BU x โอสถสภา Don’t Only Think ไม่ใช่แค่คิด แต่เป็นการลงมือทำ

การเรียนรู้จากโจทย์จริงของโอสถสภา สู่ผลลัพธ์ New Product สุดสร้างสรรค์ของเด็กบริหารธุรกิจ และเด็กนิเทศ ม.กรุงเทพ

            “อย่าเพียงแค่คิด ให้ลงมือทำ” คือ แนวคิดสำคัญของโครงการ D.O.T Project ย่อมาจาก Don’t Only Think Project โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กับ บริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน) มุ่งเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ หลอมรวมศาสตร์ที่หลากหลาย ให้นักศึกษาเรียนรู้จากโจทย์จริงของโอสถสภา คิดวางแผนธุรกิจ สร้างสรรค์ออกแบบ และสื่อสารเรื่องราวของธุรกิจ โดยมีพี่ ๆ ผู้บริหารจากโอสถสภาร่วมเป็นโค้ช พร้อมด้วยนักศึกษาและคณาจารย์ผู้จัดโครงการ ผนึกกำลังร่วมกันประกอบด้วย คณะบริหารธุรกิจ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมถึงได้ตัวจริงในวงการธุรกิจและวงการสื่อมาร่วมเป็นวิทยากรอีกมากมาย

          เราขอนำเสนอเรื่องราววันปิดโครงการ การนำเสนอ Final Project ที่นักศึกษาแต่ละทีม ที่ได้รับโจทย์จากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของโอสถสภาได้มา Pitching นำเสนอไอเดียกัน พร้อมกับมีพี่ ๆ ผู้บริหาร และคณาจารย์ ร่วมเป็นกรรมการให้คำแนะนำ และมอบรางวัลให้กับผลงานที่โดดเด่น

          บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความตื่นเต้นของนักศึกษา รวมถึงคณาจารย์ ที่มาร่วมเรียนรู้และเป็นกำลังใจ การ Pitching แบ่งเป็นทีม ทั้งหมด 10 ทีม 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Shark 3 ทีม Peptein 3 ทีม และ Calpis-lacto 4 ทีม ซึ่งในแต่ละทีมก็มีการเตรียมตัวมาอย่างเต็มที่ และได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาตลอดเทอมนำเสนอผลงานได้อย่างน่าสนใจ

คุณวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

คุณเสาวรัตน์ โอภาสยานนท์ Head of Mother & Child and Homecare Marketing

            การตัดสินผลงานครั้งนี้ได้รับเกียรติทีมผู้บริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ได้แก่ คุณวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) คุณเสาวรัตน์ โอภาสยานนท์ Head of Mother & Child and Homecare Marketing คุณชิพาภัสร์ ศรีนครไทย Head of Non-Energy Drink, NPD & Channel Innovation, Marketing-Thailand คุณพัชราภรณ์ สุระประเสริฐ Head of Personal Care Marketing and Innovation, Marketing-Thailand คุณชวพจน์ เทียนทอง Head of Confectionary & Healthcare Marketing, Marketing-Thailand คุณกรรณิการ์ อัครชัยพานิชย์ Head of Personal Care & HCC Commercial, Personal Care & HCC Commercial

คุณเสาวรัตน์ โอภาสยานนท์ Head of Mother & Child and Homecare Marketing

          คุณเสาวรัตน์ โอภาสยานนท์ Head of Mother & Child and Homecare Marketing ได้ให้สัมภาษณ์ว่า DOT Final Pitching ในปีนี้น่าสนใจมาก เพราะว่ามีปรากฏการณ์ COVID-19 เกิดขึ้น ทำให้น้อง ๆ นักศึกษาต้องเรียนผ่านทางดิจิทัลมากกว่าทุกปี ปรากฏว่าผลลัพธ์เป็นที่น่าภูมิใจ น้อง ๆ มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทางออนไลน์ และทำผลงานออกมาได้ดีมาก สามารถตีโจทย์ในแง่ของธุรกิจ นำไปสู่การพัฒนาเป็น Product เป็น Mix development ที่น่าสนใจ มีความแตกต่าง แล้วก็นำไปสู่ Communication ที่ชัดเจน แล้วยังมีพูดถึง Channel Development ที่โดดเด่นมากยิ่งกว่าทุกปี ภาพรวมที่ออกมามีการพูดถึง Business บวกกับเรื่องของ Execution ที่เฉียบคม DOT Project จึงประสบความสำเร็จมาก และคิดว่าในปีต่อไปจะพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

