วิกฤติพลาสติกที่ล้นถึงป่าหิมพานต์ ผลงานสร้างสรรค์ของนภัสสร กุลบุตร

งานออกแบบรณรงค์ลดการใช้ขยะพลาสติกสุดสร้างสรรค์ ด้วยแนวคิดสุดล้ำของนักออกแบบรุ่นใหม่

          ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าจำนวนมากยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกบรรจุสินค้าให้กับลูกค้า นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก มีทั้งคนที่เข้าใจและคนที่ไม่เข้าใจในสถานการณ์ การรณรงค์ปัญหาขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากเป็นเรื่องที่ฉันให้ความสนใจมากเรื่องหนึ่ง

นภัสสร กุลบุตร ศิษย์เก่าสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

          จนเมื่อได้มาเห็นผลงานออกแบบของ นภัสสร กุลบุตร เธอเป็นศิษย์เก่าสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นภัสสรหยิบยกเรื่องราวของขยะพลาสติกที่เป็นมลภาวะอันน่าเป็นห่วงมานำเสนอในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ดึงดูด มีเสน่ห์ความเป็นไทย ด้วยเรื่องราวของป่าหิมพานต์ที่อยู่คู่กับความเชื่อชาวไทยมาช้านาน งานออกแบบชิ้นนี้ทำให้ฉันกลับมามีแรงบันดาลใจที่จะร่วมส่งเสริมแนวคิดการลดขยะพลาสติกอีกครั้ง และด้วยความที่ฉันชอบงานออกแบบงานนี้ จึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์กับตัวผู้ออกแบบทันที

          ในวันสัมภาษณ์ฉันได้แต่งตัวด้วยชุดเดรส สะพายกระเป๋าสาน รองเท้าสาน เป็นการใช้วัสดุธรรมชาติแทนการใช้พลาสติก และแน่นอนว่าเมื่อพบกับ นภัสสร กุลบุตร นักออกแบบสุดสร้างสรรค์เห็นฉันก็ต้องยิ้มออกมาทันที เพราะเธอก็สะพายถุงผ้าที่มองดูแล้วเป็นถุงผ้าคู่ใจมาหลายปี นั่นแสดงให้เห็นว่าเธอมีความคิดที่จะรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกจริง ๆ ไม่ใช่แค่การออกแบบงานสร้างสรรค์เพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว

          ก่อนจะเริ่มต้นการสัมภาษณ์ นภัสสร กุลบุตร ก็ได้นำงานออกแบบ พลาสติกมันล้นมาถึงป่าหิมพานต์ล้าววววฯ! ที่ฉันชื่นชอบมาให้ดูในระยะใกล้ ฉันเห็นผลงานผ่านรูปภาพบนหน้าจอโทรศัพท์เมื่อได้มาสัมผัสผลงานจริง ๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นจนมือสั่น ตัวรูปเล่มของหนังสือที่ออกแบบมาในลักษณะหนังสือข่อยโบราณดึงดูดสายตาฉันเป็นอย่างมาก เธอได้ออกแบบทั้งหมด 3 เล่ม โดยมีความยาวทั้งหมด 16 เมตร ถ้ากางออกมาทั้งจะกลายเป็นงานศิลปะขนาดใหญ่มาก

          นภัสสรได้วาดภาพประกอบทั้งหมดด้วยตัวเธอเอง หนังสือทั้ง 3 เล่มเป็นนิทานแนวความรักและการผจญภัย สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวแฟนตาซี สืบสานจุดประสงค์เดิมของ “ไตรภูมิกถา” ที่ให้มนุษย์ตระหนักถึงผลกรรม โดยประยุกต์แนวคิดนำเสนอในรูปแบบของผลกรรมจากการใช้พลาสติก ใช้ลำดับการอ่านภาพแบบจิตรกรรมไทยประเพณี เป็นแนวทางศิลปะรูปแบบจิตรกรรมไทยร่วมสมัย พร้อมด้วยบทกลอน และคำบรรยายประกอบภาพที่ได้แรงบันดาลใจมาจากไตรภูมิกถาของพญาลิไท

