ผศ.ดร.ศิริชัย มงคลเกียรติศรี มาร่วมสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม

เปิดมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านวิธีคิดแบบนักกฎหมาย

            เสียงของนักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม กำลังได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก วันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบทันตาเห็น เราควรจะใช้กฎหมายหรือกระตุ้นด้วยจิตสำนึก เราได้ฟังมุมมองของ ผศ.ดร.ศิริชัย มงคลเกียรติศรี คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กฎหมายกับสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกันอย่างไร กฎหมายจะช่วยจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ เราขอชวนอ่านบทสนทนานี้ไปพร้อมกัน

ปัญหาขยะล้นเมือง

            เราเริ่มต้นชวนอาจารย์พูดคุยเรื่องคำว่า Circular Living หรือไลฟ์สไตล์แบบรักษ์โลก ทำชีวิตในทุกวันให้ดีต่อสิ่งแวดล้อม อาจารย์บอกกับเราว่า “ถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีต Circular Living กับคนไทย เกิดมาตั้งนานแล้ว เวลาเราซื้อของเราใช้ใบตองห่อ ซึ่งท้ายที่สุดใบตองย่อยสลาย กลายไปเป็นปุ๋ย  สิ่งที่เอามามัดจะเป็นเชือกกล้วยซึ่งก็เป็นวัสดุจากธรรมชาติ เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันหมุนเวียนกลับมาอยู่ในโลกของเรา ปัจจุบันวิทยาการเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาขึ้น มีพลาสติก คนเริ่มทิ้งการใช้ชีวิตรูปแบบเดิมไป เข้ามาสู่รูปแบบใหม่ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องของขยะที่มันล้นเมือง”

            เราถามต่อว่า ถ้าเราต้องกลับไปใช้ Circular Living แบบในอดีต จะมีกระทบอะไรกับชีวิตของเรามากไหม “ความเป็นจริง ไม่ได้มีการกระทบอะไรมาก อย่างของอาจารย์ ในปัจจุบันนี้เวลาเดินไปซื้อของที่ไหนจะถือถุงผ้าไปด้วย หรือถ้าเราซื้อไม่เยอะ เราจะบอกว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องใช้ถุงได้ เพราะปกติแล้ว เรารับประทานสิ่งที่อยู่ข้างใน ไม่ได้กินถุง เพราะฉะนั้นถุงไม่รู้จะเอามาทำไม หลอดไม่จำเป็นคือเราดื่มได้ เป็นลักษณะของการใช้ชีวิตตามปกติอยู่แล้ว ไม่กระทบกับชีวิตของเรา”

            สิ่งที่อาจารย์เน้นย้ำคือการส่งเสริมให้คนปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ด้วยการเริ่มจากวิธีคิด “คนเราต้องเสริมในเรื่องของความคิด ทัศนคติของคนมากกว่าว่า จะทำยังไงให้เราตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมให้ได้”

ป่าล้อมเมือง

            กฎพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ก็คือ การเริ่มจากตัวเรา แล้วขยายไปสู่คนอื่น ๆ เพิ่มจำนวนให้มากขึ้น เรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน “ถ้าคนในสังคมส่วนใหญ่ทำ แล้วถ้าคนส่วนน้อยที่ไม่ทำจะเป็นเรื่องแปลก เหมือนกับกลุ่มใหญ่คอยเป็นป่าล้อมเมือง ทำให้คนส่วนน้อยกลับเข้ามาปฏิบัติตาม เราจะเห็นได้ในหลายอย่าง เรื่องแฟชั่นก็ได้ เดิมเคยใส่เป็นมินิสเกิร์ต แม้แต่ชุดนักศึกษา ช่วงหนึ่งยังเป็นมินิสเกิร์ต พอมาอีกช่วงหนึ่ง ทุกคนมีความรู้สึกว่ามินิสเกิร์ตไม่เหมาะ หลายคนเริ่มหันมาใส่เป็นกระโปรงยาว เพราะฉะนั้นพอทุกคนเริ่มใส่กระโปรงยาว มินิสเกิร์ตหายไปอัตโนมัติ นั่นคือเป็นลักษณะของการเรียนรู้ของสังคมมนุษย์ ปรับตัวให้เข้ากับสังคมส่วนใหญ่”

