อาจารย์โกสินทร์ ประสานเกลียว ครูนักจัดดอกไม้มืออาชีพ

จากความชอบในงานจัดดอกไม้ สู่การปั้นนักจัดดอกไม้เยาวชน

            ความสำเร็จนั้นอาจจะไม่ได้เริ่มต้นมาจากความชอบ แต่อาจจะเริ่มต้นจากความผูกพัน จนผันตัวมารังสรรค์งานศิลปะบนช่อดอกไม้ จนประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียง สิ่งยืนยันความสำเร็จจากงานนี้ คือ การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้านการจัดดอกไม้ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            พูดคุยกับ อาจารย์โกสินทร์ ประสานเกลียว ภาควิชาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการการจัดดอกไม้ มากว่า 32 ปี ผ่านการศึกษาค้นคว้าทดลอง ลองผิด ลองถูก มานับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้ง ผ่านการแข่งขันมาแล้ว มากกว่า 100 เวที

จุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นนักจัดดอกไม้

            การมีโอกาสใกล้ชิดกับดอกไม้มาตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ อ.โกสินทร์ ซึมซับเรื่องของความสวยงามของดอกไม้มาโดยตลอด “หากเริ่มต้นว่า กว่าอาจารย์จะมาถึงจุดนี้ ที่จริงผ่านอะไรมามากมาย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ ครบ 32 ปีพอดี ที่โลดแล่นอยู่ในวงการดอกไม้ แรกเริ่มเดิมที ไม่ได้รู้สึกว่า จะต้องมาสนใจเรื่องอะไรแบบนี้ แต่เหมือนกับเราคลุกคลีกับงานด้านนี้มากกว่า รู้สึกว่า เป็นรายได้เสริม ตอนเด็กแถวบ้านจะมีร้านดอกไม้ใกล้บ้าน แล้วเราชอบเข้าไปวิ่งเล่นในร้านดอกไม้เขาบ่อย จนเราเหมือนกับถูกห้อมล้อมด้วยดอกไม้ทุกวัน มันก็ซึมซับมาตลอด”

            การจัดดอกไม้ยังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน อ.โกสินทร์ ได้อธิบายต่อว่า “พอเข้ามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาจัดดอกไม้ วิชานี้เป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาการจัดการโรงแรม อย่างที่รู้กันอยู่ว่า ในสายของธุรกิจโรงแรม งานดอกไม้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกแม่บ้าน วิชาจัดดอกไม้จึงถือกำเนิดขึ้นมา และเราก็ได้รับการชักชวนให้มาสอนในวิชานี้”

            การจัดดอกไม้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีผู้ใหญ่ใจดี ให้โอกาสทำงานด้านนี้เพิ่มมากขึ้น “ทางผู้บริหาร เห็นว่าเราคลุกคลีและอยู่กับงานสายนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน ตัวอาจารย์จบปริญญาตรี ภาควิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นศิษย์เก่า แต่แรกเริ่ม เป็นลักษณะของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์มากกว่า พอวันหนึ่ง เราได้รับมอบหมายให้มาสอน จึงไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ดั้งนั้น ทางผู้บริหารจึงเห็นว่า เราทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว และมีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านของการนำไปประกอบอาชีพ หรือในเชิงของการแข่งขันระดับนานาชาติ”

การงานที่สนุก แรงบันดาลใจ และรายได้เพื่อยังชีพ

            การทำงานที่ต้องอยู่กับดอกไม้ เป็นการฝึกฝนจิตใจให้มีความละเอียดอ่อน “อาจารย์ยอมรับว่า ตอนแรก ไม่มีแรงบันดาลใจ แรงบันดาลใจเพิ่งมาเกิดในช่วงหลัง เพราะสมัยเราเริ่มต้นทำนั้น ตอนเป็นเด็ก เราไปช่วยเขาทำดอกไม้ ช่วยเขาเก็บขยะ แล้วเราได้ค่าขนมตอบแทนกลับมา เราจึงอยากทำ ช่วงสมัยที่เราเรียนประถม มัธยม เราแทบไม่ได้ขอเงินค่าขนมจากที่บ้านเลย ช่วงนั้นเรามองเป็นเรื่องกิจกรรมของเด็กที่เรามีความสนุกกับมันมากกว่า”

