ภาวะความเป็นผู้นำนั้น ไม่มีพรสวรรค์ ก็เป็นผู้นำได้ เพราะเราทุกคนสามารถสร้างมันขึ้นมาเองได้ แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน จริง ๆ นะ
พาทุกคนมารู้จักกับโครงการที่จะจุดไฟให้อยากทำสิ่งที่ดีเพื่อสังคม ทำให้โลกใบนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่สร้างสรรค์ ดีงาม นั่นก็คือ โครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change Leader Incubation Program) ซึ่งโครงการได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม 2563 นี้
เราจะนำเสนอเรื่องราวของโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง การเริ่มต้นเรียนรู้ของคนกลุ่มหนึ่งจะสนุกสนานขนาดไหน ตามมาดูกันเลย
จุดเริ่มต้นของโครงการที่มุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่
โครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change Leader Incubation Program) เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการที่จะพัฒนานักศึกษาของคณาจารย์และรุ่นพี่นักศึกษาจาก สายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยชักชวนและคัดเลือกนักศึกษาทุน ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพเข้าร่วมโครงการ กว่า 100 คน
หลักสูตรการเรียนรู้ที่พัฒนาความเป็นผู้นำต่อยอดมาจากโครงการเด็กเอ๊ะ อีกทั้ง ยังมีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทีมคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และทีมวิทยากร ได้แก่ พี่เอ้ ทีม Saturday School รวมถึงคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เปลี่ยนบทบาทจากครูมาเป็นโค้ช
Growth Mindset, Design Thinking, สัตว์สี่ทิศ, Goal Setting, PCQ และเครื่องมือการเรียนรู้ที่ฝึกทักษะการคิดให้กับน้อง ๆ นี่คือตัวอย่างของหัวข้อการเรียนรู้ (Module) ที่จะนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาโครงการที่จะทำกันในครั้งนี้
Skill, Mindset และ Knowledge
โครงการพัฒนาผู้นำ เป็นโครงการที่จะพัฒนานักศึกษา 3 มิติด้วยกัน คือ ด้านทักษะชีวิต (Soft skill) ด้านวิธีคิด (Mindset) และด้านความรู้ (Knowledge) เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้รอบด้านและนำไปใช้ได้จริง โดยในครั้งแรกได้รับเกียรติจาก พี่เอ้-คุณอิศรา สมิตะพินทุ จาก Inspira : Inspire a GREAT Day at Work Consulting Agency ที่ได้มาบรรยายในหัวข้อ Design Your Growth ออกแบบและสร้างชีวิตที่เติบโต หรือ Growth Mindset นั่นเอง
พี่เอ้-คุณอิศรา สมิตะพินทุ
พี่เอ้ ชวนให้น้อง ๆ ทำกิจกรรมการเรียนรู้มากมาย ฝึกฝนการคิดแบบเติบโตหรือ Growth Mindset ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ความพยายาม ความมุ่งมั่น และการลงมือทำ Growth Mindset เชื่อว่า ความถนัด ความฉลาด บุคลิกลักษณะ เป็นสิ่งที่เรียนรู้ และพัฒนาได้ มนุษย์เราสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเอง พร้อมที่จะต้อนรับความท้าทาย มุ่งมั่นอยากเรียนรู้มากกว่าแพ้ชนะหรือแข่งขัน เลือกงานที่จะได้เรียนรู้และเติบโต เปิดใจรับฟังความคิดเห็น และการชื่นชมความสำเร็จของคนอื่นจะทำให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
ด้วยวิธีการสอนที่น่าสนใจ เรียนรู้จากสถานการณ์ และการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในชั้นเรียน ทำให้คลาสเรียนในวันนี้ เราได้เห็นความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ของน้องทุกคน ถึงแม้จะมีเขินกันบ้าง แต่เราเชื่อว่าทุกคนสนุกกับการเรียนรู้ในโครงการอย่างแน่นอน
Growth Mindset วิธีคิดที่ให้ความสำคัญกับความพยายามและการเรียนรู้
