หนีห่าว (你好-nǐ hǎo) คำทักทายด้วยภาษาจีนที่คนทั่วโลกต่างคุ้นเคย ภาษาจีนและเรื่องเล่าจากมุมมองของคนที่เรียนธุรกิจและวัฒนธรรมจีน เป็นอีกหนึ่งการเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เราขอนำมาฝากกัน การเรียนรู้ทั้งภาษาจีนควบคู่ไปกับความรู้ด้านธุรกิจ จากมุมมองของรุ่นพี่ที่ได้เรียน BUCI วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบจริง ๆ คือภาษาจีน บวกกับที่ม.กรุงเทพ มีสาขาที่น่าสนใจคือธุรกิจการค้า ใช้ภาษาจีนในการทำธุรกิจโดยตรง เราก็เลยสนใจอยากเข้ามาเรียนที่นี่” นี่คือคำบอกเล่าของรุ่นพี่ BUCI เรื่องราวความสนุกสนาน เฮฮา ท้อ เหนื่อย และความทรงจำที่ดีในการได้มาศึกษาที่วิทยาลัยนี้ จะทำให้พวกเรารู้ซึ้งถึงตัวตนของนักศึกษา BUCI ว่าจริง ๆ แล้วการเรียนมันยากกว่าที่คิดไว้หรือเปล่า มารู้จัก BUCI ให้มากขึ้น และพูดคุยกับรุ่นพี่ตัวจริง เสียงจริงกันเลยดีกว่า !!!
BUCI วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
BUCI ย่อมาจาก Bangkok University Chinese International หรือวิทยาลัยนานาชาติ เป็นคณะน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีรูปแบบการเรียนการสอนที่ทันสมัย และปรับให้เหมาะสมในทุก ๆ ปี ใช้หลักสูตรตามมาตรฐานสากลจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหลักสูตรเปิดการเรียนการสอนในสาขา “ภาษาจีนธุรกิจ” แบ่งเป็น 2 เอก คือ 1) การค้าระหว่างประเทศ ที่จะสอนและเน้นไปทางด้านการทำธุรกิจกับประเทศจีน และ 2) ธุรกิจการท่องเที่ยว เน้นด้านการจัดการการท่องเที่ยว ให้บริการ ทัวร์ การโรงแรม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน
วิทยาลัยนานาชาติจีนมีหลักสูตรที่น่าสนใจให้เลือก อาทิ หลักสูตรปกติ เรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพตลอดหลักสูตร มีจุดเด่นที่นักศึกษาสามารถเรียนให้จบได้ใน 3 ปีครึ่ง โดยนักศึกษาต้องลงเรียนให้ครบ 135 หน่วยกิตในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนนักศึกษาที่ต้องการปริญญา 2 ใบ หรือต้องการได้ใบประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยในประเทศจีนควบคู่กับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ นักศึกษายังสามารถเลือกเรียนในหลักสูตร 2+2 และ 3+1 ได้อีกด้วย โดยจะใช้เวลาเรียนตลอดหลักสูตรเป็นระยะเวลา 4 ปี
โครงการ 2+2 เป็นของสาขาภาษาจีนเพื่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เรียนที่ไทย 2 ปี และเรียนที่จีน 2 ปี รับใบปริญญาได้ทั้งที่ประเทศจีนและประเทศไทย
ขณะที่โครงการ 3+1 จะเป็นสาขาภาษาจีนเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว เรียนที่ไทย 3 ปี และเรียนที่จีนอีก 1 ปี รับใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพและใบประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยในประเทศจีน โดยมีเกณฑ์คุณสมบัติในการที่จะไปเรียนต่อได้ที่จีน และหนึ่งในนั้นคือการสอบวัดระดับ HSK 5 ให้ผ่าน ซึ่งจะสามารถเข้าไปเรียนต่อในชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยของประเทศจีนได้