กฎหมายกับสิ่งแวดล้อม

            ถ้าคนไม่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เราบังคับเขาด้วยกฎหมายได้ไหม “ถ้าถามว่ากฎหมายช่วยอะไรได้บ้างไหม เราบอกว่ากฎหมายช่วยได้ครับ แต่ว่าเรามองมองกลับไปที่พื้นฐานเลย คือกฎหมายเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ในสังคม เป็นเรื่องของสิทธิหน้าที่ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้เรื่องของสิทธิหน้าที่ของตัวเราเอง นั่นหมายความว่าเรากำลังทำตามกฎหมาย ดังนั้นต่อให้ไม่มีกฎหมาย การรู้สิทธิหน้าที่ก็คือกฎหมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ ให้เราเคารพในสิทธิของตัวเราเอง และตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเรา นั่นคือการบังคับใช้กฎหมายที่ดีที่สุด”

งานกิจกรรมแบบสร้างสรรค์และดีต่อโลก

            อาจารย์ยังได้แบ่งปันมุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ว่า “ปกติเวลาจัดกิจกรรม จะถามนักศึกษาเรื่องวัตถุประสงค์การจัดงาน จำเป็นที่จะต้องซื้อของใหม่มาใช้หรือไม่ ถ้าของเก่าที่มีอยู่แล้ว นำกลับมาทำใหม่ได้ เช่น คัทเอาท์ กล่องกระดาษ ประดิษฐ์จากของเดิม เป็นการลดการใช้วัสดุสิ้นเปลือง อีกอย่างคือความท้าทาย เราจะปรับเปลี่ยนของเก่าอย่างไร ให้กลายเป็นงานสร้างสรรค์เหมือนของใหม่ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เด็กรุ่นใหม่ เขาได้ใช้จินตนาการ”

การพกพาถุงผ้าและกล่องอาหารช่วยลดค่าใช้จ่าย

            ขยะที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน เราสามารถช่วยลดได้ด้วยการพกพาถุงผ้าหรือกล่องอาหาร อาจารย์แนะนำว่า “ให้เริ่มปรับที่ตัวเราเองก่อนครับ เชื่อมั่นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องทำ การใช้แก้วน้ำส่วนตัวหรือกล่องอาหารเป็นเรื่องสร้างสรรค์ แม่ค้าอาจจะชอบด้วยซ้ำไป ไม่ต้องซื้อถุงพลาสติก ลดต้นทุน”

            “แม้แต่ร้านกาแฟ ถ้าเอาแก้วมา ลด 5 บาท เพราะไม่ต้องไปซื้อแก้ว ไม่ต้องไปซื้อฝามาปิด เพราะฉะนั้นเริ่มจากตัวเราเองก่อน มองก่อนเลยว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราควรทำ เพราะฉะนั้นอย่าได้แคร์สายตาของคนรอบข้าง เดี๋ยวนี้เราคิดว่าการพกแก้วกำลังกลายเป็นเทรนด์ที่วัยรุ่นหลายคนนิยมทำกัน และเป็นเรื่องที่ดีด้วย”

            อาจารย์ทิ้งท้ายว่า “เรื่อง Circular Living เป็นเรื่องของการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทุกครั้งที่ไปช้อปปิ้งต้องพกถุงผ้าไปด้วย เราบอกที่ร้านทุกครั้งว่า ไม่รับถุงพลาสติก หรือแม้แต่ ซื้อกาแฟ จะมีแก้วกาแฟไปเอง จะไม่ขอรับหลอด หลอดคือขยะประเภทหนึ่ง สิ่งไหนที่ Reuse ได้ นำกลับมาใช้ใหม่ พลาสติกที่มีก็นำมาใช้ซ้ำ”

            Circular Living จึงต้องเริ่มด้วยการปรับ Mindset และตามด้วยการลงมือทำ เราเชื่อว่า ถึงแม้กฎหมายจะเป็นข้อบังคับที่ทำให้เราต้องปฏิบัติตาม แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือการมีจิตสำนึก และมี Mindset ที่ดี สิ่งนี้จะทำให้เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในระยะยาว

Writer

เรียนอยู่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาดิจิทัล ชอบอ่านนิยายเก่า อิงประวัติศาสตร์ ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับป่า แต่เกลียดการเดินป่า พยายามทำสถิติอ่านหนังสือวันละเล่ม หอสมุดคือบ้านหลังที่สอง อยากเจอให้ไปตามที่หอสมุด

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว