หากพูดถึงคำว่า เอ๊ะ หลายคนคงนึกถึงความสงสัยหรือความฉงนใจ ตลอดไปถึงการแสดงอารมณ์หรือแม้กระทั่งคำอุทาน แต่คำว่าเอ๊ะตามความหมายพจนานุกรมแล้ว คือคำที่เปล่งออกมาแสดงความฉงน ไม่เข้าใจหรือความไม่พอใจ
เราจะมาทำความรู้จักกับกิจกรรมเฉพาะกิจ โครงการเด็กเอ๊ะ เจาะลึกถึงตัวโครงการผ่านตัวตนของเด็กเอ๊ะทั้งสองคน ปัณณ์-ปัณณ์ เล้าวัชระ รุ่นพี่สาขาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่พ่วงมาด้วยตำแหน่ง LD หรือ Learning designer สุดคูล และอีกหนึ่งคน สาวสวย หมวย ตาสระอิ เมย์นิว-รวิกานต์ องค์พลานุพัฒน์ รุ่นพี่คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เป็นตัวแทนการประสานงานของอาจารย์และเพื่อนทุกคนคอยอัพเดตทุกความเคลื่อนไหวให้เข้าใจตรงกัน
ปัณณ์-ปัณณ์ เล้าวัชระ นักศึกษาสาขาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
โครงการเด็กเอ๊ะ เอ๊ะไปทำไม
มาเริ่มกันที่ ปัณณ์-ปัณณ์ เล้าวัชระ ปัณณ์บอกเล่ามุมมองความหมายของคำว่า “เด็กเอ๊ะ” ได้อย่างน่าสนใจว่า “เด็กเอ๊ะ คือเด็กที่มีสติต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ตามชื่อเลยครับ เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ เกิดไรขึ้นคุณเอ๊ะไว้ก่อน ผลง่าย ๆ แค่พนักงานเซเว่นทอนเงินมาแล้วคุณเอ๊ะว่าเขาทอนถูกรึเปล่า แค่นั้นก็คือเอ๊ะ”
“เอ๊ะ ในความหมายนี้ก็คือคำว่าสติ ก็คือโครงการที่สร้างเด็กที่มีสติ มีสติกับเรื่องอะไร มีสติเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ถูกต้อง มีสติกับเรื่องที่มันควรจะเป็นอีกอย่างนึง”
ปัณณ์ยังยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น “ถามว่าทุกวันนี้การที่เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ ในชีวิตประจำวัน มีสักกี่ครั้งที่คุณรู้สึกตัวว่าตอนนี้คุณหายใจอยู่นะ ตอนนี้หายใจเข้านะ ตอนนี้หายใจออกนะ ตอนนี้กำลังเดินอยู่ ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่หรือกิจวัตรนั้น ๆ เป็นแค่เพียงความเคยชินที่คุณใช้ทุกวัน คุณเคยชินกับการที่คนทอนเงินมาคุณก็รับ เก็บใส่กระเป๋า มันก็คือความเคยชิน เอ๊ะที่ว่านี้มันเป็นสิ่งที่จะมาเปลี่ยนความเคยชินของคุณ”
เพราะความเอ๊ะเท่ากับสติ ยิ่งฝึกมากก็จะยิ่งมีสติมาก
ถ้าถามถึงความเป็นเด็กเอ๊ะที่มีอยู่ในตัวตนของคนเรา ปัณณ์บอกว่าไม่สามารถที่จะวัดได้ว่าเรามีมากน้อยแค่ไหน เพราะยิ่งเราฝึกมากก็จะมีมาก ถ้าฝึกน้อยก็มีน้อย “จริง ๆ ทุกคนมีความเป็นเด็กเอ๊ะอยู่ แต่เอ๊ะมากหรือเอ๊ะน้อยแค่นั้น เราก็เป็นคนเอ๊ะพอสมควร เราเป็นคนที่พยายามใช้ชีวิต นี่ใช้คำว่าพยายาม เรียกได้ว่าไม่มีทางที่จะมีสติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในทุกวัน เพราะว่ามันก็เป็นการฝึก เอาเป็นว่าเราต้องมีสติให้ได้บ่อย เท่าที่เราจะทำได้อย่างนั้นมากกว่า ฉะนั้นถ้าให้มองตัวเราเองเนี่ยมันวัดไม่ได้ มันไม่ใช่ที่อะไรวัดได้ เพราะว่าความเอ๊ะเท่ากับสติ สติคือทักษะนึง คือ Life Skill คือทักษะการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง ทักษะอย่างที่บอกว่ามันมีได้ แล้วมันก็หายไปได้ ฉะนั้นอยู่ที่คุณว่าวันนั้นหรือในช่วงนั้น คุณฝึกมันมากน้อยแค่ไหนคุณก็จะมีมันมากเท่านั้น”
ความเอ๊ะนั้นสร้างกันได้ สิ่งสำคัญคือต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ รู้ตัวบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ “สมมติว่าตัดสินว่าคนนี้มีสติจัดเลย ทำอะไรถูกไปหมดเลย แต่ว่าสุดท้ายแล้วถ้าเขาไม่ได้กลับไปฝึกฝนต่อ เขาไม่ได้กลับไปทบทวน มันก็เหมือนการบ้านคณิตศาสตร์ที่ลืมทั้งที่มันเป็นการบ้านป.3”
นักออกแบบกระบวนการ
ด้วยความที่ปัณณ์เป็นเด็กที่มีความสามารถและมีผลงานที่โดดเด่น และยังจบจากโรงเรียนปัญญาประทีป โรงเรียนวิถีพุทธที่บ่มเพาะตัวตนและวิธีการคิดให้มีสติในการใช้ชีวิต ทีมอาจารย์ได้เล็งเห็นความเป็น LD จึงชักชวนให้มาเข้าร่วมเป็น LD ในโครงการเด็กเอ๊ะและปัณณ์ยังเคยผ่านการคัดเลือกให้ได้รับทุนของ BUCA TALENT ของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อีกด้วย
“ผมเคยเรียนเกี่ยวกับศาสตร์ภายในมาหลายศาสตร์ หนึ่งในนั้นก็คือศาสตร์ที่ชื่อว่า Facilitator ภาษาไทยก็คือกระบวนกร กระบวนกรก็คือผู้นำกระบวนการนั่นเอง กระบวนกรต่างกับนักกิจกรรมยังไง กระบวนกรเชื่อว่าองค์ความรู้มีอยู่ในตัวทุกคน สิ่งที่จะต้องเอาองค์ความรู้ออกมาก็คือประสบการณ์ ฉะนั้นกระบวนกรจะสร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมทุกคนรวมถึงตัวกระบวนกรเองด้วยผ่านประสบการณ์แล้วก็ได้องค์ความรู้”
ความสนุกของการเป็นกระบวนกรคือการได้ถ่ายทอดวิธีการเรียนรู้ “กระบวนกร คือ ฉันไม่มีความรู้อะไรให้นะ ฉันมีวิธีให้ ฉะนั้นหนึ่งคนผ่านหนึ่งกิจกรรมจะได้หนึ่งองค์ความรู้ สองคนผ่านสองกิจกรรมอาจจะได้หนึ่งหรือได้สอง สิบคนผ่านหนึ่งกิจกรรม ถ้าได้สิบเอามาแชร์กันทุกคนต่างจะได้องค์ความรู้ที่ทุกคนสร้างร่วมกัน เท่ากับว่าองค์ความรู้ไม่ได้มีอยู่ข้างนอกแต่มีอยู่ในเรา แค่รอเวลาที่ประสบการณ์ดึงมันออกมาใช้”
“นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมถึงได้เป็น LD เพราะเคยเรียนกระบวนกรมา เขามาชวนว่ามีโครงการ LD อยู่นะ สนใจไหมเพราะว่า LD มันก็คือ Learning designer มันก็คือนักออกแบบกระบวนการ ซึ่งมันก็ตรงดีกับกระบวนกร แล้วมันก็เป็นศาสตร์ใหม่ที่ม.กรุงเทพใช้กันน้อย”
สานฝันไปให้ถึงเป้าหมาย ก็ไม่ได้มีแค่ทางเดียว
ถามว่าทำไมปัณณ์ถึงเลือกที่จะเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อสารแบรนด์ “เราเป็นคนที่ดูหนังแฟนซีตั้งแต่เด็กแล้ว มันก็มีสัตว์ประหลาดมีอะไรอย่างนี้ ซึ่งเราก็กลัวไปประมาณ 6 ปีเราถึงจะดูหนังเรื่องนั้นจบ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าสื่อมีอำนาจ เน้นที่คำว่าอำนาจ เรารู้สึกว่าสิ่งที่อยู่เหนือเงินคืออำนาจแต่ว่าวิธีใช้อำนาจมันก็มีวิธีใช้ที่แบบเหมือนดาบสองคมที่ใช้ในทางที่ดีก็ได้ในทางที่ไม่ดีก็ได้ แล้วเราจะเป็นคนที่ใช้มันในทางที่ดี เรารู้สึกว่ามันอิมแพคกับเรา ก็เลยอยากทำหนังและอยากเรียนนิเทศมาตั้งแต่ตอนนั้น”
จากความสนใจในเรื่องการสื่อสาร ทำให้ปัณณ์มองว่า ภาพยนตร์คือการสื่อสารที่มีความเป็นศิลปะ “ผมมองว่าหนังเป็นงานศิลปะอีกอย่างหนึ่ง งานศิลปะคือการสื่อสาร หนังก็เป็นการสื่อสารอีกอย่างหนึ่ง สมัยนี้มันกลายเป็นทุนนิยมไปเสียส่วนใหญ่ เลยไม่อยากเป็นผู้กำกับ แต่ผมอยากจะใช้สื่อในทางที่ดี ซึ่งการที่จะเดินไปถึงเป้าหมายไม่ได้จำเป็นที่จะต้องมีแค่ทางเดียวก็เลยคิดว่าเป็นอย่างนี้ก็ได้ อยากจะทำสื่ออีกในระดับที่เงินทุนน้อยกว่า แล้วก็ในระดับที่เราทำได้ ใครก็ทำได้ก็เลยเลือกที่จะเป็น Youtuber”
สนใจเรื่องภาพยนตร์ แล้วทำไมเรียนแบรนด์ เราเอ๊ะด้วยความสงสัย “ที่เลือกสื่อสารแบรนด์เพราะแบรนด์มันเป็นจุดเริ่มต้นและพื้นฐานของทุกอย่าง พอเรียนแบรนด์มันเอาไปต่อยอดได้ทุกอย่าง แบรนด์เป็นสิ่งที่ใช่ เรารู้สึกว่าด้วยความที่เรายังไม่ได้ชัดเจนด้วย เราอยากเป็นนักโฆษณา เราอยากเป็นนักประชาสัมพันธ์ ก็เลยรู้สึกว่าแบรนด์ตอบโจทย์ที่สุดแล้วมันสร้างตัวตนของเรา ตอบโจทย์กับ Youtube”
เมื่อวานให้กลายเป็นเราในวันนี้
ปัณณ์เล่าว่าโรงเรียนและค่ายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ปัณณ์ กลายเป็นปัณณ์ในวันนี้ เพราะโรงเรียนปัญญาประทีปเป็นโรงเรียนวิถีพุทธที่จะนำหลักสูตรของพุทธมาสอดแทรกในทุกกิจกรรมของโรงเรียน
“โรงเรียนปัญญาประทีปจะนำร่องด้วยพุทธเป็นแกนหลักเลย ถ้าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งก็จะต้องทำจากพุทธ เอาพุทธไปเชื่อมโยงก็คือมีเบสหลักเป็นพุทธไม่ใช่แค่การเรียน การใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกัน กิจกรรมกลุ่มก็จะเป็นพุทธหมดเลย”
ปัณณ์บอกอีกว่า “หลายคนอาจจะมองพุทธว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เป็นศาสนาเป็นเรื่องที่ไม่อยากเข้าถึง ถ้าบอกว่าให้นั่งสมาธิ เราก็ไม่อยาก ความเป็นพุทธอยู่ในทุกอณูของชีวิต แค่เราไม่ได้หยิบมันขึ้นมาเรียนรู้ เช่น การอ่านหนังสือ ถามว่าทำไมคุณอ่านหนังสือนานแต่คุณไม่เข้าใจแต่บางคนอ่านหนังสือสั้นกลับเข้าใจ ซึ่งบางทีมันก็จะตอบโจทย์กับสติและสมาธิ คือบางทีคุณอ่าน อ่านไปเถอะแต่คุณไม่มีสติ ไม่มีสมาธิกับการจดจ่อ”
