ลุงสุทิน คนเลี้ยงปลากะพง ณ บางปะกง ที่ยังยืนหยัดในยุคดิจิทัล

เรียนรู้ศิลปะในการเลี้ยงปลากะพง กับลุงสุทิน ปราชญ์ชาวบ้าน คนบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

            ถ้ายังจำกันได้ถึงข่าวเรื่องปลากะพงที่เลี้ยงในกะชังตายเกลื่อน ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปลาตายเกือบหมดทั้งบาง

            แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในสถานการณ์นั้น มีผู้เลี้ยงปลารายหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยมาก เมื่อเทียบกับบ่อปลาของผู้เลี้ยงรายอื่น ๆ นั่นคือบ่อปลาของ คุณลุงสุทิน วุฒิสินธุ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ชาวบางปะกง ผู้สะสมองค์ความรู้ในการเลี้ยงปลากะพงอย่างลึกซึ้ง

คุณลุงสุทิน วุฒิสินธุ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง (บ้านลุงทิน)

            เราเดินทางไปบางปะกง เพื่อสนทนาถึงชีวิต ประวัติความเป็นมาของการเลี้ยงปลากะพง และหาคำตอบเกี่ยวกับภูมิปัญญาในการเลี้ยงปลากะพง จากคุณลุงสุทินที่ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง (บ้านลุงทิน) ซึ่งก็คือ บ้านของลุงสุทิน นั่นเอง

ยืนหนึ่งการเลี้ยงปลากะพง ณ บางปะกง

            หนึ่งในอาชีพที่ชาวบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา นิยมทำกันคือ การเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง มาพูดคุยกับลุงสุทินถึงที่มาที่ไปของการทำอาชีพนี้ ลุงสุทิน เล่าให้เราฟังว่า “ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ จบการศึกษาระดับป.4 สมัยก่อน พ.ศ.2493 ออกจากโรงเรียนก็เริ่มออกทะเล ประกอบอาชีพจับโป๊ะ ตอนนี้ก็ยังทำอาชีพชาวประมง สมัยก่อนก็ทำเรือใบ ทำมา 5 ปี แล้วก็ทำเรือลาก อยู่กลางทะเลมา 25 ปี แล้วก็มาเลี้ยงปลากะพงนี่แหละ ถึงวันนี้ก็ 40 ปีแล้ว”

            คุณลุงสุทิน เล่าอีกว่า ที่ยังยึดอาชีพนี้อยู่ เพราะรักอาชีพและอยากอนุรักษ์ปลากะพง ไม่ให้สูญหาย ลุงกับครอบครัวได้ร่วมกันจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง (บ้านลุงทิน) เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ในการเลี้ยงปลากะพงให้กับผู้ที่สนใจ

            ลุงสุทินบอกว่า ที่นี่ยังมีคนเลี้ยงปลากะพงอยู่จำนวนไม่มาก ลุงเริ่มต้นเลี้ยงตั้งแต่ พ.ศ.2524 เลี้ยงในอ่าวไทย พ.ศ.2525 ปลากะพงออกไข่ ประมาณ 30 ตัน ซื้อพ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำขึ้นมา พ.ศ.2526 ขยายบ่อใหญ่เป็นร้อยต้น สมัยก่อนกว่า 80 ตัว อัตรารอดแค่ 30 ตัว การเอาปลากะพงมาทดลองเลี้ยงในแม่น้ำบางปะกง ลองผิดลองถูก เสียหายบ้าง ก็ลองเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยง ไม่ได้หยุด พัฒนามาเรื่อย ๆ ลุงสุทินโชคดีที่มีหลานชายเคยเพาะปลากะพงอยู่ที่บ้านเพ ได้มาแนะนำ และรวบรวมซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากแม่น้ำบางปะกง

            ลุงสุทิน เล่าย้อนอดีตให้ฟัง ว่า “สมัยก่อนรุ่นแรกเลยเราเพาะปลากะพงเอง เลี้ยงเอง ผมเพาะมาประมาณ 5 ปี ก็มีคนเขาเพาะได้ ผมก็หยุด เลิกเพาะปลา ก็ไปซื้อเขามาเลี้ยงเอง จนกระทั่งเป็นพ่อแม่พันธุ์ จำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ด้วยสมัยนั้น  แน่นอนเพราะว่ามันยังไม่คล่อง ก็ศึกษาลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ได้มาแล้วอัตรารอดก็น้อย ขั้นตอนวิธีการอะไรเรายังไม่มี เหมือนเป็นงานทดลองมาตลอด”

            ระยะเวลาการเลี้ยงปลากะพงอย่างยาวนานของลุงสุทิน ที่ยังเลี้ยงอยู่เพราะใจรัก ใจชอบ ลุงสุทินเล่าว่าแม่น้ำบางปะกง คือ แม่น้ำของปลากะพง หรือแม่น้ำโจ้โล้ คนจีนเรียกปลากะพงว่า ‘โจ้โล้’ หมายความว่า แม่น้ำเดียวกัน แล้วที่ตรงนี้ คือ แหล่งปลากะพง ปลาจะมาวางไข่ช่วงน้ำกร่อย น้ำเค็ม แถวหน้าบ้าน ถึงฤดูจะมาวางไข่ที่นี่ ลุงมีใจยังรัก อยากจะอนุรักษ์ไว้ สมัยก่อนโบราณก็มีปลากะพงกินตลอด ช่วงหลังสิ่งแวดล้อมไม่ดี น้ำไม่ดี ปลากะพงก็อาจจะเริ่มสูญหายไป แต่ตัวลุงสุทินก็ยังเลี้ยง ยังอนุรักษ์อยู่ ถึงแม้คนจะเลี้ยงน้อยลงก็ตาม

            เหตุผลที่คนเลี้ยงปลากะพงน้อยลง เพราะว่าต้นทุนในการเลี้ยงอาจจะสูง เจอปัญหาปลาตายคากระชังบ้าง น้ำในแม่น้ำเน่า จึงหันไปเลี้ยงในบ่อปูนบ่อดินกันหมด ต้นทุนสูงอีก ทำให้ไปทำอาชีพอื่นกัน บางคนก็ออกทะเลเป็นชาวประมงเลย บางคนก็ค้าขาย ทำอาชีพเกษตรกรทดแทน

ต่อยอดสร้างสรรค์วิธีการเลี้ยงปลากะพงให้เติบโต

            ตอนแรกลุงสุทินเพาะปลากะพงในบ่อปูน แล้วนำลูกปลามาปล่อยในกระชังที่เลี้ยงในแม่น้ำ แต่ก่อนยังไม่มีการเลี้ยงแบบใช้ออกซิเจนเปิดให้ปลา เป็นแม่น้ำธรรมชาติเลย พอช่วงหลังมาทางโรงไฟฟ้าเขาก็เข้ามาช่วยเรื่องของเทคโนโลยี ลุงจึงมีเครื่องตีออกซิเจนให้ปลา เป็นระบบที่จะเปิดจะปิดตอนไหนก็ได้ผ่านโทรศัพท์ แน่นอนแบบใหม่ก็ต้องดีกว่า เป็นการเพิ่มออกซิเจนให้ปลา

            ลุงสุทิน ได้เล่าเพิ่มเติมอีกว่า สมัยก่อนเลี้ยงปลากะพงโดยใช้เป็นกระชังเป็นโครงเหล็ก แล้วใช้ลวดในการถักเพื่อใช้ในการกักปลาเอาไว้ แต่จากการใช้วัสดุนี้ อาจจะทำให้ระยะเวลาการใช้งานไม่ยาวนาน จึงเปลี่ยนมาใช้อวนแทน

            “กระชังลูกแรก ที่ผมใช้ทำจริง ๆ ผมใช้โครงเหล็ก แล้วก็ลวดถักกันเอง ลวดถักเป็นเหมือนกับลอบดักปลากลางทะเล ถักเป็นตาข่าย กระชังลูกหนึ่งใช้เวลาทำสองอาทิตย์กว่าเห็นจะได้ ระหว่างนั้น ผมก็ยังทำเรือลากอยู่ ก็คิดว่าทำไมไม่เอาอวนรอง อวนตาห่าง อวนตาที่ทนต่อการสึกหรอ เอามาทำ ก็เลยเปลี่ยนเอาอวนมาทำแทนลวด หลังจากนั้น ก็ไม่ได้ใช้ลวดแล้ว ใช้อวนมาเรื่อย ๆ”

