โต้วาทีประเพณีน้องใหม่ งานประจำปีของชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ศึกดวลไมค์แต่หัวใจผูกกัน สานสัมพันธ์น้องใหม่

            “ลิ้นกับฟัน พบกันที่ไรก็เรื่องใหญ่ น้ำกับไฟ ถ้าไกลกันได้ก็ดี” ไม่ต้องแปลกใจนะคะว่าทำไมถึงเปิดมาด้วยเพลง “คู่กัด” ของพี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ก็เพราะเรายังคงอินอยู่กับการแข่งขันโต้วาทีประเพณีน้องใหม่ ครั้งที่ 38 ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            การแข่งขันโต้วาทีได้ประกาศผลผู้ชนะไปแล้ว ซึ่งเป็นการจัดงานประเพณีโต้วาทีน้องใหม่ ครั้งที่ 38 ของชมรมปาฐกถาและโต้วาที ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้เฟรชชี่น้องปี 1 ได้ฟาดฟันกันด้วยวาทศิลป์ โต้ตอบด้วยเหตุและผล เพื่อฝึกทักษะการพูด การโน้มน้าวใจ การใช้ปฏิภาณไหวพริบและถือเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคณะ โดยในปีนี้มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 7 ทีมคือ

  1. คณะนิติศาสตร์
  2. คณะบริหารธุรกิจ
  3. คณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน
  4. คณะบัญชี
  5. วิทยาลัยนานาชาติจีน
  6. คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว
  7. คณะนิเทศศาสตร์

            ตั้งแต่การแถลงข่าวในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 และเริ่มแข่งขัน จนมาสิ้นสุดวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ถือว่าเป็นการเดินทางที่ยาวนานเลยทีเดียวในการแข่งขันโต้วาที ซึ่งในรอบชิงชนะเลิศ ก็เป็นการแข่งขันระหว่างคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว และคณะนิเทศศาสตร์ เราขอแสดงความยินดีกับคณะนิเทศศาสตร์ สำหรับชัยชนะในปีนี้ด้วยนะคะ

            ตามเรามาพูดคุยกับประธานชมรมและผู้เข้าแข่งขันในปีนี้กัน ญัตติหรือประเด็นการโต้วาทีจะเกี่ยวกับ Circular Living และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยของเรากำลังรณรงค์อยู่พอดีเลย

มีเวลาซักสองสามนาทีไหม ถ้าเธอไม่ยุ่งอะไร (ขอฉันคุยด้วยสองสามคำ)

            เมื่อเราถาม พี่ลูกนัท-นัทวัฒน์ ชาวโพธิ์สระ ประธานชมรมปาฐกถาและโต้วาที นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ถึงเรื่องประเพณีโต้วาทีน้องใหม่ พี่ลูกนัท ได้อธิบายให้ฟังอย่างสั้น ๆ ได้ใจความว่า “การโต้วาทีประเพณีน้องใหม่มันก็เหมือนเป็นการจัดขึ้นมาในทุก ๆ ปีจนเรียกว่าประเพณีครับ คำว่าน้องใหม่ก็คือเป็นการโต้วาทีสำหรับเอานักศึกษาชั้นปีที่ 1 มาเป็นนักโต้ ก็เลยเรียกว่าการโต้วาทีประเพณีน้องใหม่ครับ จนครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 38 แล้ว ”

            อีกทั้งในตอนท้ายพี่ลูกนัทยังมีเรื่องที่จะฝากสำหรับน้อง ๆ ที่สนใจในการโต้วาทีว่า “อยากให้ทุกคนหันมาสนใจทางด้านการพูดมากกว่าครับ เพราะว่าทุกคนเราใช้การพูดในชีวิตประจำวันอยู่แล้วแต่ว่าการพูดดี พูดเก่ง พูดเป็นมันแตกต่างกัน เราจะทำยังไงให้เราพูดเป็น พูดให้มันเข้ากับสถานการณ์ พูดให้สมกับกาลเทศะแค่นั้นเอง” อีกทั้งยังเสริมมาอีกว่า “ใคร ๆ ก็เป็นนักโต้วาทีได้ อยู่ที่การฝึกฝนล้วน ๆ เลยครับ”

            เรามาพูดคุยกับทางด้านนักโต้วาทีกันบ้างดีกว่าค่ะ ว่าพวกเขามีความรู้สึกอย่างไรกับประเพณีนี้บ้าง

ก่อนเคยเหงา เคยรู้สึกเหว่ว้า (เคยมองหานักโต้ที่ดีอยู่ที่ใด)

            เมื่อถามผู้เข้าแข่งขันว่านักโต้ในความคิดของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง น้องต้นหมาก-อธิราช ทองสิน นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ก็ได้ให้คำตอบไว้อย่างชัดเจนว่า “อย่างแรกที่นักโต้ที่ดีต้องมีคือ ความตรงต่อเวลาครับ เพราะว่าการแข่งขันโต้วาทีมันมีจำกัดเวลาด้วย แล้วเราต้องพูดเนื้อหาให้อยู่ในช่วงเวลานั้น แล้วก็ต้องพูดให้พอดีกับเวลาที่เค้ากำหนดมาครับ นั่นคือเป็นใจความสำคัญของนักโต้เลย อย่างที่สองคือนักโต้ก็ต้องมีวาทศิลป์เป็นของตนเอง และต้องเป็นคนที่ขวนขวายหาความรู้ แล้วก็ต้องอ่านหนังสือเป็นหลัก เพราะว่าการที่เราจะเอาข้อมูลมาอ้างอิง มาพูดคุยกัน มันต้องใช้ข้อมูลที่เป็นวิชาการด้วย เป็นวิจัยด้วย ต้องเป็นข้อมูลที่หลากหลายอีกด้วย” อีกทั้งน้อง ๆ จากคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวยังเสริมมาอีกว่า นักโต้ที่ดีควรจะต้องหัวไว มีความรู้รอบด้าน พูดจาฉะฉาน และก็ไม่ตื่นเต้น มีความคล่องแคล่วและความมั่นใจนั่นเองค่ะ

พรหมลิขิตบันดาลชักพา (ดลให้มาพบกันทันใด)

            เมื่อเราพูดถึงเหตุผลที่มาสมัครร่วมทีมโต้วาที น้องต้นหมากคนเดิมก็ตอบด้วยความยิ้มแย้มว่า “ตอนแรกผมไม่เคยทำเกี่ยวกับการโต้ การแข่งอะไรเลยครับ ไม่เคยอะไรทั้งสิ้นเลย แต่ด้วยความที่ตัวเองอยากจะพัฒนาการพูด พัฒนาการให้พูดฉะฉานขึ้น มีความคิดขึ้น ก็เลยมาเข้าชมรมปาฐกถาและโต้วาทีครับ”

            ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างจากคณะมนุษยศาสตร์ที่ต้องฝ่าฟัน เพื่อให้เข้ามาอยู่ในทีมโดยการแคสติ้ง โดยน้อง ๆ จากคณะมนุษยศาสตร์ฯ ยังเล่าอีกว่า ”ผมเข้าแข่งขันด้วยการแคสติ้งครับ คือเข้าชมรมปุ๊บ พี่เค้าก็จะให้เข้ากรุ๊ปไลน์ แล้วก็ให้ญัตติมา แล้วก็ไปแคสต์แข่งกับพี่เค้า แต่ครั้งแรกก็เละเลยครับ เพราะเราไม่รู้ข้อมูล ไม่รู้ว่าต้องญัตติอะไร หาข้อมูลแบบไหนก็คือเอาตามที่เข้าใจไปแคสต์ พี่เค้าก็ด่ายับเลย (หัวเราะ) พี่เค้าก็ติว่ามีอะไรต้องเพิ่มเติม ส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้นกว่ารอบแรก”  เห็นไหมว่าแต่ละทีมก็มีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน แต่ก็มาเป็นส่วนหนึ่งของโต้วาทีประเพณีน้องได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ใจสู้หรือเปล่า (ไหวไหม บอกมา)

            ก่อนที่จะแข่งโต้วาที เราก็ต้องมีการเตรียมตัวก่อนใช่ไหมล่ะคะ เราไปดูกันดีกว่าว่าผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนมีวิธีการเตรียมตัวกันอย่างไรและจะเข้มข้นแค่ไหน น้องเติ้ล-ณัฐชภัค เทศน้อย นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ ได้บอกว่า “ก็มีการซ้อมครับ มาซ้อมที่มหาลัยเกือบทุกวันครับผม แบบอาทิตย์ละวันสองวัน มีซ้อมจริงซ้อมจับเวลาจริง คิดหัวข้อจริง”

            ซึ่งน้องนั้นก็ได้ซักซ้อมอย่างเข้มข้นเลยทีเดียวค่ะ ส่วนทางด้านคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวนั้นจะเน้นไปที่การจับประเด็นและการจัดการกับจุดอ่อนของตัวเองนั่นเองค่ะ “หาข้อมูลแล้วก็เขียนสคริปต์เองครับ แต่โต้สดไม่ได้ซ้อมอะไรเลย มันมีการจับประเด็นของฝ่ายตรงข้ามอย่างนี้คับ ว่าเราจะจับประเด็นยังไง หาจุดอ่อนของเขาตรงไหน เพื่อที่เราจะได้เอามาโต้กลับ แล้วก็หาจุดอ่อนของเรา เพื่อบางทีจะได้อุดรอยรั่วของเรา” ตัวแทนจากคณะมนุษยศาสตร์เล่าให้เราฟัง

แต่บอกตอนนี้ไม่รู้จะเร็วไปหรือไม่ (ก็ยังไม่รู้ว่าญัตตินั้นคืออะไร)   

            การโต้วาทีจะไม่สนุกเลยถ้าไม่มีการโต้สด แต่ว่าผู้เข้าแข่งขันส่วนใหญ่ก็ชอบที่จะได้ญัตติมาก่อนเพื่อความอุ่นใจ “ให้ญัตติมาเลยง่ายกว่าคับ หนึ่งคือ เราได้มีเวลาเตรียมตัว สอง เราได้ทำการบ้านของเราว่าเราจะใช้คำไรบ้าง มีวาทศิลป์ อย่างไร สาม คือเราจะได้ขัดเกลาคำพูดของเรา หรือบทบางตัว ที่แบบเตรียมไว้ แต่พอได้ญัตติมา มันก็จะมีสดเล็กน้อยตอนที่เราไปค้านกับเค้า ที่ผมว่าโต้สดยากกว่า เพราะเราต้องหาข้อมูลเดี๋ยวนั้น แล้วก็แบ่งข้อมูลเดี๋ยวนั้น เราไม่มีเวลาแบบมาตรวจสอบคำพูด ตรวจสอบความหมายอะไรที่ชัดเจนกว่าก็เลยยากกว่า” น้องต้นหมากกล่าว แต่ว่าการโต้สดก็ไม่ได้มีอุปสรรคแค่เรื่องเวลา “ปัญหาอาจจะเกิดได้หลายปัจจัย ทั้งเรื่องคอม เรื่องเน็ต อะไรพวกนี้มันสามารถเกิดได้ครับ” น้องเติ้ลจากคณะบริการธุรกิจ กล่าวเสริม

กำลังใจจากใครหนอ (ขอเป็นเสียงเชียร์ ให้ฉันได้ไหม)

            แน่นอนว่าถ้าขาดเสียงเชียร์ไปนักโต้วาทีของเราคงจะหมดแรงอย่างแน่นอน เพราะน้อง ๆ จากคณะมนุษยศาสตร์ฯ กล่าวว่า”เสียงจากกองเชียร์เป็นกำลังใจสำคัญ เค้าจุดไฟให้เราแรงขึ้น แรงขึ้น มันฮึกเหิม เวลาเค้ากรี๊ดขึ้นมา เหมือนเค้าสนับสนุนเรา ทำให้เราต้องพูดได้ ต้องพูดได้นะ ทีมเราจะเน้น เรื่องของวาทศิลป์ แล้วยิ่งถ้าเกิดกองเชียร์เค้าส่งกลับมาให้เราฮึกเหิมได้ เราก็จะมีกำลังในการพูด และอารมณ์มันก็จะขึ้นไปได้มากกว่า” อีกทั้งน้องเติ้ลยังออกความเห็นไว้ว่า “กำลังใจจากกองเชียร์ จากพี่ทุกคน เพื่อนทุกคนสำคัญที่สุดแล้วครับ (ยิ้ม)”

จะตอบแทนความรัก (ที่ฉันได้จากเธออย่างไร…โต้วาที)

            หลาย ๆ คนคงคิดว่าโต้วาทีประเพณีน้องใหม่คงทำไปเพื่อสืบต่อ สืบทอด ที่มีมาอย่างยาวนาน ทำกันทุกรุ่น แต่น้องต้นหมากกลับบอกว่า “สิ่งที่ได้จากประเพณีนี้ หนึ่งคือคำว่าเพื่อน ผมยอมรับเลยว่าได้เพื่อนจากประเพณีนี้ครับ คือตอนแรกก็มองว่าเป็นคู่แข่ง พอแข่งเสร็จก็กลายเป็นเพื่อน คือตอนแรกเจอกับบัญชีก่อนเข้าห้องก็เดินคุยกันไปเรื่อย เราคิดว่าเราเป็นเพื่อนกัน วันนี้เราจะไม่ได้มาแข่งกัน เราจะมาแลกเปลี่ยนอะไรซักอย่างด้วยกัน อย่างที่สองคือ ได้พัฒนาด้านการพูดมากขึ้น”

            ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่น้อง ๆ ได้จากประเพณีโต้วาทีน้องใหม่คงไม่ต่างกัน เพราะน้อง ๆ จากคณะมนุษยศาสตร์ฯ ก็ได้บอกว่า “มันได้มิตรภาพ ได้รุ่นพี่ ได้เพื่อน คิดว่ามันเป็นประสบการณที่ถ้าไม่มา ก็หาจากที่อื่นไม่ได้ เราจะได้พัฒนาตนเองจากตอนแรกเป็นคนไม่มั่นใจในการพูด มาที่นี่พี่เค้าก็จะสอน วิธีการพูดที่ถูกต้อง พูดยังไงให้คนเชื่อ เวลาโตไปเราทำงานคำพูดเป็นสิ่งแรกที่เราจะใช้สื่อสาร ถ้าเราพูดโอเค ทุกคนก็จะโอเคกับเรา”

เชื่อฉัน อย่าหลงไปเชื่อใคร (ฉันนี้แหละห่วงใย อยากให้ลองมาสมัครจริง ๆ)

            เหล่านักโต้วาทีก็ได้ฝากข้อความมาว่า “การโต้วาทีประเพณีน้องใหม่ อย่ามองว่ามันยากหรือมันง่ายแต่ให้มองว่าเราได้อะไรจากการแข่งขันนี้  จะบอกว่ามันสนุกและมันท้าทายตัวเอง  มันไม่ใช่แค่ให้เราแข่งขันอย่างเดียว มันยังเสริมสร้างทักษะอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านการพูด การใช้เหตุและผล หรือการใช้ปฏิภาณไหวพริบ แถมยังเป็นประสบการณ์ที่เราอาจต้องใช้ในอนาคต ถ้าสมมุติน้องโตขึ้นอาจเป็นนักการเมือง อยู่ในสภาวะต้องโต้วาทีก็ฝึกไปได้เหมือนกัน ก็อยากให้น้อง ๆ ลองให้โอกาสตัวเองได้ลองเรียนรู้สิ่งใหม่ คือถ้าเป็นสิ่งที่น้องเคยทำ น้องก็จะได้พัฒนาต่อยอดต่อไป แต่ถ้าเป็นสิ่งที่น้องไม่เคยทำ ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ไหน ๆ ก็เป็นโอกาสสุดท้ายของเด็กปีหนึ่งเนอะ แล้วจะบอกว่าน้องคิดไม่ผิดที่ได้มาร่วมโต้วาทีประเพณีน้องใหม่”

            นี่คือทั้งหมดที่เราพาไปทัวร์ โต้วาทีประเพณีน้องใหม่ ครั้งที่ 38 เราก็ได้เห็นแล้วว่าประเพณีนี้ควรค่าแก่การสืบต่อ สืบทอด มากแค่ไหน เพราะเราได้ไปเห็นบรรยากาศของจริงในการแข่งขันโต้วาทีมาแล้ว เรียกได้ว่า ดุเดือด เผ็ดมันส์ แบบไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว นับว่าเป็นหนึ่งกิจกรรมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่อยากให้เหล่าเฟรชชี่ปีต่อ ๆ ไปมาลองประชันฝีปากกัน ถ้าใครสนใจ ปีหน้าก็ลองสมัครเข้ามากันเยอะ ๆ นะคะ!

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ นักศึกษา คณาจารย์ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน

Writer

จงศรัทธาและเชื่อมั่นในตนเอง ตัวแม่สายมูเตลู ว่าง ๆ ชอบไปดูดวงเล่น มีชื่อเสียงอันโดดเด่น คือสั่งงานเก่งเป็นที่หนึ่ง จริงจังทุกการทำงาน มีมาตรฐานชั้นสูง ยืนหนึ่งเรื่องความเฟียส แต่ถ้างานไม่เนี้ยบก็กลับไปแก้มาใหม่

Writer

สาวน้อยสไตล์เกาหลี สนใจในภาษา รักทุกอย่างที่มีความเกาหลี หากว่างชอบเข้ากูเกิ้ลหาแรงบัลดาลใจใหม่ ๆ ชอบพอ ๆ กับการออกไปเที่ยวนั่งรถเล่นมองวิวข้างทาง มีตัวตนหลายมิติ ขึ้นอยู่ว่าคิดอะไรในตอนนั้น

Writer

เรียนอยู่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาดิจิทัล ชอบอ่านนิยายเก่า อิงประวัติศาสตร์ ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับป่า แต่เกลียดการเดินป่า พยายามทำสถิติอ่านหนังสือวันละเล่ม หอสมุดคือบ้านหลังที่สอง อยากเจอให้ไปตามที่หอสมุด

Photographer

ถ่ายรูปมือใหม่ ชอบอะไรเกี่ยวกับเบื้องหลัง ชอบเสียงดนตรีและผลงานศิลปะดาร์ก ๆ