          กลิ่นอายความเป็นไทยยังคงอยู่แม้จะถูกตัดทอนด้วยลักษณะลายเส้นการออกแบบสมัยใหม่ เรื่องราวของนิทานนำเสนอด้วยตัวละครตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่หลงมิติไปยังดินแดนของป่าหิมพานต์ซึ่งเต็มไปด้วยขยะพลาสติกจากโลกในอนาคต วิกฤตขยะพลาสติกถูกนำเสนอในรูปแบบใหม่ที่บรรดาสัตว์วิเศษในดินแดนหิมพานต์ต้องร่วมกันกำจัดออกไปให้สิ้นซาก สอดแทรกด้วยเรื่องของความรักที่ทำให้การอ่านผลงานทั้งหมด 3 เล่ม น่าติดตามจนวางไม่ลงเลย แน่นอนว่าผู้อ่านจะถูกปลูกฝังเรื่องขยะพลาสติกไปโดยไม่รู้ตัว งานชิ้นนี้เหมาะกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กวัยเรียนรู้ที่ต้องการอ่านหนังสือ และผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบการชมผลงานศิลปะที่แฝงกลิ่นอายความเป็นไทยและเรื่องราวของไตรภูมิกถา เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่เธอภูมิใจเป็นอย่างมาก

มุมมองที่มีต่องานศิลปะ

          เปิดประเด็นด้วยมุมมองของ นภัสสร ที่มีต่องานศิลปะ ว่าในความคิดของเธอเห็นว่าศิลปะคืออะไร เพื่อค้นหาว่าทำไมจึงเลือกที่จะออกแบบผลงานศิลปะที่สอดแทรกถึงปัญหามลภาวะพลาสติก “ถ้าพูดถึงงานศิลปะเราจะคิดถึงความสวยงาม การตกแต่งประดับประดาอย่างหนึ่ง จุดประสงค์ในการสร้างงานศิลปะของศิลปินแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งศิลปะหลาย ชิ้นก็ทำมาเพื่อสื่อสารหรือสะท้อนถึงบางสิ่งบางอย่างอยู่แล้ว ซึ่งส่วนมากมันจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา เหตุการณ์ หรือค่านิยมต่าง ๆ ในแต่ละยุคสมัย”

          มุมมองของนักออกแบบรุ่นใหม่อย่างเธอได้ยกให้ศิลปะเป็นตัวแทนของการสื่อสาร เป็นเครื่องมือที่จะช่วยพูดในสิ่งที่เราต้องการ ผ่านผลงานศิลปะที่มีความสวยงาม มีคุณค่าเพื่อที่จะดึงดูดผู้คนจากหลากหลายช่องทางมารับรู้ถึงเรื่องราวที่ต้องการจะพูด นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกที่จะใช้โอกาสนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติก ด้วยการเล่าผ่านภาพ ทว่าสอดแทรกถึงปัญหาอันน่ากังวลใจในสังคม

ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังไม่จบที่คนรุ่นเรา

          นอกจากนี้เธอยังได้พูดถึงมุมมองที่มีต่อปัญหาขยะพลาสติกและสิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วย “เราคิดว่ามันส่งกระทบถึงรุ่นเราและคนรุ่นต่อ ๆ ไปแน่นอน” เธอพูดด้วยความมั่นใจ ไม่มีแม้แต่สีหน้าลังเลสักวินาทีเดียว “หลายคนในยุคนี้โดยเฉพาะคนเจเนอเรชั่นเอ็กซ์มาถึงปัจจุบัน เขาก็สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกัน แต่คิดว่าบางทีหลายคนก็ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยความไม่รู้ตัว หรือด้วยความเอาสะดวกเข้าว่ามากกว่าเพราะอุตสาหกรรม สิ่งอำนวยความสะดวก มันไม่เอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงความรู้จากในห้องเรียนก็ไม่ได้สอนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเลย”

          น้ำเสียงของนภัสสรบ่งบอกถึงความรู้สึกไม่ยินดีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เธอยังเล่าให้ฟังว่าเธอพยายามไม่รับถุงพลาสติกเวลาซื้อของ แม้ว่าวันนั้นจะลืมพกถุงผ้าติดตัวมาด้วยก็ตาม เธอยอมเสียสละที่จะถือของด้วยมือของเธอเอง ในเมื่อความรู้ในห้องเรียนไม่ได้สอนเรื่องราวเกี่ยวกับการรับมือปัญหาขยะพลาสติกเท่าที่ควร เธอจึงเลือกที่จะนำเนื้อหาที่เธอใช้เวลาศึกษารวบรวมมาสร้างสรรค์เป็นผลงานโครงการศิลปะที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้

ป่าหิมพานต์ กับ ปัญหาขยะพลาสติก

          คำว่า “ป่าหิมพานต์” ได้ยินรอบแรกไม่มีทางนึกไปถึงปัญหาขยะพลาสติกแน่นอน ครั้งแรกที่ฉันเห็นหนังสือที่นภัสสรได้ออกแบบ ฉันตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าคนออกแบบคิดอะไรอยู่กันแน่ สองเรื่องนี้มันเชื่อมโยงกันได้อย่างไร นี่จึงเป็นคำถามที่สำคัญมากที่ฉันจะต้องถามในวันนี้

