พี่รักษิต บุญนาค เจ้าของผลงานศิลปะระดับนานาชาติที่รังสรรค์ด้วยมีดและสองมือ

ตัดกระดาษให้เป็นงานศิลป์ เรียบง่าย งดงาม ทำด้วยใจ

            ศิลปะการตัดกระดาษ นับเป็นหนึ่งในศิลปะที่มีมายาวนาน ไม่เพียงแต่ใช้ความสามารถ ยังต้องใช้ความอดทน รู้จักประเภทของกระดาษ ต้องมีประสบการณ์และใช้เวลาอีกด้วย การตัดกระดาษฟังดูอาจะเป็นเรื่องง่ายที่ใครก็ทำได้ เพียงแค่มีมีดหรือกรรไกร แต่จะมีสักกี่คน จะตัดกระดาษนั้นออกมาเป็นงานศิลปะที่สวยงานและยิ่งใหญ่ได้

            เราพามาทำความรู้จักกับ พี่รัก-รักษิต บุญนาค รุ่นพี่สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจ้าของผลงานศิลปะสร้างสรรค์ด้วยการตัดกระดาษมากมายที่ได้โชว์ในระดับนานาชาติมาแล้ว เราพามาเจาะลึกเรื่องราวของพี่รักตั้งแต่วัยเด็กและเติบโตจนถึงสร้างสรรค์ผลงานในปัจจุบัน

ช่วงเวลาในวัยเด็กกับความชอบในศิลปะ

            การเติบโตในวัยเด็กมีอิทธิพลกับเรามาจนถึงทุกวันนี้ และหลายคนต่างก็มีความฝันและความชอบในวัยเด็กแตกต่างกัน แต่สำหรับพี่รักแล้วเป็นอย่างไรบ้าง “ช่วงวัยเด็กพี่ชอบวาดรูป ส่วนใหญ่ก็คือจะเป็นวาดภาพ เป็นพวกภาพประกอบ แต่ตอนนั้นอยู่ที่ต่างจังหวัด จะวาดเป็นพวกสิ่งปลูกสร้าง ตอนนั้นจังหวัดสุพรรณจะเด่นเรื่องมังกร เราวาดพวกมังกร วาดทุ่งนา เป็นไลฟ์สไตล์ในชีวิตของเด็กต่างจังหวัด” ได้ฟังแบบนี้ไม่แปลกใจเลยว่า ผลงานการตัดกระดาษเป็นรูปมังกรมาจากความชอบของพี่รักษิตตอนเด็ก

เส้นทางศิลปะที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            ด้วยความที่รู้ว่าชอบศิลปะ พี่รักษิต จึงเลือกศึกษาที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์หรือ Product Design เหตุผลที่เลือกเรียนคณะศิลปะศาสตร์ “ส่วนตัวของพี่ ตอนอยู่สุพรรณ พี่เป็นเด็กอาชีวะ ซึ่งเด็กอาชีวะจะไม่มีคะแนนแกทแพท (GATPAT) ที่จะต้องไปสอบแบบของเด็กรัฐบาล พี่ดูข้อมูลว่าตอนนั้น มหาวิทยาลัยอะไรเป็นอันดับหนึ่งที่เป็นเอกชน คือถ้าสมมุติว่าที่บ้านบอกว่าถ้าจะเลือกเรียนเอกชนก็ดูไปเลยที่ดี ก็คิดถึงม.กรุงเทพ จึงลองดูว่าจะเรียนอะไร ตอนแรกเข้ามาในคณะของสถาปัตย์ Interior เป็นการออกแบบภายใน เข้ามาเรียนได้เทอมนึง รู้สึกว่ามันยากเกินมันไม่ไหว จึงย้ายมาเรียนที่ Product Design”

            จากการเปลี่ยนแปลงคณะที่เรียนจากสถาปัตยกรรมศาสตร์ มาเป็นศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งยังคงเกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะเหมือนกัน ทำให้พี่รักษิตมุ่งมั่นฝึกฝนตัวเองมากกว่าเดิม ทำกิจกรรมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนอย่างเข้มข้น

กิจกรรมนอกเวลาเรียนพัฒนาทักษะด้านศิลปะ

            ศิลปินต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองในทุกด้าน โดยเฉพาะจิตใจที่ต้องละเอียดอ่อน พี่รักษิตบอกกับเราว่า “พี่ชอบเป็นจิตอาสาครับ แต่คือว่ายังไม่ได้ไปที่ไหนแบบจริงจังสักที แต่ส่วนตัวเป็นคนชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่แล้ว คือถ้าไม่ใช่ในเรื่องของงาน กิจกรรมต่าง ๆ การเป็นจิตอาสาคือทำงานอาสาช่วยงานโรงเรียนเก่า คือถ้ามีงานอะไรก็จะเข้าไปช่วยทำเต็มที่ การทำกิจกรรมก็สนุกดี ได้ทำงานด้วย ได้ทำอะไรหลายอย่าง” สิ่งเหล่านี้คือสีสันและเป็นการเสริมทักษะให้งานในฐานะของศิลปิน

การวางแผนเรื่องเวลา การเรียนและการงาน

            ทั้งการเรียน ทั้งการงาน และทำจิตอาสา แล้วพี่มีวิธีการแบ่งเวลาอย่างไรบ้าง “ยกตัวอย่างเป็นงานเก่าแล้วกัน งานที่ทำตัดกระดาษเป็นรูปมังกร ตอนนั้นมีทั้งงานเรียนที่เป็นของตัวโปรเจค เรียนด้วยซึ่งหนัก แล้วมีงานมังกร ที่ว่าเร่งเวลามาด้วยหนึ่งเดือน คือไม่ต้องวางแผนอะไรเลย ต้องทำ อย่าไปวางแผนว่าเราจะเอาเรียนด้วย ที่เขาบอกว่าจับปลาสองมือไม่ดี แต่สำหรับพี่ไม่จริง พี่ว่าดีคือพี่เห็นต่างตรงนี้ เพราะว่าถ้าสมมุติเราเอาแต่เรื่องเรียน งานเราไม่เสร็จ มันก็สำคัญเหมือนกัน แต่ถ้าสมมุติว่าเราเอาแต่เรียน งานเราไม่เสร็จ เพราะว่าพี่เป็นเด็กทุนด้วย คือทุกอย่างต้องไปพร้อมกัน ถ้าอยู่กับอันใดอันหนึ่งยิ่งแล้วใหญ่ ทุกอย่างก็พังเหมือนกัน” เพราะฉะนั้นพี่รักษิตจึงทำสิ่งที่รักและการเรียนไปพร้อมกันได้ค่อนข้างดี

ผลงานชิ้นแรก

            กว่าจะมาเป็นผลงานในปัจจุบัน หลายคนคงมีผลงานชิ้นแรกกันมาบ้าง “ผลงานชิ้นแรกที่เริ่มแรกเลยคือวาดภาพครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องของงานตัดกระดาษ จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ตอนนั้นได้เข้าประกวดของเฟอร์นิเจอร์ระดับชาติที่ตอนอยู่สุพรรณ ตอนนั้นจะเป็นเรื่องเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุเหลือใช้ คือเอากล่องลังมาทำแต่ตอนนั้นจะเป็นพวกลังทีวี ลังตู้เย็นครับ”

แรงบันดาลใจ

            ต่อจากเรื่องผลงานแล้ว มาดูแรงบันดาลในของพี่รักกันบ้างดีกว่า “แรงบันดาลใจ คือพี่อยู่กับธรรมชาติเยอะแล้ว ก็ชอบในเรื่องของวัสดุธรรมชาติหลายอย่าง ชอบในเรื่องของฟอร์มธรรมชาติที่มันเกิดขึ้นหรือว่าพวกออแกนิคฟอร์ม พี่ไม่ถนัดพวกงานไม้เลย แต่คืองานกระดาษ หนึ่งสามารถพับได้ เริ่มจากพับได้ แล้ว สองคือกระดาษคือวัสดุธรรมชาติที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ เหมือนกันกระดาษทุกชิ้นก็มาจากต้นไม้หรือว่าอย่างกระดาษที่เอามาทำมาจากวัสดุเหลือใช้เหมือนกัน แค่เขาเอามาหลอมใหม่ขึ้นมา กระดาษสามารถพับได้หรือว่าสามารถตัดได้ง่าย แล้วเรื่องของการคุมฟอร์ม การรับน้ำหนักได้เหมือนกัน เราเลือกที่จะนำมาทำ เพราะว่ากระดาษทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ก็ได้ หรือจะทำเป็นงานศิลปะได้เหมือนกัน”

ผลงานที่ภูมิใจที่สุด

            เราได้ฟังที่มาเส้นทางของการตัดกระดาษมากมาย แล้วผลงานที่พี่รักษิตภูมิใจมากที่สุดคือ “ล่าสุดคือมังกร เรื่องมังกร ตอนนั้นที่เราเสนอคอนเซป คือจะมีการโชว์เพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ชื่อว่า Mouawad Dragon เป็นเจ้าของเพชรที่เป็นเจ้าดัง แล้วเผอิญเพชรก้อนนั้นเป็นเพชรที่ได้รับการยอมรับระดับโลก แล้วพอมีชื่อว่า Mouawad Dragon คือเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

            พี่รักษิตเล่าต่อว่า “เราต้องทำอะไรให้สอดคล้องกับงาน ต้องมีมังกรที่ใหญ่แล้วสวยที่สุดในโลกจากกระดาษ เพราะว่าถ้าเราจะนำเสนอ และใช้คำว่า simply exceptional ในคอนเซปของงานรวม คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราต้องเอาอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเราก็ต้องหาข้อมูลแล้วว่า มังกรที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีไหม คือด้วยกระดาษ ตอนนั้นยังไม่มี”

            ทุกรายละเอียดของงานจึงสร้างสรรค์อย่างมีความหมาย “ในเรื่องของคอนเซป เราจะต้องตีความว่าทำอย่างไรให้มังกรตัวนี้เป็นมังกรสองอารยธรรม ระหว่างเอเชียกับยุโรป เราก็สอดแทรกความเป็นเอเชียยุโรปเข้าไป ในที่ตัวมังกรเป็นเอเชียถ้าสังเกตคือเป็นมังกรจีน แต่ตรงเกล็ดจะไม่ใช่มังกรจีน ตรงเกล็ดจะเป็นมังกรยุโรป เนื่องจากเป็นเกล็ดที่มีลักษณะของความแหลม ซึ่งจะสื่อไปในสองทาง คือเราจะต้องตีความคอนเซป ทำยังไงก็ได้ให้เกิดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระดับชาติ เพราะว่าเราทำงานกับองค์กรที่เป็นมูลนิธิที่เป็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระดับชาติเหมือนกัน ระหว่างไทยและเบลเยี่ยม”

ช่วงเวลาที่ท้อแท้

            ก่อนจะมีวันนี้ ใคร ๆ ก็ต้องมีช่วงเวลาที่ท้อแท้กับงาน แล้วเคยมีช่วงนั้นไหม แล้วมีวิธีจัดการยังไงอยากให้พี่รักษิตได้แนะนำคนอื่น ๆ “มีเยอะมากแต่คือว่าส่วนตัวพี่เองเวลาท้อ มีแต่มันหยุดไม่ได้ คือสมมุติว่าเราเป็นดีไซน์เนอร์คนหนึ่งที่เราออกแบบอะไรขึ้นมา พี่จะนึกถึงภาพจบเสมอว่า มันจะต้องสวยแล้วจะทำให้เราผลักดันตัวเองว่า มันจะต้องรีบเสร็จเร็ว ๆ คือจะทำยังไงก็ได้ให้มันเสร็จเร็วที่สุด เพราะว่ามันจะเห็นภาพในตอนนั้น ถึงท้อ แต่คือคุยกับที่บ้าน แต่ไม่ได้แบบท้อจนทำงานไม่ได้ เพราะว่าความท้อของพี่คือ ท้อเพื่อพักและผลักดันตัวเอง ไม่ได้ท้อแล้วหยุด จนทำไม่ไหว เพราะว่าส่วนหนึ่งคือสิ่งที่เราทำอยู่ปัจจุบัน สามารถที่จะทำให้มันสำเร็จได้ แล้วพอสำเร็จแค่คนปรบมือให้พี่ก็มีความสุขแล้ว พี่ไม่ได้ต้องการชื่อเสียง แต่แค่ว่าการที่คนปรบมือให้ มองงานเราและยิ้มมีความสุข นี่คือสิ่งที่อยากทำให้งานเสร็จเร็วที่สุด”

สิ่งที่ได้เรียนรู้

            สิ่งที่ได้เรียนรู้จากผลงานชิ้นใหญ่ “ในเรื่องของกระดาษ เรียนรู้เยอะมาก ตั้งแต่ปีแรก เริ่มจากสิ่งเราทำจากวัสดุที่เหลือใช้ ก็มีการปรับปรุงเรื่อย ๆ จากตอนแรกกระดาษรับน้ำหนักไม่ได้ ทำให้ไปรีเสิร์จเพิ่ม หาวิธีว่าถ้ารับน้ำหนักฟอร์มจะต้องเป็นแบบไหน ต้องมีการวางโครงสร้างยังไงให้มันรับน้ำหนักได้ แต่คือจริง ๆ ไม่ได้มีอะไรยากเลย เหมือนลังเบียร์ คือการขัดกัน การซ้อนกัน แล้วก็ทับกันแบบบ้านทรงไทย เทคนิคเดียวกันที่นำมาทำ แล้วก็เรื่องของการรับน้ำหนัก พอเราทำสำเร็จในเรื่องของการรับน้ำหนักได้แล้ว เราต้องมาดูเรื่องของการทำยังไงให้กันน้ำ กระดาษทุกตัวไม่กันน้ำ เราแค่หาสารมาเคลือบ พอกันน้ำเสร็จ จะทำอย่างไรให้มันสวย เราเรียนรู้เรื่องดีไซน์เพิ่ม โดยส่วนใหญ่พี่เริ่มมาตอนปี 1 ปี 2 ตอนที่อยู่อาชีวะ เริ่มมาแล้ว 3 ปี แล้วก็มาที่ม.กรุงเทพ ได้เรียนรู้เรื่องของดีไซน์เพิ่มมากขึ้น ในช่วงปีที่ 1 ทำให้งานออกมาเป็นลักษณะแบบ serial plane หรือว่าเป็นลักษณะของต่างชาติที่นิยมทำกัน”

อาชีพในอนาคต

            หลังจากเรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พี่รักษิตมีการวางแผนอนาคตอย่างไรไว้บ้าง “ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอาชีพอะไร ถ้าไม่ได้วนเวียนในเรื่องกระดาษ คิดว่างานที่มีรากฐานที่มั่นคง คือเป็นธุรกิจ ส่วนเรื่องงานกระดาษอาจจะเป็นงานอดิเรก ทำไปเรื่อย ๆ เพราะว่าพี่ตั้งใจไว้ว่า จะไม่รับงานที่เป็นแมส จะรับที่เป็นพรีเมี่ยมเท่านั้น สมมุติเรารับงานที่มันแมส จะเจองานเราได้ทุกที่ เช่นมีคนบอกว่า รักษิตผมให้เงินคุณเท่านี้ คุณทำให้ผมได้ไหม คือบางงานให้เยอะเท่าไหร่ก็ไม่รับ เราต้องรักษาความเป็นพรีเมี่ยม เพราะเราต้องรักษาคุณภาพของงานให้ดีที่สุด”

