เปิดคลาสเฉพาะกิจโรงเรียนวันเสาร์ แสนสนุก กับ Saturday School

Active Learning และ Project-based Learning เรียนรู้ผ่านกระบวนการคิด สนุกไปกับกิจกรรม และได้ลงมือทำโครงการเพื่อสังคม

            เมื่อการไปโรงเรียนเป็นเรื่องสนุก ได้เรียนในหัวข้อที่อยากเรียน ไม่ใช่การนั่งฟังบรรยายอย่างเดียว แต่ได้ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในชั้นเรียน เรียนรู้แบบ Active Learning เรียนรู้ผ่านกิจกรรม และให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและบ่มเพาะความเป็นผู้นำของคนรุ่นใหม่ให้เติบโต

            ขอแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับทีมรุ่นพี่ Saturday School สุดน่ารัก ขวัญใจวัยรุ่น อายุยังน้อยและมากความสามารถ ได้แก่ พี่มะมิ้ว, พี่บุ๊คกือ และพี่แอนดี้ กลุ่มผู้บริหารคนรุ่นใหม่จาก Saturday School และจะมาเป็นทีมพี่ ๆ กระบวนกรคนสำคัญของโครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Leader Incubation Program) ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่จะช่วยให้น้องทุกคนได้พัฒนาตนเอง และสร้างสรรค์โปรเจคเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

พี่แอนดี้ จาก Saturday School

พี่บุ๊คกือ จาก Saturday School

พี่มะมิ้ว จาก Saturday School

Saturday School มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์

            ทุกคนคงสงสัยว่า Saturday School หรือมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ เป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับอะไร พี่มะมิ้ว อธิบายให้เราฟัง “Saturday School หรือมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ เราทำเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษา สร้างความเท่าเทียมกันในการศึกษาให้เกิดขึ้นกับน้องนักเรียนหรือนักศึกษา”

            ทีมทำงานของ Saturday School ส่วนใหญ่จึงเป็นวัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่ ที่มีอุดมการณ์ที่จะสร้างการศึกษาที่เข้าถึงทุกคนได้ พี่มะมิ้วเล่าต่อว่า “Saturday School ใช้หลักการของ Volunteer Base คือการรับอาสาสมัคร ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมทางการศึกษาได้ เราทำงานหลัก ๆ คือการออกแบบการเรียน จะมีการออกแบบวิชาต่าง ๆ ให้สนุกและน่าสนใจนอกห้องเรียน เพราะเราเชื่อว่าคนทุกคน รวมถึงเด็กไทยทุกคนสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ได้สูงสุด”

หลักสูตรผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

            การมาร่วมออกแบบการเรียนรู้ในโครงการครั้งนี้ พี่บุ๊คกือ บอกกับเราว่า เน้นการมีส่วนร่วม การแสดงความคิดเห็นจากน้องที่เข้าร่วมโครงการ

            “เป้าหมายของวิชาเรา เราต้องการสร้างให้นักศึกษาเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทีนี้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมันต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน ทั้งคนที่อยู่ในปัญหาและทั้งคนที่จะไปซัพพอร์ตเขา เพราะฉะนั้นเราพยายามที่จะสร้างรูปแบบห้องเรียนที่มีส่วนร่วม คือจะให้น้องนักศึกษามีโอกาสในการสร้างข้อตกลงร่วมกัน โดยที่เป็นข้อตกลงของทุกคน ไม่ใช่ว่ามีใครมาบอกให้ทำ”

            พี่บุ๊คกือ ขยายความให้เราเห็นภาพว่า “ตัวอย่างเช่นว่า เรื่องตรงต่อเวลา น้องก็เป็นคนสร้างขึ้นเอง สามารถเล่นโทรศัพท์มือถือในห้องได้นะ แต่ต้องปิดเสียง น้องก็เป็นคนเสนอเองเหมือนกัน เราจึงมองว่าการที่คนเราจะไปช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม ช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ สิ่งหนึ่งที่เขาจะต้องมีคือการเข้าใจผู้อื่น ทีนี้ก่อนที่คุณจะเข้าใจคนอื่นได้ เข้าใจปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ได้ ต้องเข้าใจตัวเองก่อน”

            การเข้าใจตนเองจึงเป็นหัวใจสำคัญในการเรียนรู้ ทำให้เลือกเรื่อง “สัตว์สี่ทิศ” มาสอนน้องเป็นหัวข้อแรก

สัตว์สี่ทิศหรือผู้นำสี่ทิศ กับการตั้งเป้าหมาย Goal Setting

            แนวคิดเรื่องสัตว์สี่ทิศ คือ สัตว์สี่ทิศ เป็นศาสตร์ที่อธิบายลักษณะของบุคคล โดยแบ่งบุคคลออกเป็น 4 แบบ ได้แก่ ทิศเหนือ คือกระทิง เป็นตัวแทนของธาตุไฟ เป็นคนที่มุ่งมั่น พูดจาตรงไปตรงมา มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตที่ชัดเจน ทิศใต้ คือ หนู เป็นตัวแทนของธาตุน้ำ เป็นคนที่อารมณ์อ่อนไหว สุภาพ อ่อนโยน แคร์ความรู้สึกของผู้อื่น