          “เอาจริง ๆ ตอนเริ่มทำงานออกแบบเรื่องนี้ คือสนใจทำสองเรื่องเลย อยากทำเรื่องป่าหิมพานต์เพราะชอบเป็นการส่วนตัว ประจวบเหมาะกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่กำลังรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกอยู่พอดี แล้วเราค่อนข้างอินกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เลยอยากทำเรื่องขยะพลาสติก จึงจับมารวมกัน”

          เหตุผลที่เธอตอบไม่ค่อยมีอะไรซับซ้อนนัก และได้ก่อให้เกิดงานออกแบบที่แสนอัศจรรย์

          เมื่อถามถึงสิ่งที่จุดประกายความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ “จากเมื่อกี้ที่บอกว่าอยากจับสองเรื่องนี้มารวมกัน เราเลยหาความเป็นไปได้จากการค้นคว้า แล้วไปเจอว่าในไตรภูมิกถาทั้งโลกเรามันคือชมพูทวีปที่ครึ่งหนึ่งเป็นแดนมนุษย์ ครึ่งหนึ่งเป็นป่าหิมพานต์ ก็เลยคิดว่าพลาสติกมันใช้เวลาย่อยหลายร้อยปี แล้วถ้าขยะพลาสติกมันล้นแดนมนุษย์มันก็คงล้นไปถึงป่าหิมพานต์เหมือนกันแหละ” ความคิดของเธอเรียกได้ว่าสุดโต่งเลยทีเดียว แต่เมื่อฉันฟังมาถึงตรงนี้ก็เริ่มรู้สึกสนุกไปด้วย จึงอยากจะรู้เกี่ยวกับงานที่สุดล้ำนี้มากขึ้นไปอีก

พลาสติกมันล้นมาถึงป่าหิมพานต์ล้าววววฯ!

          ในเมื่องานชิ้นนี้จงใจสะท้อนปัญหาของขยะพลาสติก แน่นอนว่ามันจะต้องมีการนำเสนอปัญหาในรูปแบบของนิทานที่แปลกใหม่ “งานของเราเป็นนิทานภาพประกอบ มีทั้งหมด 3 เล่ม เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับพลาสติกที่ล้นจากโลกมนุษย์มาสู่ป่าหิมพานต์ ทำให้สัตว์ป่าหิมพานต์กลายร่าง และให้ความรู้เกี่ยวกับพลาสติกแบบเนียน ๆ อ่านง่าย ย่อยง่าย แถมการ์ตูนที่วาดก็คล้ายกับจิตรกรรมไทยประเพณี หรือก็คือภาพที่เห็นบ่อย ๆ ตามกำแพงโบสถ์นั่นแหละ” นภัสสรพูดแล้วหยิบหนังสือเล่มแรกขึ้นมา

          ความยาวของหนังสือที่ถูกพับเป็นชั้น ๆ ทำให้ฉันสงสัยว่าเธอใช้เวลานานขนาดไหนในการวาดภาพทั้งหมดนี้ นิทานเล่มแรกเป็นเรื่องราวของเด็กสาวที่จับพลัดจับผลูหลงมิติไปยังแดนหิมพานต์ ซึ่งเรื่องราวเกิดขึ้นเพราะไปดูการแสดงร้องเพลงของนักร้องที่ตนชอบ แล้วพลาดตกลงไปในแม่น้ำที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก ลอยผ่านหลากหลายประเทศ ระหว่างนั้นก็นำเสนอปัญหาของขยะพลาสติกไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบ การเผาผิดวิธี หรือกระทั่งการผลิตพลาสติกเกินความจำเป็นทำให้เกิดแก๊สพิษ

          หลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้หากไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง ด้วยนิทานที่สุดแสนจะล้ำของนภัสสร ทำให้เราสามารถเข้าใจมันได้ง่ายขึ้นมาก

          ในโลกของป่าหิมพานต์ที่นภัสสรได้นำเสนอนั้น เหล่าสัตว์วิเศษต่างถูกไมโครพลาสติกทำให้ดุร้าย หรือปล่อยควันเสียออกมา เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก อีกทั้งตามผืนดินและแม่น้ำก็ยังเต็มไปด้วยขยะพลาสติก เรียกได้ว่าย่อยยากเสียจนลำบากแดนหิมพานต์กันเลยทีเดียว

          นิทานเล่มที่หนึ่งนี้ตัวเอกได้เจอกันในอีกโลกหนึ่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์รัก ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเพลิดเพลินสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับขยะพลาสติกทั่วไป ทั้งภาพและเนื้อหาที่เธอออกแบบนั้นช่างสมบูรณ์แบบ