ถ่ายทอดความรู้การตัดกระดาษ

            อ่านมาถึงตรงนี้กันแล้ว บางคนคงกำลังสนใจถึงศิลปะการตัดกระดาษกันบ้างแล้ว เราจึงได้สอบถามพี่รักษิต เกี่ยวกับการเปิดสอนการตัดกระดาษ พี่รักษิตฝากสำหรับผู้ที่สนใจงานศิลปะการตัดกระดาษว่า “ทุกวันนี้มีเยอะที่เปิดให้เรียนรู้ ส่วนตัวถ้ามีการสอน ก็เป็นพวกเวิร์คช้อปได้ คือสามารถเชิญไปทำได้ คือว่าต้องอยู่ในจุดที่เราสามารถที่เราจะมีชื่อเสียงที่เราจะไปสอนคนอื่นได้ แต่ตอนนี้คือถ้าจะให้สอน จะเป็นเด็กมากกว่า เพราะว่าพี่อยู่กับกระดาษเข้ามาสู่ปีที่ 5 อยู่กับกระดาษจนมันไม่กรีดมือเราแล้ว คือสามารถตัดโค้งตัดรูปแบบต่าง ๆ ได้ เนื่องจากเวลาทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการใช้คัตเตอร์ ตอนแรกเราใช้คัตเตอร์ที่แพงที่สุด มันไม่ดี มันไม่ดีจริง ๆ เพราะคัตเตอร์ที่ใช้ทุกวันนี้ มีมูลค่าแค่ร้อยบาทหรือว่าแค่ 40 บาท ก็เป็นคัตเตอร์คู่ใจได้”

            เรียกได้ว่างานศิลปะที่เราเห็นว่ายิ่งใหญ่ สวยงาม ตระการตา แต่เบื้องหลังมาจากความเรียบง่ายที่ค่อย ๆ สร้างสรรค์ด้วยมือของมนุษย์เรานี่เอง แต่สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้น คือหัวใจของศิลปินที่พร้อมที่จะทุ่มเท เพื่อสร้างสรรค์ผลที่ดีที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่รัก-รักษิต บุญนาค รุ่นพี่สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

พรปวีณ์ ดอนวิชัย
เด็ก DM03 รักในการวาดรูป และมีความใฝ่ฝันอยากเป็น 3D Animator ในอนาคต

Writer

ณัฐิดา งามเลิศเล็ก
อยากที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด โดยเฉพาะงานกราฟิก และอยากลงมือทำงานจริง ได้เรียนรู้ประสบการณ์จริง อยากรู้ว่าฝีมือของเราจะพัฒนาไปได้มากแค่ไหน

Photographer

กิตติธัช อ้นฉิม
เด็กดิจิทัลมีเดียชอบเที่ยวและรักการถ่ายภาพ ชอบเก็บบรรยากาศทุกที่ ที่ได้ไป เพื่อเป็นความทรงจำผ่านทางรูปถ่าย ชอบฝึกฝีมือและจะรู้สึกดีทุกครั้งที่ทำอะไรใหม่ ๆ ได้

Photographer

ภาณุพงศ์ เงินสลุง
มีใจรักในการแต่งภาพ ถ่ายภาพอยากเปิดมุมมองใหม่ ๆ ชอบท่องเที่ยว เปิดประสบการณ์ที่ไม่ใช่แค่ในห้องสี่เหลี่ยม ทุกครั้งที่ได้ฝึกอะไรใหม่ ๆ ได้ จะเพิ่มประสบการณ์ทุกครั้งได้

Photographer

กษิดิ์เดช โรจนฉวาง
อยากลองเปิดประสบการณ์ใหม่ๆให้ตัวเอง อยากได้ลองทำงาน อยากเรียนรู้ว่าตนเองควรเพิ่มทักษะด้านใดให้ดีขึ้น เพื่อที่จะทำงานกับคนอื่นได้

Photographer

ธนายุต วิลาทัน
บอมนะครับ พี่เขาชวนเข้ามาแต่งภาพให้ ก็รู้สึกสนุกที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ถือว่าได้ประสบการณ์การทำงาน ต่อจากนี้จะพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้นเรื่อยไปครับ