            นอกจากนี้ ที่นี่ ยังใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเลี้ยงด้วย เช่น การมีเครื่องมือในการตรวจสอบสภาพน้ำว่าเหมาะสมหรือไม่ เช่น การเช็คค่าดีโอ (DO) เป็นคำที่ย่อมาจาก Dissolved Oxygen คือ ค่าของปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ เครื่องมือที่ทันสมัยเหล่านี้ทำให้การเลี้ยงปลากะพงมีประสิทธิภาพดีขึ้น ถ้าค่าน้ำไม่ค่อยดี ปริมาณออกซินเจนน้อย ลุงสุทินก็จะเปิดออกซิเจนเพื่อช่วยให้ปลากะพงไม่ตาย ค่าน้ำที่ดีจะอยู่ที่ 5-8mg/L ถ้าน้ำเสียจะมีค่าต่ำกว่า 3mg/L ประกอบกับ ลุงสุทินมีลูกสาวที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่กลับมาช่วยสานต่ออาชีพการเลี้ยงปลากะพงอีกด้วย

เทคนิคการจับปลากะพงแบบลุงทิน

            การจับปลาเปรียบเหมือนการทำงานศิลปะ จับปลาอย่างไรให้ปลาไม่ช้ำ นำมาประกอบอาหารได้อร่อย ลุงสุทิน ถ่ายทอดความรู้ให้เราฟัง “ผมจับปลาไม่เหมือนใคร เพราะผมจะใช้ไม้กระดานพาดปากกระชัง แล้วใช้อวนเล็ก ๆ ลงไปช้อนขึ้นมา ไม่ทำให้ปลาช้ำ ถ้าเป็นปลาเล็ก ก็จะได้ 20-25 ตัว ถ้าปลาใหญ่ก็จะได้ ครั้งละ 10 กว่าตัว เรื่องของขนาดก็ได้ตั้งแต่ 5 ขีดขึ้นไป ถ้าแม่ค้าต้องการ ก็ถือว่าขายได้ เพราะกระชังเราขายตามไซส์ที่ตลาดต้องการ ไม่ได้จับขึ้นมาหมด”

ความมหัศจรรย์ของปลากะพง

            หากใครเคยได้ชิมเนื้อปลากะพงจะรู้ว่าอร่อยมากมาย ลุงสุทินอธิบายให้เราเห็นภาพว่า “ปลากะพงที่หลายคนสงสัยว่าเป็นปลาอะไร แถมยังมีรสชาติอร่อย ปลากะพงเป็นปลา 3 น้ำ อยู่ได้ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด ถ้าจะหาปลาอื่นมาเลี้ยง ยังไม่มีเลย ไม่รู้จะเอาปลาอะไรมาเลี้ยงได้ แล้วเป็นปลาที่ตัวโต เป็นปลารสชาติดี เนื้อรสชาติอร่อย สมัยก่อนหากินได้ยาก แต่ว่ามีตลอดไม่เคยขาด จะเอาเยอะ ๆ มันไม่ได้ จับได้ยากมาก เป็นปลาที่ฉลาดเอาตัวรอดได้เก่งแข็งแรง มีขนาดใหญ่ถึง 20 – 30 กิโลกรัม” ปลากะพงจึงนับเป็นอีกหนึ่งของดีของชาวบางปะกงก็ว่าได้

ทดลองและปรับวิธีการเลี้ยงปลากะพง ทำให้ต้นทุนลดลง

            การลงทุนเลี้ยงปลากะพงต้องมีเงินลงทุนพอสมควร ลุงสุทินอธิบายว่า “เรื่องของต้นทุน สมัยก่อนเลี้ยงปลากะพง ใช้เหยื่อเป็นเป็นปลาสด ปลาทะเลคือเหยื่อสดเป็นอาหารของปลากะพง เหยื่อปลาราคากิโลกรัมละ 2-3 บาท เราเลี้ยงมาจนกระทั่งกิโลกรัมละ 9 บาท ก็ไม่ไหวแล้ว เปลี่ยนมาทดลองอาหารเม็ด เปรียบเทียบกับเนื้อปลา ดูว่าอย่างไหนดีกว่ากัน ก็คิดดูแล้วว่า ถ้าเราเลี้ยงปลาโดยเหยื่อสด มันเหมือนเป็นการทำลายธรรมชาติ จากนั้น ก็เลี้ยงแต่อาหารเม็ดมาตลอด อาหารเม็ดต้นทุนก็ไม่สูงเหมือนเนื้อปลา ไม่สิ้นเปลืองมาก เพราะอาหารเม็ดเป็นอาหารลอยน้ำ ราคาไม่แพง”

ปลากะพงแปรรูป

            การเลี้ยงปลากะพงมาอย่างยาวนาน ทำให้ลุงสุทิน คิดพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับปลากะพง ลุงบอกว่า  “เรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ก็ยังเป็นวิถีชาวบ้าน ชาวประมง ที่ใช้การถนอมอาหาร เพื่อให้มีคุณภาพอยู่ได้นานขึ้น ปลากะพง ต้ม ทอด นึ่งมะนาว หรือราดพริกแล้วแต่จะทำ แต่ของผม คือ การนำปลามาแร่เป็นท่อน ๆ เหลือแต่เนื้อไม่มีก้าง แล้วเอาไปตากแดด เป็นปลากะพงแดดเดียว เพื่อที่จะอยู่ได้นาน ผมทำขายนะครับ สด ๆ ก็มี กิโลกรัมละ 600 บาท ครึ่งกิโลกรัม 300 บาท มีแต่เนื้อปลาเน้น ๆ อยากได้ปลากะพงดี ๆ ต้องที่บางปะกง เพราะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้มาตรฐาน จะไม่มีกลิ่นโคลน กลิ่นดิน”

ความหวังของคนเลี้ยงปลากะพง ณ บางปะกง

            ไม่ว่าอย่างไร ลุงสุทิน ยังคงยืนยันว่า จะเลี้ยงปลากะพงต่อไป ถึงแม้ว่าจำนวนผู้เลี้ยงที่บางปะกงจะลดน้อยลง เหลือเพียงประมาณ 10 กว่าราย ก็ตาม อาจจะเป็นเพราะเป็นงานที่ต้องใช้รายละเอียด ใส่ใจอยู่ตลอดเวลา ลุงสุทินย้ำกับเราว่า การเลี้ยงปลากะพงของลุงคือการเลี้ยงที่พัฒนาแล้ว เลี้ยงแบบการ์ดไม่ตก

            ลุงสุทิน บอกว่า “อยากให้มีปลากะพงในแม่น้ำบางปะกงต่อไป เพราะแม่น้ำนี้ปลาบางอย่างสูญหายไปแล้ว ปลากะพง ถ้าเราไม่เลี้ยง ไม่อนุรักษ์เพาะพันธุ์ไว้ ก็คงไม่มีแล้ว ไม่อยากให้มันหมดไป มันน่าเสียดาย เพราะปลากะพงเป็นปลาชั้นสูง คุณภาพดีมาก ปลากะพงไม่ใช่ปลาทะเลมันเป็นปลาปากแม่น้ำ” เพราะฉะนั้นลุงสุทินจึงต้องพัฒนาวิธีการเลี้ยงไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง อีกทั้งยังถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับคนที่สนใจและลูกหลานในชุมชนอีกด้วย

            “จากนี้ คงต้องทดลอง และพัฒนาการเลี้ยงแบบใหม่ ทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว เราจะทำเลี้ยงเอง ขายเอง โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง เราควรขายเองโดยตรง ซื้อขายกับทางไลน์ ทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็อยากจะให้รุ่นต่อไปสานต่อ โดยให้คนที่เคยเลี้ยงปลาในแม่น้ำบางปะกง หันมาทำอย่างผมกันเยอะ ๆ หลายราย ยิ่งดี มาช่วยกันทำ ชุมชนเราจะได้มีรายได้ มีเศรษฐกิจที่ดี และมีปลากะพงเป็นชื่อเสียงของบางปะกง”

            เราได้เรียนรู้เรื่องความมุ่งมั่น การปรับตัว และแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้ลุงสุทินพัฒนาการเลี้ยงปลากะพง ซึ่งเป็นวิถีเกษตรดั้งเดิมเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเปิดรับนวัตกรรมเข้ามาผสมผสาน เพียงแค่นี้ความดั้งเดิม ก็สามารถเคลื่อนต่อไป พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้แล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณลุงสุทิน วุฒิสินธุ์ ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง (บ้านลุงทิน) อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

Writer & Photographer

หนุ่มบางปะกง ตาหวาน ผิวขาว จัดฟัน จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักแสดง เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคน และชื่นชอบการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

Writer

รักในการแสดงและกิจกรรม คอยสะสมประสบการณ์ เพื่อให้ไปถึงความสำเร็จในอนาคต

Writer

สาวเรียบร้อย ยิ้มง่าย เเต่เพรียบพร้อมไปด้วยความกล้าที่จะลงมือในการทำงาน

Writer

ชายหนุ่มผู้มีความใฝ่ฝันในการเป็นนักพากย์ไม่ว่าจะเป็น หนัง ซีรี่ย์ ละคร หรือแม้กระทั่งโฆษณา ชื่นชอบการอ่านนิยายและการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ แต่ถ้าวันไหนว่าง ๆ ไม่มีอะไรก็จะนั่งเล่นเกมไปทั้งวัน