เปิดมุมมอง ดร.สุนทรี รัตภาสกร โลกนี้มีเพียงใบเดียว “เพราะรัก…ฉันจึงดูแล”

พูดคุยเรื่องการจัดการขยะและการรักษาสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            เราคงไม่ต้องพูดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ว่ามันรุนแรงขนาดไหน เป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะตระหนักในเรื่องนี้เท่ากัน

            แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ เรายังต้องมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป และคนรุ่นลูกรุ่นหลานเราก็ยังต้องใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ต่อไป ซึ่งอาจจะอีกนานกว่าคนรุ่นเรา ๆ มากมายนัก คงไม่ต้องถามว่า ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะหันมาดูแลโลกใบนี้ โลกใบเดียวของพวกเราทุกคน

            สำหรับเราชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรารักโลกใบนี้มากแค่ไหน และพร้อมจะเปลี่ยนตัวเองอย่างไร เพื่อรักษาโลกของเราเอาไว้ เราได้พูดคุยกับ อาจารย์เอ้-ดร.สุนทรี รัตภาสกร รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            เราชวน อ.เอ้ นั่งคุยท่ามกลางบรรยากาศสบาย ๆ ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ ด้านหน้าอาคาร A3 หรือ ตึกเพชรสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            เราถือเอาโอกาสของเทศกาลเปิดบ้านต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง งานใหญ่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ชื่อ OPEN HOUSE BU 2019 เป็นประเด็นนำร่องในการสนทนากันเลยแล้วกัน

ขยะในวันที่ไม่ปกติ

            สำหรับงาน OPEN HOUSE BU 2019 ถือว่าเป็นวาระพิเศษ ที่ไม่ปกติของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะมีผู้คนต่างหลั่งไหลกันมาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย แน่นอนว่า คนจำนวนมาก ย่อมนำมาซึ่งการกินดื่มจำนวนมาก และก็ตามมาด้วยขยะจำนวนมากเช่นกัน การเตรียมรับมือในเรื่องนี้ของมหาวิทยาลัยนั้น อ.เอ้ กล่าวว่า

            “ปีนี้ถือว่า มีสัญญาณดีขึ้น คือว่า ในวัน OPEN HOUSE BU 2019 ทั้งตัวนักศึกษาเอง บุคลากรในมหาวิทยาลัยเริ่มเข้าใจถึงการทิ้งขยะลงถัง และมากกว่านั้น คือการแยกขยะอย่างถูกต้อง อย่างน้อยความเข้าใจนี้ ก็ทำให้ง่ายต่อการเก็บขยะ และนำไปรีไซเคิลต่อไป นี่คือ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในปีนี้”

            “ปกติทุกปี ที่ผ่านมา เราไม่ได้เพิ่มถังขยะประเภทต่าง ๆ ในจุดที่วางถังขยะเพิ่มขึ้น ก่อนนี้เราทำเป็นถังเดียว เป็นถังรวม แล้วค่อยไปแยกขยะภายหลัง แต่ครั้งนี้ เราทำถังขยะแยกประเภทไว้ให้เลย แบ่งเป็น 2 ถังหลัก ๆ คือ ถังขยะสำหรับขยะรีไซเคิล และถังขยะทั่วไป และเห็นได้ชัดว่า เราสามารถลดภาระงานของการแยกขยะได้ดีมากจากงานที่ผ่านมา”

วางแผนรับขยะมหาศาล

            อ.เอ้ บอกถึงแผนการรับมือกับขยะที่เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลในพิเศษวันนั้นว่า “เรามีการเตรียมถังขยะมากกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว คือ เพิ่มจำนวนจุดมากกว่าเดิมเกือบ 50 ถัง กระจายตามตึกต่าง ๆ รวมถึงสนามหญ้า เพราะในวันนั้นมีคนมานับแสนคน  สิ่งที่น่าดีใจ คือ นักเรียนที่เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาก็เข้าใจในเรื่องนี้นะ ที่พูดแบบนี้ เพราะเห็นว่า มีการทิ้งแยกลงถังอย่างประเภทชัดเจน เช่น ขวดน้ำ แก้วน้ำ ถูกทิ้งลงถังอย่างถูกต้อง”

            “แต่หากถามว่า ยังมีการทิ้งผิดประเภทไหม? ก็ตอบเลยว่า มีค่ะ!!! อย่างไรก็ตาม เราก็กำลังรณรงค์ในเรื่องการลดใช้พลาสติก และรณรงค์เรื่องการแยกขยะ เพื่อให้ขยะพลาสติกไม่ปนเปื้อนกับขยะทั่วไป เพื่อง่ายต่อการนำไปทำลาย อันนี้ คาดว่า ร้อยละ 60 เราสามารถทำได้แล้ว เหลืออีก ร้อยละ 40 ที่อาจจะพูดได้ว่า ยังไม่ได้โฟกัสในเรื่องนี้มากนัก แต่เข้าใจว่า คนภายนอก  เช่น กลุ่มนักเรียนที่เดินทางมาร่วมงานน่าจะเข้าใจในเรื่องนี้ โรงเรียนของเขาก็คงจะมีการรณรงค์และสร้างความเข้าใจมามากพอ”

Let’s talk about everyday life

            ถ้าหากบทสนทนาด้านบน คือการจัดการ วางแผน เพื่อช่วยลดขยะในมหาวิทยาลัย แล้วในวันปกติธรรมดาทั่วไปล่ะ เรื่องนี้ มันเบาบางจางหายหรือไม่

            “ก่อนนี้เราใช้ถังขยะแบบถังเดียวทิ้งทุกอย่างลงไปรวมกัน ส่วนกระบวนการจัดการขยะ คัดแยกต่าง ๆ ก็ไปจัดการหลังจากนั้น ซึ่งเราพบว่า วิธีการเช่นนี้ มันเสียเวลามาก และเป็นการส่งภาระเรื่องขยะออกไปสู่โลกภายนอกเพิ่มเข้าไปอีก เมื่อเห็นถึงผลกระทบตรงนั้น เราจึงมีแนวคิดว่า ถ้าเรายอมเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทาง เช่น การแยกขยะ นั่นคือ กระบวนการแรก เริ่มต้นดี จะทำให้ลดเวลา และลดภาระในขั้นตอนต่อ ๆ ไป นี่จึงเป็นที่มา ว่า ปัจจุบัน เรา คือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพเริ่มต้นจัดการขยะ ด้วยการแยกขยะ มีถังขยะ 3 ถัง คือ ถังสำหรับรีไซเคิล ถังสำหรับขยะทั่วไป และถังสำหรับขยะพิษ”

            “สำหรับถังขยะรีไซเคิล กับถังขยะทั่วไป เชื่อว่า หลายคนคงจะสงสัยว่า ขยะที่กำลังจะทิ้งนั้น ควรทิ้งลงถังไหน อธิบายง่าย ๆ แบบนี้ ถ้าเป็นพวกขวดน้ำดื่มพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม ขยะจำพวกนี้ ให้ใส่ถังรีไซเคิล ส่วนที่เป็นถุงพลาสติก หรือพลาสติกที่ชิ้นเล็ก ๆ รวมถึง เศษไม้ต่าง ๆ ขยะแบบนี้ให้ทิ้งลงถังทั่วไป”

            “เชื่อว่า หลายคนคงเริ่มเข้าใจแล้วว่า มหาวิทยาลัยเน้นการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก ที่ไม่ย่อยสลาย แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้ เลือกใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้แทน”

            อ.เอ้ ได้ขยายเรื่องขยะ ไปถึงขยะจากเศษอาหารอีกด้วย ว่า “ขยะตามโรงอาหาร ก็มีการแยกเศษอาหารอยู่แล้ว แต่พวกเราอาจจะไม่รู้ เรามีจุดแยกเศษอาหารเอาไว้ ทำมานานแล้ว แต่คนที่ทำคือเจ้าหน้าที่ในโรงอาหาร อาจจะเป็นคุณป้าสักคนที่ยืนทำหน้าที่นี้อยู่ คนเหล่านี้ทำแทนพวกเรา คอยกวาดเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานลงถัง หลังจากนั้น มีคนมารับเอาขยะเหล่านี้ ไปเลี้ยงสัตว์ หรือไปทำปุ๋ย”

            อ.เอ้ ยังบอกอีกว่า “ขยะนั้น เอาจริง ๆ มีค่าหมดเลยนะ แต่ปัญหาอยู่ที่วิธีการคัดแยกขยะ ถ้าเราใช้มันอย่างคุ้มค่า และก็ทำลายขยะให้ถูกวิธี จะทำให้ขยะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เชื่อไหม มีขยะบางประเภทที่ไม่ได้เปลี่ยนสภาพ เช่น พลาสติก ก็ต้องมีวิธีการจัดการให้ถูกวิธี เพราะเรามีความเชื่อว่า ขยะทุกอย่าง สามารถจัดการได้และทำให้เกิดประโยชน์ได้ นี่จึงเป็นการนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องของ Circular Economy”

            “Circular Economy ไม่ใช่เพียงแค่ลดการใช้พลาสติก แต่ขึ้นอยู่ที่พฤติกรรมของตัวเรา หลักการ คือว่า เราใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าหรือยัง เช่น น้ำหนึ่งแก้วมันมีมูลค่า มีต้นทุนของมัน เพราะว่าน้ำดื่มก็ต้องซื้อมา แค่เราดื่มน้ำให้หมดแก้ว นั่นก็ช่วยโลกได้มากแล้ว  ถ้าดื่มไม่หมด แทนที่จะนำน้ำที่เหลือไปทำอย่างอื่น ก็กลายเป็นน้ำทิ้งไป สูญเปล่า”

ทุกคนใน BU ต้องรุกสู้…เพื่อโลก

            อ.เอ้ บอกเราว่า ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเอง ก็พยายามปรับตัว พยายามเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

            “ร้านค้าทั้งหมดในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เราได้ขอความร่วมมือ แต่เป็นไปโดยสมัครใจ ไม่ได้บังคับ เพราะฉะนั้น ร้านไหนที่ปรับตัวได้ก่อนก็เป็นเรื่องที่ดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีแก้วน้ำส่วนตัวไปเอง ร้านค้าก็ลดราคาให้ การลดราคาทางมหาวิทยาลัยเองก็ไม่เคยคุยกับทางร้านค้านะว่า ควรลดให้กี่บาท เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ ให้เขาตัดสินใจเอง เพียงแต่เราต้องการความร่วมมือ และสร้างแรงจูงใจให้ไปในทิศทางเดียวกัน”

            “ส่วนการใช้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กล่องโฟมนั้น ตอนนี้ คือขอความร่วมมือให้เลิกใช้เด็ดขาด ไม่มีทุกร้านในมหาวิทยาลัย เพราะเราเข้าใจว่า โฟมนั้น ไม่ใช่มีปัญหาแค่เรื่องไม่ย่อยสลาย แต่มันยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ควรนำมาใส่อาหาร”

            “สำหรับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพเอง แก้วน้ำทั้งหมด ตอนนี้เราปรับเป็นแก้วกระดาษ และน้ำดื่มยี่ห้อบียู ที่ห่อหุ้มด้วยพลาสติกก็จะเปลี่ยนเป็น ไม่มีพลาสติก อันนี้ คือสิ่งที่เรากำลังเดินหน้าอยู่ ทั้งหมดที่พูดมา ไม่ใช่เรื่องที่เราทำไปตามกระแส แต่เราตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะที่นี่ มีคนมากกว่า 30,000 คน มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ถือว่า เป็นชุมชนใหญ่มาก ๆ จำนวนขยะในแต่ละวัน มากกว่า 2 คันรถใหญ่ ๆ ที่วิ่งนำขยะออกไปจากที่นี่ เพียงแค่เราช่วยแยกขยะ นั่นก็เริ่มต้นได้ดีมากพอแล้ว”

สูตร(ไม่)ลับกู้โลกง่าย ๆ

            บทสนทนาเรื่องขยะในมหาวิทยาลัยกรุงเทพกับ อ.เอ้ ทำให้รู้สึกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ เอาจริง ๆ ก็ล้วนเกิดจากเรา ๆ ทุกคน ปัญหาโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ขยะเมืองล้นทะเล สัตว์น้ำเล็กใหญ่ล้มตาย เพราะ “ขยะ” ที่เราทิ้งลงไปในแต่ละวัน