อาจารย์ณัฐวรรธน์ ศรีสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

          การจัดโครงการในครั้งนี้จึงได้รับแรงสนับสนุนจากคณาจารย์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มาร่วมชมการนำเสนอและส่งกำลังใจให้กับนักศึกษาอย่างอบอุ่น

          การ Pitching เต็มไปด้วยความเข้มข้น ตื่นเต้น และการส่งกำลังใจให้กันและกัน แต่ละทีมมีเวลาเพียงแค่ 8 นาที ในการนำเสนอ แม้ในระยะเวลาจำกัด แต่ในทุกทีมก็สามารถนำเสนอผลงานจากไอเดียที่สร้างสรรค์ออกมาได้ดี และมีคุณภาพ สร้างความหนักใจให้แก้คณะกรรมการ ทั้ง 6 ท่าน ในที่สุดก็ได้ผู้ชนะ 3 ทีม จาก 10 ทีม ทั้งหมด 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Shark, Peptein และ Calpis-lacto ผลิตภัณฑ์ละหนึ่งทีม

          เราไม่พลาดที่จะไปจับเข่าคุยถึงประสบการณ์ และความรู้สึกของรุ่นพี่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และได้รับรางวัลชนะเลิศในการนำเสนอแคมเปญธุรกิจ ทั้ง 3 แบรนด์ ไปติดตามกันได้เลย

คิดต่าง คิดสร้างสรรค์ ไอเดียใหม่ไม่เหมือนใคร

            เริ่มจากทีมแรกที่ชนะเลิศได้รับโจทย์คือแบรนด์ Shark พี่แตงโม-ณัชชา จริยธีรเวช และพี่ทิว-อภิวัฒน์ ข้อกิ่ง จากสาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            พี่แตงโมเล่าให้ฟังถึงการนำเสนอไอเดียที่โดดเด่นในครั้งนี้คือ ภายนอกคนจะคิดว่า Shark เป็นสินค้าสำหรับผู้ชาย เราก็คิดเอาเรื่องเพศมาเล่นแทน เป็นการตีโจทย์ของผู้หญิง จึงออกมาเป็น Shark Grapefruit Berry ทำให้ผลงานน่าสนใจ และได้รับรางวัลชนะเลิศ

            พี่แตงโมและพี่ทิว ยังได้แชร์ประสบการณ์การทำงานในครั้งนี้ว่า กลุ่มเรามีข้อตกลงกันเมื่อไหร่ที่มีนัดกันทำงาน พวกเราจะต้องมาทำกันทุกคน ถึงบ้างครั้งพวกเราอาจจะไม่ว่างหรือติดธุระอะไรก็ตาม แต่พวกเราต้องพยายามเข้ามาพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดกันให้ได้ แล้วก็คุยกันเรื่อย ๆ แบบไม่จริงจังเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นการพูดไอเดียออกมา ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นไอเดียที่ใช้ได้หรือไม่ได้ แต่พวกเราทุกคนก็จะมาช่วยกันขยายให้ความคิดให้ดียิ่งขึ้น

            กระบวนการทำงานเราจึงอาศัยการพูดคุย เราจำเป็นที่จะต้องคุยกันบ่อย เพราะคนเรามีความคิดที่ไม่เหมือนกัน ไอเดียมันจะเยอะมาก ถ้าเราคุยกันเราสามารถที่จะจับจุดตรงกลางแล้วก็เลือกสิ่งที่ดีที่สุดออกมาได้

            สิ่งหนึ่งที่ประทับใจเพื่อนทุกคนในทีมมาก คือ ไม่ทิ้งกัน ช่วยกันตลอด ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ เรารับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย การมองแบบมุมกว้าง หลายมุม ดีกว่าการมองแค่ในมุมของตัวเอง สิ่งนี้ทำให้ภาพรวมของความคิดหรืองานของพวกเราดีขึ้นและประสบความสำเร็จ

