ดร.กรัณฑรัตน์ บุญญวัฒน์ การรักษาสิ่งแวดล้อมคือความพอเพียง

ชวนคิด ชวนคุย มุมมองความคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แบบสาวนักบัญชี

            ความพอเพียงคือ การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง ด้วยวิธีคิดแบบพอประมาณ พอเหมาะพอดี เราสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีคิดเรื่องความพอเพียงได้เช่นเดียวกัน พูดคุยกับ อ.เก๋-ดร.กรัณฑรัตน์ บุญญวัฒน์ คณบดีคณะบัญชี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถึงมุมมองเรื่อง Circular Living หรือการใช้ชีวิตประจำวันโดยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม อ.เก๋ มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร แล้วบัญชีกับเรื่องของตัวเลขมาเกี่ยวอะไรกับสิ่งแวดล้อม ไปหาคำตอบพร้อมกัน

Circular Living คือความพอเพียง

            เราเริ่มต้นด้วยคำนิยามของคำว่า Circular Living อ.เก๋ มีมุมมองว่า “Circular Living เข้าหลักเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คือเราใช้อย่างประหยัด ทีนี้พอเราใช้อย่างประหยัด เราจะมองสิ่งรอบตัวที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างสมมุติ เช้ามา เราแปรงฟัน เราใช้น้ำ จะดีกว่าไหม ถ้าเราเอาน้ำใส่ถ้วยไว้ แล้วบีบยาสีฟันให้พอประมาณ แล้วแปรงฟันอย่างมีสติ บ้วนปากให้เรียบร้อย ดีกว่าที่เราจะเปิดน้ำทิ้งเอาไว้” เพียงแค่คำอธิบายสั้น ๆ แบบนี้ ทำให้เราพอจะเห็นภาพมากขึ้นว่า เป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ และใกล้ตัว

            อ.เก๋เสริมอีกว่า “Circular Living คือการใช้ชีวิตอย่างมีสติในทุกอย่างที่เราทำ แล้วน้ำคือทรัพยากรที่หายาก บางที บางสถานที่ไม่มีน้ำใช้ แต่ว่าเราอยู่ในกรุงเทพ เรายังพอมีน้ำอยู่ เพราะฉะนั้นเราใช้อย่างประหยัด สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ ทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างปกติ อีกอย่างคือการประหยัดค่าไฟให้ตัวเองด้วย ค่าไฟในแต่ละเดือนที่เราต้องจ่าย ถ้าเรารู้จักประหยัดทรัพยากรเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมกันแล้วจะช่วยโลกได้เยอะกว่าที่เราคิดไว้”

Lifestyle พอเพียงและรักษ์โลก

            การใช้ชีวิตที่หันกลับมาอยู่กับธรรมชาติ เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม อ.เก๋ ได้แบ่งปันเรื่องราวให้เราได้ฟังว่า “ที่บ้าน ครอบครัวเราปลูกต้นไม้ ทำสวน ก็ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ เราหมักเองจากธรรมชาติ จากใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมา ย่อยสลายตามธรรมชาติ กลายเป็นดิน กลายเป็นปุ๋ยที่มาช่วยต้นไม้ให้เจริญเติบโต การไม่ใช้สารเคมีในการปลูกต้นไม้หรือทำสวน เราสังเกตว่าพืชผลอาจจะไม่ได้โตสวยงามเหมือนที่ใช้สารเคมี แต่ว่าผลไม้ที่ออกมาจะปลอดภัย เรามั่นใจว่าจากสวนที่เราปลูกไม่ใช้สารพิษ ดีต่อสุขภาพ”

            ในชีวิตประจำวันของ อ.เก๋ ตอนนี้ก็พยายามลดการใช้พลาสติก “ส่วนตัวตอนนี้พยายามลดใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้า เดี๋ยวนี้หลายสถานที่เริ่มไม่ให้ถุงพลาสติกแล้ว ทำให้ไลฟ์สไตล์เราเปลี่ยน ถ้าเขาไม่ให้ถุงพลาสติก เราไม่สามารถขอ เราต้องถือถุงพลาสติกมาใช้ซ้ำเอง เป็นการสร้างวินัย ให้เราตระหนักถึงตรงนี้มากขึ้น เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เดี๋ยวนี้ไปตลาดตอนเช้า เราต้องพกถุงผ้าไป เป็นการค่อย ๆ เปลี่ยน ค่อย ๆ ลด ทีละวัน ส่วนการแยกขยะ ที่บ้านก็ทำเหมือนกัน อาจจะไม่ได้มีถังสวยงาม แบ่งเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง ส่วนพลาสติกหรือกล่อง จะแยกออกมาต่างหาก แต่ยังไม่ได้ลองขาย เราคิดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เริ่มต้นจากที่บ้านเราเองก่อน”

เซฟเงิน เซฟโลก

            ด้วยสถานะของคณบดีคณะบัญชี เราจึงคุยกันต่อถึงเรื่องการใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตของเราทุกคน ใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างไรไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วยังสามารถมีเงินเก็บในแต่ละเดือนด้วย

            อ.เก๋ ให้คำแนะนำว่า “ถ้าตามหลัก สมมุติว่าเรามีเงินเดือนซักร้อยบาท เราควรจะต้องเก็บออมไว้อย่างน้อยซัก 10% ต้องเก็บไว้ก่อน 10% แล้วค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เราต้องจ่าย ก็จ่ายไป แต่อย่างน้อยหลักสำคัญก็คือต้องมีเงินออมไว้ก่อน หักไว้ก่อนเลย สมมุติว่าตั้งเป้าให้มากขึ้น จะหักซัก 20% ของเงินที่ได้ ก็ออมไว้ก่อน จากนั้นค่อยเอาที่เหลือไปใช้จ่ายตามที่กะเกณฑ์เอาไว้ แต่เวลาเราใช้เราต้องดูก่อนว่า ของที่เราใช้จำเป็นมากน้อยแค่ไหน ก็จะช่วยให้ประหยัดได้”

Shopping แบบรักษ์โลก

            นอกจากเรื่องการออมเงิน อ.เก๋บอกว่า การใช้จ่าย เลือกซื้อสินค้า เราก็มีวิธีการที่ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน “เราต้องพิจารณาดูว่าสิ่งที่เราต้องการจะใช้นั้น เป็นอย่างไร มีอะไรที่ทดแทนได้ไหม เช่น สมมุติ ถ้าจะไปห้างใช่ไหม เดี๋ยวนี้เขารณรงค์ที่จะไม่ใช้ถุงพลาสติก แล้วมีถุงผ้าไปเองก็ทดแทนกันได้ ถ้ามันทดแทนกันได้ เราช่วยโลกได้ ดูซักหน่อย เตือนสติตัวเองเสมอว่า เราควรพกพาสิ่งของที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร เช่น แก้วน้ำ ถุงผ้า กล่องอาหารของเราเอง” พร้อม ๆ กับการซื้อสินค้าอย่างมีสติ สิ่งนี้ก็ช่วยลดการเพิ่มขยะให้กับโลกได้

พกถุงผ้า กล่องอาหาร เป็นเรื่องที่ทำให้เราสุขภาพดี

            ถ้ากังวลว่าการถือกล่องข้าว กล่องอาหาร แล้วจะไม่เท่ ไม่คูล จะมีความเขินอาย อ.เก๋ มีเคล็ดลับว่า “เราต้องมองถึงประโยชน์ที่ได้ เราทำไปเพื่ออะไร พอเราตอบตัวเองได้แล้ว โอเค เราเอาข้าวกล่องไปทานก็สะดวก แล้วมันล้างเก็บเอามาใช้ได้ใหม่ แล้วเราได้อาหารที่มีคุณภาพ ทำด้วยตนเอง”

            “การใช้กล่องข้าวหรือปิ่นโต เราตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่เราทำ เป็นเรื่องดี เพราะฉะนั้นเรามั่นใจแล้ว คนอื่นเขาจะว่ายังไง อันนั้นเป็นเรื่องของเขา เราห้ามไม่ได้ แต่พอเราทำไปเรื่อย ๆ แล้ว เขาเห็นว่า โอเค เราสุขภาพดี ชวนเขาทานได้ การจะเปลี่ยนคนรอบข้าง คือเราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน แล้วเมื่อเราทำไปซักพัก ถ้าดี คนรอบข้างของเราจะเปลี่ยน แล้วเรื่องนี้ก็จะไม่มารบกวนใจเราว่า ทำไมคนนี้เขาแปลกจังเขา เอาข้าวใส่กล่องมาทาน หรือเอากล่องมาใส่ข้าวที่ซื้อจากร้าน”

เด็กรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

            อ.เก๋ มีมุมมองว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เริ่มตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น “เด็ก ๆ ทุกคน เริ่มตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ ในแต่ละวิชา คณะบัญชี ได้สื่อสารให้นักศึกษาทราบ เป็นการสื่อสารบอกเด็ก ๆ ให้ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ใช้อย่างมีคุณภาพ สิ่งของที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็นำกลับมา เรียนรู้การแยกขยะ เหล่านี้ เรามีโอกาส เราบอก เราสอนเด็ก ๆ อยู่ตลอดเวลา” การเรียนรู้ทางบัญชีจึงไม่ได้สอนเพียงการคิดคำนวณตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่อ.เก๋ เน้นย้ำว่า เราสอนที่วิธีคิด แนวคิด ให้นักศึกษาสามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมได้

            ยิ่งไปกว่านั้น ข่าวสาร กิจกรรมรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น “กิจกรรมของมหาวิทยาลัย เป็นการเปิดโลกให้กับเด็ก ๆ ด้วย เรากำลังทำให้เด็ก ๆ เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เช่น งาน N.I.C.E Market ที่จัดไป เป็นการสื่อสารให้เขารู้ว่า เรากำลังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม มีวิธีการหลายอย่างที่ช่วยโลกได้ และยังเป็นการสร้างรายได้ด้วย”

            “จากที่ได้ไปร่วมชมงาน เราได้เห็นการแยกขยะ และการนำขยะกลับมา Recycle ระหว่างในงาน เราได้รับคำแนะนำจากอ.น้อย (อ.สุนทรี ผลวิวัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์) เรื่องการแยกขยะในแบบต่าง ๆ ขยะแต่ละแบบถ้ารู้วิธีการจัดการที่ถูกต้อง แยะขยะเป็น เราสามารถหารายได้จากตรงนี้ได้ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสื่อสาร เพราะบางคนไม่ทราบ ถ้าเรารู้วิธีการแยกขยะเพิ่มเข้ามา จะสร้างมูลค่าเพิ่ม และดีต่อการใช้ชีวิตของเราด้วย”

            ในวันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญ การที่เราตระหนักได้แล้วว่าเรารักษาสิ่งแวดล้อมไปทำไม เป็นเหตุผลที่เราต้องเปลี่ยนแปลง โดยการเริ่มที่ตัวเราเองก่อน เรามั่นใจว่าการที่เราทำไปเรื่อย ๆ ไม่ย่อท้อ แล้วคนอื่นเห็นสิ่งที่เราทำ เป็นเรื่องที่ดีและควรทำ คนอื่นนั้นย่อมที่จะทำตามเราด้วยเช่นกัน เงินซื้อสิ่งแวดล้อมที่ดีกลับมาได้ คงมีเพียงแต่การกระทำของเราเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงได้

Writer & Photographer

BU CONNECT x Lifelong Learning Center Bangkok University สนุกกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รอบรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