            ทิศตะวันตก คือ หมี เป็นตัวแทนของธาตุดิน เป็นคนชอบศึกษาค้นคว้า สนใจข้อมูลข่าวสาร ช่างคิดวิเคราะห์ ทิศตะวันออก คือ อินทรีย์หรือเหยี่ยว เป็นตัวแทนของธาตุลม เป็นคนรักอิสระ ร่าเริงมีชีวิตชีวา คิดเชื่อมโยงได้เก่ง

            นี่คือบทสรุปจาก น้องปัณณ์ เล้าวัชระ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการสื่อสารแบรนด์ ที่มาเป็นผู้ช่วยนำกระบวนการการเรียนรู้เรื่องสัตว์สี่ทิศ

น้องปัณณ์ เล้าวัชระ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            กิจกรรมหรือเครื่องมือสัตว์สี่ทิศ จึงช่วยให้น้องได้ทำความเข้าใจตนเองให้มากขึ้น และเรียนรู้ที่จะสังเกตผู้อื่น พี่บุ๊คกือ เล่าต่อว่า “หัวข้อของสัตว์สี่ทิศนำมาสอนน้อง เพื่อให้เขาได้ลองทำความเข้าใจตัวเองแบบง่าย ๆ ผ่านลักษณะของสัตว์สี่ตัวที่จะมีคุณลักษณะต่างกัน ให้เขาเริ่มเข้าใจตัวเองก่อนว่า เช่น เราเป็นกระทิง เราเป็นหนู เราเป็นอินทรีย์ ซึ่งสุดท้ายเขาจะได้มีลักษณะของการเข้าใจตนเอง แล้วก็ไปเข้าใจปัญหา เข้าใจคนอื่นได้ในอนาคตครับ”

            นอกจากเรียนรู้เรื่องสัตว์สี่ทิศแล้ว น้องยังได้เรียนรู้เรื่องการตั้งเป้าหมาย หรือ Goal Setting เมื่อเราเข้าใจตัวเอง ให้เราลองวางเป้าหมายสิ่งที่เราอยากทำ เป็นการชวนให้น้องทบทวนคุณค่า ความหมายของชีวิต และให้ฉุกคิดว่า ณ ปัจจุบันเรามองเห็นตัวอย่างไร มองเห็นภาพในอนาคตของตนเองอย่างไร และจะทำอย่างไรให้เราบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

            จากกิจกรรมของทีมพี่ ๆ Saturday School น้องหลายคนสะท้อนว่าทำให้ได้มองเห็นตัวตนของตนเองชัดเจนขึ้น และฝึกฝนเรื่องการคิดวิเคราะห์

สะท้อนการเรียนรู้เรื่องสัตว์สี่ทิศ และการตั้งเป้าหมาย

            น้องมัสแตง-ปวริศร์ พรรณพลีวรรณ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม บอกว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้วันนี้คือวิธีการดูตัวตนของตัวเองด้วยครับ บางคนยังไม่เคยได้ศึกษาตัวตนของตัวเองเลยด้วยซ้ำ ก็เป็นอะไรที่เปิดโลกมากเลยครับผม ได้รู้จักตัวเอง รู้ถึงความต้องการจริง ๆ ของตัวเองครับ”

            ส่วน น้องนีย่า-ฐานิญา โยเฮือง จากคณะเดียวกัน อธิบายว่า “สิ่งที่ได้วันนี้ที่สำคัญคือตัวเองจะแก้ไขปัญหาสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ยังไงบ้าง หรืออาจจะไม่แก้ก็ได้ อาจจะเข้าใจตัวเองให้มากขึ้นก็ได้ แล้วยอมรับมันให้มากขึ้นค่ะ”

            ขณะที่ น้องไผ่-ภานุพงศ์ พรมกล่ำ มีความคิดเห็นว่า “การเรียนเรื่องนี้เราจะได้รับรู้ถึงความคิดของคนอื่นครับ เวลาที่เราเข้าหาหรือไปทำความรู้จักกับคนอื่น จะทำให้เราเข้าหาเขาได้ง่ายขึ้น แล้วก็ได้รับรู้ถึงความรู้สึกของเขาครับ”

PCQ และ Empathy Map

            ความเข้าใจตนเอง และความเข้าใจผู้อื่น เป็นอีกประเด็น ที่โครงการเน้นเป็นอย่างมาก พี่ ๆ ได้นำเรื่อง PCQ และ Empathy Map มาให้น้องได้เรียนรู้

            PCQ ย่อ มาจาก Placement, Clarity และ Question เริ่มจาก Placement คือ การทบทวนและการจับประเด็น Clarity คือ การพูดคุยอย่างมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจน Question คือการถามเพื่อให้เกิดไอเดีย โดยพี่ให้น้องทั้งหมดแบ่งเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 3 คน คนหนึ่งเป็นคนเล่า อีกคนฟังและทบทวน อีกคนคอยสังเกต สลับบทบาทกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนมากขึ้น และฝึกการฟังอย่างลึกซึ้งไปพร้อมกันด้วย