พี่แตงโม-ณัชชา จริยธีรเวช สาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ

พี่ทิว-อภิวัฒน์ ข้อกิ่ง สาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ

            อีกหนึ่งความท้าทายของพี่แตงโมและพี่ทิวคือการได้เรียนรู้ด้านนิเทศศาสตร์เพิ่มเติม ด้วยความที่เราเป็นเด็กการตลาดดิจิทัล เราจะคิดส่วนของการตลาดได้ ถึงมันจะยากก็ตาม แต่เราก็สามารถจัดการมันได้ง่ายด้วยองค์ความรู้ที่เราได้เรียนมา แต่ส่วนที่ยากสำหรับเราจะเป็นส่วนของการทำ Execution ในเรื่องของ Media ให้ออกมาให้เห็นภาพจริง เพราะว่าเราเองไม่ใช่เด็กนิเทศการทำ Execution ให้มันเห็นภาพ ให้สามารถค้าขายได้จริงค่อนข้างที่จะยากมากกว่า

            นอกจากนั้นทั้งสองยังได้พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีมเพราะในแง่ของการทำงานจริง เราไม่ได้แค่ทำงานร่วมกับเด็ก Marketing อย่างเดียว เราทำงานกับเด็กคณะอื่นด้วย เราได้แชร์ความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ส่วนเรื่องความรู้ได้อย่างแน่นอน เพราะว่า D.O.T Project มีพี่วิทยากรที่ทำงานจริงอยู่ในสายนั้น เข้ามาสอนเหมือนเป็นการเล่า Case study เพราะฉะนั้นการทำงานจริงในอนาคต เราสามารถนำสิ่งที่เขาสอนมาปรับใช้ในการทำงานได้

มองหา Pain Point เพื่อแก้ไขและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

            ทีมที่สองได้รับโจทย์จากผลิตภัณฑ์ Peptein ได้แก่ พี่พัช-พัชร์ธณิช จันทร์เกลี้ยง สาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ และพี่โฟน หรือ นายเอกราช ยะราช สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์

            พี่พัชและพี่โฟนเล่าให้เราฟังว่า โจทย์ที่ได้รับก็คือ Peptein เราจึงสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นตัว Peptein Night คือ Product สำหรับการดื่มก่อนนอนเพื่อประสิทธิภาพในการนอนที่ดียิ่งขึ้น เพราะเราเล็งเห็นว่าตัวปัญหาของแบรนด์คือโอกาสที่คนจะนึกถึง Peptein จะเกิดในช่วงเวลาที่คนสอบหรืออ่านหนังสือเท่านั้น ตรงนี้ทำให้แบรนด์เสียโอกาสในการสร้างยอดขาย

            เราก็มองว่า New Product ต้องขยายฐานลูกค้าออกไป ให้คนนึกถึง Peptein ในโอกาสอื่น ๆ ด้วย เราก็เลือกช่วงเวลาในชีวิตประจำวัน เน้นที่เรื่องของสุขภาพในการนอน เพราะปัญหาที่คนส่วนใหญ่พบคือเรื่องของการนอนที่ทุกคนก็น่าจะพบเจอกับปัญหานี้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เราก็นำปัญหานี้มาเป็นจุดเริ่มต้นในการคิด New Product ออกมากลายเป็นตัว Peptein Night เครื่องดื่มที่ช่วยเรื่องการนอนให้มีประสิทธิภาพ ถ้าคนเรานอนหลับพักผ่อนได้สบายแล้ว การเรียนหรือการทำงานของเราก็จะมีความสุขในชีวิตมากขึ้น