สติเป็นสิ่งที่ปัณณ์พูดถึงบ่อยมาก “สติคือการอยู่กับปัจจุบัน ถ้าคุณกำลังจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่คุณเหม่อลอยไปที่อื่น คุณอ่านไปให้ตายคุณก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าเกิดคุณอ่านด้วยเวลาสั้นแป๊บเดียว แต่คุณจดจ่ออยู่กับมันตลอดเวลาคุณจะเข้าใจ ศาสนาพุทธที่แท้จริง มันเหมือนเป็นแก่นของศาสนาพุทธ มันไม่ใช่ว่าการทำสมาธิคุณต้องนั่งสมาธิเท่านั้น คุณนั่งเฉย ๆ คุณก็ทำสมาธิได้ คุณลืมตาคุณก็ทำสมาธิได้”
ปัญญาคือประทีปนำทางชีวิต
การมีปัญญาคือการมีความรอบรู้ “ปัญญาประทีปหล่อหลอมเราเป็นแบบนี้ รู้สึกว่าพอมันเป็นเนื้อเป็นตัว เราอยู่โรงเรียนประจำด้วย พอได้ทำทุกวัน คือทักษะทุกอย่างต้องผ่านการฝึกฝนและทำซ้ำไม่ใช่แค่การเรียนแล้วก็จด แล้วก็หายไปแล้วก็สอบ คือสอบ สอบได้แต่อย่าลืมว่าทักษะมีขึ้นก็หายไปได้ ฉะนั้นการฝึกฝนจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทักษะอยู่ตลอด อย่างเช่น คุณเล่นกีฬา เล่นแบดมินตันเหมือนกัน โรงเรียนอื่นอาจจะแค่สอนให้เด็กเล่นแบด แล้วก็สอบแล้วมันก็ลืมหายไป แต่ปัญญาประทีปคือชวนเด็กเล่นแบดทุกวัน”
ปัณณ์เป็นเด็กที่ไม่ค่อยชอบอยู่บ้าน แม่มักจะส่งไปเข้าค่ายบ่อย ซึ่งค่ายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมให้ได้พบเจอเพื่อนใหม่ และกล้าเผชิญโลกมากขึ้น “ค่ายคือการที่เราได้รู้จักคนใหม่ ๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ ได้พบกัน ได้รู้จัก บอกลา แบบ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วยิ่งคนเยอะ ปัญหายิ่งเยอะ การเรียนรู้ก็ยิ่งเยอะ เราเคยได้รับรู้เรื่องราวนู่นนี่นั่นจากคนเหล่านี้แหละ”
ยิ่งออกไปเจอประสบการณ์ยิ่งได้เรียนรู้ “ถามว่าทำไมการท่องเที่ยวถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุด เนื่องจากเราได้ไปเห็นสังคมใหม่ วัฒนธรรมใหม่ การได้เจอเพื่อนใหม่ก็เท่ากับได้รู้จักวัฒนธรรมใหม่เหมือนกัน ซึ่งค่ายก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นแบบนี้ มันทำให้เรากล้าเผชิญโลกมากขึ้น”
แต่อีกด้านหนึ่งของการพบเจอก็ต้องมีการพลัดพราก ปัณณ์เผยความในใจอีกว่า “การที่เราเจอเพื่อนแล้วต้องจากกับเพื่อน เสียใจมากตอนต้องจากกับเพื่อนที่รู้จักมาห้าวัน มีช่วงหนึ่งทำให้เรารู้สึกไม่อยากรู้จักกับใครเลย จะได้ไม่ต้องจาก แต่พอเวลาผ่านไปก็ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันเจอก็ใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด ถ้าปัจจุบันจะต้องจากก็ยอมรับมัน”
เพราะชีวิตคือการเรียนรู้และอยู่อย่างสมดุล
ปัณณ์ได้บอกกับว่าไม่เคยได้บอกหลักการในการใช้ชีวิตกับใครเลย แต่มักจะยึดมั่นหลักการนี้ไว้ในใจเสมอนั่นก็คือ ความสมดุล และการเรียนรู้จากการพูดคุยกับคน
“ความสมดุล คือไม่มีอะไรถูกต้องสมบูรณ์เสมอไปและสิ่งที่ผิดพลาดเราต้องเรียนรู้เพียงแต่ต้องรักษาความสมดุลให้มันอยู่ตรงกลางไว้ให้ได้ อย่างเช่นสุภาษิตที่ว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก มีไรให้รีบ ๆ ไว้ก่อน แต่อีกสำนวนสุภาษิตที่บอกว่า ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม ไม่รู้ชิวไว้ก่อน ถามว่าอันไหนถูกอันไหนผิด ไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่มันอยู่ที่สถานการณ์ ซึ่งผมก็นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเสมอ”
ส่วนการคุยกับคนก็เป็นการเรียนรู้ “คุยกับคนเยอะมากช่วงนี้ คุยกับคนที่หลากหลายทางทุกอย่างเลย เพศ ศาสนา ความคิด อาชีพ อายุ ทุกอย่างเลย สัญชาติด้วย เรารู้สึกว่าการคุยกับคนเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและได้เรียนรู้จากตัวเขาด้วย”
เอ๊ะ ให้รู้ เอ๊ะ ให้มีสติ
เพราะการมีสติและอยู่กับปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราควรโฟกัสแต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมองตัวเองให้ออกว่า ณ ตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ “อยากให้เข้าใจว่าไม่ได้จำเป็นว่าทุกคนจบออกมาจะต้องมีสติแล้วต้องรักษาศีล 5 แค่คำว่าสติไม่ใช่สิ่งที่แบบว่าจะต้องควบคุมตัวเองให้อยู่ในความดีเสมอไป แต่คำว่าสติเท่ากับคำว่ารู้ตัว ถ้าคุณกินเหล้าเท่ากับคุณไม่มีสติเหรอ อืม ก็เท่ากับไม่มีสติได้ แต่อย่างน้อยคุณต้องรู้ว่าคุณกินเพื่ออะไร มันไม่จำเป็นจะต้องบอกว่ากินเพื่อศึกษาแอลกอฮอล์ว่ามันอย่างนู้นอย่างงี้ แต่ถ้าคุณรู้ว่าเนี่ยกินเพื่อสังสรรค์นะ กินแล้วสนุก ก็แค่นั้นเลย”
เอ๊ะทำให้เรารู้จักชีวิต รู้จักความทุกข์ “ถ้าคุณทุกข์ไม่จำเป็นจะต้องทำยังไงเพื่อที่จะหายทุกข์ได้ คุณแค่รู้ว่าคุณทุกข์ ตอนนี้ทุกข์อยู่นะโอเคจบ เพราะว่าหลายคนจะไม่รู้ตัว แล้วก็จมดิ่งอยู่กับมัน แค่คุณรู้ไม่ต้องไปห้ามมันด้วย ถ้าคุณสุขคุณก็จะรู้ว่าสุข จุดประสงค์ที่ให้เรารู้ตัวเองเพราะเพื่ออะไร เพื่อที่ในอนาคต พอเรารู้จักตัวเองเราจะมองตัวเองได้ อันนี้คือจุดประสงค์ของโครงการเด็กเอ๊ะ”
จุดเริ่มต้นของเด็กที่มีสติ
ก่อนจบบทสนทนาที่เต็มไปด้วยการชวนให้ฉุกคิด ปัณณ์ฝากบอกว่า “เด็กเอ๊ะจะทำให้คุณมีสติมากขึ้น ใช้คำว่ารู้ตัวตัวมากขึ้นดีกว่า แต่ไม่ใช่ว่าคุณพูดว่าเข้ามาแล้วไม่เห็นได้อะไรแต่คุณต้องถามตัวคุณเองก่อนว่าคุณอยากได้รึเปล่า แต่ถ้าคุณไม่อยากได้ เข้ามาให้ตายก็ไม่ได้ เราจะไม่ยัดเยียดนะแต่เราจะให้คุณเรียนรู้ด้วยตัวเอง ฝึกด้วยตัวคุณเอง ถามว่าคุณอยากเรียนไหม คุณอยากพัฒนาอะไร คุณมาบอกได้ในโครงการเด็กเอ๊ะ ฉะนั้นถ้าคุณอยากพัฒนา แล้วอยากด้วยตัวของคุณเองเข้ามาเถอะ เรายินดีต้อนรับเสมอ”
เมย์นิว-รวิกานต์ องค์พลานุพัฒน์ นักศึกษาคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ
การเอ๊ะทำให้เราได้เรียนรู้
มาต่อกันที่ เมย์นิว-รวิกานต์ องค์พลานุพัฒน์ หนึ่งในสมาชิกโครงการเด็กเอ๊ะ ความเอ๊ะในมุมมองของเมย์นิวคืออะไร ความเอ๊ะเอามาใช้กับเรื่องการเรียนรู้ได้อย่างไรบ้าง “การเอ๊ะทำให้เด็กได้แสดงศักยภาพ การเรียนรู้แบบเด็กเอ๊ะ เป็นโครงการที่ความรู้ที่ไม่ได้มาจากการเรียนอย่างเดียว แต่ให้ผู้เรียนได้ลองทำ ได้มีประสบการณ์ ลงมือทำ และถอดบทเรียนจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน”
นิยามของคำว่าเด็กเอ๊ะ
เมื่อถามถึงคำนิยามของคำว่าเด็กเอ๊ะในความหมายของเมย์นิวคือ “เด็กเอ๊ะ เป็นเหมือนเยาวชนคนดีที่จะพร้อมพัฒนาทั้งมหาวิทยาลัยและตัวเอง ทำงานร่วมกับคนรอบข้าง แล้วก็อาจจะไปถึงระดับประเทศเลย คือมีทุกอย่างที่เยาวชนควรมี มุ่งเน้น คือจิตใจที่ดีงาม ชอบช่วยเหลือคนอื่น นี่คือสิ่งที่เด็กเอ๊ะต้องมี อย่างที่สองคือภาวะความเป็นผู้นำ เป็นกลุ่มนักศึกษาที่เราจะต้องนำคนอื่นได้ แล้วในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้ตามที่ดีด้วย ต้องพร้อมพัฒนาคนรอบข้างและสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม”
ตัวตนและความเป็นเด็กเอ๊ะ
การทำงานของเด็กเอ๊ะคือการทำงานร่วมกัน “เด็กเอ๊ะทุกคนจะมีหน้าที่นะคะอย่างที่บอก แต่ว่าของเมย์นิว จะเป็นเหมือนคนที่ช่วยเพื่อนสื่อสารกับอาจารย์ เพื่อมาปรับในการประชุมกับเพื่อน เป็นเหมือนตัวกลางสื่อสาร อัพเดทงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็กเอ๊ะ เด็กเอ๊ะที่ว่าจึงต้องมีความเป็นผู้นำ ช่างสังเกต พอเราเห็นอะไรบางอย่างแล้วมันทำให้เรามีความคิดต่อยอดจากสิ่งนั้น เช่น เก้าอี้สามารถสร้างมูลค่าต่อยอดได้ยังไง ตามหลักสูตรของการสร้างเจ้าของธุรกิจด้วย นี่แหละค่ะคือเด็กเอ๊ะในตัวเรา”
คณะที่ใช่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ชอบ
ถ้าถามว่าทำไมเมย์นิวถึงเลือกเรียนคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ เมย์นิวบอกว่า “การบริหารธุรกิจคือเราอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกัน เราเข้ามา เราไม่ได้อยากจะแบบไปดูแลกิจการขนาดนั้น แต่เราต้องการเงินหมุนเวียนที่มันสามารถจะทำให้เราตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ในการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ที่ต้องการได้ จึงเลือกเรียนคณะนี้”
เลือกเสพสื่อที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาตัวฉันและเธอ
การเสพสื่อก็เป็นตัวเลือกอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เราพัฒนาไปในทางที่ดีได้ เมย์นิวชอบเสพสื่อประเภทไหน ถึงได้มีความมุ่งมั่นและพัฒนาตัวเองไม่หยุดอย่างนี้ “เราอ่านหนังสือเกี่ยวกับสื่อ หนังสือพวกปรัชญาชีวิต สร้างแรงบันดาลใจหรือว่าประสบการณ์จาก คนที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว หนังสือจิตวิทยา ส่วนสื่อที่ติดตามมีพี่ฌอน บูรณะหิรัญ พี่ขุนเขา พัฒนาตัวเอง พัฒนาจิตใจ แบบ inside out แล้วก็อีกอย่างที่แบบสำคัญมาก ๆ และอยากให้ทุกคนรับรู้ คือธรรมะ ฟังธรรมะ จะช่วยทุกเรื่องในชีวิต”