หลังเลิกคลาส เราขอสัมภาษณ์ น้องแซนดี้-ณรัญญา ขันธ์แสง จากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง และน้องมายด์-ภาณุพงษ์ ชาวประสันต์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น เกี่ยวกับโครงการนี้ว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นยังไงบ้าง เราไปดูกันดีกว่าว่าโครงการนี้จะสนุกและมีประโยชน์ขนาดไหน
เมื่อถามถึงเรื่องที่น้อง ๆ ได้เรียนรู้จากโครงการในวันนี้ น้องทั้งสองคนตอบเสียงดังฟังชัดว่า ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง Growth Mindset และ Fixed Mindset ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาความคิดของตัวเอง ซึ่งจะทำให้ตัวเรานั้น มีการพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก โดย Growth Mindset เชื่อว่าความถนัด ความสามารถ เป็นสิ่งที่เรียนรู้และพัฒนาได้ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้รับความท้าทาย เพราะความเก่งไม่ได้มาจากพรสวรรค์เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ
น้องแซนดี้-ณรัญญา ขันธ์แสง
น้องมายด์-ภาณุพงษ์ ชาวประสันต์
ถ้าเรามี Growth Mindset ต่อให้เราพบกับความยากหรืออุปสรรคมากขนาดไหน แต่เราก็พร้อมที่เรียนรู้จากสิ่งนั้น น้อง ๆ ทั้งสองคนยังบอกอีกว่า ถึงแม้ในบางครั้งเราอาจจะคิดแบบ Fixed Mindset บ้าง แต่เมื่อเรามองเห็นความคิดอีกด้านคือ Growth Mindset จะทำให้เรามองเห็นว่า แค่เราเปลี่ยนวิธีคิดให้เติบโต อุปสรรคหรือปัญหาที่มีมันแทบจะบรรเทาลงได้เลย เราสนุกที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้เราเติบโต และมองว่านี่คือการเรียนรู้
Design Thinking คืออีกหนึ่งหัวข้อที่ถกกันในวันนั้น การคิดที่เป็นระบบ แบบแผน เพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และได้ผล เป็นการออกแบบการคิดอย่างสร้างสรรค์ กระบวนการของ Design Thinking เริ่มจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัญหาที่เรามี และเมื่อมีคำถามว่า เราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง ? คำถามนี้ทำให้ทั้งห้องอื้ออึงไปด้วยการแลกเปลี่ยนความคิด ทำให้เราได้รับรู้ถึงความต้องการของตนเองและความต้องการของคนอื่น ทำให้เรามีความเข้าใจในตนเองและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
ความเป็นผู้นำในสายตาของคนรุ่นใหม่
เมื่อพูดถึงโครงการนี้แล้ว จะไม่พูดเรื่องของ “ภาวะผู้นำ” คงไม่ได้
น้องมายด์ พูดถึงประเด็นนี้ ว่า “คนที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้คือต้องเป็นคนที่ลงมือทำมากกว่าพูด และทำเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้ทำตาม”
ขณะที่ น้องแซนดี้ บอกว่า “ผู้นำควรเป็นคนที่มีวุฒิภาวะ และมีการตัดสินใจที่แน่วแน่ อีกทั้งต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย การที่จะเป็นผู้นำนั้น มันต้องมีวุฒิภาวะมาก ๆ แล้วก็จะทำให้คนอื่นเชื่อถือเรามากขึ้น เพราะว่าถ้าเราไม่มีวุฒิภาวะเลย คนอื่นก็จะไม่มีความเชื่อถือเรามากพอ”
ปิดท้ายด้วย น้องมายด์ ที่บอกว่า “ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้นำได้ ถ้ามีการฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ”
การได้มาเรียนรู้ในวันนี้ ทำให้เราเกิดการตกตะกอนทางความคิดมากขึ้น การออกไปลองทำสิ่งใหม่เป็นการท้าทายตัวเองสามารถทำให้ตัวเราค้นพบศักยภาพในตัวเองที่เราก็อาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราทำได้ การเลือกทำแต่สิ่งที่ถนัดหรือการไม่ยอมทำสิ่งใหม่เพียงเพราะว่าจะกลัวล้มเหลวหรือเสียหน้านั้นเป็นการปิดกั้นโอกาสการพัฒนาของตัวเราเอง
ประโยคหนึ่งของพี่เอ้ที่ทำให้เรารู้สึกชอบมากนั่นก็คือ การที่เราทำไม่ได้ ก็แค่เรายังไม่ได้ทำในวันนี้เท่านั้นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ นักศึกษา คณาจารย์ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน