BU COME ONE

เรียนรู้และผนึกกำลังสร้างตัวจริง ตอบโจทย์อุตสาหกรรมบันเทิง

            หลังจากที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ผนึกกำลังกับช่อง One31 สร้างสรรค์ โครงการ BU Come One เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาที่มีความสนใจในด้านอุตสาหกรรมบันเทิง ได้เรียนรู้และทำงานจริงกับช่อง One31

            เราได้มานั่งคุยกับ 6 ตัวแทน นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้เข้าไปทำงานจริงกับช่อง One31 สำหรับใครที่สนใจโครงการนี้ ต้องจับตาดูบทสัมภาษณ์ของเราให้ดี!

จุดเริ่มต้นการเข้าโครงการ BU Come One

            เริ่มกันที่คนแรก เรามาเจาะลึกโครงการ BU Come One กับ พี่ปิ่นพิมพ์มธุรดา พุฒิกรวงศ์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ กับก้าวแรกการทำงานจริงในฐานะนักตัดต่อมืออาชีพ จุดเริ่มต้น อุปสรรค ความประทับใจและโอกาสมากมายที่ได้จากโครงการนี้ รวมทั้งประเด็นสำคัญที่หลายคนอาจจะสงสัยที่ว่า การทำงานจริงกับเรียน อะไรโหดกว่ากัน

พี่ปิ่น-พิมพ์มธุรดา พุฒิกรวงศ์

            ด้วยความที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และอีกไม่นานก็จะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว พี่ปิ่นจึงมุ่งมั่นในการหาที่ฝึกงานเพื่ออนาคตของตัวเองจนกระทั่งได้มาเจอกับโครงการ BU Come One โครงการที่ปูทางสู่ก้าวแรกในการทำจริงของพี่ปิ่น

            พี่ปิ่นบอกว่าเคยไปถามอาจารย์มาก่อนว่าสาขาที่เรียนสามารถฝึกงานในเทอมซัมเมอร์ได้หรือไม่ แต่อาจารย์เขาก็ตอบกลับมาว่าไม่ได้ ไม่สามารถฝึกงานก่อนได้ ตอนนั้นจึงพยายามเริ่มหาวิธีต่าง ๆ เพราะอยากฝึกงานเร็ว ๆ จนกระทั่งเห็นโครงการ BU Come One แชร์ต่อกันมาในเพจเฟสบุ๊คของคณะนิเทศศาสตร์ เป็นโครงการพิเศษเลยบอกตัวเองในใจว่าจะลองสมัคร

เตรียมตัวอย่างไรกับโครงการใหญ่ของช่องทีวี

            ปกติเป็นคนเก็บสะสมผลงานต่าง ๆ ของตัวเองลงพอร์ตอยู่แล้ว ตอนที่ตัดสินใจสมัครโครงการ จึงไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก แค่รวบรวมแล้วก็ส่ง รอบแรกเป็นการส่งพอร์ตว่าเรามีความถนัดทางไหน แล้วก็จะมีจดหมายแนะนำตัว ประวัติส่วนตัวของเราและใบสมัคร ตอนนั้นมีเข้ารอบแรกประมาณ 50 คน

            พอผ่านเข้ารอบ ทางช่องวัน31 ก็ให้เข้าไปลองศึกษาวิธีการทำงานของฝ่ายต่างๆ ทุกฝ่ายตลอดซัมเมอร์ พอเสร็จจบจากการศึกษางาน จะมีโปรเจคให้เราทำ โดยที่โปรเจคนี้จะเป็นตัวคัดเลือกละว่าใครที่จะได้เข้ามาฝึกงานกับทางช่องจริง ๆ ตัวโปรเจกต์ที่เขาให้ทำแต่ละฝ่ายก็จะแตกต่างกันออกไปมีทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ของฝ่ายละครเขาให้ทำเดี่ยว จะให้บทละครมาซีนนึง แล้วก็ให้เราไปถ่ายมา ถ่ายยังไงก็ได้ แต่ละคนก็ถ่ายออกมาไม่เหมือนกัน ถึงเวลานำเสนอเขาก็จะแนะนำว่าตรงนี้ควรเป็นยังไง น่าสนใจยังไง ควรแก้ไขตรงไหน

            หลังจากผ่านเข้ารอบโปรเจกต์เขาก็ให้โอกาสเราได้ไปทำอะไรหลายอย่าง จะลองไปออกกองก็ได้ จะลองไปทำอะไรก็ได้ ถ้าเรากล้าขอ เขาก็กล้าให้ สำหรับพี่เลือกอยู่ฝ่ายตัดต่อ พี่ได้ทำแทบทุกอย่างเลย ทั้งสปอต ละครยาว ตัวอย่างละคร ตัวอย่างตอนต่อไปของซิทคอมด้วย

ประสบการณ์สุดประทับใจที่ตามมาด้วยความท้าทาย และความกดดัน

            ถ้าถามถึงความประทับใจสำหรับพี่ คงจะเป็นงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำแล้วได้ออนแอร์จริง ที่ดีใจคือเขาไม่ได้ให้เราแค่ลองทำ แต่ว่าให้เราได้ลงมือทำ มีผลงานจริง ก็จะมีซิทคอมเป็นต่อ สุภาพบุรุษสุดซอย แล้วก็สปอตละคร ที่พี่ได้รับผิดชอบหนึ่งเรื่องหนึ่งเดือน

            งานที่ท้าทายมีอยู่ครั้งหนึ่งเขาให้พี่ตัดต่อละคร โดยที่ให้เอาละครตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมาตัดรวมกันให้มันดูมีรีแอคชั่น น่าติดตาม จุดประสงค์คือเขาต้องการขายซีนหนึ่งของละคร แต่ว่าที่เขาให้พี่ตัดต่อคือให้เอาตัวละครอื่นจากเรื่องอื่นให้มามีอารมณ์ร่วมกับซีนนี้ ทั้งตกใจ ว้าว เอามายำรวมกันให้น่าสนใจ งานนี้ก็เป็นงานที่ท้าทายสำหรับพี่มาก เพราะส่วนตัวพี่ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน แล้วก็งานนี้ก็เป็นงานที่โดนแก้หลายรอบที่สุด ตอนนั้นก็คิดในใจว่า มันยากจัง เขาก็บรีฟมา จนผ่านมาได้

            อีกงานที่ยากมากก็คือละครเย็น กลุ่มเป้าหมายของเขาคือคนต่างจังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่มันยากก็เพราะว่าเราไม่ได้ดู แต่เราต้องมาจับประเด็นกลุ่มเป้าหมายให้ได้ว่าเขาสนใจเรื่องอะไร ต้องคิดแทนคนดูให้ได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นงานที่ท้าทายมากอีกงาน

            ในทุกงานมันมีความกดดันอยู่แล้ว คือพี่อยู่ฝ่ายตัดต่อใช่ไหม ส่วนใหญ่พี่ก็จะอยู่กับละครเย็น แล้วละครเย็นจะเป็นแบบถ่ายสัปดาห์ที่แล้วออนแอร์สัปดาห์นี้ บางทีฟุตที่พี่ต้องตัดมาถึงประมาณเที่ยง ต้องส่งออนแอร์ไม่เกิน 4 โมงเย็น พี่ก็ต้องรีบทำให้เสร็จ ส่งให้ทัน เป็นอะไรที่กดดันมาก

