แอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ หัวใจเกินร้อย พี่ฌอง-ณัชพล เด็กดิจิทัลมีเดียฯ ม.กรุงเทพ

เปิดโลกแอนิเมชัน สร้างโลกจินตนาการ ทำให้ตัวละครมีชีวิตชีวากับแอนิเมอร์เตอร์เลือดใหม่

           รู้ไหมว่า หนังแอนิเมชันเรื่องหนึ่ง เบื้องหลังของมันนั้น มีเรื่องท้าทาย และแลกมาด้วยเวลา ความทุ่มเทของคนจำนวนมาก ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้ออกมาสู่สายตาผู้ชมเพียงไม่กี่ชั่วโมง

           เราขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ พี่ฌอง-ณัชพล วงศ์จารุสถิตย์ นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ ที่ได้ลงมือทำงานแอนิเมชันจริง ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา แน่นอนว่าในสาขาสื่อดิจิทัลมีเดีย ไม่มีใครไม่รู้จักเขา เพราะผลงานของ ‘พี่ฌอง’ ต่างเป็นที่รู้จักของเด็กในคณะ สาขาเดียวกัน อย่างผลงานเรื่อง In The Treasurebox ผลงานล่าสุด จากการลงมือทำงานจริงในวิชา Digital Media Production ที่ทำให้ใครต่อหลายคนได้ปรบมือกับผลงานการทำแอนิเมชัน ที่เทียบกับผลงานของมืออาชีพเลยทีเดียว

ผลงานเรื่อง In The Treasurebox

           ผลงานที่ทุกคนได้รับชมนั้นเป็นเพียงเสี้ยววินาที ที่ทำให้ใครบางคนถึงกับร้องว้าว กว่าจะสามารถทำผลงานแอนิเมชั่นได้สมจริงได้ถึงขนาดนี้นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร พวกเราจึงตั้งหน้าตั้งตาฟังคำตอบทั้งหมดจาก “พี่ฌอง” อย่างใจจดใจจ่อ

           พี่ฌองได้ไปฝึกงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับบริษัท Igloo Studio ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา Igloo เป็นสตูดิโอผลิตโอแอนิเมชัน เกม CGI และ VFX ที่สร้างสรรค์ผลงานมาแล้วมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าพูดถึงผลงานแอนิเมชันที่มีชื่อเสียงของคนไทยที่ผ่านมาอย่างเรื่อง ‘๙ ศาสตรา’ ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานความสำเร็จของ Igloo Studio เช่นกัน

แอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ หัวใจเกินร้อย

           จุดเริ่มต้นของพี่ฌอง เริ่มในช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 5 พี่ชอบดูพวกทำแอนิเมชันที่ทำออกมาเป็น Teaser ของเกม อย่างเกม Overwatch แล้วก็แอนิเมชันล้อเลียน พี่เห็นแล้วรู้สึกว่ามันตลกดี เลยเกิดสนใจว่าเขาทำได้อย่างไร ทำด้วยโปรแกรมอะไร พอรู้แล้วก็ลองโหลดมาเล่นดู ทั้งที่ยังไม่รู้อะไรเลย หัดใช้โปรแกรม ลองผิด ลองถูกมาเกือบหนึ่งปี ตอนนั้นรู้สึกว่ามันยากเลยหยุดไปพักหนึ่ง

           พอมาช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ลองกลับมาเล่นอีกครั้ง ลองใจเย็น ๆ แล้วทำดู พี่แค่รู้สึกว่าชอบ ทำได้ก็ทำไป ถึงแม้ว่าจะไม่เก่งก็ตาม ซึ่งโปรแกรมที่พี่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองในตอนนั้น ที่คนทั่วโลกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในสายงานด้านแอนิเมชันใช้กัน ก็คือ โปรแกรม MAYA พอรู้ว่า เขาใช้กัน พี่ก็เริ่มลองฝึกโปรแกรม MAYA ตั้งแต่ ม.6 เมื่อเข้ามาเรียนปี 1 ได้เข้ามาสัมมนาในคณะ ก็ได้มารู้จักกับ พี่บัว-ทิฆัมพร ทีปะปาล พี่เขาเป็นแอนิเตอร์ระดับโลก ซึ่งตอนนั้นเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับพี่เลย ที่ได้มารู้จักกับพี่เขา เพราะพี่เขาสร้างแรงบันดาลให้กับพี่มาก ๆ

           แพสชั่นและแรงบันดาลใจในการทำแอนิเมชั่นของพี่ คือ การได้อนิเมทตัวละคร เราได้ทำให้เขามีชีวิต ท่าทาง และสีหน้าในการแสดงออก มันเกิดขึ้นได้เพราะมือของเรา พี่มองว่าตรงนี้นี่แหละ ที่มันเป็นความหลงใหลของพี่

กว่าจะเป็นแอนิเมชันอย่างที่เห็น

           พี่ฌอง ขยายความถึงเบื้องหลังการทำแอนิเมชันให้เราฟัง ว่า งานที่พี่ทำ และเรียนอยู่ เป็นงานประเภท 3D ซึ่งมีกระบวนการในการทำหลายขั้นตอนมาก เริ่มแรก คือ เราต้องสร้างคาแรกเตอร์ดีไซน์ตัวละคร และสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาก่อน พอดีไซน์เสร็จแล้ว นำมาขึ้นเป็นโมเดลในโปรแกรมคอมพิวเตอร์

           เมื่อถึงขั้นตอนนั้นแล้ว เราต้องมาเพิ่มรายละเอียดให้กับตัวละครอีก พวกพื้นผิว สี และเสื้อผ้าต่าง ๆ เหมือนจะจบแค่นั้นใช่ไหม เพราะว่า เราต้องนำตัวละครที่ขึ้นโครงเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาใส่กระดูก หรือภาษาในงานแอนิเมชั่นเรียกกันว่า Rigging เพื่อให้คนที่ทำงานในตำแหน่งแอนิเมเตอร์ สามารถนำมาทำให้มันเคลื่อนไหวได้ นี่คืองานที่พี่ทำอยู่

           จากนั้นต้องส่งให้ฝ่ายจัดแสง เพื่อประมวลผลออกมาให้เป็นภาพที่สวยงาม แต่มันยังไม่จบแค่นั้น เพราะต้องนำไปใส่พวกเอฟเฟคอีก เพื่อทำให้มันสมจริงมากยิ่งขึ้น อย่างงาน Short Film เรื่อง In The Treasurebox งานที่พี่ทำร่วมกันกับเพื่อน ๆ พี่ทำหลายตำแหน่งมาก หลัก ๆ แล้วทำกับเพื่อนไม่กี่คน พี่เป็นทั้งตำแหน่ง Rigger (คนใส่กระดูก) และแอนิเมเตอร์ แต่งานที่เห็นภาพรวมโมเดลต่าง ๆ จะเป็นในส่วนของเพื่อนพี่ทำ ซึ่งจะเป็นอีกตำแหน่งหนึ่ง

แอนิเมเตอร์ พระเอกของการเล่าเรื่อง

           การทำให้เรื่องราวและตัวละครมีชีวิตเสมือนจริงคือความสุขของคนทำงานแอนิเมชัน พี่ฌองบอกว่าที่เลือกงานนี้เพราะมองว่า ‘แอนิเมเตอร์’ เป็นพระเอกของการเล่าเรื่อง เพราะทำให้ตัวละครมีชิวิตขึ้นมา พอพี่เห็นอะไรที่มันเคลื่อนไหวแล้วอยากทำ อย่างพวกสัตว์ประหลาด ตอนนี้เรื่องของการอนิเมทตัวละครมันมีหลายเรื่องมากต้องลองฝึกไปเรื่อย ๆ อย่างแอนิเมชันของดิสนี่ย์ รายละเอียด (Detail) ที่เขาใส่มา เรายังทำได้ไม่เท่าของเขา จึงต้องหัดฝึกฝนต่อไป คือการทำแอนิเมชันมันไม่สิ้นสุดจริง ๆ เหมือนกับว่าเราต้องวิ่งมาราธอนอยู่อย่างนั้น ไม่มีวันสิ้นสุด