สองปีแรกของทั้งสองสาขาเนื้อหาจะคล้ายกัน แต่พอขึ้นปี 3 จะเริ่มให้เลือกสาขาที่แน่นอนแล้ว และ เนื้อหาจะเริ่มต่างกัน หลังจากเลือกแล้ว ยังสามารถเลือกได้อีกว่าจะเรียนที่จีนหรือไม่เรียนก็ได้ หากเรียนที่ไทย ก็จะเป็นเรียนครบ 4 ปี หรือ ถ้าเรียนที่จีนก็จะเริ่มไปในช่วงปี 3 และ 4 ของสาขาธุรกิจการค้า ขณะที่สาขาธุรกิจการท่องเที่ยว จะเรียนที่จีนในปี 3 และกลับมาเรียนที่ไทยอีก 1 ปี
มหาวิทยาลัยที่จีนที่รับนักศึกษาแลกเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ มหาวิทยาลัยภาษาและการค้าระหว่างประเทศกวางตุ้ง (สามารถเรียกสั้น ๆ ว่า กว่างไว่)
หากไม่มีพื้นฐาน ทุกคนสามารถมาเรียนได้ เพราะที่นี่มีให้ปรับพื้นฐานกันในปีแรก ซึ่งการสอนยังจะเป็นภาษาจีนปนกับภาษาไทยอยู่ แต่เมื่อเข้าสู่ปีสองอาจต้องปรับตัวมากขึ้น เพราะภาษาจีนจะยากขึ้นตามระดับ และหากเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพที่เดียว ก็จะสามารถฝึกงานไปได้ในตัว และจบมาก็สามารถมีอาชีพทำได้เช่นกัน ในขณะที่ไปที่จีนอาจไม่ได้มีการฝึกงานเหมือนกัน แต่จะสามารถใช้ภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะได้ใช้ภาษาจริงในชีวิตประจำวันตลอดระยะเวลาที่เรียน
เรียนภาษาจีนสนุกกว่าที่คิด เพราะมีเพื่อนและได้ทำกิจกรรม
รุ่นพี่ของคณะนี้ คนแรกที่เราอยากแนะนำให้รู้จักคือ พี่ปุยฝ้าย-มนปรียา แต้มใจ พี่ปุยฝ้ายมีความกล้ามากมายในการเลือกเรียนภาษาจีน ถึงแม้จะมาเรียนตัวคนเดียว แต่ก็พร้อมที่จะเข้าไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่ เพื่อให้การเรียนภาษาจีนที่นี่สนุกมากยิ่งขึ้น
ตอนเข้ามาแรก ๆ พี่ปุยฝ้ายเป็นเด็กต่างจังหวัด เข้ามาตอนซัมเมอร์แรก อาทิตย์แรก ยังไม่ค่อยมีเพื่อน พี่ปุยฝ้ายเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าไปทักคนอื่นก่อน รู้สึกว่ายังไม่ได้มีเพื่อนเยอะ แต่ว่าเหมือนพอเริ่มเรียนชั่วโมงแรก เพื่อนก็จะเริ่มมาทัก เริ่มคุย เพื่อนทุกคนน่ารักมาก รวมถึงรุ่นพี่ก็จะคอยถามนั่นถามนี่ตลอดเวลา แล้วเหมือนช่วงหลัง พอเริ่มมีเพื่อน มันก็จะเริ่มมีอะไรสนุก ๆ ให้ทำเยอะขึ้น
พี่ปุยฝ้าย–มนปรียา แต้มใจ
พี่ปุยฝ้ายบอกอีกว่า มีกิจกรรมที่ไม่ควรพลาด คือขึ้นสแตนด์ในงาน BU Cheer day เพราะมันสนุกมาก ๆ มันไม่ใช่แค่มานั่งปรบมือเฉย ๆ แล้วก็มีอีกหลายงาน อย่าง Open House ก็สนุกเหมือนกัน เพราะในระหว่างการเตรียมงาน เขาก็จะให้เราคิดทุกอย่าง อาจารย์ก็จะมาบอกว่า ใครอยากช่วยงานบ้าง ให้มาลงชื่อ เขาก็จะให้อิสระเราในการคิดทุกอย่างว่าอยากทำอะไร ให้ลองเสนอดูว่าใช้แบบไหนได้บ้าง ใครอยากทำอะไร เขาก็จะให้อิสระ