ทักษะที่ได้จากการเรียน ต่อยอดสู่การทำงานจริง

            จริง ๆ พี่เป็นคนชอบทำหนัง แต่ว่าเราเรียนบรอดแคสต์ติ้งก็จะได้คลุกคลีไปทางทีวีมากกว่า เลยเลือกที่จะลองอยู่ฝ่ายละคร แล้วก็เราก็เรียนพวกตัดต่อมาอยู่แล้วก็อยากใช้วิชาที่ติดตัวมา ซึ่งถามว่าได้ใช้ทั้งหมดไหม ก็ไม่ทั้งหมด มันก็ที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มเองด้วย ส่วนเรื่องการเขียนบท ตอนสมัครเข้าโครงการก็ได้ส่งงานเขียนบทไปด้วย ให้บอกตามตรงการเขียนบทที่มหาวิทยาลัยสอน มันก็ไม่ได้ตรงกับการทำงานจริงทั้งหมด แต่ว่ามันก็เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงาน

สิ่งที่ดีจากโครงการ BU Come One

            โอกาสที่พี่ได้รับอย่างแรกเลยคือได้งานทำทันทีหลังจากจบโครงการ เหมือนเราไปทำแล้วเขาเห็นศักยภาพเราว่าสามารถทำงานต่อได้เลยหลังเรียนจบ ตอนที่ฝึกอยู่พี่เขาก็เคยมาถามว่าจะเข้ามาทำงานเลยไหม เขาจะได้รับเข้าทำงานเลย ใจพี่ก็สองใจ งานหายาก ก็เลยอยากเข้าทำเลย แต่อีกใจคือตัวพี่ก็ชอบทำภาพยนตร์มากกว่า

            อย่างที่สองที่ได้ต่อเนื่องกันก็คือคอนเนคชั่น คือเราเข้ามาอยู่ตรงนี้แล้ว สังคมมันกว้างมาก เราก็ได้คอนเนคชั่นมาด้วย พี่ที่เขาอยู่ในฝ่ายตัดต่อด้วยกันเขารู้จักคนข้างนอกที่ไม่ได้ทำงานแค่ในช่อง เขาก็บอกพี่ว่าที่อยากทำทางด้านภาพยนตร์มากกว่า พี่เขาฝากให้ได้อะไรประมาณนี้ คือมันได้คอนเนคชั่นกว้างกว่าที่เราคิดไว้มาก

            สำหรับคนที่สนใจจะเข้าโครงการนี้ในรุ่นต่อไป พี่อยากให้คนที่อยากทำจริงมากกว่าเข้ามา เพราะว่าหลายคนที่เข้ามาโดยการเกาะเพื่อน หรือเข้ามาเพราะหวังเกรด มันแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ก็ไม่ได้ตามที่หวังหรอก ถ้าคุณเข้ามาโดยที่ไม่ได้อยากทำจริง ไม่ได้รัก เข้ามาเพื่อที่จะได้แค่คอนเนคชั่น คือคอนเนคชั่นมันสำคัญ มันได้แน่นอนอย่างที่พี่บอก แต่ถ้าคุณไม่มีความสามารถ ไม่มีความตั้งใจที่จะทำ มันก็ไปต่อได้ไม่ดีอยู่แล้ว อยากให้ทุกคนที่เข้ามามีความตั้งใจจริง

ใบเบิกทางก้าวเข้าสู่สายงานโทรทัศน์

พี่ตาล-หทัยชนก พวงแก้ว

            พี่ตาล-หทัยชนก พวงแก้ว นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อีกหนึ่งตัวแทนจากโครงการ BU Come One ฝ่ายละครโทรทัศน์ ที่ได้ทำทั้งการออกกองและการตัดต่อ สานต่อความฝันจากความชอบส่วนตัว สู่สายงานโทรทัศน์ผ่านโครงการ BU Come One

หนทางสู่งานที่รัก

            โดยส่วนตัวพี่เป็นคนชอบดูละครชอบดูซีรีส์อยู่แล้ว และพี่ก็สนใจงานเกี่ยวกับสายงานโทรทัศน์ พอได้รู้จักโครงการนี้จากรุ่นพี่ มองว่าโครงการนี้มันน่าสนใจดี และยังเป็นใบเบิกทางก้าวเข้าสู่สายงานที่ชอบ จึงตัดสินใจลองยื่นสมัคร

อวดความเป็นตัวเองให้เก๋  โชว์ศักยภาพให้โลกรู้

            คัดเลือกรอบแรก พี่ยื่นสมัครด้วยคลิปแนะนำตัวเอง แต่จุดเด่นในคลิปของพี่ไม่ได้อยู่ที่การพูดหรือเนื้อหา จุดเด่นของคลิปพี่อยู่ที่การตัดต่อและเทคนิคการเล่นแสงเงา รอบโปรเจคพี่เลือกทำละคร คือเขาจะมีบทมาให้ 1 ฉาก และให้เราไปคิดเป็นภาพและถ่ายทำมา ให้เราตีความบทเอาเอง เพื่อที่เขาจะดูว่าความคิดของเราที่ตีความบทออกมาจะออกมาเป็นแบบไหน รอบนี้พี่ก็ได้ไอเดียคือการเล่น mood & tone ให้น่าสนใจ ให้มันดูมีอะไรมากกว่าการถ่ายทำตามปกติ

ประตูบานแรกที่เปิดไปสู่โอกาสในอนาคต

            พี่คาดหวังว่ามันจะเป็นประตูบานแรกที่นำพาพี่ไปสู่โอกาสในอนาคต เพราะถ้าพี่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยตามปกติพี่ก็ไม่รู้ว่าอนาคตวันข้างหน้าพี่จะต้องไปอยู่ตรงไหน สำหรับพี่โครงการนี้มันตอบโจทย์กับที่พี่หวังไว้ เพราะว่าเราได้มาเรียนรู้จากการทำงานจริง ๆ ที่ไม่ได้เหมือนกับการเรียนในห้องเรียน พอได้มาทำงานจริงทำให้เราได้รู้ว่ามีอะไรมากกว่าอยู่ในห้องเรียน

เลือกสิ่งที่ใช่และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

            การออกกองถ่ายทำงานจริง ทุกอย่างต้องรักษาเวลา งบประมาณ ไหนจะนักแสดง ทีมงาน แสง ล้วนแล้วแต่เป็นเงินไปหมด ในการทำงานจริงต้องเป๊ะทุกอย่าง ฉากกำหนดมาแบบไหนก็ต้องเป็นแบบนั้น ไม่เหมือนกับงานที่เราถ่ายทำกันเองกับกลุ่มเพื่อนในมหาวิทยาลัยที่สามารถอะลุ่มอล่วยได้

            การทำงานออกกอง พี่รู้สึกว่าตัวพี่ยังไม่พร้อมสำหรับการทำงานตรงนั้น เพราะเราไม่เคยมีพื้นฐานตรงนั้นมาก่อน พี่คิดว่าถ้าเราจะเข้ามาฝึกอย่างจริงจังเพื่อให้ได้ทำงานจริง โอกาสมันน่าจะยากเพราะเราเริ่มต้นจากศูนย์เลย และมันก็ไม่ได้มีเวลามากมายให้เราฝึกขนาดนั้น ทำงานกองถ่ายไม่มีใครมาจ้ำจี้จ้ำไชเรา เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลัก พี่เลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่และยังไม่พร้อม ตอนนี้พี่ย้ายมาอยู่ฝ่ายตัดต่อ พอย้ายมาพี่ก็รู้สึกว่าพี่อยู่กับมันได้และมีความสุข

