อาจารย์วิชญ์วสิฐ เศรษฐีแสง เรื่องเล่าของชาวจีนกับไลฟ์สไตล์รักษ์โลกจากอดีตถึงปัจจุบัน

การรักษาสิ่งแวดล้อมของชาวจีนที่เป็นเรื่องทำได้ง่ายและใกล้ตัว

            เรื่องราวของชาวจีนกับการรักษาสิ่งแวดล้อม หากสังเกตให้ดีคือวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ปลูกฝังมาตลอด เราจึงมีโอกาสมาสนทนาเพื่อหาคำตอบการรักษาสิ่งแวดล้อมของชาวจีนกับ อาจารย์วิชญ์วสิฐ เศรษฐีแสง รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เราเริ่มต้นด้วยคำถามสบาย ๆ กับไลฟ์สไตล์แบบ Circular Living

            “เรามองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องทำได้ง่าย และใกล้ตัวมาก เรากำลังรณรงค์เรื่องการไม่ใช้ถุงพลาสติก ไม่ใช่หลอด ถ้าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องลดจำนวนลง เราไปห้างสรรพสินค้า เราปฏิเสธการรับถุงพลาสติกได้ หรือหากรับมาต้องไม่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง รับถุงพลาสติกมาแล้วต้องใช้ซ้ำอีก ในบ้านจะมีโซนที่ไว้เก็บถุงพลาสติก เพื่อนำมาใช้ซ้ำ” อาจารย์เล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้ม

            “เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ สังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่ถ้าหากจะใช้ถุงพลาสติก เราต้องจ่ายเงินซื้อ ตรงนั้นทำให้เราฉุกคิดอยู่เสมอว่า ถ้าเราไปห้าง เราต้องพกถุงพลาสติกเผื่อไว้ใส่ของทุกครั้ง ตอนนี้เวลาไปเที่ยวที่ไหน จะพกถุงพลาสติกไปใช้ซ้ำทุกครั้ง พวกสินค้าที่ใช้ ก็จะพยายามใช้สินค้าแบบเติมมากกว่าซื้อเป็นขวด เช่น ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน เป็นการลดปริมาณการใช้พลาสติกอย่างเห็นผลด้วยครับ”

            อาจารย์วิชญ์วสิฐ ได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ไต้หวัน และเดินทางท่องเที่ยว จึงมีโอกาสได้เห็นวิถีชีวิตของชาวจีน ซึ่งเมื่อมาใคร่ครวญดูแล้ว วิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของคนจีนที่ปลูกฝังกันมาเนิ่นนาน อาจจะสะท้อนถึงภูมิปัญญารักษ์โลกที่มีมานับพันปีก็ว่าได้

ความมหัศจรรย์ของแผ่นดินใหญ่

            เมื่อเราสั่งซื้ออาหาร เราคงชินกับการที่พ่อค้าแม่ค้าใส่อาหารลงในกล่องโฟม หรือกล่องพลาสติก แต่ถ้าเป็นในจีนหรือไต้หวัน ทางร้านจะใส่ในกล่องกระดาษมาให้ เพราะกล่องกระดาษนั้นย่อยสลายได้ง่ายกว่า อาจารย์บอกว่า “ในสังคมตอนนี้ ไม่ว่าจีน หรือไต้หวัน แม้กระทั่งฮ่องกงเองก็ตาม สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือเรื่องการใช้กระดาษหรือวัสดุที่เป็นกระดาษมาแทนการใช้กล่องโฟม และถุงพลาสติก”