            ปิดท้ายด้วย Empathy Map แผนที่เรียนรู้ความเข้าอกเข้าใจ แบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่ สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาทำ และสิ่งที่เขารู้สึก (อาจจะไม่ได้พูดออกมา) จากกิจกรรมนี้ทำให้เราตีความได้ว่าเป็นการฝึกการฟัง และการสังเกตผู้คน เช่น ฟังสิ่งที่เข้าไม่ได้พูด และสังเกตสิ่งที่เขาไม่ได้แสดงออก เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการที่ฝึกฝนการฟังและการเห็นอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening and Deep Seeing)

ผู้นำรุ่นใหม่ต้องมีทักษะการถามและทักษะการฟัง

            สิ่งที่น้องได้เรียนรู้มีประโยชน์มากมาย เราได้พูดคุยเพิ่มเติมกับน้องคณะบริหารธุรกิจ เริ่มต้นที่ น้องแพ็ก-พันธกานต์ จุไร บอกกับว่า “การตั้งคำถามนั้นบางทีเรายังตั้งไม่เป็น ตั้งผิด ทำให้ได้คำตอบที่ยังไม่ต้องการ ดังนั้น PCQ เป็นการตั้งคำถามถามผู้สนทนาของเรา แล้วก็การที่จะถามให้รู้ถึงความคิด ความรู้สึก แล้วก็สิ่งที่เขาจะทำครับ ซึ่งการตั้งคำถามนั้น เราอาจจะนำเอา Empathy Map เข้ามาใช้ร่วมด้วยก็ได้ นั่นคือการถามคำถามเพื่อให้รู้ในสิ่งที่คนเล่าพูด คิด ทำ และรู้สึก”

            ส่วน น้องโบ้ท-ธนากร ถนอมกุล มีมุมมองเพิ่มเติมคือ “การเรียนในวันนี้ช่วยให้เราสามารถถามคำถาม ทำความเข้าใจกับคนอื่น ทำความเข้าใจถึงสิ่งที่คนอื่นเป็นมา รู้ว่าเราควรจะถามถึงความเป็นมาของเขายังไง แล้วก็รู้ถึงขอบเขตของคำถามว่าควรจะถามมากหรือน้อยขนาดไหนครับ”

            น้องอั๋น-ปิติกร พรหมมา บอกว่า “การตั้งคำถามผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจกันและกันมากกว่า ถ้าเรายิ่งตั้งคำถาม มันก็แสดงให้เห็นว่าเราให้ความสนใจเขา ใส่ใจเขา และก็ได้เรียนรู้กันไปและปรับตัวไปเรื่อย ๆ ครับ”

            ดังนั้น โครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Leader Incubation Program) จึงเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำของนักศึกษา ทั้งด้านทักษะชีวิต (Soft Skill) ทัศนคติหรือวิธีคิด (Mindset) และเติมความรู้ (Knowledge) ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning และ Project-based Learning โครงการในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของ ฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กับ Saturday School หรือมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ ที่จับมือกันร่วมออกแบบการเรียนรู้ ร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยมีนักศึกษาทุนและนักศึกษา ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการกว่า 100 คน

            ร่วมส่งกำลังใจให้น้องทุกคนเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้มากขึ้น และขอให้สนุกกับทุกวันของชีวิต และสนุกกับการเรียนรู้ สิ่งสำคัญในชีวิตของวัยรุ่นคือการเข้าใจตนเองและการรับฟังคนอื่นนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ต่อยอดไปสู่การทำโปรเจคเพื่อสังคม ถ้าเราเข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไร คนอื่นต้องการอะไร เราก็จะสามารถหาจุดตรงกลาง และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ทั้งสองฝ่าย ดังนั้นเรามาเปิดใจ ปลูกฝังการคิดที่ดี ฝึกฟัง และเข้าใจผู้คน เข้าใจสังคม และเข้าใจโลกของเรา

ติดตามข้อมูลมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ได้ที่ www.saturday-school.org

Writer

เรียนอยู่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาดิจิทัล ชอบอ่านนิยายเก่า อิงประวัติศาสตร์ ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับป่า แต่เกลียดการเดินป่า พยายามทำสถิติอ่านหนังสือวันละเล่ม หอสมุดคือบ้านหลังที่สอง อยากเจอให้ไปตามที่หอสมุด

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว

Photographer

การถ่ายภาพเปรียบเสมือนการบันทึกความทรงจำ เพียงแค่การถ่ายภาพทำให้ความทรงจำเหล่านั้นชัดเจนขึ้น

Photographer

ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ เพราะโลกมีหลายมุมมอง

Photographer

ตอนเด็กคิดว่าคนที่เก่งคือคนที่รวย แต่พอโตขึ้นจึงรู้ว่า คนที่เก่งคือคนที่หาเวลาว่างทำในสิ่งที่ตนเองชอบได้เสมอ