เคล็ด(ไม่)ลับ การเตรียมตัวก่อนที่จะสมัครเข้าโครงการBU Come One

            พี่ตาลแอบเปิดเผยเคล็ด (ไม่) ลับ ฝากถึงเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่สนใจอยากจะเข้าร่วมโครงการ BU Come One ในรุ่นต่อไปเอาไว้ว่า ต้องมีความพร้อมที่จะทำชิ้นงานที่จะส่งเข้ามา งานต้องพร้อมมากและพยายามหาจุดเด่นของงานสร้างความโดดเด่นเป็นภาพจำและเป็นเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด

            ส่วนใครที่อยากเข้าร่วมโครงการนี้ ในเมื่อโอกาสมันอยู่ตรงหน้าแล้วก็อยากให้คว้ามันเอาไว้ ได้ไม่ได้เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำแล้ว จะได้ไม่ต้องมาเสียดายโอกาสทีหลัง เหมือนประโยคที่ว่า รู้งี้…ทำดีกว่า

เริ่มต้นจากเด็กน้อย สู่นักเขียนข่าวออนไลน์ช่อง One31

น้องอั้ม-ศรรวริศ แท้ไธสงค์

            น้องอั้ม-ศรรวริศ แท้ไธสงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุนโครงการ BUCA Talent คณะนิเทศศาสตร์ กับการเข้าร่วมโครงการ BU Come One ก้าวแรกสู่รั้วมหาวิทยาลัยพร้อมกับการทำงานในฐานะนักข่าวออนไลน์ของช่อง One31           

นักเรียนที่ไม่หยุดเรียนรู้

            ถ้าถามว่าเริ่มต้นจากอะไรผมว่าเริ่มต้นจากการที่เราเป็นเด็กน้อยธรรมดานี่แหละ อยากจะหาความรู้ อยากดูว่ามีอะไรที่ทำได้บ้าง ผมรู้จักโครงการตั้งแต่ตอนที่ใกล้จะจบม.6 แล้วครับ ผมอยู่ในกรุ๊ปไลน์ของเด็กทุน BUCA เห็นมีคนส่งรายละเอียดมา ซึ่งตอนที่เห็นมันเป็นวันเกือบสุดท้ายพอดีที่เขาให้ส่งใบสมัคร ผมก็เลยแบบ ลองดูดีไหม สุดท้ายเลยตัดสินใจส่งใบสมัคร กรอกฟอร์ม ส่งพอร์ต บอกเหตุผลทำไมถึงอยากเข้า แล้วกดส่งเลย และไม่คิดมาก่อนว่าตัวเองจะผ่านเข้ารอบ เพราะในการสมัครมีรุ่นพี่ปี 3 และปี 4 เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ตัวเองพึ่งจะเข้ามหาวิทยาลัย ยังไม่ทันได้เริ่มเรียนอะไรด้วยซ้ำ

            หลังจากผ่านเข้ารอบ 50 คนสุดท้าย รู้สึกดีใจและสนุกมากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่และยังได้เรียนรู้งานจากคนที่ทำงานจริง ระดับหัวหน้า ผู้บริหารโดยตรงด้วยตัวเอง รู้สึกเป็นเกียรติและโชคดีมาก เราก็ตื่นเต้น เราเป็นเด็กปี 1 ตอนนั้นรุ่นพี่เขาอาจจะเฉย ๆ กัน แต่ส่วนผมเพิ่งเริ่มแต่ได้เข้าไปถึงจุดนั้น ได้เข้าไปเรียนรู้ ตอนนั้นก็เรียนรู้อยู่ประมาณสองเดือน ซึ่งเป็นเวลาสองเดือนที่มีค่ามาก ๆ

            หลังจากจบการเรียนรู้งานได้ไม่นาน การคัดเลือกรอบสุดท้ายก็มาถึง ก่อนวันไฟนอลผมก็จะมาท่องสคริปต์ก่อนไปขึ้นพรีเซนต์ครับ ผมท่องจนถึงตีสองประมาณ 2-3 อาทิตย์ได้พอถึงวันจริงก็ผ่านไปได้ด้วยดี และผมก็รู้สึกพอใจกับผลงานตัวเอง เพราะผมตั้งใจมาก ตั้งใจที่จะลบคำดูถูกของคนอื่น ส่วนรอบโปรเจคนี้จะเป็นรอบที่เลือกมาว่าอยากเข้าฝ่ายไหน มันจะมีฝ่ายข่าว ละคร เขียนบทแล้วก็รายการ ผมชอบด้านออนไลน์ก็เลยไปเลือกข่าวออนไลน์ เลือกปุ๊บก็พอส่งไปรอบไฟนอล เขาก็สัมภาษณ์ เราก็เอาโปรเจคไปเสนอ แล้วเขาก็เลือก เราก็ได้ผ่านเข้ารอบ 20 คนสุดท้าย

ได้เกรด ได้งาน ได้เงิน ได้เริ่มก่อนคนอื่น 4 ปี

            ตอนนี้มีเงินเดือนแล้วครับ ทำงานกับทางช่องและก็ทำเป็นฟรีแลนซ์ด้วย วันไหนว่างผมก็กลับมาเรียน กราฟิกที่เห็นในข่าวช่องวันก็มีผมเป็นคนทำบ้าง คอนเทนต์ผมก็ทำด้วย ผู้สื่อข่าวภาคสนามในข่าวออนไลน์ผมก็ทำประมาณ 6-7 คลิป ตอนแรกผมได้ทำตำแหน่งกราฟิกอย่างเดียว แต่อยู่ไปสักพักแล้วก็รู้สึกว่าอยากทำคอนเทนต์บ้าง เพราะผมก็มีความถนัดทางด้านนี้ เลยไปขอให้พี่เขาช่วยสอนเขียนข่าวเพิ่มเติมให้ ฝึกเขียนข่าวอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ลองเอาไปเสนอดู ตอนนี้เลยได้ย้ายมาเป็นผู้สื่อข่าวเต็มตัวและทำกราฟฟิกควบคู่ไปด้วย

ที่สุดของความภาคภูมิใจ

            จากเด็กฝึกงาน สู่การเดินทางเยือนสิงคโปร์ ประสบการณ์การทำงานสุดประทับใจที่จะไม่มีวันลืม คือการได้เข้าร่วมอบรมกับเพจ Facebook Thailand และได้โอกาสในการเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ นำผลงานคลิปวิดิโอของตัวเองไปเปิดให้ทั่วโลกได้เห็น ตอนนั้นผมทำโปรเจคหนึ่ง ชื่อคลิปย้อนศรประจำถิ่น ผมก็ไม่คิดหรอกว่าคลิปของตัวเองจะได้ไปเปิด พอไปถึงสิงคโปร์ คลิปวีดีโอของผมได้เป็นวีดีโออันดับ 1 ผมพึ่งอายุ 19 แต่ผลงานของเรามาได้ขนาดนี้ มันเป็นความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งชีวิตของผม ต้องมีบ้างที่โดนคำดูถูกอะไร แต่ผมไม่แคร์ ผมจะสู้ ไม่กลัว ผมจะทำให้เขาเห็นว่าผมทำได้ แล้วตอนนี้ผมก็ทำได้แล้ว ผมมีวิดีโอ 2 ล้าน ได้ไปต่างประเทศ งานผมได้ออนแอร์ในทีวี ผมทำได้  

อยากพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่าผมทำได้

            อีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้มาถึงจุดนี้ คือการอยากพิสูจน์ให้คุณพ่อและคุณแม่เห็นในความสามารถและใจรักในด้านนี้จริง ๆ พ่อแม่ผมไม่อยากให้ผมเรียนด้านนี้เลยครับ ท่านอยากให้ผมไปดูแลธุรกิจที่บ้าน แต่ผมดื้อ ผมอยากเรียนด้านนี้ ผมได้ทุนเข้าโครงการ BUCA Talent มาแล้วก็อาจจะยังไม่ได้รับการยอมรับจากที่บ้าน จนกระทั่งได้มาเข้าร่วมโครงการ BU Come One ได้มีผลงานออกทีวี มีงาน มีเงินเดือนเป็นตัวเอง มีชื่อเสียง ที่บ้านถึงได้ยอมรับในตัวผม

            ในอนาคตเรียนจบ 4 ปี ผมก็อยากกลับไปทำธุรกิจเล็ก ๆ ที่บ้าน เพราะทำงานอยู่ที่นี่ผมเจอกับรถติด คนในบีทีเอส เจออากาศ ไม่เหมือนกับที่บ้าน แต่ถ้ามีโอกาสได้เติบโตในหน้าที่การงานของช่อง One ถ้าเขาให้โอกาสผมเรื่อย ๆ ผมก็อาจจะอยู่ต่อ

เขียนบทแนะนำตัวเอง แทนการเขียนเรียงความที่จริงจัง

เนปาล-เนปาล จิตรานนท์

            เนปาล-เนปาล จิตรานนท์ เด็ก Gen Z ที่ชอบดูทีวี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ ทุน BUCA Talent  เรียกได้ว่าเธอคนนี้เป็นลูกไม้หล่นใต้ต้นก็ว่าได้ เธอซึมซับการเป็นนักเขียนของคุณแม่ “เนปาลี” เป็นนามปากกาของแม่ ที่ตั้งมาจากชื่อจริงของเธอ

รวบรวมผลงานเพื่อทำตามใจฝัน

            เราได้รู้จักโครงการ BU Come One จากอาจารย์ที่เข้ามาคุยว่ามีโครงการนี้เกิดขึ้น ใครสนใจก็สมัครได้ เราตัดสินใจที่จะสมัคร โดยเลือกที่จะยื่นสมัครด้วยการเขียน รูปแบบที่เขียนก็เขียนเป็นบทเลย ที่เลือกเขียนเป็นบท เพราะว่ากลัวว่าถ้าเขียนเป็นเรียงความมันจะน่าเบื่อเกินไป และเพราะกลัวว่าการเขียนเรียงความยาวอาจจะลดความสนใจให้มันน้อยลง

            เราเลือกที่จะเขียนเป็นบทให้มันเป็นแบบบรรทัดสั้น ๆ แต่มีใจความสำคัญเกี่ยวกับตัวเราใส่เข้าไปในนั้น ใจความทั้งหมดก็ว่าเราเป็นใครมาจากไหน เราชอบทำอะไร ที่ผ่านมาเราทำอะไรมาบ้าง เอาประสบการณ์ที่เราทำมาทั้งหมดสอดแทรกเข้าไปให้เกี่ยวข้องกับบท เพื่อที่เราจะได้ผ่านเข้ารอบเข้ามาฝึกในโครงการนี้

            ส่วนตัวคือเราชอบที่เวลาเราดูหนังแล้วอินไปกับมัน จึงอยากจะลองเขียนบทดู เวลาดูหนังบางเรื่องอย่างเช่น Avengers: Endgame ดูแล้วจะคิดต่อว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งตรงหน้าเรา กระบวนการทำ ทำไมมันถึงส่งอิทธิพลกับเราขนาดนี้ หรือบทเรื่องอื่น ๆ ที่แบบทำให้เราร้องไห้ เราอยากรู้ว่ามันคือส่วนไหนที่ส่งผลกับเรื่องขนาดนี้ มันก็คือเป็นมาตั้งแต่บท มันก็เลยทำให้เราอยากไปเป็นคนที่ได้เขียนอะไรเพื่อคนอื่น อยากให้คนอื่นรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก

เปิดรับและซึมซับความเก่งจากผู้คนรอบตัว

            ความคาดหวังตอนนั้นแค่คิดว่าอยากทำงานจริง อยากได้อยู่ในที่ที่มีแต่คนเก่ง เรารู้สึกว่าถ้าแค่เราได้อยู่ตรงนั้นและเราเปิดรับทุกอย่างแค่นี้เราก็ได้อะไรเยอะมากแล้ว ได้ซึมซับจากคนเก่งรอบตัวเรา ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าเราจะได้เข้ามาถึงจุดที่ฝึกงานจริงเอาแค่เราสามารถผ่านเข้าโครงการในรอบแรกให้ได้ก่อนเพราะเข้าไปอย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ในทุกด้าน ทั้งการผลิตรายการ ละคร การเขียนบทรายการ ละคร การเป็นผู้ประกาศ หรือแม้กระทั่งรายการข่าว และพยายามที่จะเอาตัวเองเข้ามาถึงจุดนี้ให้ได้ก่อน

            พอได้ผ่านการคัดเลือกมาจนถึงรอบฝึกงานจริง มันก็เป็นไปตามที่เราหวังไว้ เกินความคาดหวังด้วย เพราะตอนที่เราผ่านเข้ามารอบแรกที่ได้เรียนพวกข่าวหรือได้ไปดูกองถ่ายละครต่าง ๆ แต่พอมาถึงวันที่ได้เข้ามาฝึกจริง แล้วมันมีอะไรบางอย่างที่เพิ่มเข้ามาเช่น การจัดงานประกาศผลรางวัลนาฏราช ได้เข้าไปเป็นสต๊าฟในงานนั้น เข้าโครงการนี้มา ไม่ได้รู้แค่จุดที่เป็นสายงานโทรทัศน์อย่างเดียว สามารถรู้ไปได้ไกลถึงขนาดว่าในงานประกาศผลรางวัลนาฏราชกระบวนการทำงานมันเป็นอย่างไร เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่ว่าใครจะได้เข้าไปอยู่ในงานตรงนั้นได้ง่าย ๆ และยิ่งพวกเราซึ่งกำลังเรียนอยู่ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ไปอยู่จุดนั้นเร็วขนาดนี้

เริ่มงานก่อนได้เปรียบ !