            การใช้กล่องกระดาษ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่คนจีนได้เริ่มทำแล้ว เพื่อช่วยโลกใบนี้ อีกทั้ง การไปซื้อของที่ร้านค้า คนจีนเขาก็พร้อมใจกันถือถุงผ้าไปเอง “ถ้าไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต การที่จะขอถุงพลาสติกก็เป็นเรื่องที่ผิดปกติ เนื่องจากว่า จีนเขาจะไม่ให้ถุงพลาสติก ต้องซื้อ  เพราะคนส่วนใหญ่เขาถือถุงผ้าไปซื้อของ ถ้าต้องการถุงพลาสติกจริงๆ จะต้องเสียเงินเพิ่ม” แน่นอนทุกคนไม่อยากจ่ายเงินเพิ่ม ดังนั้นจึงเลือกที่จะใช้ถุงผ้า จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ปิ่นโตไฮโซ

            ปิ่นโตเป็นสิ่งที่อยู่กับคนไทยมานาน แต่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา คนไทยรุ่นใหม่ มองว่าการถือปิ่นโต เป็นเรื่องล้าสมัย แต่ที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น เขายังคงมีวัฒนธรรมการใช้ปิ่นโตหรือกล่องข้าว อาจารย์อธิบายให้ฟังว่า “ที่ไต้หวันจะคล้ายกัน เขาเรียกเบนโตะเหมือนญี่ปุ่น เป็นกล่องข้าว แต่ว่าถ้าเป็นของไทยมันจะเป็นคล้ายกับกล่องพลาสติกหรือไม่ก็โฟม แต่ไต้หวันจะดีไซน์ออกมาเป็นแบบกล่องกระดาษแล้วมีเป็นช่องๆ ญี่ปุ่นเขาจะเรียกเป็น “เบนโตะ” ไต้หวันเรียกว่า “เปี้ยนตัง” แล้วของไทยถ้าซื้อของเป็นเทคโฮมหรือซื้อกลับบ้าน จะมีเป็นช้อนพลาสติก แต่ไต้หวันกับจีนจะเป็นตะเกียบไม้ครับ ตรงส่วนนี้ถ้าเกิดทิ้งไปแล้ว มันก็กลายเป็นว่าย่อยสลาย ช่วยลดโลกร้อนได้ครับ”

            สำหรับบ้านเราถ้าจะให้คนหันกลับมาใช้ปิ่นโตหรือกล่องข้าวคงต้องจูงใจด้วยความสร้างสรรค์ “การจะช่วยทำให้คนกลับมานิยมใช้ปิ่นโตอีกครั้ง อาจต้องคิดใหม่ เช่น มีการออกแบบดีไซน์รูปลักษณ์ของปิ่นโตเสียใหม่ ให้ดูมีความทันสมัยมากขึ้น ทำปิ่นโต ให้เป็นปิ่นโตแบรนด์เนม หรือเป็นปิ่นโตที่มีความครีเอทีฟ สามารถถือแล้ว สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับผู้ถือ และตัวสินค้าเองก็ถูกจดจำได้ วิธีการเช่นนี้คิดว่าอาจจะช่วยทำให้เด็กรุ่นใหม่หันมาหิ้วปิ่นโตกันมากขึ้น”

กระติกน้ำชา

            วัฒนธรรมอีกอย่างของคนจีนที่เราคุ้นเคยกันก็คงไม่พ้นการดื่มชา เมื่อออกไปข้างนอก ชาวจีนจะมีกระติกใส่น้ำชาอยู่ข้างกายตลอดเวลา เมื่อทานเสร็จ ก็สามารถล้าง แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ดีกว่าใช้แก้วพลาสติก

            “อีกวัฒนธรรมของคนจีนคือเป็นชนชาติชอบดื่มชา ชาวจีนเวลาที่ออกนอกบ้าน ในมือเขาจะต้องถือกระติกน้ำร้อน ซึ่งเป็นกระติกน้ำร้อนเก็บความร้อนหรือไม่ก็เก็บความเย็น อันนี้มันก็จะเป็นสิ่งที่สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ อย่างเช่นถ้าเราไปร้านชาไข่มุก เราอยากจะกินชาไข่มุกซักสามแก้ว เช้า กลางวัน เย็น มันจะเป็นการสร้างขยะ สามแก้วคือขยะพลาสติกแล้ว แต่การที่คนจีนเขาถือกระติกน้ำชาไปด้วย เวลาเช้า พอเขาทานเสร็จ จะมีการล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ อันนี้มันสามารถช่วยลดโลกร้อนได้จริงๆ แล้วคนจีนเขายังทำกันอยู่”

            เราถามด้วยความสงสัยเพิ่มว่ามีแต่คนสูงอายุหรือไม่ที่ยังพกกระติกน้ำชา อาจารย์ตอบอย่างอมยิ้มว่า “คนเด็ก คนทั่วไปก็ใช้เหมือนกัน หรือว่าเด็กที่มาเรียนม.กรุงเทพ ลองดูเด็กจีนครับ ส่วนใหญ่เขาจะพกกระติกน้ำใส่กระเป๋าเอาไว้ อันนี้เป็นธรรมเนียมของเขา แล้วก็ทำกันจนมาถึงปัจจุบันนี้เหมือนกัน”

            เรื่องเล็กๆ พวกนี้คือสิ่งที่ไม่ควรไม่มองข้าม อาจารย์ยังชวนเราคุยต่อว่า “หากเราช่วยกันเริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และลงมือทำกันทุกคน อาจจะเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แล้วขยายเป็นวงกว้างไปเรื่อยๆ ถ้าเราร่วมกันทำ ตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผล แต่แน่นอนว่า จะเห็นผลในระยะยาว ถ้าเราเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ก็ดีกว่าไม่เริ่มเลย ต้องเริ่มปลูกจิตสำนึกตั้งแต่ศูนย์ไปเรื่อยๆ อีกไม่นาน เราจะเห็นผลของมัน ดอกผลอาจจะงอกงามขึ้นในรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา เพียงแค่เราต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้”

ปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

            ด้วยความที่อาจารย์วิชญ์วสิฐ ใกล้ชิดกับนักศึกษาหรือเด็กๆ รุ่นใหม่ การจัดการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม จึงเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชาที่อาจารย์พยายามปลูกฝังวิธีคิดแบบรักษ์โลกให้กับนักศึกษา “ยุคนี้เด็กจะเห็นการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่เขาอาจจะยังไม่ตระหนักถึงการปรับใช้จริงๆ เราจะปลูกฝังผ่านการสอนในรายวิชา เช่น ให้เด็กคิดโปรเจคช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก”

            “เราต้องกระตุ้นเขาด้วยโจทย์ ท้าทายความคิดของเขา หยิบเรื่องนี้มาพูดคุย ถกเถียงกันในห้อง ให้แนวคิดเป็นจุดเริ่มต้น ให้เขาได้คิด แล้วเขาจะค่อยๆ ต่อยอดให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ดีกว่าการไปบอกว่าห้ามใช้ถุงพลาสติกนะ บางทีไม่ได้ผล เราต้องใช้กระบวนการเรียนรู้ทำให้เขาตระหนักว่าพลาสติกมีผลต่อโลกอย่างไร”

            ได้ฟังคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรารู้สึกอิ่มเอมใจว่าอย่างน้อยเราได้เริ่มลงมือทำ อีกทั้งการหวนกลับไปเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมของบรรพบุรุษทำให้เราเห็นว่า Circular Living หรือไลฟ์สไตล์แบบรักษ์โลกนั้นผูกพันกับชีวิตของเรามาอย่างยาวนาน เพียงแต่เราอาจจะหลงลืมไปในบางครั้ง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันคิด ร่วมกันเปลี่ยนแปลง เพื่อโลกของเรา

Writer

เรียนอยู่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาดิจิทัล ชอบอ่านนิยายเก่า อิงประวัติศาสตร์ ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับป่า แต่เกลียดการเดินป่า พยายามทำสถิติอ่านหนังสือวันละเล่ม หอสมุดคือบ้านหลังที่สอง อยากเจอให้ไปตามที่หอสมุด

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว