พันธกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือการก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล (Internationalization) เปิดรับความแตกต่างหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
หลักสูตรนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือส่วนหนึ่งของการวางรากฐาน เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล เราได้พูดคุยกับอาจารย์ชาวจีน อาจารย์ Wu Xian หนึ่งในผู้สอนหลักสูตรนานาชาติจีน ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ข้ามน้ำข้ามทะเลมาสู่เมืองไทย
อาจารย์ Wu Xian ชื่อของอาจารย์มาจากคำว่า Wu เป็นแซ่ แล้ว Xian ก็คือ ชื่อนั่นเอง
อาจารย์มีชื่อเล่นที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า ซี ที่มีความหมายว่า ทะเล หรือที่นักศึกษามักจะเรียกกันว่า อ.ซี อาจารย์เรียนจบปริญญาตรีและปริญญาโทที่ Zhengzhou University หรือมหาวิทยาลัยเจิ้งโจวที่ประเทศจีน ปริญญาโทสาขา Teaching Chinese as the Second Language
ตั้งแต่อาจารย์เรียนจบก็ได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในประเทศไทยปีนี้เป็นที่ 11 แล้ว แต่พึ่งได้มาสอนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประมาณสองปี ในหลักสูตรนานาชาติจีน สอนเนื้อหาเกี่ยวกับการฟัง การพูด การใช้ภาษาจีน รวมถึงสอนด้านธุรกิจอีกด้วย
มุ่งมั่นในการเป็นครูสอนภาษาจีนให้ชาวต่างชาติ
อ.ซี เปิดเผยถึงเส้นทางการเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่เมืองไทยว่า ตนเองสามารถเลือกมาสอนที่ประเทศไทยได้ง่าย เพราะว่าเรียนจบหลักสูตรที่สอนภาษาจีนให้กับชาวต่างชาติ ตอนที่ยังเรียนไม่จบ ก็รู้ว่า รัฐบาลมีโครงการที่ส่งครูจีนไปทั่วโลก ตั้งแต่เรียนปริญญาโท ก็รู้ตัวเองว่า อาจจะมีโอกาสได้ไปสอนในต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่รู้ว่า จะเป็นประเทศอะไร แล้วพอถึงเวลาใกล้จะเรียนจบ มีโครงการที่เรียกกันว่า ครูอาสาสมัคร ที่ให้มาสอนที่ประเทศไทย จึงตั้งใจเลือกมาโครงการนี้
การเตรียมตัวมาสอนชาวต่างชาติ
การเดินทางไปทำงานในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิด อ.ซี เล่าถึงวิธีการเตรียมตัวให้เราฟังว่า รัฐบาลประเทศจีนจะมีการเตรียมตัวให้พวกเราก่อนมาไทย ในช่วงแรกมีการอบรมเป็นระยะเดือนกว่า ก็คือสอนพื้นฐานที่ควรรู้ ก่อนจะเป็นครู อย่างเช่น คำศัพท์ต้องสอนอย่างไร ไวยากรณ์ การเขียน และการอ่านต้องเป็นอย่างไรบ้าง วิธีสอนเป็นพื้นฐานที่ต้องมี
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมต้องเรียนรู้ว่า วัฒนธรรมไทยมีอะไรบ้าง คือ อาจารย์ต้องเรียนรู้เป็นอย่างดี ภาษาไทยก็เรียนบ้าง แต่ว่าตอนนั้นเกณฑ์การใช้ภาษาไทยยังไม่ค่อยดีมากนัก แต่ตอนนี้คือรัฐบาลจีนก็เข้มงวดมากขึ้น แล้วคนที่จะมาสอนก็ต้องอบรมอย่างน้อยสามเดือน เพราะการฝึกอบรมก็จะเหมือนฝึกอย่างเข้มข้น เพื่อให้เรามีความพร้อมในการสอนที่ประเทศไทย
เรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อเริ่มงานใหม่
อ.ซี เดินทางมาทำงานที่เมืองไทย เป็นครั้งแรกที่เปลี่ยนจากการเป็นนักศึกษามาเป็นอาจารย์ ในการเรียนยังพอโอเค เพราะว่าเคยฝึกการสอนที่ประเทศจีนมาแล้ว แต่ว่าเรื่องของภาษาไทย และเรื่องของการสนทนากับเด็ก ๆ ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในตอนนั้น ด้วยความโชคดีของ อ.ซี อาจารย์มีเพื่อนคนหนึ่ง เขาก็เป็นคนจีนเหมือนกัน เขาก็รู้จักการใช้ภาษาไทยดี เขาเรียนจบภาษาไทยด้วย โชคดีที่เขาอยู่หอพักข้างๆ ก็เลยชอบไปหาเขาบ่อย ๆ ก่อนที่จะเตรียมสอน เพราะต้องถามเขาว่า คำนี้ภาษาไทยพูดว่าอะไร เรียนรู้จากคำศัพท์ แล้วก็ค่อยอธิบายให้เด็ก ๆ ฟัง แล้วช่วงหลังมาก็จะเพิ่มคำศัพท์ให้มากขึ้น เพื่อจะได้เปลี่ยนเป็นประโยคอื่น ๆ หรือแต่งประโยคอื่นได้
ความต่างของการเรียนการสอนที่จีนกับไทย
ประเทศจีนมีมาตรฐานการสอนหรือการวัดผลไม่เหมือนกับไทย ที่จีนเราจะสอนให้คนจีน ส่วนที่ไทยจะสอนให้คนต่างชาติ ภาษาจีนไม่ได้เป็นภาษาแม่ของเขา เราต้องเลือกเป้าหมายที่ไม่ต้องเน้นลึกขนาดนั้น ให้นักศึกษาตั้งเป้าหมาย เช่น แค่สนทนากับคนจีนให้รู้เรื่องก็พอ อาจารย์ถือว่าเป็นผลที่ดีมากแล้ว เราก็ต้องปรับมาตรฐานให้เข้ากับผู้เรียน อ.ซีบอกเล่ารายละเอียด
การเรียนของไทยต่างจากจีน ตรงที่ไทยจะ active มากกว่าที่จีน ที่จีนคือเน้นอ่านหนังสือ เรียน ท่องจำ และสอบ แต่ที่ไทยจะมีกิจกรรมเยอะ ต้องเอาเนื้อหาการเรียนการสอนให้อยู่ในกิจกรรมด้วย จะทำให้นักศึกษารู้สึกดีมากเลย อาจารย์ต้องเอาวิธีการคิดหลายวิธี และหลายอย่างที่ช่วยให้นักศึกษารู้สึกเรียนสนุกขึ้น
ประสบการณ์ต่างแดนนานทศวรรษ
อ.ซี อยู่เมืองไทยมา 11 ปีกว่าแล้ว อาจารย์แชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า รู้สึกว่า ดีกว่าที่คิดไว้ ก่อนนี้ไม่รู้ว่า ประเทศไทยเป็นอย่างไร เคยมีคนบอกไว้ว่า ไม่อยากให้คาดหวัง จะได้ไม่ต้องผิดหวัง ยกตัวอย่างประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดี เช่น เพื่อนครูบางคนไปอยู่ต่างจังหวัด ที่อยู่หรือหอพักจะมีงูหรือมด จะไม่มีพวกร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า สภาพแวดล้อมรอบ ๆ เป็นทุ่งนาเลย เป็นต้น
แต่พอมาถึงที่ประเทศไทยจริง ๆ ส่วนตัวเรา รู้สึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดีกว่าที่คิดไว้ มหาวิทยาลัยที่ได้ไปสอนก็มีอาจารย์ที่พูดจีนได้ ดูแลกันเป็นอย่างดี
การรับมือกับงานสอนในช่วง Covid-19
เราชวนอาจารย์คุยต่อถึงเรื่อง Covid-19 ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก อ.ซี บอกว่า ตอนที่โควิดเพิ่งจะเริ่มต้น เราทุกคนที่เป็นคนจีนรู้ว่าเริ่มต้นที่ประเทศจีน คนจีนจะได้รับข้อมูลเร็วกว่าคนไทย ก็ตอนโควิดมาที่ไทยจริง ๆ เราก็ชินกับโควิดแล้ว ช่วงก่อนตรุษจีนไม่กี่วันอู่ฮั่นเขาปิดเมือง เราก็พึ่งรู้สึกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหญ่มาก เราก็มีเพื่อนมีญาติ เขาก็มาเล่าให้ฟังทุกวันว่าที่จีนเขาควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอย่างไร พวกเขาทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วเราก็ต้องป้องกันตัวเองอย่างไร
พอโควิดมาถึงที่ประเทศไทย เราก็รู้ว่าวิธีที่ไทยใช้ควบคุมการแพร่ระบาดมันเหมือนกับที่จีนทำ คือ ให้ทุกคนต้องใส่แมส ไม่ต้องไปเรียน และให้อยู่แต่ในบ้าน ตอนที่จะซื้อของต้องล้างมือ หรือต้องใช้เจลแอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดมือ การใช้ชีวิตจะระมัดระวังให้มากขึ้น เรื่องการสอนจะลำบากมากขึ้น มีการเตรียมการสอนเยอะขึ้น
การสอนแบบออนไลน์ PowerPoint ต้องรวมทุกสิ่งทุกอย่าง จะต้องใช้เวลามากขึ้นในการเตรียม PowerPoint เตรียมกิจกรรมหรือเตรียมการบ้านให้นักศึกษาได้เอาไปทบทวน ทำให้เราต้องใช้เวลาในการเรียนรู้การสอนแบบออนไลน์ การใช้แอพต่าง ๆ ต้องรู้ว่า Google Classroom, Google Meet หรือ Zoom ใช้อย่างไร เรื่องของตรวจงานก็ลำบากขึ้นเพราะทุกคนส่งงานเป็นภาพ ต้องโหลดภาพแล้วก็แก้ไขให้ จากนั้นก็ส่งคืน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ อ.ซี ท้อแท้แม้แต่น้อย กลับสนุกกับการเตรียมสอนมากขึ้น
ความประทับต่อประเทศไทย
ประเทศไทยอาจจะเปรียบเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองของ อ.ซี ก็ว่าได้ เพราะอาจารย์บอกกับเราว่าชอบประเทศไทยมาก ไม่ใช่แค่คนที่มีอาชีพครู รวมถึงคนจีนหลายคน เขาก็ชอบประเทศไทยเหมือนกัน บอกไม่ถูกเลยว่าทำไมถึงชอบ แต่จริง ๆ หลายคนก็เคยวิจัยว่าคนไทยจะมีนิสัยที่ค่อนข้างชอบที่จะยิ้ม แล้วก็ชอบช่วยเหลือคนอื่น เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวที่มาเเล้วเจอสถานการณ์ อย่างเช่น เดินทางไปแถวนั้นแล้วไปไม่ถูกหรือว่าอยากถามคำถามอะไรกับคนไทย ส่วนใหญ่ 99% ก็คือยินดีที่จะช่วยเหลือ หลายคนก็ประทับใจมาก
ประสบการณ์ที่เคยเจอ เราเคยถามคนไทยคนหนึ่งว่าเดินทางไปที่นั่นยังไง เขาก็อธิบายไม่ได้ เขารู้แต่เขาอธิบายไม่ได้ ไม่รู้จะอธิบายยังไง ภาษาก็ไม่เก่ง เขาก็ขับรถพาเราไปเลย เพื่อนก็เคยเจอ เช่น ตอนกลางคืนมืดมาก เขานั่งรถบัสไปต่างจังหวัด แต่ว่ารถบัสจะผ่านแค่จังหวัดนั้น แต่ไม่ได้เข้าเมือง เขาต้องลงที่กลางทางยังไม่ถึงป้าย เขาไม่รู้จะไปต่อยังไง พอดีเจอรถกระบะคันหนึ่งลงมาช่วยเขา พาเขาเข้าเมือง คือเรื่องแบบนี้เหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่ทุกคนรู้สึกประทับใจในเรื่องเล็กที่คนไทยช่วยเหลือพวกเขามาก
ตอนที่เข้ามาสอนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นอาจารย์ต่างประเทศก็จะมีความกดดันมาก แต่รู้สึกจะกดดันน้อยกว่าตอนอยู่ในประเทศจีน อ.ซีเล่าด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม
รักงานสอน รักอาชีพอาจารย์
อ.ซี รักงานที่ทำอยู่มาก คิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีความเหมาะสมในการเป็นผู้สอน เพราะว่าชอบอยู่กับเด็ก ๆ ไม่ชอบทำงานอยู่ในออฟฟิศ ชอบบรรยากาศในมหาวิทยาลัยมากกว่า 11 ปีที่ได้สอนในประเทศไทย ชอบสอนให้กับนักศึกษา เพราะพวกเขารักการเรียนรู้ภาษาจีน มีความสนใจเกี่ยวกับจีน ไม่ว่าเป็นภาษาหรือว่าวัฒนธรรมหลายอย่างของประเทศจีนก็เหมือนมีความน่าสนใจที่เหมือนกัน เราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ทุกครั้งที่สอนจะรู้สึก active ทุกครั้ง ทุกปีเลย มีความสุขกับการสอนมาก
ฟังเรื่องราวของอาจารย์ขวัญใจของพวกเรากันไปแล้ว ทุกคนคงเห็นว่า การเรียนรู้ในเรื่องใหม่ โดยเฉพาะภาษาและวัฒนธรรมของประเทศที่เราไม่คุ้นเคย ทำให้เราเปิดโลกกว้าง เข้าใจกันและกัน สื่อสารกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาษาจีนคือหนึ่งในภาษาสากลของคนทั่วโลกอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ อาจารย์ Wu Xian อาจารย์ผู้สอนภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