ภาษาคือประตู่สู่โลกกว้าง นี่คือนิยามของ พี่หยางหยาง-สุดารา กัลปพฤกษ์ นักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เธอคือหนึ่งในนักศึกษาของโครงการ ASEAN Foundation Model ASEAN Meeting 2019 (AFMAM) และได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ประเทศสิงคโปร์ เรามีโอกาสสนทนากับรุ่นพี่สายกิจกรรม ล้วงประสบการณ์ต่างแดนมาบอกเล่ากันจ้า
Passion ด้านภาษา
เรานัดเจอรุ่นพี่คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการท่องเที่ยว ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เราอยากรู้ถึงที่มาที่ไปของความสนใจในการเรียนภาษาของพี่หยางหยาง “ที่เลือกเรียนคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการท่องเที่ยว เพราะสนใจภาษาอังกฤษ สำหรับพี่รู้สึกว่าภาษาอังกฤษเป็น Main language ที่เราต้องใช้ ถ้าเรารู้ถึงวิธีการใช้ภาษาที่ถูกต้อง ก็จะช่วยยกระดับการใช้ภาษาของเรา การที่เราสามารถนำภาษาไปใช้ในชีวิตจริงได้ เราคิดว่า มันมีประโยชน์มาก พี่ไม่ได้ศึกษาแค่ภาษาอังกฤษ แต่ยังมี Passion ที่จะศึกษาภาษาอื่นด้วย”
ตัวแทนโครงการ ASEAN Foundation Model ASEAN Meeting 2019
จากข้อมูลที่เราได้เกี่ยวกับพี่หยางหยาง เธอมีความสามารถด้านภาษาที่โดดเด่น ทำให้รุ่นพี่ของเราคนนี้ ได้เข้าร่วมเป็นตัวแทนโครงการ ASEAN Foundation Model ASEAN Meeting 2019 จัดขึ้นที่ประเทศสิงค์โปร์ “การมีส่วนร่วมในโครงการนี้ เริ่มต้นจาก ศูนย์ International ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพติดต่อไปที่คณะ และพี่ก็รู้สึกว่า โครงการนี้น่าสนใจ และยังได้ไปต่างประเทศอีกด้วยก็เลยมาสมัคร โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยร่วมไปด้วย”
พี่หยางหยางขยายความว่า “โครงการ ASEAN Foundation Model ASEAN Meeting (AFMAM) เป็นโครงการของมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เยาวชน เกี่ยวกับกระบวนการทำงานภายในของอาเซียน รวมทั้งการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เพื่อให้แก่นักศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ เป็นการจำลองสถานการณ์ของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หลายคนอาจเคยได้ยินว่า คือ การประชุมนายกรัฐมนตรีของประเทศต่าง ๆ ส่วน AFMAM ที่ไปร่วม คือ การจำลองสถานการณ์ ก่อนจะนำข้อมูลทั้งหมด ไปเผยแพร่ในการประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit”
เธอคือหนึ่งในเยาวชนไทยที่ได้ร่วมโครงการ
เธอบอกว่า “เมื่อปี 2018 พี่ส่งใบสมัครไปในฐานะผู้เข้าร่วม โดยเขาจะให้ตำแหน่งเรามา พี่ได้จำลองสถานการณ์เป็นรัฐมนตรีประเทศบรูไน พี่ต้องเขียนปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และวิธีแก้ปัญหา ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายมาก ในปี 2019 พี่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ASEAN Secretariat คือ สำนักเลขาธิการอาเซียน โดยพี่จะต้องช่วยประธาน ตรวจดูรายงานของแต่ละประเทศ และสรุปกันในห้องประชุม มันท้าทายตรงที่เราต้องทำให้เสร็จภายในเวลาที่จำกัด การได้จำลองสถานการณ์ และได้จำลองการเป็นตัวแทน หรือตำแหน่งทำให้เข้าใจการทำงานของพวกเขามากขึ้น”
อุปสรรคคือโอกาสของการเรียนรู้
แน่นอนว่า โครงการระดับนานาชาติแบบนี้ย่อมมีอุปสรรคมากมาย “พี่ไม่ใช่เด็กรัฐศาสตร์ จึงไม่ค่อยรู้ข้อกฎหมาย เช่น เรื่องการปกครอง หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พี่ต้องพัฒนาตัวเองในส่วนนี้ มีครั้งหนึ่งที่พี่เขียนรายงานไม่ได้ ตอนนั้น รู้สึกว่างเปล่าและเครียดมาก เพราะรายงานของเรามีรายละเอียดไม่มากพอ แต่ต้องขอบคุณทักษะต่าง ๆ รวมถึง ทักษะทางภาษา ที่ทำให้เราผ่านมันมาได้”
เวทีอาเซียนเปิดโลกกว้าง
การเป็นตัวแทนเยาวชนได้เข้าร่วมทำงานกับเพื่อน ๆ ในอาเซียน ทำให้ได้เรียนรู้มากมาย “ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนมากขึ้น พี่รู้สึกว่า มันทำให้พี่ก้าวขึ้นมาอีกขั้น จากการที่พี่ได้เข้าไปทำงานนี้ หลังจากที่จบโครงการ พี่รู้สึกว่าภูมิใจมาก ที่ผ่านโครงการนี้ได้ เพราะมีความท้าทายในหลายด้าน และยกระดับความคิดเรา อีกสิ่งหนึ่ง ที่ได้จากโครงการนี้ คือ ได้ Connection ดี ๆ จากโครงการนี้เยอะมาก”
อาชีพในอนาคต
พี่หยางหยางได้วางเส้นทางชีวิตของตัวเองไว้ “อาชีพที่พี่อยากทำ คือ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหน่วยงานสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ส่วนตัวพี่เป็นคนที่ชอบทำกิจกรรม หรืออะไรที่เกี่ยวกับงานจิตอาสา เพราะชอบการที่เราออกไปเห็นโลกภายนอก โดยที่เราไปช่วยเหลือ ให้แรงผลักดัน และให้การศึกษากับเขา สิ่งนี้เลยทำให้ UN ตอบโจทย์ในด้านอาชีพของพี่มาก”
เธอจึงเป็นรุ่นพี่อีกคนหนึ่งของคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการท่องเที่ยวที่พวกเราภาคภูมิใจ ความสามารถด้านภาษา มุมมองในการมองโลก การไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค นี่คือ คุณสมบัติของคนที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากในอนาคต
สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพที่สนใจสามารถติดตามโครงการ ASEAN Foundation Model ASEAN Meeting ได้ที่ https://www.facebook.com/ASEANFoundation เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทำให้เราได้พบกับประสบการณ์ใหม่ ได้ความรู้ พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับเพื่อนต่างชาติอีกด้วยจ้า!
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก พี่หยางหยาง-สุดารา กัลปพฤกษ์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