          นิทานเล่มที่สองเป็นช่วงที่สนุกมากช่วงหนึ่ง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ตัวเอกท่องเที่ยวและพบเจอสัตว์ประหลาดพลาสติกกลายพันธุ์ เป็นการสอดแทรกความรู้ว่าพลาสติกตัวนี้มาจากเรซิ่นนะ พลาสติกตัวนี้มาจากโฟมนะ พลาสติกตัวนี้มาจากแผ่นฟิล์มนะ เรียกได้ว่าเธอเก็บความอันตรายของขยะพลาสติกได้ครบทุกเม็ดจนคนอ่านต้องตกใจ กำลังเพลิดเพลินอยู่ดี ๆ ก็ซึมซับเนื้อหาเกี่ยวกับพลาสติกไปโดยไม่รู้ตัว แน่นอนว่าฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น

          ด้วยความน่ากลัวของพลาสติกในดินแดนป่าหิมพานต์นั่นเอง ทำให้ตัวเอกของเราตัดสินใจที่จะกลับไปยังโลกเพื่อกอบกู้ปัญหาด้านพลาสติก เป็นฉากสำคัญของเรื่องที่นำพาเข้าสู่เล่มที่สาม ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของนิทานเรื่องนี้

          นิทานเล่มสุดท้ายเป็นเล่มที่คลี่คลายปัญหาทุกอย่างเกี่ยวกับขยะพลาสติก ตัวเอกของนิทานจะนำเสนอวิธีการรับมือกับพลาสติก 7 ขั้นตอนด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนทั่วโลกควรจะรู้ แต่โอกาสที่คนจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ถ้าไม่ได้ค้นคว้าด้วยตัวเองนั้นมีน้อยมาก ทว่าก่อนที่จะนำเสนอวิธีการรับมือ นภัสสรได้นำเสนอเรื่องราวที่น่าหวาดผวาเกี่ยวกับโลกใบนี้ เมื่อตัวเอกได้เดินทางผ่านประเทศต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติกย่อยสลายยาก ป่าที่กลายเป็นแหล่งสะสมพลาสติก แม่น้ำที่ท่วมไปด้วยพลาสติก ทุกอย่างมันดูย่ำแย่ไปหมด ไม่อยากจะคิดเลยว่าหากโลกของเรากลายเป็นเหมือนภาพในนิทานเล่มนี้จะน่ากลัวขนาดไหน

          ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องราวตัวอย่างของแต่ละเล่มเท่านั้น แท้จริงแล้วหนังสือทุกเล่มมีเนื้อหาที่แสนพิเศษอีกหลากหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นกลอนแบบฉบับไทย หรือสัตว์วิเศษในป่าหิมพานต์ที่น่าหลงใหล ดังนั้นทุกคนไม่ควรพลาดเชยชมผลงานนี้เป็นอันขาด

ผลงานที่สร้างสรรค์จากความชื่นชอบเรื่องป่าหิมพานต์

          จินตนาการของนักออกแบบรุ่นใหม่นั้นไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ ผลงานของเธอถูกจัดอยู่ในศิลปะที่น่าจับตามองมากผลงานหนึ่ง สิ่งต่อไปที่ทุกคนน่าจะอยากรู้เหมือนกันกับฉันก็คือความคิดในหัวของนภัสสร ว่าเธอมีความคิดเกี่ยวกับผลงานที่เธอได้ออกแบบไว้อย่างไร

          “ทางนี้ได้มองไว้สองแบบ แบบแรกคือคนในสมัยก่อน แถบอินเดียที่เป็นต้นตำหรับกำเนิดตำนาน น่าจะเข้าใจผิดเมื่อเห็นสัตว์ต่างประเภทที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตรงบริเวณเทือกเขาหิมาลัย แล้วคิดไปเองว่าเป็นสัตว์ป่าและดินแดนอื่นที่ไม่ใช่บนโลกใบนี้” เธอย้ำขณะให้สัมภาษณ์ว่าข้อความเหล่านี้เป็นเพียงการวิเคราะห์ส่วนตัวเท่านั้น

          “อีกแบบที่คิดไว้ก็คืออาจจะมีจริง ๆ เลยก็ได้นะ แบบว่าเป็นอีกมิติหนึ่ง เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่เชื่อเรื่องพวกนี้ แล้วตอนนี้มันก็มีทฤษฎี 11 มิติอยู่ด้วยนะ ลองไปหาอ่านกันดู”

