การทำงานอาสาต้องเสียสละและทุ่มเทอย่างมาก อ.อั้ม-อาจารย์ภัทรกฤต โยธินสิทธิชัยอาจารย์ประจำแผนกพัฒนากิจกรรมและสวัสดิการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือบุคลากรที่มีคุณภาพของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมีจิตอาสาทำงานอาสาอย่างจริงจัง ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จุดวัฒนะโยธิน จังหวัดปทุมธานี
จุดเริ่มต้นของการมาเป็นอาสาสมัครกู้ภัย
นาทีชีวิตเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ อ.อั้ม เริ่มหันมาให้ความสนใจงานจิตอาสา “เหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้น เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 9 ปีก่อน คุณพ่อเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ หัวใจวาย (Heart Attack) เรายังเป็นเด็กวัยรุ่น ไม่มีความรู้ด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอะไรเลย และไม่สามารถประเมินอาการได้ว่าคุณพ่อเป็นอะไร คิดว่านอนพักเดี๋ยวก็ดีขึ้น แต่มันกลายเป็นความคิดที่ผิด จนกระทั่งคุณพ่อได้หมดสติ จึงรีบส่งคุณพ่อไปโรงพยาบาลที่ใกล้เคียง ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจที่สายไปเสียแล้ว”
ความรู้ช่วยรักษาชีวิต
จากวันนั้น ทำให้ อ.อั้ม แสวงหาความรู้เกี่ยวกับการรักษาชีวิตของผู้คน ที่ประสบเหตุฉุกเฉิน “ตั้งแต่เหตุกาณ์ครั้งนั้น ทำให้เราคิดว่า เราต้องมีความรู้ในการประเมินอาการ และช่วยเหลือเบื้องต้นได้ จึงเข้าไปสมัครกับพี่ ๆ อาสาสมัครมูลนิธิที่อยู่ใกล้บ้าน ด้วยความที่เราเป็นเด็ก ไม่มีความรู้ทางด้านการปฐมพยาบาล หรือการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเลย เราคิดว่าคงทำไม่ได้หรอก แต่ความเป็นจริงแล้ว การที่เราไม่มีความรู้ หรือเริ่มจากศูนย์นั้น พี่ ๆ อาสาสมัครที่มีความรู้ และประสบการณ์เขาจะเริ่มสอนเราตั้งแต่ขั้นแรกเลย”
ความท้าท้ายของการเป็นอาสาสมัครกู้ภัย
การเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำให้มีความรู้มากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการการรับแจ้งเหตุ ออกไปช่วยเหลือ จนกระทั่ง นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ทุกขั้นตอน มีรายละเอียดที่ลึกซึ้ง อ.อั้ม อธิบายว่า “ตั้งแต่ได้รับแจ้งเหตุจากศูนย์สั่งการ ในการรับเคสนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือ เป็นผู้ป่วยนั้น ทุกเคสมีความสำคัญและมีความท้าท้ายที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากกลไกของการบาดเจ็บ หรืออาการที่ได้รับแจ้งมานั้น จะแตกต่างกันออกไป นี่คือความท้าทาย เพราะเราจะไม่รู้เลยว่า ก่อนที่ทีมพวกเราจะไปถึงที่เกิดเหตุนั้น อาการของคนป่วยจะเพิ่มขึ้นหรือบรรเทาลงอย่างไร”
4 นาทีแรกสำคัญที่สุด
การช่วยชีวิตเบื้องต้นมีความสำคัญมาก “ตัวอย่างของผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น การเริ่มต้นช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ ต้องทำได้ภายใน 4 นาที เพื่อให้หัวใจกลับมาทำงาน และสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนสำคัญต่าง ๆ ได้อย่างปกติ ปัจจุบันเมื่อได้รับแจ้งเหตุแล้ว กว่าจะไปถึงที่เกิดเหตุนั้น ส่วนใหญ่จะเจอปัญหารถติด จึงอยากทำความเข้าใจผู้ใช้ถนนว่า การที่รถเหล่านี้ เปิดไฟ เปิดเสียงหวอ ขอให้รถที่อยู่แวดล้อมช่วยหลีกทางให้ เพื่อความรวดเร็ว และการช่วยเหลือที่จะเกิดประโยชน์กับผู้บาดเจ็บ และผู้ป่วย”
อุบัติเหตุป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท
ในชีวิตคนเรา ถึงแม้จะหลีกเลี่ยงจากอุบัติเหตุไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกันได้ อ.อั้ม บอกว่า ส่วนใหญ่อุบัติเหตุที่พบจะเป็นเรื่องใกล้ตัว “อุบัติเหตุที่เกิดจากเมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อค ปัจจุบันการเมาแล้วขับ ถือว่า เป็นอุบัติเหตุที่เจอบ่อย ตามเทศกาลสำคัญ หรือวันหยุดยาว จากการสังสรรค์ที่ได้มีการดื่มสุราแล้วก็ไปขับขี่รถทุกชนิด”
อ.อั้มกล่าวเพิ่มเติมว่า “การที่เราดื่มสุราเข้าไปจะทำให้ประสิทธิภาพการคิด การตัดสินใจอาจลดลง หรือถ้าดื่มเป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดอาการมึนงง และง่วง ในบางครั้งอาจจะมีการหลับในเกิดขึ้น บางเคสที่เจอมานั้น ผู้ขับขี่ดื่มหนักและขับขี่ด้วยความเร็วสูง บวกกับความประมาทจึงทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ รถเกิดการเสียหลักพุ่งชน ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง จึงอยากจะฝากผู้ขับขี่ที่ชอบดื่มแล้วขับ ขอให้เมาแล้วไม่ขับดีกว่า เพื่อลดอุบัติเหตุและลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น”
การงานทุกอย่างล้วนมีความหมาย แต่จะมีความหมายยิ่งกว่า ถ้าการงานนั้นเป็นการงานที่เสียสละ และเป็นการทำเพื่อผู้อื่น งานจิตอาสา คือ การงานที่น่านับถือหัวจิตหัวใจของคนทำงานนี้ แม้ว่าจุดเริ่มต้นของการทำงานอาสากู้ภัยของอาจารย์ภัทรกฤต โยธินสิทธิชัย จะมาจากเรื่องส่วนตัว แต่นั่นนำมาสู่การงานที่ทำเพื่อสังคม