            “เมื่อเริ่มโตขึ้น มีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่า งานดอกไม้สามารถนำมาสร้างเป็นอาชีพได้ ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ พออีกระดับหนึ่งที่เราเริ่มเป็นอาจารย์สอนวิชานี้ ก็มีแรงบันดาลใจอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของธุรกิจเป็นหลัก เมื่อมาเป็นอาจารย์ แรงบันดาลของใจเรา เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แรงบันดาลใจล่าสุดที่มาเป็นอาจารย์ คือ รู้สึกว่า ความรู้ที่เรามีมากพอสมควร ประสบการณ์ที่เราได้จากการทำงานด้านนี้ เก็บเกี่ยวผ่านการกลั่นกรองมาค่อนข้างเยอะ จนรู้สึกว่าเราต้องแบ่งปัน และนำความรู้ที่มีไปถ่ายทอดให้กับคนรอบข้าง คนรู้จัก และนักศึกษา เพื่อทำงานในสายงานนี้ต่อไป”

อุปสรรคมา…ปัญญาเกิด

            อ.โกสินทร์ ยังบอกว่า “งานจัดดอกไม้ หรือศิลปะการจัดดอกไม้ รวมถึง งานศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ย่อมมีอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดา อย่างงานดอกไม้ ที่อาจารย์มักพบเจออยู่บ่อย คือ เรื่องของฤดูกาล เพราะวัสดุหลักที่เราต้องใช้ คือ ดอกไม้ ฤดูกาลจึงมีผลมาก เช่น การออกดอก รวมถึง ผลงานบางชิ้น ต้องใช้ระยะเวลาในการทำค่อนข้างนาน ดังนั้นโดยสรุปคงต้องเป็นเรื่องของฤดูกาลและเวลามากกว่า ส่วนการแก้ปัญหา การใช้ดอกไม้นอกฤดูกาล คงต้องยอมจ่ายค่าดอกไม้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม หรืออาจใช้ดอกไม้ที่มีลักษณะรูปแบบคล้ายกันมาทดแทน”

นักศึกษา คือ ดอกไม้ในแจกันของครู

            การทำงานในวันนี้ อ.โกสินทร์ ให้ความสำคัญกับพัฒนาการ การเติบโต และการเรียนรู้การจัดดอกไม้ รวมไปถึงการสร้างคน “เราทำมาเยอะมาก ส่วนตัวอาจารย์ไม่ได้รู้สึกว่า ทุกงาน ดีที่สุด หรือแย่ที่สุด แม้ว่างานชิ้นนั้นจะมีการเข้าแข่งขันแล้วได้รางวัลชนะเลิศมาก็ตาม อย่างงานจัดดอกไม้ที่อาจารย์ทำอยู่ก็เปรียบเหมือนกับอาหาร  และอาหารที่ดีที่สุดของแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน ดังนั้น อาจารย์ขออนุญาตไม่ฟันธงดีกว่า ถ้าถามว่าแบบไหน คือ ดีที่สุดคงตอบยาก ในมุมมองของอาจารย์ รู้สึกว่า งานศิลปะมันก็มีคุณค่าเท่า ๆ กันหมด”

            “ถ้าจะต้องให้ฟันธงว่า งานชิ้นนี้ดีกว่า ชิ้นนี้ หรืองานชิ้นนี้ เคยดังมาก เป็นที่ยอมรับมีชื่อเสียง คงเอาอะไรวัดลำบาก เพราะจริง ๆ งานส่วนใหญ่เป็นผลงานของนักศึกษามากกว่า นักศึกษาเป็นคนลงมือทำ ผลงานหลักของอาจารย์ จึงเป็นการสั่งสอนนักศึกษาเพื่อเข้าแข่งขัน ซึ่งผลงานของอาจารย์ ไม่ใช่ตัวชิ้นงาน แต่ผลงานของอาจารย์ คือ ความเติบโตของนักศึกษาที่เข้าแข่งขัน แล้วเขาได้รางวัลกลับมา อาจารย์มีหน้าที่ปั้นนักศึกษา เพื่อเข้าสู่สังเวียนการแข่งขันเท่านั้น”

ผู้ถ่ายทอดความอ่อนหวาน

            ดอกไม้สำหรับอาจารย์โกสินทร์คือเครื่องมือที่แสดงถึงความนุ่มนวลอ่อนหวาน นั่นคือจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร “จุดเด่นของชิ้นงาน ต้องใช้คำว่าแบ่งแยกเป็นชิ้นงานมากกว่า อย่างงานศิลปะการจัดดอกไม้ สไตล์จะเป็นอีกแบบหนึ่ง พอเราไปเป็นที่ปรึกษาให้กับอินทีเรียดีไซน์ หรืองานตกแต่งภายใน งานจะเป็นไปตามโจทย์ของคนที่ว่าจ้างเรามากกว่า ถ้ามองในมุมของศิลปะการจัดดอกไม้ ต้องใช้คำว่าศาสตร์นี้ ไม่ได้มีสไตล์อย่างชัดเจน

            “ส่วนใหญ่ถ้าถามถึงคนที่เป็นฟลาวเวอร์ดีไซเนอร์ แต่ละคนจะมีผลงานเป็นเอกลักษณ์บ่งบอก ถ้าคิดผลงานเป็นลายเซ็น คืออาจารย์เป็นคนจัดดอกไม้ค่อนข้างออกไปในโทนที่เน้นงานหวาน เสียงตอบรับจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะดีไซน์งานอะไรไปก็ตาม แม้แต่ใช้โทนสีไหน หรือบุคลิกของงานออกมายังไง  ส่วนใหญ่คำตอบของงานอาจารย์ที่ออกมา จะดูค่อนข้างหวาน”

กลวิธีสู่ความสำเร็จ

            “เคล็ดลับของอาจารย์ คือ การฝึกซ้อม และปรับทัศนคติของนักศึกษาที่จะมาเข้าร่วมทีมการแข่งขัน เพราะหลายครั้ง ที่อาจารย์บอกกับนักศึกษาที่มีความสนใจมาเข้าร่วมทีมเพื่อแข่งขัน แต่ละงานที่ผ่านมา ว่า ต้องพยายามอย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว เวลาเราไปทำงาน หรือเข้าแข่งขันแต่ละครั้ง ให้ลองไปสำรวจ ลองมองงานคนอื่น วิเคราะห์งานคนอื่น ๆ บ้าง ไปเห็นงานบ่อย ๆ ไปเห็นงานเยอะ ๆ” เราสังเกตได้ว่า เหล่านี้คือการทุ่มเท ค้นคว้าหาข้อมูลในการทำสิ่งที่ตนเองรักอย่างเต็มที่ การแข่งขันนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งเวทีในการพัฒนาตนเอง โดยที่มีรางวัลเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น

            “แม้ว่าการแข่งขันนั้นจะไม่ได้รางวัลมา ก็ไม่เป็นไร เพราะบางครั้ง นักศึกษาที่ไปแข่งนั้น ยังมือใหม่ อย่างล่าสุด เป็นนักศึกษาปี 1 ใหม่เอี่ยมเลย แต่ด้วยความที่นักศึกษาเขาสนใจ อาจารย์จึงมีหน้าที่ฝึกซ้อมให้ นอกจากเรื่องของทัศนคติแล้ว เราก็อยากให้นักศึกษาเปิดรับงานหลายแบบ การทำกิจกรรมสำคัญ ไม่อยากให้เรียนเพียงอย่างเดียว การไปแข่งขันแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่อาจารย์จะพาไปดูงานก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า เป็นเคล็ดลับไหม เรียกว่าเป็นกลวิธีมากกว่า ที่จะปรับมุมมอง และทัศนคติของนักศึกษา ให้เห็นว่า สิ่งที่เขาต้องไปทำหรือสิ่งที่เขาต้องไปเข้าแข่งขัน ในฐานะตัวแทนของคณะ หรือของมหาวิทยาลัยนั้น มีความสำคัญอย่างไร”

การจัดดอกไม้ทำให้ค้นพบตัวเอง

            การจัดดอกไม้คือเครื่องมือที่ทำให้อาจารย์สามารถเข้าถึงนักศึกษาได้ เข้าใจ รู้จักตัวตนของนักศึกษาผ่านการจัดดอกไม้ “สิ่งหนึ่งที่อาจารย์เล็งเห็นในเรื่องของความสำคัญที่มีต่อวิชาศิลปะการจัดดอกไม้  คือทำให้อาจารย์ได้ทราบว่า แท้จริงแล้วนักศึกษาเรามีความสามารถมาก และรู้สึกว่าทุกคนอยากโชว์ความสามารถของตนเอง แต่บางครั้ง ไม่มีโอกาสที่จะไปแสดงความสามารถด้วยวิธีการต่าง ๆ การจัดดอกไม้ เป็นหนทางหนึ่งของการแสดงความสามารถ อาจารย์รู้สึกว่า อยากลองนำวิชาที่ตนเองสอนนี้ ไปจุดประกายให้นักศึกษา เพื่อให้เขาได้ไปค้นพบความสามารถของตนเอง อาจจะในศาสตร์หรือในวิชาอื่น ๆ ทุกครั้งที่มีเรื่องของการแข่งขันการประกวด อาจารย์จะมาประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาได้ทราบ”