พี่ปุยฝ้ายเป็นคนหนึ่งที่ทำกิจกรรมเยอะมาก เป็นเด็กกิจกรรม แม้ว่าภาษาจีนจะค่อนข้างยาก แต่พี่ปุยฝ้ายรู้สึกว่าการเรียนภาษาจีนมันไม่ได้มีปัญหา ถ้าจัดการเวลาดี ๆ คือตั้งแต่มัธยม ตั้งแต่ประถม พี่ปุยฝ้ายเป็นคนที่ทำกิจกรรมมาตลอด ถ้าเป็นเพื่อนสนิทเขาจะรู้เลยว่า พี่ปุยฝ้ายไม่เคยว่างเลย ไปทำนี่ทำนั่นตลอด มีชมรมก็ไปทำตลอด แต่ว่าการเรียนภาษาจีน ก็ยังไม่ทิ้ง ฝึกฝนควบคู่กันไป เพราะรู้สึกว่าการเรียนไม่ได้มีผลต่อการทำกิจกรรม ถ้าจัดการเวลาดี แล้วก็มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มันก็จะสามารถทำไปพร้อมกันได้อย่างลงตัว
รักในภาษาจีน อยากนำไปใช้งานได้จริง
อีกหนึ่งจุดเด่นของการเรียนที่นี่คือ เรียนรู้ภาษาเพื่อใช้งานได้จริง พี่เบล-ธมลวรรณ วิภัทรเมธีกุล พี่เบลบอกว่า ชอบภาษาจีน แต่ไม่อยากเรียนอักษร เพราะถ้าเรียนอักษรจีน ต้องเรียนประวัติ ตัวอักษร หรือ มีรายละเอียดค่อนข้างมาก พี่เบลไม่อยากเรียนถึงขั้นนั้น พี่เบลอยากเรียนแค่การใช้ภาษาจริง ๆ พอพี่เบลมาเจอคณะนี้ พี่เบลเห็นว่าสอนในส่วนที่เป็นภาษาเพื่อเอาไปใช้ จึงเลือกเรียนคณะนี้
พี่เบล-ธมลวรรณ วิภัทรเมธีกุล
ก่อนเข้ามาก็เคยคาดหวังว่ามาเรียนที่ BUCI แล้วจะได้เจอเพื่อนที่เรียน และเล่นให้ถูกเวลา หรือ work hard play hard แล้วสามารถไปด้วยกันได้ เมื่อได้มาเรียนแล้วก็ได้พบเพื่อนอย่างที่หวังจริง ๆ ตอนนี้พี่เบล ก็รับหน้าที่เป็น staff ของคณะด้วย แล้วมีกิจกรรมหลายอย่างให้ทำไปพร้อมกับเพื่อนด้วย ในส่วนของการเรียน คณะของเราจะไม่ค่อยส่งเล็คเชอร์ให้กัน รูปแบบการช่วยเหลือกันมักเป็นการให้คำแนะนำว่า ใช้หนังสือเล่มนี้นะ อาจารย์ท่านนี้เป็นยังไง การสอนเป็นอย่างไร ให้กับรุ่นน้อง
พี่เบลได้ฝากไว้ว่า อย่าชะล่าใจในปี 1 ถึงมันจะง่าย แต่เมื่อขึ้นปี 2 แล้วมันจะยากขึ้น การสอบภาษาจีนนั้น ต้องเก็บรายละเอียดในหนังสือ เขาเอามาจากหนังสือเลย แต่เวลาออกสอบจะเปลี่ยนคำบางคำ แต่ยังคงมีเจตนาในการตั้งคำถามเหมือนเดิม และถ้าเราอ่านหนังสือ หรือตั้งใจเรียนในห้องเรียนก็สามารถสอบผ่านได้ ประกอบกับทบทวนบทเรียนและต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
เดินทางไปเรียนที่จีนท้าทายกว่าที่คิด…สร้าง Connection เพื่อต่อยอดธุรกิจ
อีกหนึ่งไฮไลท์ที่เราไม่พลาดคือการพูดคุยกับรุ่นพี่ที่ได้เดินทางไปเรียนที่จีน พี่เพ็ญ-เพ็ญผกา เหลืองอ่อน เรียนในโครงการ 2+2 สาขาจีนธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
พี่เพ็ญบอกกับเราว่า การเตรียมใจก่อนไปเรียนที่จีนนั้น พี่เพ็ญเต็มไปด้วยความกังวล เพราะเราไม่รู้ว่าพอไปถึงจะพบเจอกับอะไรบ้าง แต่ด้วยนิสัยที่มีคือทำอะไรแล้ว ก็ไปให้สุด จึงถ้าจะกลัวก็กลัวตั้งแต่ไทยไปยันจีนเลย แล้วให้มันรู้ไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เพราะเราตัดสินใจแล้วมันต้องลอง
พี่เพ็ญ-เพ็ญผกา เหลืองอ่อน
สำหรับคนที่คิดว่าไปจีนมันลำบาก ใช่มันลำบากจริง ถ้าเรามองว่ามันลำบาก แต่ถ้าเรามองว่ามันสนุก ก็คือสนุก มันเหมือนเป็นความลำบากที่เรายินยอม และเมื่อเราค้นพบถึงความสนุก หรือความสำเร็จของมัน ความเหนื่อยล้าเหล่านั้นก็หายไป
การใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาที่จีน ก็เหมือนตอนเราอยู่ที่ BU คือ เราอยากทำอะไร เราก็สามารถทำ แต่ควรอยู่ในขอบเขต พอมีปัญหาสามารถปรึกษาอาจารย์ได้ที่ Office ของนานาชาติ ไม่ว่าจะเรื่องหอพัก เรื่องการกินการอยู่ หรือความ homesick อาจารย์ยินดีช่วย สนุกตรงที่ตัวพี่สามารถหา Contact หรือบุคคลเป็นชาวต่างชาติได้ เพราะเพื่อน ๆ ที่มาเรียนด้วยกันต่างก็มาเรียนเพื่อไปทำธุรกิจ ดังนั้นจึงมี connection มากขึ้น เพื่อน ๆ ต่างชาติมีที่ตอบโจทย์ตลาดคนไทย ไม่ว่าจะเกาหลี หรือ ฝรั่ง ห้องพี่มีเพื่อนเกาหลี 4 คน รัสเซียเยอะอยู่ อังกฤษ ฝรั่งเศส มีบ้าง อาหรับ หรือ ประเทศที่ลงท้ายด้วยคำว่าสถานก็มี (ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน หรือ อื่น ๆ)
ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพื่อนต่างชาติ ที่ไม่ใช่คนจีน แต่สำหรับเพื่อนคนจีน ก็มีบ้าง ซึ่งที่พบกันแน่ ๆ คือ ในกิจกรรมรับน้อง จะมีเพื่อนคนจีนเป็นบัดดี้ หรือมีรุ่นพี่มาคอยดูแล หลังจากนั้นจะสามารถเจอได้ตามโรงอาหาร หรือตามตึกเรียน ถึงเพื่อนส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนจีนก็ตาม แต่ทุกคนต่างพร้อมใจกันใช้ภาษาจีนหมดเลย ดังนั้นเวลาพวกเราชาวต่างชาติมาพูดกัน จึงไม่รู้ว่าใครพูดถูกหรือผิดแล้ว ได้ฝึกภาษาจีน และได้ใช้จนชิน
การเรียนของที่ไทยและที่จีนจะต่างกันตรงที่ในไทยเราจะมีคนที่มีพื้นฐานที่ต่างกัน จึงยังง่ายอยู่บ้าง แต่เมื่อไปเรียนที่จีน ทุกคนต้องได้ HSK 5 พื้นฐานทุกคนจะแน่นมาก จะมีวิชาหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์ ให้อ่านหนังสือทั้งเล่ม สอบทั้งเล่ม แต่ยังดีที่ตอนสอบสามารถเปิดหนังสืออ่านได้ แต่ของไทยเราจะเน้นความคิดสร้างสรรค์ โปรเจคต่าง ๆ ที่สนุกสนาน แต่เรียนที่จีน จะเข้มข้น และยากขึ้น เราต้องปรับตัว ต้องฝึกฝน ประมาณเดือนครึ่งเราจะเริ่มชิน และมันจะค่อย ๆ ดีขึ้น
แล้วเนื่องจากเกิดโรคระบาดโควิด-19 จึงไม่สามารถเรียนต่อที่จีนได้ระยะหนึ่ง จึงมีการใช้แอพพลิเคชั่น WeChat และติงติง (WeChat ไว้ติดต่อ ส่วนติงติงไว้สำหรับวิดิโอคอลเรียนสด) อาจมีปัญหาบ้างเรื่องเน็ตหลุด แต่เพราะมีสอนสดผ่านแอพด้วย หรือสอนส่งมาเป็นวิดิโอด้วย จึงสามารถเรียนพร้อมกันได้
นักศึกษาทุน ม.กรุงเทพ ที่มุ่งมั่น ขยัน และตั้งใจเรียน
ปิดท้ายที่ พี่ฟ้า-กุลปริยา โอภาสปัญญา เป็นตัวอย่างนักศึกษาที่ขยัน ทำให้ผลการเรียนดี จนได้รับทุนการศึกษาจากทั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และทุนรัฐบาลจากที่ประเทศจีนอีกด้วย
