ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ แค่เพียงสังเกตเราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

ชวนมาล้อมวงฟังเรื่องเล่าและเสียงของธรรมชาติที่ชวนให้ฉุกคิดถึงความงามและความจริงที่คนเมืองอาจจะลืมเลือนไป

            ในวันที่คนทั้งโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะ เราเห็นได้จากหน้านิวส์ฟีดของโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณให้กับมนุษย์ว่าถึงเวลาที่เราต้องลงมือทำอะไรเพื่อโลกใบนี้บ้าง

            ถ้าตั้งใจฟังจริง ๆ เราจะได้ยินเสียงนกร้อง อีกทั้งต้นไม้สีเขียวที่รายล้อมคณะนิเทศศาสตร์ ทำให้ได้สัมผัสกับเสียงของธรรมชาติ บ่ายวันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ อ.เต้ย-ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในประเด็นมุมมองการใช้ชีวิตแบบ Circular Living หรือการมีไลฟ์สไตล์แบบรักษ์โลก ที่อ.เต้ยบอกว่าลงมือทำได้ง่าย ๆ ขอเพียงแค่มีสติ และรู้คุณค่าในการใช้สิ่งของใกล้ตัว

นักสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลก

            เมื่อถามถึงไลฟ์สไตล์แบบรักษ์โลก อ.เต้ยพาเราเดินทางกลับไปสู่ธรรมชาติที่บางครั้งเด็กในเมืองอาจจะหลงลืมมันไป อ.เต้ยเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองว่า “ปกติเป็นคนที่ชอบความสงบ ชอบความเรียบง่าย ชอบอยู่กับธรรมชาติ เพราะฉะนั้นชีวิตแบบนี้ทำให้เราได้รับรู้ รับเอฟเฟคความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเยอะอยู่แล้ว เมื่อโลกเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน เราก็อาจจะสังเกตเห็นก่อนคนอื่น”

            “เราก็จะสังเกตว่าในเดือนนี้ การพัดของลมไม่ใช่แบบนี้ หรือนกพันธุ์นี้ในฤดูหนาวต้องบินมา แต่ปีนี้ไม่มา เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่จากในข่าวหรือการรับสื่อ เวลาได้ยินที่เขาว่า โลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมแย่ลง บางทีเราอาจจะรู้ แต่ไม่ได้รู้สึกร่วมเท่าไหร่ แต่พอเรารับรู้ด้วยตนเอง รับรู้จากประสบการณ์ตรง มันเอฟเฟคเรามากกว่า เอฟเฟคนี้ไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับมนุษย์คนอื่น ๆ ที่เราได้พูดคุยด้วย เราไปเจอคน เขาเล่าให้ฟังว่า ปีนี้ฝนไม่ตก ทั้งที่เข้ามาค่อนฤดูฝนแล้ว ปรากฏว่าพออาทิตย์หนึ่งผ่านไป เขาน้ำท่วมแล้ว เราฟังแบบนี้ความเปลี่ยนแปลงของโลกมันเกิดขึ้นตลอดจริง ๆ บางทีเราเป็นคนในเมืองเราไม่ค่อยรู้หรอก”

            ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นกับทุกคน แต่บางครั้งเราไม่ตระหนัก “พูดตรง ๆ ก็คือเราอยู่ใน cocoon เราอยู่โลกที่ไม่ได้เข้าไปสัมผัสกับความจริง ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติโดยตรงมากนัก นักศึกษาที่นี้ก็อาจจะวนเวียนอยู่กับหอพัก กับมหาวิทยาลัย วนเวียนอยู่กับห้องเรียน กับเพื่อน เขาไม่ได้เห็นว่าเรื่องที่ดูนอกเหนือไปจากที่นี่ ว่ามันน่ากลัว มันต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว”

            “เราจึงตื่นเต้นกันเป็นครั้งคราว ปลาพะยูนตาย มีน้ำแข็งขั้วโลกละลาย มีน้ำท่วมเป็นข่าวใหญ่ เป็นช่วงเวลาเพียงชั่วครู่ สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่สามารถทำให้เด็กสักคนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้อย่างทันที เราคิดว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมไม่สามารถเข้าไปทางความคิด (Intellect) เพียงอย่างเดียว มันต้องใช้ความรู้สึกควบคู่ไปด้วย”

            “คนเราไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยความคิด บางทีเราก็รู้ดีว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เราจะเปลี่ยนหรือไม่ บอกให้เขารู้ไม่พอ ต้องทำให้เขาคิดและทำให้เขารู้สึก และต้องทำให้เห็นว่าผลกระทบนั้นมันส่งผลถึงเขาโดยตรง เช่น การใช้พลาสติกดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริง ๆ ผลกระทบมันมากมาย เราอาจจะคิดว่ามันสำคัญนะ แต่ก็ยังทำแบบเดิม ๆ แต่พอเราเห็นว่ามันไปโผล่อยู่ในท้องสัตว์ เราถึงจะ “รู้สึก” ว่ามันรุนแรงมาก ๆ แล้ว”

เริ่มต้นจากตัวเรา ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

            โลกใบนี้เป็นของเราทุกคน เราอยู่ร่วมกัน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ถ้าจะเริ่มต้นลดปริมาณขยะ เราต้องสร้างให้คนเห็นว่า เขาสามารถทำได้ด้วยตนเอง อ.เต้ยอธิบายว่า “การเริ่มต้นนำเอา Circular Living มาใช้ ต้องเริ่มต้นด้วยสเกลที่เป็นระดับตัวเราเองก่อน ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเราเริ่มรู้สึกว่าโลกรอบตัวมีขยะมากขึ้น เราต้องหันมาทบทวนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา เริ่มสังเกตว่า อะไรบ้างที่อยู่รอบตัว แล้วเราต้องลดการใช้ลงทรัพยากรเหล่านั้นลง”

ทุกสิ่งรอบตัวเรา ไม่มีอะไรเป็นขยะ

            อะไรก็ตามจะกลายเป็นขยะหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า เราให้ค่าของสิ่งนั้นอย่างไร  อ.เต้ย ชวนให้เราเริ่มต้นที่วิธีคิด แล้วต่อยอดที่การลงมือทำ “เรามองว่าพลาสติกคือขยะ แสดงว่ามันเป็นสิ่งที่เราใช้ครั้งเดียวแล้วไม่ได้กลับมาใช้ซ้ำ ถ้ามีทางเลือกให้เราลดการใช้กล่องพลาสติกลงได้ เราก็ควรจะเลือก หากลดไม่ได้ ก็อาจจะต้องมามองว่า พลาสติกชิ้นนั้น เราสามารถใช้ซ้ำได้ไหม ควรจะเริ่มตั้งแต่วิธีคิดที่ว่า ทุกสิ่งรอบตัวเรา ไม่มีอะไรเป็นขยะ”

            “คำว่าขยะอยู่ที่เราให้ค่ากับของสิ่งนั้น ถ้าเราคิดว่ามันเป็นของที่ใช้ประโยชน์ต่อได้ เจ้าของสิ่งนั้น ก็จะกลายเป็นของมีค่าต่อไปได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งพลาสติกที่เมื่อใช้เสร็จแล้วเราพร้อมจะทิ้งทุกเมื่อ เราลองเปลี่ยนวิธีคิด ไม่เรียกพลาสติกว่าเป็นขยะ เมื่อใช้แล้วต้องนำไปผ่านกระบวนการอะไรก็ได้ เช่น ทำความสะอาดมันเสียใหม่ ทำให้มันกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้ มันก็จะไม่เป็นแค่ขยะ”

สื่อสารให้คนฉุกคิด ไปจนถึงการเปลี่ยนพฤติกรรม

            ความคิดและความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนเป็นกรอบกำหนดพฤติกรรม หากเริ่มต้นด้วยการพยายามฉุกคิด พัฒนาความละเอียดอ่อนในจิตใจ แล้วพยายามสื่อสารให้ผู้อื่นได้รับรู้ เราก็จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้  “ในฐานะของนักนิเทศศาสตร์ เราต้องคิดกลยุทธ์การสื่อสาร ตั้งแต่การตระหนักรู้ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทำอย่างไรให้มนุษย์หนึ่งคนมีสติในการใช้สิ่งของ ให้เขารู้สึก ให้ฉุกคิดตลอดเวลาว่า สิ่งที่เขาทำอยู่ใช้อยู่นั้น มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ย่อยสลายยากหรือไม่ เขาลดการใช้ได้หรือไม่ ถ้าเขาลดไม่ได้ เมื่อเขาใช้แล้ว ให้เขาคิดในเรื่องการต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไหม”

            หัวใจสำคัญสำคัญของ Circular Living คือ การหมุนเวียนทรัพยากร อ.เต้ยเสนอว่า “ให้ลดการใช้สิ่งของลง เน้นการนำกลับมาใช้ซ้ำ และหาวิธีการแปลงสภาพ ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก จะทำให้เกิดการหมุนเวียนการใช้พลาสติกได้ ไม่ทำให้เกิดขยะเพิ่มขึ้น หากเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะผลิตพลาสติก แต่เราสามารถลดไม่ให้พลาสติกกลายเป็นขยะได้ อีกทั้ง การเอาพลาสติกมาใช้ซ้ำ ก็เป็นการลดการผลิตพลาสติกไปได้ในตัวด้วย ง่าย ๆ แค่นี้ เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สิ่งที่เราเรียกว่า “ขยะ” มันน้อยลงไปเรื่อย ๆ”

เติมความเป็นศิลปะเข้าไปในสิ่งของให้น่าใช้

            ถ้าจะหันมาลดการใช้พลาสติก แล้วเริ่มพกพาถุงผ้า หรือกล่องอาหารแทนนั้น  อ.เต้ยแนะนำว่า “เราลองเพิ่มความเป็นศิลปะเข้าไปในสิ่งของที่เราพกพา เช่น ที่ญี่ปุ่น การเอาข้าวใส่กล่องมาทานเขาทำอย่างประณีตและมีศิลปะ เขาอาจทำเป็นข้าวปั้นห่อด้วยสาหร่าย สะดวกกับการเดินทางด้วยเพื่อจะไม่สิ้นเปลืองวัสดุห่อหุ้ม เราต้องปรับวิธีคิดว่า การพกพากล่องข้าว หรือหิ้วปิ่นโต เป็นสุนทรียะในการใช้ชีวิต เป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่ความเชย แล้วมันเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายด้วย เพียงแค่เราคิดที่จะลงมือทำ”

            อย่างน้อยในช่วงเวลาแบบนี้ที่มีเหตุการณ์มาสั่นสะเทือนการคงอยู่ของธรรมชาติ การรักษ์โลกของเราจึงควรเริ่มต้นด้วยการเปิดใจฟังเสียงของธรรมชาติ สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ และฉุกคิดว่าเราทำร้ายโลกมานานเท่าไหร่ ถึงเวลาแล้วที่เราควรช่วยกันดูแลรักษาโลกใบนี้

Writer & Photographer

BU CONNECT x Lifelong Learning Center Bangkok University สนุกกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รอบรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