มากกว่าการจัดดอกไม้

            “งานจัดดอกไม้ ค่อนข้างมีมูลค่า สามารถนำมาใช้เป็นทั้งอาชีพหลัก และอาชีพเสริมได้ ไม่ว่าจะเป็นฟลาวเวอร์ดีไซเนอร์ ที่ปรึกษาด้านการจัดดอกไม้ หรือที่ปรึกษาด้านอีเว้นท์ งานต่าง ๆ การจัดดอกไม้ในสายของธุรกิจการโรงแรม รวมถึง การเปิดธุรกิจร้านจัดดอกไม้ ถ้าใหญ่สุด คือ ธุรกิจนำเข้าและส่งออก ซึ่งอาจารย์จะสอนเด็ก ๆ ในทุกมิติที่เขาจะหางานทำได้” ยิ่งฟังเรายิ่งรู้สึกว่าเรื่องราวของการจัดดอกไม้พาเราไปรู้จักโลกกว้างในมิติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ดอกไม้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในเชิงของการทำงานและในด้านจิตใจ

            อาจารย์เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า “นอกจากการสอนหนังสือ อาจารย์ยังช่วยจัดตกแต่งสถานที่งานอีเว้นท์ของมหาวิทยาลัย ให้ความร่วมมือกับทางคณะมนุษยศาสตร์ตามวาระโอกาสต่าง ๆ ส่วนงานอื่นนอกรั้วมหาวิทยาลัยก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับดอกไม้ ในเชิงของธุรกิจนำเข้าและส่งออกดอกไม้ และอีกด้านหนึ่ง คือ ทำในเรื่องของอินทีเรียดีไซน์ พวกตกแต่งบ้าน ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ถ้าไม่ได้จัดดอกไม้ อาจารย์คงไปทำอาหาร เพราะก็ทำงานเกี่ยวกับอาหาร งานขนม งานดอกไม้ ทำคู่กันมา แต่พอวันหนึ่งเราเข้ามาในส่วนของงานดอกไม้ การจัดดอกไม้จึงกลายเป็นงานหลักมากกว่าอย่างอื่น”

ปรับตัวให้ทันโลก

            “ก็มีบางครั้งที่บางคนอาจรู้สึกว่า งานจัดดอกไม่ไม่จำเป็น ไม่ตอบโจทย์ชีวิต อย่างเช่น ศิลปะการจัดดอกไม้แบบไทย บางคนรู้สึกว่าโบราณไม่น่าจะได้ใช้ แต่อาจารย์อยากรักษาเอาไว้ โดยส่วนตัวขอสารภาพตามตรงว่า ไม่อยากให้งานพวกนี้หายไป เพราะประเทศไทยมีศาสตร์การจัดดอกไม้  คือ ศิลปะการจัดดอกไม้แบบไทย เช่น ร้อยมาลัย พานพุ่ม ศิลปะงานใบตอง การทำบายศรีต่าง ๆ รวมถึง การจัดดอกไม้สากล ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทั้ง 2 ศาสตร์ อยู่ด้วยกันได้ เพราะสายงานนี้ เป็นเรื่องของศิลปะสุนทรียภาพ ที่คนทำนอกจากจะได้ในเรื่องของอารมณ์ และความรู้สึกในเชิงบวกแล้ว บางคนยังสามารถนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ ถือว่างานศิลปะในด้านนี้ ให้มูลค่าที่ค่อนข้างสูงพอสมควร”

ยิ่งกว่าความภาคภูมิใจ

            การได้เห็นนักศึกษาเติบโตขึ้นไปและนำวิชาจัดดอกไม้ไปใช้ บางคนนำไปประกอบอาชีพ ถือเป็นความภาคภูมิใจ “ตัวอาจารย์เอง รู้สึกว่า ตนเองสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาเต็มที่แล้ว  เพราะจากเสียงตอบรับที่กลับมาจากที่สอนวิชานี้ไป ทุกวันนี้ มีนักศึกษานำวิชาศิลปะการจัดดอกไม้ไปประกอบเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริม สิ่งเหล่านี้คือความรู้สึกที่ดีของอาจารย์”