พี่พัช-พัชร์ธณิช จันทร์เกลี้ยง คณะบริหารธุรกิจ  สาขาการตลาดดิจิทัล

พี่โฟน-เอกราช ยะราช คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

            พี่พัชและพี่โฟน เล่าว่า การเรียนรู้ในปีนี้มีความเข้มข้นมาก เพราะเป็นการทำ Marketing Campaign และมีเรื่องของการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product) ถ้าถามในเรื่องของการคิดงาน แน่นอนว่าคิดหนักขึ้น งานยากขึ้น เพราะการจะทำ New product ต้องใช้ทักษะที่เพิ่มขึ้น ทุกครั้งที่เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพิ่มทักษะของตัวเอง เป็นเรื่องที่ดีมากที่ปีนี้ได้มีโอกาสเข้ามาในโครงการอีกครั้ง แล้วก็เรื่องของพี่ ๆ ผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ที่เข้ามาสอนเรื่องใหม่

            พี่พัช เสริมอีกว่า ส่วนของการทำงานกลุ่มร่วมกันระหว่างคณะนั้น กลุ่มเรามีการตกลงกันตั้งแต่ต้นว่าจะมีการ follow up งานทุกสัปดาห์ สัปดาห์นี้เรียนอะไรมา เราก็จะมาคุยกันว่าเราเรียนอะไร Prosses ของแผนอยู่ตรงไหน เราจะต้อง Work อะไรเพิ่ม เราก็จะแจกการบ้านแต่ละคนกลับไปทำในแต่ละอาทิตย์ พอตอนช่วงสถานการณ์ Covid-19 ส่งผลให้การทำงานที่กลุ่มเราตกลงกันไว้นั้นทำได้ยากมากขึ้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปใช้ทางออนไลน์มากขึ้น ตรงจุดนี้จึงทำให้ทุกคนต้องมีความใส่ใจและมีความรับผิดชอบกับตัวเองมากขึ้น พวกเราดีใจมากที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

Insight ต่อยอดไอเดีย เติมเรื่องสุขภาพ

            ทีมสุดท้ายที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Calpis-lacto ได้พูดคุยกับพี่พลอย-กันทรากร ชมพิกุล และพี่กร-ยศกร กิจเจริญไชย สาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ

            พี่พลอย บอกกับเราว่า ไอเดียของผลิตภัณฑ์ Calpis-lacto จะให้เป็น product ที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายให้เป็นเวลา จะเน้นไปทางนั้น เพราะว่า Calpis-lacto มี Lactobacillaceae ที่ช่วยเรื่องการขับถ่าย เราก็เพิ่ม fiber เข้าไปในตัว Product ใหม่ที่เราคิดขึ้นมา ส่วนพี่กรเล่าเสริมถึงกระบวนการในการคิดงานว่า เริ่มจากการวิเคราะห์ตัวแบรนด์ก่อนว่าจุดที่น่าสนใจอย่างไร แล้วก็เอามาปรับใช้กับ New Product ที่เราจะคิดขึ้นมาใหม่ว่า สามารถนำมาใช้ในส่วนใดได้บ้าง ทำอย่างไรที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น

พี่พลอย-กันทรากร ชมพิกุล สาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ

พี่กร-ยศกร กิจเจริญไชย สาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ

            พี่กรแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การทำงานในกลุ่มบ้างครั้งมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันบ้างแต่ก็คุยกันด้วยเหตุผล อย่างเช่น การหา Insight ของกลุ่มเป้าหมาย เพราะการที่จะคิด New Product ต้องมี Insight ที่ใหม่ แต่จากการที่ไปสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายยังไม่เจอ Insight ที่แปลกใหม่ไปจากเดิมมากนัก แต่อย่างไรก็ตามคิดไว้เสมอว่าอย่าท้อกับอุปสรรคตรงนั้น ถ้าเรามัวแต่โฟกัสที่อุปสรรคอย่างเดียว งานก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

            พี่พลอยอธิบายการทำงานให้เราฟังเพิ่มเติม อุปสรรคในการทำงานน่าจะมีทุกงาน เพราะว่าเป็นงานกลุ่มที่ได้เพื่อนต่างคณะมาร่วมด้วย กระบวนการและวิธีการคิดของนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์กับนักศึกษาสาขาการตลาดดิจิทัลอาจจะแตกต่างกัน แต่ว่าสิ่งที่ได้คือมุมมองที่ต่างกัน เราเรียนการตลาดก็จะได้มุมมองของนิเทศศาสตร์ นิเทศศาสตร์ก็ได้เติมเรื่องการตลาด เราได้คิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น อุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการสื่อสารกันเวลาการทำงานมากกว่า แล้วก็ช่วง Covid-19 ที่ผ่านไปถึงแม้ไม่ได้เจอกันมากนัก เราก็จะพยายามโทรปรึกษากันอยู่ตลอด เราได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด อย่างบางทีเราคิดไปแล้ว เราก็ต้องดูด้วยว่าสามารถนำมาใช้จริงได้หรือไม่ ต้องอิงอยู่บนหลักความเป็นจริงด้วย

            เชื่อมั่นว่าการเรียนรู้จากโจทย์จริง จะทำให้นักศึกษาได้พัฒนาตัวเอง การเรียนรู้จึงไม่ใช่เพียงคิด แต่ต้องลงมือทำด้วย D.O.T Project ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ แต่เป็นการฝึกให้รู้ ฝึกให้คิดหลากหลาย เรียนรู้การแก้ปัญญาแบบคนทำงานจริง การที่เราใส่ความตั้งใจลงไปในงานที่ทำ และไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ก็จะพาเราไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน

ขอขอบคุณภาพประกอบจากฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

เด็กฟิล์มที่มีใจรักในการอ่าน การเขียน เคยผ่านการเขียนเรื่องสั้นและนิยายรักวัยรุ่น มีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์

Writer

สำหรับฉันการได้ทำสิ่งใหม่ ๆ ถือว่าเป็นการท้าทายตัวเองที่ดีที่สุด อย่าดูถูกความสามารถของตัวเอง หากยังไม่ได้ลองทำจริง

Writer

My type is INTJ. It’s really hard to find. You know? So, If you can find me. You are the luckiest person in the world : )

Writer

They say: Do what you love and the money will come to you. Just ordered pizza, now I am waiting

Writer

ชอบในการที่จะเป็นตัวของตัวเองและไม่ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวของคนอื่น รักอิสระ ชอบพบปะผู้คน อาจจะดูเป็นคนตรง ๆ แต่จริงใจ ชอบทำงานที่พัฒนาตัวเองอยู่สม่ำเสมอ

Writer

การบูสพลังที่ดีของผมคือการทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองชอบ โดยเฉพาะการไปเที่ยวทะเล การหาทานอาหารที่อร่อย พออยู่สถานการณ์แบบนั้นมันมีความสุขมาก การถ่ายรูป การร้องเพลง การคิดสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้ผมเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด

Photographer

ผมรักและหลงใหลในการถ่ายภาพ ชอบออกไปเที่ยวถ่ายภาพในที่ที่ไม่เคยไป มีทั้งไปคนเดียวและไปกับกลุ่มเพื่อน ชอบทำอะไรหลายอย่างเช่น ตัดต่อทำคลิป เล่นเกม และยังอยากทำสิ่งที่ไม่เคยทำอีกหลายอย่าง ถ้ามีโอกาสก็จะทำให้เต็มที่ตลอด

Photographer

เด็กฟิล์มที่ชอบถ่ายรูป เวลาได้ถ่ายรูปเหมือนโลกหยุดหมุน จะรู้สึกตื่นเต้นเวลาที่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ และจะมีความสุข ถ้างานที่ทำออกมาได้ด้วยดี

Photographer

เชื่อว่าการที่เรามีเป้าหมายจะทำให้เราได้ลองพยายามทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำ และเดินไปถึงฝัน แต่ระหว่างทางของเรานั้น คือการได้พบเจอสิ่งใหม่ ๆ

Photographer

ทุกคนก็ต้องมีความฝัน อยู่ที่ตัวเราว่าจะทำให้ถึงฝันนั้นหรือเปล่าและอย่าพูดว่าเราทำอะไรไม่เป็น (ไม่เก่ง) ถ้าเรายังไม่ลงมือทำมัน

Photographer

เราจะไม่รู้เลยว่าเราทำอะไรได้บ้าง ถ้าหากเราไม่ได้ลองทำ และเมื่อเรารู้ตัวแล้วว่าเราทำอะไรได้ดี นั่นจะกลายเป็นจุดแข็งที่มีแค่เราเท่านั้นที่สามารถทำได้