การดูหนังก็สำคัญ “ถ้าเป็นหนังก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นเราอยากพัฒนาด้านไหน เรารู้สึกว่าชีวิตไม่มีแรงบันดาลใจ หยุดนิ่งมันไปต่อไม่ได้ เราก็ดูหนังที่มันสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองหรือหนังที่สร้างจากเรื่องจริง Steve Jobs หรืออย่างช่วงที่ ชีวิตซีเรียสมากเกินไป จริงจัง เราก็ดูหนัง แฟนตาซี ออกจากโลกความเป็นจริงได้ แต่ถ้ากลับมาก็ต้องบอกกับตัวเองนะว่าชีวิตมันต้องเดินต่อไป เรารู้สึกว่าถ้าอยู่ไปวัน ๆ มาเรียน กลับห้องแค่นั้นมันก็ แค่นั้น…”
เรียนรู้จากประสบการณ์ สถานการณ์คือครู
ถ้าถามถึงหลักการหรือคติประจำใจที่เมย์นิวนำมาใช้กับชีวิต เมย์นิวบอกว่า “คติประจำใจจริง ๆ ไม่มีนะคะ เราว่าเราควรจะปรับปรุงจากสถานการณ์ เหตุการณ์ บุคคล ต้องทำต้องเป็นต้องอยู่ แต่ถ้าคิดออก สิ่งที่มันใช้ได้กับทุกอย่าง คือ เราต้องมองภาพ รวมก่อนให้เป็นภาพใหญ่ ว่ามันควรจะเป็นยังไง แล้วทีนี้เราค่อยลงรายละเอียดเล็ก ๆ ลงมาเรื่อย ๆ จนถึงจุดปัจจุบัน จะทำให้เราเห็นเส้นทางว่าจะไปยังไงต่อไป แล้วเราก็จะพบทางของเราเอง”
ทักษะการเรียนรู้
เมื่อเราเข้าโครงการเด็กเอ๊ะไปจนจบโครงการ ตัวเราจะได้รับอะไร เมย์นิวตอบกลับมาด้วยรอยยิ้มที่จริงใจว่า “อย่างแรกเลย เราจะได้รับการพัฒนาตัวเองที่ Life skill Soft Skill อันนี้คือได้แน่ แต่มันก็ต้องขึ้นอยู่ที่ตัวคนคนนั้นด้วยว่าพร้อมจะเอาปรับใช้พัฒนา ไปด้วยกันไหม ถ้าพัฒนาไปด้วยกันได้ สิ่งแรกที่จะได้คือทักษะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำคัญของเด็กในศตวรรษที่ 21
“ทักษะอย่างแรก คือจิตใจก่อน จิตใจสำคัญมาก การที่จะพัฒนาตัวเองได้ ถ้าสภาพจิตใจเราดี คิดในแง่ดี ไม่ได้มองโลกในแง่ดี ต้องมองโลกสวยงามอะไรแบบนี้นะคะ มองโลกในแง่ดีในที่นี้ คือ สมมุติเรามองอุปสรรคเป็นโอกาสแบบนี้ ก็คือเป็นการคิดในแง่ดีแล้ว นั่นแหละค่ะคือทักษะที่เด็ก 21st century skills ควรมี แล้วก็ทักษะการเป็นผู้นำไปในทางที่ดี แต่ในขณะเดียวกันต้องตามให้เป็นด้วย ฟังให้เป็นพูดให้เป็น คิดให้เป็น” เมย์นิวบอกรายละเอียดให้เราได้ฟังด้วยความใส่ใจ
เมย์นิวทิ้งท้ายสำหรับคนที่สนใจโครงการเด็กเอ๊ะว่า “ถ้าใครที่รู้สึกว่าตัวเองอยากจะพัฒนาทุกศักยภาพที่ควรจะมีต่อจากนี้ เราก็ต้องการคอนเนคชั่น สภาพแวดล้อม คนที่เขาพัฒนาตัวเองสม่ำเสมอและเป็นแรงบันดาลใจให้เรา อย่างน้อยที่สุดเลยเราได้รู้จักเพื่อนพี่น้อง เป็นการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็กรุ่นใหม่”
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ ปัณณ์-ปัณณ์ เล้าวัชระ นักศึกษาสาขาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ และเมย์นิว-รวิกานต์ องค์พลานุพัฒน์ นักศึกษาคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