            อาจารย์เล่าย้อนให้ฟังเพิ่มเติมว่า “แรกเริ่มเดิมที วิชาศิลปะการจัดดอกไม้ของภาควิชาการจัดการและการโรงแรม เป็นแค่วิชาเลือกเสรี ดังนั้น นักศึกษาที่มาลงเรียน ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งสนใจที่จะมาเรียนจริง ๆ แต่เราไม่ได้คาดหวังว่า ท้ายที่สุดแล้ว เขาจะนำวิชาความรู้ไปใช้อย่างไร แต่เมื่อเวลาผ่านไปนักศึกษาเรียนจบ เราได้เห็นว่า มีนักศึกษานำไปประกอบอาชีพได้จริง เพราะว่า ในศาสตร์ของการจัดดอกไม้นั้น รายได้ค่อนข้างสูงพอสมควร ดังนั้น ทุกวันนี้ ศิษย์เก่าที่จบออกไปแต่ละรุ่นเกือบ 10 ปีที่แล้ว ก็ยังติดต่อมาหาอาจารย์อยู่ ติดต่อในเรื่องของงานดอกไม้ ส่วนหนึ่งรู้สึกว่า นักศึกษายังไม่ลืมเรา เวลาเขานึกถึงดอกไม้ เขาจะกลับมาหาเรา บางคน จะแต่งงานยังนึกถึงเรา มาขอคำปรึกษาเรา”

            สุดท้ายนี้อาจารย์โกสินทร์ยังขอฝากถึงคนที่สนใจงานในด้านนี้ว่า “อยากให้ได้มาลองก่อน อย่างแรกเลย คืออย่ารู้สึกว่ามันยาก อย่ารู้สึกว่าทำไม่ได้หรือเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกอย่างในโลกนี้สามารถเป็นไปได้หมด ส่วนตัวอาจารย์รู้สึกว่าทุกคนในโลกนี้ สามารถจัดดอกไม้ได้สวยเท่ากันหมด ไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นปรมาจารย์จัดดอกไม้มาจากที่ไหน หรือไม่เคยจัดดอกไม้เลย”

            “อาจารย์เชื่อว่า ทุกคนจัดดอกไม้ได้สวยเท่ากันหมด งานจัดดอกไม้เป็นเรื่องของเสน่ห์มากกว่า เป็นการงานที่ช่วยขัดเกลาอารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ได้ รวมถึงการใช้สมาธิขณะที่เราลงมือทำ ดังนั้นอยากให้คนที่สนใจมาลองทำก่อน อย่าพึ่งวิตกกังวล เพียงเพราะคำว่า ทำไม่ได้”

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ อาจารย์โกสินทร์ ประสานเกลียว ภาควิชาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนเราไม่ควรมีต่อความล้มเหลว แต่ควรมีต่อความสำเร็จในเรื่องที่ไม่ได้สำคัญกับชีวิตจริง ๆ

Writer

จากเด็กนักเรียนเซฟได้ผลันตัวเองมาเรียนนิเทศ มีงานอดิเรก คือดูหนัง ฟังเพลง ชอบการชอปปิ้งออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจ รักในการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ชอบหาความสุขให้ตัวเองและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

Writer

เคยเรียนอยู่เซนโยเซฟคอนเวนต์ มีงานอดิเรก ชอบดูหนังในยูทูบ ชอบทำอาหารกินเล่นเป็นประจำ ชอบมากที่สุดคือเวลาว่างมาก ๆ จะทำขนมเเละให้ทุกคนชิมว่าขนมของเราเป็นอย่างไร เเละชอบเดินเล่นในงานขนม เดินชิม

Photographer

ชอบฟังเพลงดูซีรีย์ทั้งวัน ส่วนใหญ่ก็จะนั่งฝึกมิกซ์เพลงทำเพลงไปเรื่อย ๆ เวลาคิดอะไรไม่ออกก็จะฟังเพลงกับดูซีรีย์วนลูปแบบนี้ ชอบออกจากบ้านตอนกลางคืนมากกว่ากลางวันเพราะร้อน ทำงานได้เกือบทุกอย่างถ้าไม่ร้อน