            อ.เอ้ บอกว่า “ปัญหามันบรรเทาลงได้ โดยเริ่มจากตัวเรา ไม่เอาสิ่งที่เป็นมลพิษไปใส่ในธรรมชาติ อันนี้ก็ดีมากเพียงพอแล้ว ไม่ทิ้งขยะลงดิน ก็สุดยอด เพราะว่าขยะเศษเล็ก ๆ เมื่ออยู่ในชั้นดิน ก็ทับถมไปเรื่อย ๆ ทำให้ดินเสื่อม แล้วถ้าหลุดลงไปในระบบน้ำ ก็จะไปกันใหญ่ อย่าคิดว่า ทิ้งลงดินแล้วขยะไปไม่ถึงทะเลนะ ไม่ใช่เลย !!! ระบบน้ำนั้น เชื่อมต่อกันหมด”

            “ขยะในทะเล ที่อยู่ในอ่าวไทย ไม่ใช่ของคนไทยเพียงประเทศเดียว แต่มาจากคนทั้งโลก ถูกพัดมา จึงอยากขอร้องขอให้เริ่มจากตัวเรา ในอนาคต ถ้าเราไปถึงจุดที่ทุกคนเข้าใจตรงนี้ร่วมกัน  เราควรใช้พลาสติกให้น้อย จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สิ่งที่ต้องการที่สุด คือ อยากให้เรื่องนี้อยู่ในหัวใจนักศึกษา BU ไม่ใช่ทำ เฉพาะที่มหาวิทยาลัย แต่ให้ทำในทุกที่ ที่นักศึกษาไปใช้ชีวิตอยู่ รู้จักรักธรรมชาติ และไม่ทำลาย ยึดหลัก Zero Wastes คือ ดีที่สุด”

            “เรื่องการจัดการขยะเป็นความตั้งใจมานาน ต้องจัดการขยะของตัวเองให้ได้ ที่บ้านตัวเองก็แยกขยะเหมือนกัน ทำเท่าที่ทำได้ แค่เราตัดใจว่า เราไม่ทิ้งได้ไหม เรามีวินัยได้ไหม แค่เดินเอาไปทิ้งในถังขยะ ทำได้ไหม”

            “ถัดไปจากนั้น ถ้าจะทำให้ปัญหาเรื่องขยะหายไป วันนี้ ทุกคนต้องแยกขยะ แยกประเภทขยะให้ถูกต้อง เริ่มที่เรา ตั้งใจว่า จะแยกพลาสติกออกจากสิ่งที่ต้องเอาไปเผาไหม้  พร้อมกับไม่ทิ้งสิ่งของโดยไม่จำเป็น รวมถึงเลิกซื้อ เลิกสะสม อะไรที่ไม่จำเป็น ไม่กินเหลือ ไม่ทิ้ง เพราะยังมีคนอีกครึ่งโลก ที่ไม่มีอะไรจะกิน คนเมืองอย่างเราควรใช้เท่าที่จำเป็น”

            จากเรื่องของการทิ้ง คัดแยกประเภท ทั้งหมดนี้นำไปสู่วิถีทางของการลดขยะ นั่นคือใช้แต่น้อย ใช้อย่างคุ้มค่า ไม่บริโภคจนล้นเกิน ถ้าเริ่มต้นจากตรงนี้ ขยะก็จะลดลง และแนวคิดนี้ก็ควรเป็นวิธีคิดในการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ อย่างแท้จริง

Writer

สาวน้อยสไตล์เกาหลี สนใจในภาษา รักทุกอย่างที่มีความเกาหลี หากว่างชอบเข้ากูเกิ้ลหาแรงบัลดาลใจใหม่ ๆ ชอบพอ ๆ กับการออกไปเที่ยวนั่งรถเล่นมองวิวข้างทาง มีตัวตนหลายมิติ ขึ้นอยู่ว่าคิดอะไรในตอนนั้น

Photographer

ถ่ายรูปมือใหม่ ชอบอะไรเกี่ยวกับเบื้องหลัง ชอบเสียงดนตรีและผลงานศิลปะดาร์ก ๆ