            เป็นจุดที่เราดีใจที่สุด รู้สึกประสบความสำเร็จไปอีกขั้น คือสำหรับเรา เราคิดเป็นแบบระยะยาวคือตอนนี้เราปี 1 แล้วเราได้ฝึกทำงานกับที่นี่ไปเรื่อย ๆ อย่างน้อย ๆ ก่อนจะจบปี 4 มันก็ควรมีผลงานสักเรื่องแล้ว การที่เราจบปี 4 แล้วมีผลงานเขียนบทละครของช่องวัน31 แม้จะเรื่องเดียว ต่อให้เราจะไปยื่นสมัครทำงานที่อื่น หรือว่าจะทำกับที่นี่ต่อ อย่างน้อยเราก็ไม่ได้เริ่มเท่ากับคนอื่นที่เพิ่งจะจบและต้องไปหางานทำ

คิดการใหญ่ ใจต้องถึง สู้ไม่ถอย

            ตอนนั้นได้ไปเขียนบทเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับเกมโชว์ที่เราต้องเอามาปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบละคร ให้เขียนเรื่องสั้นมาส่ง ซึ่งตอนแรกได้ไปทำกันสองคนกับเพื่อนแล้วก็งงกันมากว่าจะทำออกมาเป็นละครอย่างไรดี เพราะว่าเราคิดรูปแบบไม่ออกเลย ค่อนข้างปวดหัว และเพื่อนก็ถอนตัวกันไปทีละคน แยกกันไปทำโปรเจคใหม่และก็เหลือเราอยู่คนเดียว

            เราเลือกที่จะสู้ไปกับมัน แต่กลายเป็นว่ามันไม่ใช่รูปแบบละครแบบที่เราเข้าใจ เราคิดไม่ออกว่าเราจะเอามันไปทำอะไรได้บ้าง เราจึงไปคุยกับพี่เขาตรง ๆ พี่เขาก็บอกว่าที่จริงแล้วถ้าคิดไม่ออก ไม่อยากให้ทำ เพราะมันจะไม่สนุก

            เราก็ลังเลว่าเอ๊ะหรือเราจะไม่ทำดี แต่เราก็ไม่อยากจะปล่อยมันไปและเราก็รู้สึกว่ามันเป็นงานชิ้นแรกของเรา เราได้มา ทำไมเราไม่พยายามที่จะสู้มากกว่านี้ อันนี้ก็จะเป็นช่วงที่รู้สึกกับตัวเองว่าหรือเราไม่มีความอดทนมากพอ หรือเราอ่อนแอ ตั้งใจไม่มากพอ หรือว่าเราทำไม่ได้จริง ๆ พี่เขาก็เลยบอกว่าไม่เป็นไรให้ทิ้งเรื่องนั้นไปก่อน คิดไม่ออกไม่เป็นไร แล้วก็ได้เรื่องใหม่มาทำซึ่งเรื่องใหม่ก็เขียนเป็นเรื่องสั้น ส่งรอบเดียวก็ผ่านได้เลย

            อีกหนึ่งความกดดันกับนามปากกา “เนปาลี” นามปากกาของแม่ที่ตั้งมาจากชื่อจริง ตอนที่จะสมัครเราบอกแม่แค่ว่าจะส่งบท แต่ไม่ได้ใช้ความเป็นลูกของ “เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน” เราอยากจะใช้ความสามารถของเราจริง ๆ และแม่ก็แค่บอกว่า “สู้ ๆ ทำให้ได้นะ” แต่เราไม่เคยเอาบทไปถามแม่เลย ส่งไปแล้วถึงค่อยเอาให้เขาดู ถ้าเขาชมเราก็จะดีใจ แต่ถ้าไม่ชมก็ไม่เป็นไร พอได้รับคัดเลือกแม่ก็ดีใจด้วย

ต่อยอดอนาคตจากสิ่งที่ได้ฝึกฝน

            อนาคตเราอยากเป็นนักเขียนบท ที่จริงก็อยากทำหลายอย่างแต่ว่าอันนี้อยากทำเป็นอย่างหลัก รู้สึกว่ามันได้เอาไปใช้ เหมือนยิ่งเราเข้าใจมันเท่าไหร่และเราเขียนมาให้เขาเท่านั้นเขาก็จะให้ความรู้ที่มันมากขึ้นกว่าเดิมกับเราเรื่อย ๆ และเราก็ได้นำไปใช้ มันเห็นเลยว่าทุกวันที่ได้มาเจอเขา เขาก็ให้อะไรใหม่ที่เราเอากลับไป เราใช้เอากลับมาส่งเขา เขาก็จะให้งานใหม่เรามาอีก ซึ่งรู้สึกว่าได้รู้เรื่องใหม่ตลอดเวลา สำหรับเราคือมันสนุกเพราะว่าเป็นเรื่องที่สนใจอยู่แล้ว

            คุณแม่ให้คำแนะนำ บอกว่าคนเขียนบทตอนนี้ค่อนข้างมีน้อย คนเขียนบทมันต้องใช้เวลาบ่มมันไม่ใช่แค่ว่าปีสองปีคุณจะเขียนได้เลย ซึ่งถ้าเราเริ่มตั้งแต่ตอนนี้และถ้าเรา ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ มันก็จะเก่งมากขึ้นสามารถทำเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ และอีกอย่างเลยคือเราชอบ Llifestyle การทำงานของแม่คือแม่สามารถทำงานที่บ้านได้และก็สามารถหยุดยาวไปเที่ยวได้โดยที่มีเงินไปเที่ยว เราก็เลยมองว่างานนี้เป็นงานที่เหมาะสมกับเรา

ดูละครเพื่อศึกษาเรียนรู้

            เราจำได้ว่าบัลลังก์เมฆเป็นละครเรื่องแรก ๆ ที่ทำให้เราเลือกดูช่องวัน31 เราก็เลยมานั่งถอดบทบัลลังก์เมฆดู ว่าเราชอบจุดไหนของเรื่อง เขาเลือกที่จะตัดเบรกตอนไหน ตอนไหนที่ทำให้เราต้องติดตามเลือกที่จะดูต่อในตอนต่อไปเราก็จดไว้ ส่วนในตอนที่เขียนเราก็ค่อยเอามาเลือกว่ามันใช้กับสิ่งที่เราจะเขียนได้ไหม แต่ตอนเขียนส่งเข้ามาเราเลือกที่จะเขียนให้เป็นตัวเองให้มากที่สุด เพราะว่าถ้าเขาเลือก เขาก็จะเลือกจากตัวเราจะไม่พยายามเขียนในแบบที่ช่องต้องการ เพราะในแบบที่ช่องต้องการกับสิ่งที่ทำอยู่แล้ว เขามีทีมงานที่ทำอยู่แล้วเราไม่สามารถไปสู้เขาได้

อย่าปล่อยให้โอกาสที่จะทำตามฝันผ่านไป

            ส่วนคนที่สนใจก็อยากให้ลองสมัครเข้ามา เพราะเป็นโอกาสที่ดี อยากให้มองว่าอย่างน้อยถ้าเราเข้ามา ก็อยากให้ทำอย่างเต็มที่เราฝึกงาน 4 เดือนไม่ว่าเราจะเรียนอยู่ปีไหนก็ตาม ถ้าเราไม่ได้ทำที่นี่แล้วเราก็ยังมีประวัติผลงานไปสมัครงาน เราก็คือเด็กที่เคยฝึกงานกับช่องวัน31 มาแล้ว 4 เดือน เรามีใบประกาศนียบัตรจากเขา แต่ถ้าใครที่คิดว่าชัดเจนแล้วว่าเราชอบที่นี้แล้วจริง ๆ ไม่อยากย้ายไปไหนแล้วมันก็เหมือนเรามีงานทำตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ คุณอยู่กับเขาไปเรื่อย ๆ นานวัน วันนึงคุณก็ไปเป็นพนักงานของเขาอย่างเต็มตัวได้ถ้าความสามารถและความพยายามของคุณมากพอ

ละครคือพื้นที่การเรียนรู้

หยวน-สุกาญจนา แซ่อื้อ

            พูดถึงเรื่องราวชีวิตในช่วงของการทำงาน  หลายคนคงมีหลากหลายเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา บางเรื่องเล่าไปยิ้มไป ยิ่งพูดยิ่งขำ แต่บางเรื่องก็พูดถึงด้วยน้ำตากันเลยทีเดียว เช่นเดียวกับ หยวน-สุกาญจนา แซ่อื้อ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ เล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์ที่ได้ผ่านการคัดเลือกเป็นหนึ่งในโครงการ BU Come One  ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ จนเราอดที่จะยิ้มตามไม่ได้จริง ๆ

มีเพื่อนดีที่ชวนให้ทำสิ่งดี ๆ

            เพื่อนแนะนำค่ะว่ามีโครงการนี้ เราลองไปดูตามเพจแล้วก็สนใจ จึงส่งใบสมัคร เราคิดว่าเราเรียนนิเทศอยู่แล้ว ถ้าเราได้ทำงานไวกว่าคนอื่นก็คงจะดี ก็เลยคิดดูว่าลองส่งดูเผื่อได้เริ่มก่อนคนอื่น ตอนแรกก็คาดหวังว่า เขาบอกว่าถ้าผ่านตรงนี้ไปแล้วจะได้ทำงานต่อ เราก็คิดว่า อยากทำงานต่อแต่ด้วยความที่เราอยู่ปี 2 คิดว่าน่าจะแบบไม่ได้ทำแบบเต็มตัวเพราะต้องมาเรียนอยู่ดี

            แล้วก็พอเข้าไปที่ช่องวัน 31 ก็เจออะไรเยอะเลย ทั้งคนทั้งงาน แล้วก็อาหารกองอร่อยมาก แล้วก็ได้เจอคนดี ๆ เยอะ ทำให้แบบมีความคิดในการใช้ชีวิตเยอะ โครงการนี้ทำให้ไม่ผิดหวังเลยจริง ๆ เราเจอสิ่งต่าง ๆ มากมาย เราได้ฝึกด้านผู้ช่วยผู้กำกับ ผู้ช่วย 1 ผู้ช่วย 2 ในซิทคอมแต่ถ้าเป็นละครจะมีเป็นผู้ช่วย 1 2 3 เราก็ฝึกผู้ช่วย 1 กับผู้ช่วย 2

เรียนรู้จากรุ่นพี่ที่สอนงาน

            พี่ที่เป็นคนดูแลเรา สอนเราคือใจดีมาก อย่างเราเข้าไปก็ไม่กล้าทำเพราะเราเด็ก ในกองมีแต่ผู้ใหญ่แต่เขาก็สอนเรา บอกเราตลอดว่าต้องมีอะไรบ้าง ทำยังไง ต้องพูดยังไงเวลาเจอคนยังไง แล้วก็สอนจนถึงขั้นมีพรีโปรดักชั่นก็คือก่อนจะออกกอง ก็คือเจอคนดี ชวนไปดูบท เขียนบท บรีฟเอ็กตร้าหรือตัวประกอบ แคสนักแสดง ทำให้เรารู้ว่าก่อนออกกองเราต้องเตรียมอะไรบ้างแล้วซึ่งมันเยอะมาก เราเป็นอะไร ทำหน้าที่อะไร เราก็ต้องตอบได้

สนุกครบรสและเหนื่อยปะปนกันไป

            เราเป็นผู้ช่วยใช่ไหม ผู้ช่วย 1 ก็จะอยู่หน้าจอมอนิเตอร์ คอยจดไทม์โค้ดเพื่อเอาไทม์โค้ดไปตัดต่อ เวลาตัดต่อแล้วดูไทม์โค้ดไปด้วยจะทำให้เราตัดต่อรู้เรื่องและง่ายขึ้น แล้วก็คอยฟังผู้กำกับว่าบรีฟอะไรแล้วก็ให้ผู้ช่วยผู้กำกับ 1 ไปบอกหน้าเซ็ตว่านักแสดงต้องทำอะไรบ้าง แต่ถ้าผู้ช่วย 2 ก็จะอยู่หน้าเซ็ตคอยคุมทุกอย่าง การปล่อยคิว การปล่อยคิวคือว่า สมมุตินักแสดงกำลังเล่นอยู่แล้วมีคนหนึ่งกำลังเข้าบ้านก็ต้องมีคนคอยปล่อยคิว แบบทั้งคิวเดิน คิวพูด ด้วยความที่เราอยากเป็นผู้ช่วยอยู่แล้ว เขาให้ฝึกแต่ผู้ช่วย ผู้ช่วยหน้าที่เยอะ ก็เลยได้ทำทั้งแบบ พรีโปรดักชั่น แต่จะไม่ได้ทำโพสต์โปรดักชั่น

ทำไมถึงรู้ว่าตัวเองอยากจะฝึกด้านผู้ช่วยผู้กำกับ

            รู้สึกว่าก็ไม่ได้อยากเป็นตากล้อง ไม่ได้อยากเป็นแอดมิน รู้สึกว่าเป็นผู้กำกับ มันน่าจะทำให้เราต่อยอดได้เยอะ แล้วมันรู้เยอะอะไร อยากอยู่น่าเซ็ต อยากสื่อสารแล้วให้เขาเข้าใจ พอเขาเข้าใจมันก็รู้สึกดี ออกมาดี มันก็ทำให้คนกำกับมันรู้สึกดี เคยพูดกับอาจารย์เต้ยว่า หยวนอยากไปวันงานนาฏราช แต่แบบเขาให้ไม่กี่คน คนมันเยอะ แต่ตอนสุดท้ายก็ได้ไปทุกคน

อายุเป็นเพียงตัวเลข ขอแค่ใจที่อยากเรียนรู้

            เราอายุน้อยที่สุด เพราะทั้งหมดเขาก็เป็นผู้ใหญ่กัน เพราะว่าคนที่มาเจอส่วนใหญ่ก็จะเป็นรุ่นพี่ปี 4ที่มาฝึกงาน เรามาอยู่ในโครงการอายุน้อยกว่าคนอื่น ๆ ตอนแรกไม่คุยเลยเพราะว่า ไม่กล้าไปคุยอยู่แล้วกลัวดูไม่ดี ไม่มีมารยาทก็เลยไม่ถาม แต่พอดูว่าเขาใจดีก็ถาม ถาม ถาม แล้วพอถามเยอะเขาก็ชอบด้วย เขาอยากสอน

ความประทับใจในโครงการ BU Come One

            ประทับใจที่สุด ประทับใจทุกวันเลย แฮปปี้มากเลยที่ไป มันไม่มีที่สุด คือเรารู้สึกว่าเราปี 2 แล้วใช่ไหม คือพี่ ๆ ก็โตกว่า ตอนแรกกลัว กลัวเราทำไม่ดี ทุกวันเราเลยพยายามทำให้ดีที่สุด ในทุกเช้านักแสดงจะต้องท่องบทใช่ไหม เราก็ควรรู้บทอยู่แล้วมันเป็นหน้าที่ เราก็จะอ่านหลายครั้ง อ่านจน บางทีนักแสดงถามว่าก่อนพูดอันนี้ ใครพูดอะไรก่อนหรอ แล้วเราสามารถตอบได้ว่า อ่อ คนนี้พูดแบบนี้ไป เราอ่านบทหลายรอบมาก เราก็ตั้งใจทุกเรื่องให้เขาเห็น แล้วคือเราตั้งใจมาก จนพี่เขาก็ชวนให้ไปช่วยงาน

            เหตุการณ์ในการทำงานที่เจอแล้วทำให้เราท้อไหม ไม่มีเลย แต่บางคนก็มี อย่างช่วงที่ฝึกงาน ตอนไปทำซิทคอมมันมีคนที่ไม่ไหว ร้องไห้อยากกลับบ้านก็มี ในขณะที่เราแฮปปี้มากเลย แต่เขากลับบอกว่า ไม่เอาแล้ว เลิกดึก อยากกลับบ้าน ซึ่งที่ไหนก็ต้องเลิกดึกอยู่แล้ว อาชีพนี้ ไม่มีเป็นเวลาหรอก อย่างนักแสดงมาก่อน เราก็ต้องมาก่อนนักแสดงอีก บ้านเราอยู่พระราม 2 เลิกตี 2 ทุกวัน เราก็นอนกอง นอนกองก็ไม่สบายอยู่แล้ว ฝุ่นก็มี ยุงก็เยอะ แต่เราคิดแค่ว่า อีกไม่กี่ชั่วโมงก็เช้าแล้ว

            แน่นอนว่าจุดที่หยวนยืนคือจุดที่หลายคนอยากมายืน แล้วเราต้องมีทักษะความรู้อะไรบ้าง มีพื้นฐานอะไรมาบ้าง คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย และคิดไม่ตก แต่สิ่งสำคัญคือต้องชอบอย่างเดียวเลย แต่เราชอบ เลยฝึกตัดต่อเอง ดูจากยูทูปพยายามทุกอย่าง พอมาเข้าโครงการ เราเลยพอตัดต่อเป็นอยู่แล้ว เสพสื่อก็เยอะ ก็เลยรู้ว่าคอนเทนต์ไหนมันน่าสนใจจริง ๆ ต้องอาศัยความชอบ และเรียนรู้ด้วยตนเองอยู่ตลอด

Passion เริ่มจากการที่ชอบดาราจนนำพามาถึงจุดนี้

แตงไทย-เบญจกร ต้นกันยา

            สาวสวยสุดเซอร์ ที่พกความมั่นใจมาเต็มร้อย แตงไทย-เบญจกร ต้นกันยา สาขา Innovative Media and Production นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ หรือการผลิตสื่อนวัตกรรม ที่เริ่มต้นด้วยการเขียนบทและผันตัวมาตัดต่ออย่างที่ใจรัก

อยากรู้การทำงานเบื้องหลัง

            แรงจูงใจของเรา ที่เราอยากสมัครโครงการอีกเหตุผลนึงคือ อยากเจอดาราที่ตึกแกรมมี่ อยากเข้ามาอยากรู้กระบวนการทำละครว่าในหนึ่งเรื่องเขาทำอะไรกันบ้าง พื้นฐานมันเริ่มจากการบ้าดารามาก่อนมันเป็นสิ่งที่ส่งเรามาถึงตรงนี้ แต่พอได้มาอยู่แล้ว มันก็ค่อนข้างชิน พอเจอดารามันก็จะเฉย ๆ ไปเอง แต่ทำงานสายนี้มันต้องทำด้วยความชอบและใจรัก

โลกคือละคร

            พอยื่นสมัครมาเราเลือกฝ่ายละคร เราส่งเป็นคลิปวิดีโอแนะนำตัวเอง คลิปที่ส่งไปก็ทำเองทุกอย่างทุกขั้นตอน ในคลิปก็จะมีผลงานต่าง ๆ ที่เราเคยทำมามันก็เป็นเหมือน Portfolio และเราก็คิดพล็อตขึ้นมาคร่าว ๆ ว่าเราจะถ่ายทำออกมาในแนวไหน จะแสดงเป็นอย่างไร ซึ่งในการแสดงของเรามันจะต้องมีเป็นเหมือน Tie-in ผลงานของเราเข้าไปด้วย ให้มันดูน่าสนใจกว่าการที่ถ่ายตัวเองยืนพูดเฉย ๆ

            ช่วงนั้นเราติดละครเรื่องหัวใจศิลามาก ส่วนใหญ่จะดูเรื่องนี้เป็นหลักและก็จะเอาเสียงเอาส่วนประกอบต่าง ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ จากละครเรื่องนั้นมาตัดดูเป็น reference เราก็คิดว่าคลิปเราสนุก มั่นใจ! ตัดต่อเหมือนละครเลย มีตัวอย่างตอนต่อไปด้วยนะ เราคิดว่าหลายคนจะทำเหมือนเป็นรายการ แต่เราอยากให้เขาเห็นว่าเราอยากทำละครจริง ๆ คลิปเราน่าจะสะดุดตาเขาบ้าง ในคลิปเราทำคือมันจะมีแสดงหลายคาแรคเตอร์ซึ่งเราแสดงเองหมดทุกตัวละครเพราะว่าไม่มีคนเล่นให้ และเราก็ตั้งชื่อเรื่องของเราเองว่า “หัวใจเบญจกร”

เรียนรู้การทำงานเป็นทีม

            พอได้ผ่านเข้ามาทำงานจริง มันเกินกับสิ่งที่คาดไว้มาก ได้เรียนรู้อะไรเยอะ และเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ตอนเราเข้ามาปี 1 เรายังไม่ได้เรียนอะไร แต่พอเข้ามาทำโครงการนี้มันได้เจอแรงกดดัน เจอการทำงานจริง มันไม่ได้มีอยู่ในห้องเรียน ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานต่าง ๆ คือบางทีเราถ่ายคลิปตัวเองถ่ายทำเอง มันไม่ได้มีกระบวนการเยอะ แต่พอเรามาทำงานจริง งานที่นี่ ตรงนี้ มันไม่ได้เป็นเรื่องหรือเป็นงานของคน ๆ เดียว เป็นการทำงานเป็นทีม

            เราต้องคิดอยู่ตลอดว่ามันไม่ใช่แค่งานของเรา เราทำไปแล้วมันมีหลายขั้นตอนที่จะต้องไปทำต่อจากเราไปเรื่อย ๆ อีก แล้วตัวงานที่ออกมาที่เป็นไฟนอล มันอาจจะไม่เหมือนกับที่เราคิดแต่เราต้องยอมรับว่ามันคือทีมเวิร์ค พอผ่านทุกคนไปแล้วสุดท้ายมันได้ประมาณนี้ ผลงานออกไป ถ้าประสบความสำเร็จ เราก็ดีใจแต่ถ้าล้มเหลวก็ต้องห้ามนอยด์ว่า มันไม่ดีเพราะใครหรือเพราะอะไร เพราะว่าทุกคนก็มีความสำคัญที่ทำให้งานมันเกิดขึ้น

ความในใจของเด็ก(ฝึก)เขียนบทละคร

            ตอนแรกเราอยู่ฝ่ายเขียนบทละคร แต่พึ่งย้ายมาฝ่ายตัดต่อ ที่ย้ายเพราะฝ่ายเขียนบทละครมันยากมาก ตอนแรกเราก็คิดว่าเขียนบทมันคงดีไปอยู่ตรงไหน ก็เขียนได้ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่นั่งเขียนคิดแล้วก็เขียน แต่ตรงคำว่าคิด มันจะมีหลายอย่างที่ต้องทำ อย่างเช่น พี่เขาให้ช่วยหาข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นคนไร้สัญชาติ เราต้องไปหาข้อมูลอย่างจริงจัง ไปสัมภาษณ์อาจารย์ผู้รู้ทางกฎหมายใด ๆ หรือถ้าทำละครย้อนยุคก็ต้องอ่านหนังสืออ่านนิยายย้อนยุคและต้องศึกษาว่ามันยุคไหน สังคมเป็นอย่างไร คนจะทำอะไร บางทีก็ยากขึ้นไปอีกแนวงานย้อนยุคจะเป็นย้อนยุคแบบไหนอิงประวัติศาสตร์หรือเปล่า หรือว่าจะเป็นย้อนยุคแบบประยุกต์ เราจะใส่ไอเดียอะไรเข้าไปในงานได้ไหม

            อีกอย่างที่ท้าทายของคนเขียนบทคือเราไม่ได้เป็นตัวละครแค่ตัวเดียวเหมือนกับนักแสดง คือเราเป็นทุกตัวละคร แล้วลองคิดถึงซีนที่เป็นดราม่าต้องโต้ตอบกับตัวเองสมมติเราร้องไห้ สักพักเราต้องสลับไปเป็นอีกคน มันค่อนข้างใช้เวลาและใช้อารมณ์มาก พี่ที่สอนเขียนบท เขาก็สอนว่าถ้าเราเขียนฉากเศร้า เราต้องร้องไห้ ถ้าไม่ร้องแปลว่าฉากนี้ใช้ไม่ได้ เราต้องรู้สึกกับมัน เวลาเขียนเราจะเขียนเรื่องย่อไปขายก่อนแต่ว่าส่วนใหญ่แล้วพอไปทำจริง บทมันอาจจะไม่ได้ตรงกับเรื่องย่อไปซะหมด

            พอเราเขียนไปอยู่กับตัวละครมากขึ้นเราจะรู้ว่า ตัวละครทำแบบนี้ไม่ได้ ค่อนข้างยาก คนที่เขียนได้ดีจริง มีน้อย ตอนที่เราฝึกอยู่ฝ่ายเขียนบทละคร เราเคยได้ไปช่วยเขียนบทละคร ไปช่วยตอนท้ายช่วยคิด scenario ช่วยเขียนบ้างนิดหน่อย นิดจริง ๆ ส่วนใหญ่เขาให้ทำงานของตัวเองมากกว่า และที่ย้ายมาฝ่ายตัดต่อเพราะว่าระหว่างที่เขียนบทอยู่ได้มีโอกาสไปเช็คเทปที่ก่อนที่เขาจะออนแอร์เขาจะต้องเช็คก่อนว่าตัดออกมาเป็นอย่างไรเขาจะมานั่งรวมกันทั้งผู้บริหาร คนตัดต่อ ผู้กำกับ คนเขียนบท ก็ไปเช็คแล้วเวลาดูเทปออกมา และรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นช็อตนี้ก่อน มันน่าจะอย่างนี้นะ เหมือนเราเห็นทางและส่วนตัวก็พอตัดได้บ้าง และรู้สึกว่าอยากต่อยอดตรงนั้นมากกว่า

เมื่อตัวหนังสือมาเป็นภาพเคลื่อนไหว

            ส่วนตัวคิดว่าเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาไปใช้ได้เยอะเพราะสุดท้ายแล้วการเขียนบทคือการเล่าเรื่อง ซึ่งคณะที่เราเรียนมันก็ต้องสื่อสารต้องเล่าเรื่องอยู่แล้ว แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้เล่าในแง่ตัวหนังสือเหมือนคนเขียนบท แต่ว่าเรายังเอาหลักการจากที่เขียน มาใช้กับงาน Production หรืองานอะไรก็ตาม ก็ปรับใช้ได้

จากใจรุ่นพี่ BU Come One Season 1

            สิ่งที่ประทับใจในโครงการนี้คือการที่ได้มารู้จักคนในนี้ อย่างที่บอกเขาเป็นคนมีชื่อเสียง แต่ละคน อย่างเช่น เราติดตามผลงานเขา แล้วพอเราได้เจอตัวจริงได้ฟังทัศนคติของเขาเราก็ได้เอาไปปรับใช้กับงานของเราได้ คือเราได้โอกาสที่เอาตัวเองมานั่งฟังอะไรที่ Exclusive เราได้เข้าประชุมฟังเขาคุยเรื่องบทกัน และบางทีเราก็ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของเราออกไปด้วย คือสิ่งที่ดีมาก ๆ ที่สุดที่ช่วยให้เราเรียนรู้และเติบโตขึ้นได้อย่างเร็ว

            น้องที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ BU Come One หลัก ๆ ก็เป็นตัวเองนั่นแหละ อยากให้เริ่มเก็บผลงานไว้ตั้งแต่ตอนนี้และเอามาโชว์ให้เขาเห็น บางทีไม่จำเป็นต้องเป็นคลิปวิดีโอก็ได้ แค่เขียนหรืออะไรก็ได้ ที่แสดงตัวตนเราออกมาได้จริง ๆ ถ้าได้เข้ามาแล้วเราจะรู้สึกได้ว่ามันคุ้มมากเลย พี่เขาอยากเห็นความตั้งใจ ถ้าเรามีใจแล้วพร้อมที่จะเรียนรู้เขาก็พร้อมที่จะสอน แต่อย่างน้อยก็ให้เขาเห็นว่าเรายังพอมีต้นทุนบ้างนิดนึง เขาก็น่าจะเลือกเราแล้วนะ สู้ ๆ แล้วมาเจอกัน

            BU Come One โครงการที่เปิดเส้นทางฝันของคนรุ่นใหม่ให้เติบโตในแวดวงการอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงให้เป็นจริง มาร่วมติดตามการเดินทางของคนมีฝันที่ได้ทำงานจริงกับช่อง ONE31 ไปพร้อมกับเรา

ขอขอบคุณภาพประกอบจากนักศึกษาโครงการ BU Come One คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer & Photographer

“Do what you like and Love what you do.” ใช้ชีวิตให้นอกกรอบ แต่ไม่ต้องเหนือทุกกฎเกณฑ์

Writer

เด็กนิเทศศาสตร์ เสพติดการดูซีรีส์ ชอบดูละคร ภาพยนตร์ และรายการแวดวงบันเทิงเป็นชีวิตจิตใจ ที่อยากทำงานเบื้องหลัง ผลิตงานในสิ่งที่ตัวเองชอบให้ได้ดีเป็นที่รู้จัก

Writer

สาวแดนใต้ ตาคม ผมยาว เด็กนิเทศศาสตร์ผู้แบกความฝันของตัวเองและครอบครัว มีชีวิตอยู่เพื่อการเขียนและการพูด ความสุขของเธอคือการได้เรียงร้อยถ้อยคำผ่านตัวอักษรและถ่ายทอดผ่านน้ำเสียง หลงใหลในชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอิสระ ชอบเสน่ห์แห่งรอยยิ้มที่ได้เห็นทุกคนอ่านเรื่องราวผ่านปลายปากกาที่เธอเขียน

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว

Photographer

ผมรักและหลงใหลในการถ่ายภาพ ชอบออกไปเที่ยวถ่ายภาพในที่ที่ไม่เคยไป มีทั้งไปคนเดียวและไปกับกลุ่มเพื่อน ชอบทำอะไรหลายอย่างเช่น ตัดต่อทำคลิป เล่นเกม และยังอยากทำสิ่งที่ไม่เคยทำอีกหลายอย่าง ถ้ามีโอกาสก็จะทำให้เต็มที่ตลอด