พี่ตั้งใจเรียนมาก เพื่อจะได้รับทุน สำหรับนักศึกษาที่เกรดสูงที่สุดในคณะ โดยในปีแรกพี่ตั้งใจเรียน ได้รับทุนเรียนดี 5,000 บาท และไปจ่ายในค่าเทอมชั้นปี 2 พี่ยังได้ทุนเรียนดียอดเยี่ยม เรียนฟรี 1 ปี จึงทำให้ในตอนปี 3 ที่จีน สามารถได้เรียนฟรี ๆ เลยค่ะ และที่จีนก็มีทุนเรียนดีเช่นกัน โดยพี่ได้ทุนของเมืองกวางตุ้ง ที่ให้ทุนสำหรับนักศึกษาเยอะมาก เพราะต้องการให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียนที่เมืองนี้ โดยของพี่ได้ 50,000 บาท หรือ 10,000 หยวน และตอนนี้พี่ได้ทุนป.โท ของเมืองกวางตุ้ง 20,000 หยวน หรือ 100,000 บาทด้วย
พี่ฟ้า-กุลปริยา โอภาสปัญญา
พี่ฟ้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุนที่จีนเป็นทุนของเมือง เราขอได้ทุกปี แต่ว่าตอนเราเข้าไป เราต้องได้เอกสารจากอาจารย์ คล้ายกับ Recommendation Letter ตอนปี 3 เราขอแบบนั้นได้ เราอาจจะมีโอกาสได้มาก แต่ตอนปี 4 เขาจะดูอิงจากคะแนนของเรา เราต้องได้คะแนน 75 – 80 คะแนนขึ้นไปทุกวิชา เขาถึงจะให้ทุนเรา คะแนนเราต้องดี และเราก็ต้องมาเข้าเรียนตลอด
เทคนิคการเรียนของพี่ฟ้า คือความตั้งใจ พูดกับตัวเองเสมอว่า “เราทำได้ มันง่ายนิดเดียว” พี่ฟ้าจำคำศัพท์ทุกวัน ทุกหน้าหนังสือ ทุกบรรทัดที่อาจารย์สอน มันแปลว่าอะไร ใช้ยังไง เราต้องรู้ เมื่อเลิกเรียนก็กลับมาทบทวน สี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยมันสั้น อีกไม่กี่ปีก็ต้องไปเจอชีวิตจริง ๆ แล้ว ดังนั้นยิ่งต้องตั้งใจทำ ตั้งใจอ่าน ตั้งใจทำทุกอย่างเพื่อที่จะไปเรียนที่จีนอีก 2 ปี
เมื่อได้ไปจีนก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด ไม่แค่เฉพาะในห้องเรียน รวมถึงกิจกรรมด้านนอก การคบเพื่อน การไปเจอสิ่งใหม่ ๆ เวลาเพื่อนไปไหน ชวนไปทำกิจกรรมอะไร อาจารย์ชวนไป พี่ฟ้าก็ไปเข้าร่วมทุกกิจกรรม เพราะว่าพี่ฟ้าอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง คือถ้าสมมุติว่าเราอยู่แค่ในห้องมันไม่ได้อะไร เหมือนเรารู้แค่ในห้องแค่นั้น
ประสบการณ์ที่ได้จากที่จีน เป็นสองปีที่คุ้มค่ามาก พี่ฟ้าอธิบายให้ฟังด้วยความตื่นเต้นว่า ประโยชน์คือเราสามารถใช้ภาษาจีนได้ในชีวิตประจำวัน ได้ connection ทั้งในและต่างประเทศ สัมผัสโลกที่กว้างขึ้น ได้มีเพื่อนคนจีน และมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น วันลอยกระทง สงกรานต์ กิจกรรมจากมหาวิทยาลัยกวางไว่ คือ สนุกมาก เช่น 文化 Wénhuà หรืองานวัฒนธรรม เป็นการเปิดให้ทุกประเทศมาแสดงวัฒนธรรมร่วมกัน เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น
ถึงตรงนี้คงต้องเอ่ยคำว่า จ้าย เจี้ยน (再见-zàijiàn) หรือ แล้วพบกันใหม่ ได้ฟังเรื่องราวการเรียนรู้ภาษาจีนอย่างเข้มข้นกันไปแล้ว หวังว่าเพื่อนทุกคนจะลองเปิดประสบการณ์ให้ตนเองได้เรียนรู้ภาษาที่สองและภาษาที่สามกันมากขึ้นนะคะ แล้วจะพบว่าเรื่องของภาษานั้น ถ้าเราฝึกฝนอย่างตั้งใจก็ง่ายนิดเดียวเอง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติจีน (BUCI) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