ประสบการณ์จากการฝึกงานจริง

           การออกไปข้างนอก พูดคุยกับคนที่ทำงานจริง เป็นประสบการณ์สำคัญ พี่ฌองเริ่มเข้าไปทำในช่วงปิดเทอมใหญ่ช่วงปีที่ 1 ไปเทรนพื้นฐานแอนิเมชัน ให้ความรู้แน่นขึ้น ได้ประสบการณ์มาค่อนข้างเยอะ พี่ไปเรียนรู้ซะมากกว่า ยังไม่ได้ลงมือทำ แต่พอมาในช่วงปิดเทอมของปี 2 พี่ก็ได้เข้าไปทำจริง ๆ ที่ Yggdrazil Studio เป็นบริษัททำแอนิเมชัน และโฆษณา การเข้าไปลองทำจริงทำให้พี่ฌองได้พัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ และก้าวต่อไปคือการเดินทางเข้าสู่อุตสาหกรรมของคนผลิตแอนิเมชัน

สายงานแอนิเมชัน ความฝันที่ยังคงเดินทางต่อ

           งานแอนิเมชันในประเทศไทยค่อย ๆ เติบโต พี่มองว่ามันดี คนไทยเก่ง แต่จะด้อยในเรื่องของเนื้อเรื่อง ที่ยังไงก็หลบไม่พ้นกับความเป็นไทย อย่างเรื่อง ‘๙ ศาสตร์ตรา’ ถึงแม้ว่าจะเป็นแนวแฟนตาซี แต่ก็ยังไม่พ้นความเป็นไทยอยู่ดี อยากให้มีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก

           อนาคตพี่ฌองแชร์สิ่งที่วางแผนไว้ว่า พี่ก็อยากทำงานบริษัทในประเทศไทยให้ความรู้แน่น อยากไปทำที่ต่างประเทศด้วย อยากไปทำกับค่ายใหญ่ ๆ อย่างเช่น ค่าย Riot เป็นค่ายเกมระดับท็อปที่ทำแอนิเมชั่นออกมาได้ดีมาก ๆ

           พวกเราต้องขอชื่นชม ‘พี่ฌอง’ ที่ได้มาบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ ว่ากว่าจะได้เป็นแอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ไฟแรงได้นั้น ต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง พี่ฌองยังได้ฝากข้อคิดกับพวกเราไว้ว่า “การเป็นแอนิเมเตอร์นั้น ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน เพราะมันไม่มีที่สิ้นสุด” ไม่ต่างกันกับหลายความฝัน ที่ต้องวิ่งตามหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่ฌอง-ณัชพล วงศ์จารุสถิตย์ นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ถ้าเปรียบชีวิตเป็นหนังสือ หนังสือเล่มนี้ภายนอกอาจดูไม่ค่อยน่าสนใจนัก แต่เมื่อคุณลองเปิดอ่านแล้ว คุณจะเจอสีสันโทนสีแปลกตา เป็นหนังสือที่จะพาคุณไปเจอกับมุมมองใหม่ ๆ

Writer

การเขียนเหมือนกับการนอนใต้ต้นไม้ใหญ่ท่ามกลางพื้นหญ้าที่แสนสงบสุข ก็เพราะว่ามันไม่เคยน่าเบื่อเลยสักครั้ง

Writer

เกิดแก่กินนอน

Photographer

จงคิดถึงสิ่งสวยงามที่ยังคงอยู่รายรอบตัว และมีความสุขไปกับมัน

Photographer

ชีวิตยังมีอะไรอีกเยอะ อย่าหยุดอยู่กับอะไรเดิม ๆ

Photographer

กล้าคิดกล้าทำ ในสิ่งที่ชอบ

Photographer

อยากเป็นคนเก่งต้องคิดนอกกรอบ แต่ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องคิดนอกกระดาษ ไอสไตน์ไม่เคยกล่าว