ปัญหาขยะพลาสติกที่คนรุ่นเราไม่ควรมองข้าม

          อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือเรื่องของพลาสติกว่าเธอมีความคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ “ถ้าตอนนี้เอาจริง ๆ มันเลี่ยงได้นะ แต่ไม่ทั้งหมด ตอนนี้กระแสถุงผ้าก็มาแล้ว แก้ว หลอด การนำกลับมาใช้ใหม่ก็มี แต่ของบางชิ้นมันก็มีพลาสติกติดมาเป็นบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว อย่างเช่นโฟมห่อผลไม้ ขวดน้ำพลาสติก ถุงน้ำแข็ง หลอดเจาะกล่องนม คือคิดว่ามันน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นจากการร่วมมือของผู้บริโภค”

          เธอได้ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเป็นอย่างมากเลยทีเดียว “แต่น่าจะติดตรงการแข่งขันทางการตลาดของผู้ขาย รวมถึงเรื่องต้นทุนการผลิตต่าง ๆ เราเลยคิดว่าที่สำคัญกว่าคือการออกกฎหมายการผลิตเกี่ยวกับพลาสติกเลย แต่ก็คงต้องใช้เวลากว่าจะถึงจุดนั้น ในทศวรรษนี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีนะ”

          เธอคิดว่าการทำให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหานี้ควรจะใช้การสื่อสารที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงทุกกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ทุกคนควรมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น ไม่มีใครได้รับข้อยกเว้น ซึ่งสิ่งที่เธอเลือกจะใช้สื่อสารข้อความเหล่านี้ออกไปคือผลงานศิลปะที่เธอสามารถทำได้ดี

แรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่ชอบ

          ไม่ว่าจะเรื่องศิลปะ สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เราชอบ นภัสสรได้ให้ความเห็นว่าแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่ดี “เราต้องการสิ่งที่มาสร้างเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ถ้ามันไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน กลับกันช่วยส่งเสริมให้สังคมส่วนรวมดีขึ้น ก็ขอให้ตั้งใจที่จะทำตามเป้าหมายตัวเองไปนะ แล้วเราจะเจอทางที่ใช่สำหรับเรา เวลาทำอะไรที่เราชอบ มันมีความสุขมาก”

          เธอยิ้มขณะที่พูดประโยคดังกล่าว ฉันมองงาน พลาสติกมันล้นมาถึงป่าหิมพานต์ล้าววววฯ! ทั้ง 3 เล่มในมือของเธอ ก็รู้ได้ทันทีเลยว่าเธอมีความสุขมากขนาดไหนที่สามารถสร้างสรรค์งานนี้ได้สำเร็จถึงฝั่งฝัน

          ก่อนจากกันฉันได้ขอให้นภัสสรฝากข้อความถึงทุกคนที่สนใจในเรื่องราวของเธอ “มาอ่านผลงานหนังสือของเราสิมันน่ารักนะ แถมได้ความรู้ด้วย” เธอทั้งยิ้มทั้งหัวเราะ “ก็อยากให้ช่วย ๆ กันหน่อย ถุงที่เธอถือจากร้านขายของชำหน้าปากซอยใส่ขนมมากินที่บ้านแล้วเอาไปทิ้ง มันใช้เวลาย่อยสลายแค่ 450 ปีเอง” นภัสสรได้ปิดท้ายประโยคด้วยการประชดประชันแบบน่ารัก ๆ

          ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตโลกของเราจะพบเจอกับสถานการณ์ไหน ปัญหาขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากจะหนักขึ้นหรือเบาลงก็ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ แต่การที่ฉันและนภัสสร หรือใครหลายคน เลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก และหันมาร่วมกันรณรงค์ลดการใช้พลาสติกเพื่อรักษาสมดุลโลกจะไม่เปล่าประโยชน์แน่นอน อย่างที่เธอได้พูดไว้ ถ้าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่กลับกันถ้าจะช่วยส่งเสริมให้สังคมและให้คนทุกคนบนโลกนี้มีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็ทำต่อไปแล้วเราจะมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น

          ปล.สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจผลงานนิทาน พลาสติกมันล้นมาถึงป่าหิมพานต์ล้าววววฯ! ของนภัสสร คลิกเข้าไปชมผลงานได้ที่ https://n0a0n7.wixsite.com/website-1

Writer & Photographer

หากหัวใจของเรายังเต้นอยู่ นั่นแปลว่าตัวเรายังต้องเดินไปข้างหน้า วันไหนเหนื่อยก็แค่หยุดพัก ท้อได้แต่ต้องไม่ถอย ธรรมชาติยังไม่หยุดทำหน้าที่ของมัน ตัวเราเองก็ต้องสู้ต่อไปเหมือนกัน