Tech Tomorrow งานสุดว้าวของคนชอบเรื่องเทคโนโลยี

พาท่องงาน Tech Tomorrow เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ให้ทันกระแสโลกยุคดิจิทัล

            ปัจจุบันเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องสำคัญมาก จนเรียกได้ว่าได้หลอมรวมเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม ด้านการสื่อสาร ด้านการทำงาน หรืออื่น ๆ อีกมากมาย

            ในฐานะที่เป็นชาวบียูรู้สึกตื้นเต้นทุกครั้งที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพของเราจัดอีเว้นท์ว้าว ๆ อย่างเช่นงาน Tech Tomorrow ที่เพิ่งจัดขึ้นไม่นานมานี้ เพราะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำเรื่องวิชาการด้านเทคโนโลยีมาผสมผสานกับความสนุก ความมัน นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวสาขาใหม่ของมหาวิทยาลัย นั่นคือ สาขาเกี่ยวกับ Cybersecurity และ Data Science (วิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และวิทยาการข้อมูล) ของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมและสาขา AI (วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูล) ของคณะวิศกรรมศาสตร์ ซึ่งยังมีสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์อีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยของเราไม่เคยตกเทรนด์เลยจริง ๆ

            นอกจากเราจะได้รู้จักสาขาใหม่ ๆ ว้าว ๆ ของมหาวิทยาลัยแล้ว ในงานยังได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่คุณไม่สามารถหาจากที่ไหนได้ แต่สาขาที่เปิดใหม่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพมีให้ได้ ทั้งเนื้อหาที่ทันสมัย ผู้สอนที่มีความรู้และมีความสามารถเฉพาะด้าน ที่สำคัญคือมีอุปกรณ์ที่ครบครันพร้อมใช้ในการศึกษาอย่างเต็มประสิทธิภาพเหมือนอย่างที่ทางคณะขนมาโชว์ในงานนี้

            ทั้งนี้ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล ประธานกองทุน ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล และรองอธิการบดีอาวุโสด้านกิจกรรมภายนอก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทุนทรัพย์ในการจัดงานได้ให้เกียรติมาเปิดงานในครั้งนี้ด้วย และหลังจากที่ท่านได้กล่าวเปิดงานจบแล้ว ท่านยังฝากบอกทุกคนอีกว่า อยากให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าว่าเรานั้นคือเพชร คือสิ่งมีค่า อย่าดูถูกตัวเอง อย่าดับความฝันตัวเอง และอย่าเลิกฝัน สิ่งที่สำคัญคือ “เราอย่าเก่งคนเดียว” เพราะทุกอย่างคือการแบ่งปันและการต่อยอดเหมือนงาน Tech Tomorrow ที่ตั้งใจถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียนระดับมัธยมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของงาน

            ภายในงานมีบูธกิจกรรมของเด็กมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม สาขาวิชาวิทยาการจัดการคอมพิวเตอร์ ที่ได้นำเกมซึ่งสร้างจากฝีมือของนักศึกษามาให้ได้ลองเล่นภายในงานและเป็นเกมที่ได้ลง Play Store เป็นที่เรียบร้อย และจุดเด่นของเกมคือ Creativity ทั้งการวางคอนเซ็ปต์ งานดีไซน์ ทักษะการเล่าเรื่อง และวิธีการนำเสนอผลงานเกมให้มีความโดดเด่นมากที่สุด

            และยังมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ ที่ได้นำหุ่นยนต์มาโชว์ในงาน 3 ประเภท ทั้งหุ่นยนต์ที่เราสามารถให้เคลื่อนที่เข้าไปในที่ที่คนเราเข้าไม่ถึงได้ หุ่นยนต์ที่สามารถเสิร์ฟอาหารได้ และหุ่นยนต์ที่สามารถประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ เราไปรู้จักประเภทแรกกันเลยดีกว่า

            ประเภทที่ 1 เป็นการเรียนรู้พื้นฐาน คือ ตัวเทอเทิลบอท (TurtleBot) เป็นตัวที่เรียนรู้จากการทำงานซ้ำ ๆ ด้วยระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มีเซนเซอร์ในตัวเพื่อให้เรียนรู้ว่ามีอะไรกีดขวางบ้าง เช่น การมองเห็นด้วยกล้อง มีการเคลื่อนที่ด้วยตัวเอง และถ้าเจอสิ่งกีดขวางมันก็จะ Learning ที่จะหลบเลี่ยง

            ด้วยตัวมันเอง ความพิเศษของหุ่นยนต์ตัวนี้คือ สามารถใช้เข้าไปในที่ที่เราไม่สามารถเข้าไปได้

            ประเภทที่ 2 เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถเสิร์ฟอาหารได้ชื่อว่า ไชโย ตัวนี้เคยใช้ในร้านสุกี้ MK มีราคาค่อนข้างสูงเพราะสามารถทักทายลูกค้า รับออเดอร์ และยังรินเบียร์โดยให้มีฟองเบียร์ขนาดประมาณ 1 นิ้วตามมาตรฐานได้ด้วย

            ประเภทที่ 3 เป็นหุ่นยนต์มีลักษณะรูปแขนกลของหุ่นยนต์ นั่นคือ ตัวโคบอท ตัวนี้สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ เวลาทำงานมันจะทำตามที่เราลงโปรแกรมหรือลงข้อมูล เมื่อเรารันคำสั่งเรียบร้อยแล้ว หุ่นยนต์ก็จะทำตามแผนที่เราลงโปรแกรมไว้ ข้อดีของหุ่นยนต์ตัวนี้คือ ถ้ามาโดนตัวเรา มันจะหยุดทำงานทันทีและจะทำให้เราปลอดภัย

            นอกจากมีบูธของมหาวิทยาลัยกรุงเทพแล้ว ยังมีคลาสเรียนมาสอนให้เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมงานได้รู้จักระบบเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Cybersecurity, Data Science หรือ AI จากวิทยากรมากความสามารถ

1. Cybersecurity โดย พี่ต้อม-เจษฎา ทองก้านเหลือง ผู้จัดการฝ่ายความมั่นคงปลอดภัย บริษัท T-NET

            เป็นการสอนเกี่ยวกับการวางระบบคอมพิวเตอร์ป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันให้องค์กรปราศจากความเสี่ยงหรือความเสียหายจากภัยคุกคามทางโลกดิจิทัลซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น ไวรัสที่ทำให้ข้อมูลในคอมพิวเตอร์สูญหายจนคอมพิวเตอร์ไม่สามารถใช้งานได้ หรือปัจจุบันที่มีผู้คนและองค์กรต่าง ๆ โดนแฮกบ่อย ๆ จนสามารถสวมรอยเอาข้อมูลไปกระทำความผิดทางฉ้อโกง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องมีความตระหนักและระมัดระวังในการใช้งานคอมพิวเตอร์มากขึ้น

2. Data Science โดย พี่บูม-รัตนากร ตั้งพุทธรักษ์ CEO บริษัท Officiency

            Data Science เป็นศาสตร์ของคนยุคนี้ที่ทุกคนต้องรู้ เพราะเป็นการนำข้อมูลมาค้นหาสิ่งที่เหมาะสมกับมนุษย์มากขึ้น นอกจากนี้ยังสอนให้เราระมัดระวังตัวในการใช้คอมพิวเตอร์ด้วย เพราะนั่นเป็นการสร้าง Data Digital Footprint หรือการทิ้งร่องรอยเอาไว้ แล้วในอนาคตร่องรอยที่เราทิ้งไว้ก็อาจกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเราได้

3. AI โดย พี่โอ๊ค-กฤษฎา เฉลิมสุข นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย

            บทเรียนที่ทำให้ทุกคนเข้าใจได้ดีว่า AI คือศาสตร์ที่สามารถทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้เองอย่างชาญฉลาด เพื่อฝึกให้ AI คิดแทนมนุษย์ให้ได้มากที่สุด

            เราได้เรียนรู้เรื่องราวเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ไปแล้ว สุดท้ายนี้เราจะพาไปดูการทำ content บนช่องทางออนไลน์กันดีกว่าว่า เขาจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำ content อย่างไรบ้าง

พี่สิงห์ หรือ YouTuber เจ้าของช่องที่มีชื่อว่า “เถื่อน Travel”

            เราได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์พี่สิงห์ เถื่อน Travel เกี่ยวกับหัวข้อที่ว่า “เทคโนโลยีนั้นมีส่วนสำคัญอย่างไรในการทำ content ของช่องเถื่อน Travel ”

            พี่สิงห์บอกเราว่า “อย่างแรกเลยมันคือการลดต้นทุน เพราะวงการสื่อมีคนติดตามน้อยลงจนต้องปิดตัว อย่างที่เห็นชัด คือนิตยสารต่าง ๆ ที่อยู่มานานเป็น 30 หรือ 40 ปี ก็ยังทยอยปิดตัวไปเรื่อย ๆ เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเสพและการผลิตด้วยซึ่งวงการทีวีก็ไม่ต่างกัน”

            “ดังนั้นเรื่องของเทคโนโลยีในการถ่ายทำจะช่วยได้มากในการลดต้นทุน ถ้าใครเคยดูเถื่อน Travel ก็จะรู้ว่าเป็นการถ่ายทำคนเดียว แล้วสิ่งที่อนุญาตให้ถ่ายทำก็คืออุปกรณ์ที่มันมีคุณภาพที่ดีขึ้นและมีขนาดเล็กลง และอย่างสุดท้ายคือการหาข้อมูล ทั้งข้อมูลในเชิงการจัดการ การบริหารการเดินทาง การติดต่อคนอื่น ๆ แล้วข้อมูลในเชิงรีเสิร์ช ซึ่งทุกคนจะรู้ว่าค้นใน Google ก็เจอ”

            นั่นคือตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานของพี่สิงห์ เถื่อน Travel

            นอกจากนี้ในงานยังมี YouTuber คนดังขึ้นมาให้ความรู้และแนวคิดต่าง ๆ ให้กับผู้ที่เข้าชมอีกมากมาย บอกได้เลยว่าใครไม่ได้มางานนี้ถือว่าพลาดสุด ๆ

            เราคงเห็นแล้วว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญต่อมนุษย์มาก  แต่เราจะนำมันมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ ชาญฉลาด และคุ้มค่าให้มากที่สุด เพื่อทำให้ทั้งตัวเรา องค์กร หรือแม้แต่ประเทศชาติก้าวหน้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นั่นก็คือการมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และรู้เท่าทันเทคโนโลยีอย่างที่งาน Tech Tomorrow มุ่งหวังนั่นเอง

Writer

ชีวิตก็เหมือนกล้องถ่ายรูป โฟกัสเฉพาะจุดที่สำคัญแล้วเราจะได้ภาพที่สมบูรณ์เอง

Writer

เป็นคนชอบถ่ายรูป เพราะการถ่ายภาพทำให้เราผ่อนคลาย และเป็นงานอดิเรกที่สามารถเยียวยาจิตใจ

Photograph

ศิลปะก็คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ที่เหลือก็อยู่ที่คุณเอง จะมองเห็นหรือเปล่า

Photograph

ทุกการผิดพลาด จะกลายเป็นแรงผลักดันให้เรายิ่งใหญ่