถใช้ได้ทุกคน ยกตัวอย่างเช่น การนอนไม่หลับก็สามารถใช้ดนตรีเข้ามาช่วยได้ครับ อยากให้เปิดใจ ปล่อยว่าง และปล่อยใจให้สบายไปกับดนตรี แล้วลองให้เสียงดนตรีเข้ามาโอบกอด และเยียวยาร่างกายและจิตใจของเราครับ”
ดนตรีมีประโยชน์มากมาย ฟังเพื่อความบันเทิง ฟังเพื่อความผ่อนคลาย และฟังเพื่อฟื้นฟูจิตใจ การฟังดนตรีและซึมซับดนตรีจะทำให้ทุกคนมีพลังในการใช้ชีวิต เช่นเดียวกับพวกเราที่มีความหลงใหลในเรื่องดนตรี และอยากจะสื่อสารมุมมองความงดงามของการใช้ดนตรีบำบัดที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นทำได้อย่างง่าย
เพียงแค่พักวางจิตใจด้วยการฟังดนตรีอย่างลึกซึ้งก็ช่วยคลายความไม่สบายใจ เรื่องราวของ อาร์มี่-กันตพงศ์ สงวนพร ประธานชมรมดนตรีสากล ขับร้อง และประสานเสียง รุ่นพี่สาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์ และการจัดการนิทรรศการและการประชุม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีใจรักในดนตรี น่าจะส่งต่อแรงบันดาลใจให้ทุกคนใช้ดนตรีเป็นพลังและช่วยรักษาจิตใจที่เหนื่อยล้าให้กลับมามีความสุขอีกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ อาร์มี่-กันตพงศ์ สงวนพร ประธานชมรมดนตรีสากล ขับร้อง และประสานเสียง รุ่นพี่สาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์ และการจัดการนิทรรศการและการประชุม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com