มาออกแบบชีวิตกันเถอะ เพราะชีวิตออกแบบได้ Design Your Life Plan

เรียนรู้การออกแบบแผนที่ชีวิต ตามหาดาวเหนือนำทาง

            ทุกคนเคยตั้งคำถามไหมว่า คนเราเกิดมาทำไม ชีวิตเรามีความหมายอย่างไร และเราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความหมาย

            เราชวนทุกคนมาเรียนรู้การค้นหาความหมายของชีวิต โครงการพัฒนาผู้นำการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Leader Incubation) โครงการที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ สายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ต้องการจะบ่มเพาะและพัฒนาคนรุ่นใหม่ โดยคัดเลือกนักศึกษาทุนและนักศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 100 คน จากหลากหลายคณะของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

พี่เอ้-คุณอิศรา สมิตะพินทุ

            วันนี้น้อง ๆ กว่า 100 ชีวิต มีโอกาสเรียนรู้หัวข้อหรือโมดูลที่ชื่อว่า Design Your Life Plan หรือการออกแบบแผนที่ชีวิต โดยมี พี่เอ้-คุณอิศรา สมิตะพินทุ พี่สาวใจดี จาก Inspira : Inspire a GREAT Day at Work Consulting Agency ที่มาเป็นวิทยากร ซึ่งการเรียนรู้ร่วมกันครั้งนี้ ให้คุณค่ากับการทำความรู้จักตนเอง ทำความรู้จักเพื่อน และเรียนรู้สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

            เชื่อหรือไม่ว่า เวลาผ่านไปเกือบ 2 เดือน น้อง ๆ ทุกคนได้ฝึกฝนตนเองผ่านหัวข้อการเรียนรู้ และกิจกรรมสนุก ๆ มากมาย ที่วิทยากรและทีมอาจารย์ออกแบบร่วมกัน

            พี่เอ้ บอกกับเราว่า “งานของพี่เอ้ คือ ทำงานเป็นวิทยากรแล้วก็โค้ชผู้บริหาร งานหลักคือ การพัฒนาคนในองค์กรด้วยรูปแบบการฝึกอบรม และมีการทำ coaching”

แผนที่ชีวิต…คือดาวเหนือนำทาง

            มองไปบนท้องฟ้า เราจะเห็นดาวเหนือส่องประกายสุกสว่างเป็นดวงแรก พี่เอ้ จึงเปรียบแผนที่ชีวิต เหมือนดาวเหนือ ในการนำทางให้ชีวิต ทำให้เรารู้ว่าเราควรจะเลือกทำงานอะไร หรือทำกิจกรรมอะไรที่จะทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายของเรามากที่สุด

            เมื่อเรารู้ว่า เราทำสิ่งนี้แล้ว จะทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายของเรามากขึ้น เราก็จะทำมันอย่างมีความสุข มีชีวิตชีวา ทั้งนี้ แผนที่ชีวิต ยังสอดคล้องกับเรื่องของการเข้าใจตัวเองก็คือถ้าเราเข้าใจตัวเอง เราก็จะรู้ว่าเราต้องการอะไร เป้าหมายของเราคืออะไรและเราจะทำอย่างไรให้เราไปถึงเป้าหมายได้ มันก็จะทำให้ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้น รู้คุณค่าของชีวิตมากขึ้นด้วย

            พี่เอ้ อธิบายถึงกระบวนการบ่มเพาะน้อง ๆ ว่า “พี่พยายามที่จะให้น้องเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งมากที่สุดด้วยการตั้งคำถามว่าฉันคือใคร ถามคำถามให้เขาตอบเกี่ยวกับตัวเองในแง่มุมต่าง ๆ แล้วก็นำไปสู่สิ่งที่ลึกซึ้งที่สุดก็คือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญที่สุดในชีวิต หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Values” พี่เอ้พูดและเสริมต่ออีกว่า “เมื่อไหร่ที่เราเลือกใช้ชีวิตในแนวทางบางอย่างที่ทำให้เราเข้าใกล้นามธรรม สิ่งนั้นที่มีความสำคัญกับเรา ชีวิตเราจะมีพลังมากขึ้น แรงจูงใจเรามากขึ้น ความกระตือรือร้น ความเบิกบานก็จะมากขึ้น”

ทักษะความเป็นผู้นำอย่างสร้างสรรค์

            สิ่งสำคัญสำหรับคนที่จะเป็นผู้นำ จำเป็นต้องมีทักษะอะไรบ้าง เราชวนพี่เอ้คุยต่อ พี่เอ้ตอบกับเราว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าใจตัวเองและเข้าใจคนอื่น “ผู้นำคือนำคน แล้วนำคนอื่นได้ต้องมีความเข้าใจมนุษย์คนอื่นอย่างลึกซึ่ง เข้าอกเข้าใจคนอื่น มี empathy ซึ่งการเข้าใจคนอื่นมันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจตัวเอง เพราะฉะนั้นมันเริ่มมาจากการเข้าใจตัวเองก่อน”

            พี่เอ้เพิ่มเติมด้วยว่าผู้นำต้องมีทักษะการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การเรียนรู้จะไม่ใช่รูปแบบของการรับเข้ามา แต่เป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำ พิสูจน์ด้วยตัวเอง หาข้อมูลมากขึ้นด้วยการลงมือทำ” ดังนั้นการเข้าใจตัวเองจึงเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาตัวเองและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวเองมากขึ้น

พลังของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล

            ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ เราชวนพี่เอ้คุยเกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อวัยรุ่นในยุคนี้ พี่เอ้ มองว่า “เด็กในยุคนี้มีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีเยอะ แต่อยู่ที่ว่าใครจะฉวยโอกาสนั้นได้มากกว่ากัน ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือเทคโนโลยีที่มันมากมายก่ายกอง แล้วก็เด็กยุคนี้เก่งมากนะคะ พี่ชื่นชม แต่ที่พี่ตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก็คือ เมื่อโอกาสมันเท่าเทียมกัน เข้าถึงง่าย แต่คนที่คว้าโอกาสอาจจะไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นถ้ามองและบอกน้อง ๆ ด้วยก็คือในความโชคดีนั้น ฉวยโอกาสไว้ ใช้เทคโนโลยี ใช้องค์ความรู้ใช้การเข้าถึงต่าง ๆ สร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุดกับชีวิตตัวเอง แล้วก็ชีวิตคนอื่นด้วยค่ะ”

            พี่เอ้พูดถึงน้อง ๆ ในคลาสอีกด้วยว่า “ทุกคนมีความเปิดรับ แต่อาจจะยังขาดทิศทางและเป้าหมายที่จะมุ่งไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้เรียนรู้คือ น้องมีของ ทำยังไง ส่วนพี่ ในฐานะที่เป็นพี่ ทำยังไงที่จะช่วยน้องเห็นเป้าหมายอะไรบางอย่าง ทำให้เขาได้ดึงศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุดค่ะ”

เสียงของน้องใหม่…ว่าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม

            หลังจากจบคลาสแล้วเราก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์น้อง ๆ จากคณะบริหารธุรกิจและคณะนิเทศศาสตร์ ได้แก่ น้องท็อป-พิชยาณัฏฐ์ จารุวัฒนพานิช น้องดอม-อัครนันท์ ลัทธิรมย์ น้องเจแปน-สุรีญดา ทองทั้งวงศ์ และน้องควีน-น้ำทิพย์ บูรณวุฒิ

            เราได้ถามถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ได้มาเข้าร่วมในโครงการนี้ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดว่าความคิดของแต่ละคนเปลี่ยนไปเยอะ มีความคิด ทัศนคติที่ดีมากขึ้นรวมถึงรู้สึกว่าตัวเองคิดบวกมาขึ้นด้วย

            น้องท็อป บอกว่า “พวกความคิดก็ดีขึ้น ได้เรียนรู้จากที่อาจารย์สอน แล้วก็นำมาปรับใช้กับตัวเองได้หลายอย่างเลย อย่างที่เขาสอนให้รู้จักข้อดีข้อเสียของตัวเอง เราลองมาคิดกับตัวเองดี ๆ เราก็ได้ปรับ ส่วนข้อดีเราก็จะได้สร้างไปด้วยครับ”

            น้องดอม อธิบายเพิ่มเรื่องแผนที่ชีวิตที่ได้เรียนรู้ว่า “เราจะได้รู้ว่าอนาคตเราจะเป็นยังไง อาจจะไม่ถึงรู้ขนาดนั้นครับ แต่เราสามารถวางแผนไว้ได้”

            ขณะที่ น้องควีน ก็คิดเช่นเดียวกันว่า “จากที่เรียนมาเราเปลี่ยนแปลงความคิด เหมือนเราคิดบวกมากขึ้น แล้วก็เหมือนเราเปิดตัวเองมากขึ้นค่ะ”

            ปิดท้ายที่ น้องเจแปน “รู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงก็คือเราคิดบวกขึ้น เรามีความรับผิดชอบในการตรงต่อเวลา จะต้องมาเรียนให้ทันเวลา ทัศนคติดีขึ้น ก็ได้รู้ว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน เป้าหมายของเราคืออะไร”

            เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงรู้แล้วว่าแผนที่ชีวิตนั่นสำคัญมากขนาดไหน พี่เอ้บอกว่าแผนที่ชีวิตเปรียบเสมือน “ดาวเหนือ” แต่ก่อนที่เราจะได้ออกแบบแผนที่ชีวิตของตนเอง เราต้องรู้จักตัวเองก่อนเป็น ถ้าเราเข้าใจตัวเองแล้ว การที่จะเข้าใจในปัญหาของคนอื่นก็ไม่ยากอีกต่อไป และทำให้เรามุ่งไปถึงสิ่งที่เราต้องการได้โดยไม่ไขว้เขว

            โครงการผู้นำทำให้น้องหลายคนสามารถเรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเอง วางแผนชีวิต ทำให้ตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นได้ เราอยากฝากให้ทุกคนลองตามหาดาวเหนือของตนเอง ออกแบบแผนที่ชีวิตกันดูนะคะ แล้วจะรู้ว่า มันมหัศจรรย์ขนาดไหน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ นักศึกษา คณาจารย์ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน

Writer

เรียนอยู่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาดิจิทัล ชอบอ่านนิยายเก่า อิงประวัติศาสตร์ ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับป่า แต่เกลียดการเดินป่า พยายามทำสถิติอ่านหนังสือวันละเล่ม หอสมุดคือบ้านหลังที่สอง อยากเจอให้ไปตามที่หอสมุด

Photographer

การถ่ายภาพเปรียบเสมือนการบันทึกความทรงจำ เพียงแค่การถ่ายภาพทำให้ความทรงจำเหล่านั้นชัดเจนขึ้น

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว

Photographer

ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ เพราะโลกมีหลายมุมมอง

Photographer

ตอนเด็กคิดว่าคนที่เก่งคือคนที่รวย แต่พอโตขึ้นจึงรู้ว่า คนที่เก่งคือคนที่หาเวลาว่างทำในสิ่งที่ตนเองชอบได้เสมอ