ก้าวไปก่อสิ่งที่ดีงาม ๙ ก่อ แค่ใจที่เพียงพอ ก็พอเพียง

ก่อความงาม ความดี ความสร้างสรรค์ แบ่งปันเรื่องราวกิจกรรมที่ก่อด้วยใจที่พอเพียง

            ๙ ก่อ แค่ใจที่เพียงพอ ก็พอเพียง ก้าวเดินไปทำสิ่งที่งดงาม ตามรอยเส้นทางแห่งความพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙

            ก้าวไปก่อสิ่งที่ดีงาม ด้วยหัวใจที่เพียงพอและพอเพียง ร่วมซาบซึ้งกับ ๙ กิจกรรม นิทรรศการ ผลงานศิลปะ สื่อผสม การแสดงโชว์ และขับร้องประสานเสียงของนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ ๙

            วาระครบรอบวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกันจัดงาน รำลึกถึงพระองค์ท่าน ในวันที่ ๙ ตุลาคม ที่ผ่านมา พวกเราร่วมกันสานต่อ และน้อมนำปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

ด้วยใจที่เพียงพอ…ร่วมส่งต่อความพอเพียง

            อิ่มบุญยามเช้า ส่งต่อความพอเพียง คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมทำบุญตักบาตร บริเวณด้านหน้าอาคาร A 4 ในช่วงเวลา 8.30 – 9.30 น. ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตหลัก  (Main Campus)

            เราได้มีโอกาสสนทนากับผู้ร่วมงานหลายท่าน ซึ่งได้ให้ข้อคิดและบอกเล่าความหมายของคำว่า “พอเพียง” เป็นความกรุณาที่แบ่งปันมุมมองอย่างเป็นกันเอง

            ความหมายของคำว่าพอเพียง สามารถเชื่อมโยงได้กับการเรียนรู้ และแสวงหาความรู้ ดร.มัทนา สานติวัตร อุปนายกสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่า “ความพอเพียงคือต้องมีความรู้ความเข้าใจในงานที่รับผิดชอบ มีเหตุผล มีความพอประมาณ ยึดทางสายกลาง ไม่ประมาท และต้องมีภูมิคุ้มกันของชีวิตที่ดี อาจารย์จะสืบสานพระราชปณิธานโดยมุ่งมั่นศึกษา ค้นคว้า เพื่อพัฒนาสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ที่อาจารย์เป็นประธานอยู่อย่างสุดกำลัง”

ดร.มัทนา สานติวัตร อุปนายกสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ซ้าย)
รศ.ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ (ขวา)

            รศ.ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ อธิบายถึงนิยามของคำว่าพอเพียงให้ฟังว่า “เวลาทำอะไร เราต้องถามตัวเองว่า พอไหม พอในที่นี้คือ เหลือเฟือไปหรือไม่ ทำให้เรารู้สึกหนักขึ้นไหม ยกตัวอย่างเช่น การหาเงิน ถ้าเราหาจนเหนื่อย แสดงว่าหนักเกินไป ไม่ใช่พอเพียง ถ้าหากเราทำอะไรแล้วมีความทุกข์ ก็ไม่เรียกว่า ‘พอ’ สิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขคืออะไร สุขภาพเราดีหรือไม่ หรือหากเรารู้สึกทุกข์ เราต้องตรวจสอบตัวเองว่า เราพอหรือไม่ เพราะเส้นทางของคำว่า ‘พอ’ ของแต่ละคน อาจจะไม่เหมือนกัน สำหรับเรา ‘พอเพียง’ คือ การทำสิ่งที่เรามีความสุข”

            การดำเนินรอยตามความพอเพียงเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและทำได้ง่ายมาก นั่นคือ การรู้ว่าหน้าที่ของตนเอง คืออะไร และปฏิบัติหน้าที่นั้นด้วยความภาคภูมิใจ

            รศ.ดร.ทิพรัตน์ ยังบอกอีกว่า “การสานต่อพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9 เราจะสังเกตได้ว่าพระองค์ท่านมีความพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงความพอเพียง พระองค์ท่านเห็นว่า ถ้าประเทศไทยเราจะมีรากฐานที่มั่นคง เมื่อเรารู้จักคำว่าพอเพียง แต่ละคนทำงาน หาเลี้ยงชีพด้วยความพอเพียง มีความสุข สิ่งนั้นคือรากฐานให้ประเทศไทยมีความสุข ตอนนี้หน้าที่ของเราคือครู การเป็นครูต้องสอนให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องความพอเพียงให้ลึกซึ้ง ความพอเพียงคือการไม่เบียดเบียนใคร ไม่แก่งแย่ง เราสืบสานแนวคิดของพระองค์ท่าน เราต้องให้นักศึกษาเรียนรู้ พัฒนาตนเองอยู่เสมอ มีความสุข และมีความพอเพียงตามศักยภาพของเขา”

มิ้น-ปนัดดา สกุลพิพัฒน์
นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว

นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            เราได้ฟังมุมมองจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยแล้ว มาฟังนิยามคำว่าพอเพียงของ พี่มิ้น-ปนัดดา สกุลพิพัฒน์ นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ กันบ้าง พี่มิ้นบอกกับว่าความพอเพียงคือการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นการเอาชนะใจตนเอง

            “การเอาชนะใจตนเองสำหรับตัวหนู คือการที่เรารู้จักควบคุมตนเองให้ได้ รู้จักแยกแยะระหว่างสิ่งที่ถูกใจกับสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งสำคัญคือการที่เรารู้จักตนเอง รู้ว่าเราต้องการอะไร ทำอะไร ทำเพื่อใคร แต่สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างต้องไม่เบียดเบียน หรือไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น”

ใจที่คิดจะให้คือใจที่พอเพียง….บริจาคเลือดและอวัยวะ ณ สตูดิโอ 2

            จากข้อคิดที่ดีในกิจกรรมยามเช้า ระหว่างโมงยามของความอิ่มบุญ เราเดินทางมาที่ห้องสตูดิโอ 2 อาคาร C3 บริเวณคณะนิเทศศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เปิดห้องสตูดิโอ 2 รับบริจาคโลหิตและอวัยวะ

            งานนี้เราได้เห็นพี่ทุกท่าน คุณหมอและพยาบาลปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ พร้อมด้วยรอยยิ้มที่งดงาม มีชีวิตมีชีวา ทำให้เราอยากจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมดีงามในวันนี้

แพทย์หญิงวรรณรวี ไทยตระกูล แพทย์หญิงประจำโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

            เราได้พูดคุยถึงความพอเพียงกับ แพทย์หญิงวรรณรวี ไทยตระกูล แพทย์หญิงประจำโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ที่มาปฏิบัติงานในวันนี้ คุณหมอวรรณรวีบอกว่า “ถ้าเรามีปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต อันได้แก่ ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ก็ถือว่าเรามีความเพียงพอแก่ชีวิตในระดับหนึ่งแล้ว เราจึงสานต่อปรัชญาแห่งความพอเพียง โดยการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด อะไรที่ช่วยเหลือได้ก็ยินดี ถ้ามีโอกาสนะคะ”

พี่ดวงตา โพธิตา เจ้าหน้าที่จิตอาสาอำนวยความสะดวกการรับบริจาคเลือด

            พี่ ๆ ที่ทำงานจิตอาสาก็มาช่วยอำนวยความสะดวกในการรับบริจาคเลือด เราได้คุยกับ พี่ดวงตา โพธิตา อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย พี่ดวงตาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่จิตอาสา ช่วยเหลือเรื่องการลงทะเบียน ให้ข้อมูล สำหรับผู้ที่สนใจการบริจาคโลหิต และผู้ที่สนใจบริจาคร่างกาย

            พี่ดวงตาบอกว่า “นิยามคำว่าพอเพียงสำหรับเราจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน หรืออะไรก็แล้วแต่ เราทำด้วยความพึงพอใจ มีความสุข สุจริต และไม่เดือดร้อนคนอื่น ณ ปัจจุบันตอนนี้เราทำงานจิตอาสาให้กับสภากาชาดไทยมาได้ ๙ ปีแล้ว ถ้าให้เราพูดเป็นภาษาบ้าน ๆ คือ เจ้านายของเราคือในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั่นคือสิ่งที่เราตั้งใจ เพราะเราอยากทำงานถวายพระองค์ท่าน”

พี่กอล์ฟ-ทิษณุ ชุมประยูร นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์

            ขณะที่ พี่กอล์ฟ-ทิษณุ ชุมประยูร นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ และเป็นนักศึกษากิจกรรมสต๊าฟของคณะนิเทศศาสตร์ บอกถึงมุมมองคำว่า “พอเพียง” ในนิยามของวัยรุ่นเช่นเขาว่า

            “เรามีน้อย เราก็ใช้น้อย อยู่ที่เราใช้พอดี และให้มันยั่งยืน เดินตามรอยเท้าของพระองค์ สิ่งนี้ที่พระองค์ท่านทำมาแล้วและประสบผล พระองค์ท่านคือแบบอย่างที่ถูกต้อง หน้าที่ของเราคือทดลองและทำตาม” ได้ยินพี่เขาตอบแบบนี้ ได้ใจวัยรุ่นไปเต็ม ๆ เราใช้สิ่งของด้วยความพอดี แค่นี้ก็เรียกว่าพอเพียงแล้ว ก่อนจากกันพี่กอล์ฟทิ้งท้ายว่า “ปกติผมบริจาคเลือดอยู่เป็นประจำ บริจาคทุกสามเดือน ผมตั้งใจบริจาคตลอดชีวิต เท่าที่บริจาคได้ครับ”

ฟ้า-ปรายฟ้า คงเมือง นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์

            ฟ้า-ปรายฟ้า คงเมือง นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ บอกกับเราถึงเหตุผลในการมาบริจาคโลหิตครั้งนี้ว่า “ตอนแรกที่เรามา แค่อยากมาเพราะต้องการชั่วโมงจิตอาสา แต่หลังจากที่เราได้บริจาคโลหิตไปแล้ว Mindset เราเปลี่ยนไป เราคิดว่าการที่เรามาบริจาคโลหิตมันคือการที่เราได้ช่วยเหลือคนอื่น ได้ช่วยเหลือสังคม”

            สำหรับน้องฟ้า นิยามคำว่าพอเพียงคือ “การอยู่ในทางสายกลาง ใช้ชีวิตบนความพอประมาณ ไม่ใช้เงินเกินตัว การทำความดี ณ ขณะนี้ ตอนเราเป็นนักศึกษา ที่พอจะทำได้คือการช่วยรณรงค์หรือการสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ออกไป อย่างวันนี้ที่เรามาบริจาคเลือดก็ถือว่าเราได้ทำความดี เรามีพออยู่แล้ว เราก็เผื่อแผ่ไปให้คนที่เขาเดือดร้อน”

ตลาดนัดชุมชน สินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อย

            เศรษฐกิจพอเพียง คือปรัชญาที่เราน้อมนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการทำธุรกิจ ถ้ายึดหลักความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี รับรองว่าธุรกิจของเราจะเติบโตอย่างมั่นคง

            การจัดงานในวันนี้ เรายังได้พี่ ๆ ผู้ประกอบการรายย่อยที่พาเหรดกันนำสินค้ามาขายในราคานักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นน้ำแตงโมปั่นจากหมู่บ้านเจริญ 4 ขนมพื้นบ้าน สินค้าเกษตรแปรรูป ขนมไทย จากตลาดระแหง 100 ปี ส้มตำ ยำ หมูทอด จาก Big C คลอง 3 เกี๊ยวหมู กุ้ง จาก ตลาดริมน้ำวัดนังคัลจันตรี คลอง 7 และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพจากหมู่บ้านอู่ทอง จังหวัดปทุมธานี เรียกได้ว่า เป็นตลาดนัดที่ขายของจากชุมชน และทำโดยคนในชุมชน พัฒนาสูตรกันเอง และเอาใจลูกค้าเก่งกันทุกร้านเลยจริง ๆ นะจะบอกให้

นิทรรศการเด็กสร้างศิลป์องค์อัครศิลปิน

            บริเวณทางเดินเข้าอาคารนิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ปองทิพย์โอสถานุเคราะห์ จัดแสดงผลงานศิลปะของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตลอดจนทางเดินเชื่อมอาคาร C1 และ C3 ผลงานที่จัดแสดงเป็นภาพวาดลายเส้นที่สื่อสารถึงพระองค์ท่านในมุมมองต่าง ๆ ใช้สีขาวและดำเป็นหลัก เรียบง่าย สื่อถึงความพอเพียง

            ยิ่งไปกว่านั้น ในการจัดงานนิทรรศการครั้งนี้ เราได้รับเกียรติจาก ดร.มัทนา สานติวัตร อุปนายกสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นประธาน เข้าร่วมชมงานนิทรรศการและการแสดงของนักศึกษา โดยมีทีมคณะกรรมการนักศึกษา สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

นิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์…พระอัจฉริยภาพแห่งองค์อัครศิลปิน

            ศิลปะคือพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดความคิด มุมมอง และอารมณ์ ความรู้สึก เราได้ชมนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ ที่นำมาจัดแสดงบริเวณโถงหน้าสตูดิโอ 1 – 2 อาคาร C3 ภาพวาดดังกล่าวได้รับความร่วมมือส่งตรงมาร่วมจัดแสดงจาก หออัครศิลปิน ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

            โดยแต่ละภาพแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของพระองค์ท่าน อาจกล่าวได้ว่า เป็นเพราะความใฝ่ใจเรียนรู้ ฝึกฝน พยายาม จึงทำให้พระองค์ท่านสามารถถ่ายทอดความงามของวิถีชีวิตของผู้คน มุมมองในเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาได้อย่างงดงาม

บทเพลงบรรเลง…Folk Band

            การเล่นดนตรีเป็นอีกหนึ่งพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ในระหว่างชมนิทรรศการผู้เข้าร่วมงานจะได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงตลอดงาน เป็นการแสดงดนตรีและขับร้องโดยนักศึกษา

            เรายังได้พูดคุยกับนักร้องประจำวง พี่บอส-อัฐพล ช่วยรักษา นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ บอกกับว่า “เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์”

พี่บอส-อัฐพล ช่วยรักษา นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์

            การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงในของ “พี่บอส” คือ “ใช้ชีวิตอยู่บนทางสายกลาง ไม่เกินตัว รู้จักประหยัดและอดออม ทำอย่างไรก็ได้ให้เราพอกินพอใช้อย่างสุจริต ไม่เดือดร้อนคนอื่น และเราจะตั้งปณิธานเพื่อถวายงานแด่ในหลวงตามความสามารถที่เรามีอย่างเต็มที่”

พี่เนย์-วีรวุฒิ ช่องสาร นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว

            เช่นเดียวกับ พี่เนย์-วีรวุฒิ ช่องสาร นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว “ผมทำหน้าที่เป็นนักร้อง วันนี้ขับร้องเพลง รูปที่มีทุกบ้าน ความพอเพียงสำหรับผม คือ ใช้จ่ายไม่ฟุ่มเฟือย เช่น ผมอยู่หอพักก็ปรับวิธีการใช้เงิน ถ้าหากเป็นเรื่องการเรียนก็จะตั้งใจเรียน ไม่เคร่งเครียดเกินไป และเดินทางสายกลาง งานนี้ผมตั้งใจที่จะถ่ายทอดความสามารถในด้านการร้องเพลง เพื่อถวายงานแด่พระองค์ท่าน ตามศักยภาพที่ผมมีให้ดีที่สุด”

ต้นไม้ของพ่อ…ต้นไม้ด้วยใจที่พอเพียง ณ ลานวงกลม

            “นานมาแล้ว พ่อได้ปลูกต้นไม้ไว้ให้เรา เพื่อวันหนึ่งจะบังลมหนาว และคอยเป็นร่มเงา ปลูกไว้เพื่อพวกเราทุก ๆ คน” ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน เพลง “ต้นไม้ของพ่อ” ก็ยังอยู่ในความทรงจำของเราเสมอมา

            ต้นไม้คือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ การเจริญเติบโต พระองค์ท่านคือต้นแบบของกษัตริย์ที่เห็นความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดารเพื่อช่วยเหลือและรณรงค์ให้ผู้คนรักษาป่า รักษาต้นไม้ รักษาแม่น้ำ ธรรมชาติจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้

            ต้นไม้ด้วยใจที่พอเพียงได้รับการเนรมิตขึ้นมากลางลานวงกลม โดดเด่นเป็นสง่าด้วยสีเหลือง กิ่งก้านที่แข็งแรง หยั่งรากลึกลงดิน ประกอบด้วยใบไม้ที่แทนความตั้งใจในการทำความดี

อาจารย์สิทธิพงษ์ ประชากุล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสเขียนปณิธานของตนเองว่า “ฉันจะ…ด้วยหัวใจที่พอเพียง” เราได้พูดคุยกับ อาจารย์สิทธิพงษ์ ประชากุล เกี่ยวกับเรื่องคำสอนของพ่อ อาจารย์บอกความตั้งใจของตนเองให้เราได้ฟัง

            “เมื่อเราคิดและตั้งเป้าหมายที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง สิ่งสำคัญเราต้องตั้งใจ เต็มที่ ทุ่มเทและอดทนกับงานที่ทำ ความเพียรนี้เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพยับยั้งความรู้สึกที่ไม่อยากทำ เหนื่อยล้า ทำให้มีมานะอุตสาหะประกอบในสิ่งนั้นให้สำเร็จ และจะนำพาเราไปสู่สิ่งที่คิดหวังไว้”

สื่อผสม และต้นไม้ Mapping…ตระการด้วยแสงสีเสียง และความล้ำของเทคโนโลยี

            ณ สตูดิโอ 1 มีผู้ชมมาต่อคิวรอกันหนาแน่นพอสมควร ที่นี่เราจัดแสดงเรื่องราวของพระองค์ท่านในแบบสื่อผสม พร้อมกับต้นไม้ Mapping ที่ฉายแสง เปลี่ยนสีสันได้หลากหลาย

            พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านได้รับการนำเสนอเป็นรูปแบบสื่อผสม ในห้องฉายขนาดใหญ่ ประหนึ่งได้ชมในโรงภาพยนตร์ ในห้องนี้เราได้พูดคุยกับ พี่เจมส์-านวัฒน์ ธนาเลิศวสุนนท์ นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ และพี่วัฒิ-ชัยวัฒิ พันวิลัย นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ทีมนักศึกษาที่รับหน้าที่ทำ Mapping ในห้องสตูดิโอ 1

พี่เจมส์-ฐานวัฒน์ ธนาเลิศวสุนนท์ นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ (กลาง)

            พี่เจมส์และพี่วัฒิ บอกว่า “ในห้องจัดแสดงจะเป็นการใช้เทคโนโลยี Projection Mapping คือการฉายภาพสองมิติหรือสามมิติ ลงบนพื้นผิวที่ทำให้ผู้ชมได้เห็นความสวยงามตามรูปแบบที่เราออกแบบไว้ Mapping จะเริ่มตั้งแต่หน้าห้อง คือต้นไม้ที่เราฉายสีสันต่าง ๆ ลงไป และห้องด้านในจะมีผนังขนาดใหญ่ที่เราฉายภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งจะทำให้ได้เห็นความยิ่งใหญ่และพระราชกรณียกิจที่ท่านได้ทำ”

            ผลงานการใช้เทคโนโลยี Mapping ทำให้เราประทับใจไม่รู้ลืม ทั้งความสามารถ ความตั้งใจของทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ร่วมกันจัดงาน

การแสดงโชว์น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ของนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ณ Black Box Theater

            เราเดินทางมาถึงส่วนสุดท้ายของงานในยามบ่าย ณ Black Box Theater โรงละครคือปัญญาแห่งประชาชน สิ้นสุดการรอคอยกับ “โชว์เทิดพระเกียรติ” จากความตั้งใจของนักศึกษาหลากหลายคณะของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

พี่ตี๋-ณัฐพันธ์ เอี่ยวทองเพิ่ม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ (ซ้าย)

            พี่ตี๋-ณัฐพันธ์ เอี่ยวทองเพิ่ม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นพิธีกรในงานครั้งนี้ กล่าวกับเราด้วยความตื่นเต้น “สำหรับผมการเป็นพิธีกร เป็นการฝึกฝน ทักษะการพูดที่มีคำราชาศัพท์ และฝึกฝนการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่กดดันได้เป็นอย่างดี ผมได้เรียนรู้แนวคิดเรื่องความพอเพียง คือการรู้จักใช้จ่ายให้ประหยัดอดออม และผมได้น้อมนำคำสอนของในหลวงรัชกาล ๙ ด้านความอดทนมาปรับใช้ในชีวิตด้วย”

            วินาทีต่อนี้ไป เรามาดื่มด่ำกับโชว์ที่ถ่ายทอดด้วยความรัก ความตั้งใจ ที่จะทำให้เราซาบซึ้ง และระลึกถึงพระองค์ท่านไปพร้อมกัน

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

            ประเดิมเปิดเวทีด้วย “โชว์ ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ ซึ่งเป็นโชว์ที่เคยไปแสดง ณ ประเทศเกาหลีมาแล้ว เราได้คุยกับ พี่ผ้าแพร-ศุภรดา สุนันท์สถาพร นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ พี่ผ้าแพรบอกความในใจให้เราฟังว่า

พี่ผ้าแพร-ศุภรดา สุนันท์สถาพร นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ (กลาง)

            “โชว์ที่เราได้ชมกัน เป็นโชว์ที่ผ่านเวทีการแข่งขันด้านวัฒนธรรมที่ประเทศเกาหลีและได้รับรางวัลที่ ๔ ของโลกมาแล้ว สำหรับดิฉันแล้ว การเต้นคือศิลปะที่พัฒนาคนได้ เหมือนสโลแกนที่ว่า โรงละครคือปัญญาประชาชน และดิฉันยังได้ใช้ความสามารถของตัวเองถ่ายทอดความรู้ด้านการแสดงให้กับน้อง ๆ ณ โรงเรียนปูทะเลย์วิชชาลัย ชลบุรี เพื่อเป็นการตอบแทนพระองค์ท่านด้วยค่ะ”

ตามรอยพ่อ: ผู้นำเชียร์รุ่นที่ ๒๑ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            ถัดมาคือ “โชว์จากผู้นำเชียร์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ” มาในบทเพลง “ตามรอยพ่อ” ที่ทำให้เราต้องมนต์สะกดกับความสวยงาม ความพร้อมเพรียง และแสดงถึงความทุ่มเทในการฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี เพลงตามรอยพ่อ เพลงนี้ให้ข้อคิดที่ดีในการดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคม มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับการดำรงชีวิตให้คนเป็นคนดี รู้จักพอเพียง เอื้อเฟื้อแด่ผู้อื่น ทำให้คนในสังคมใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุข

พี่เนสท์-วรัญชัย ชุประเสริฐสุข นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ผู้นำเชียร์รุ่นที่ ๒๑

            พี่เนสท์-วรัญชัย ชุประเสริฐสุข นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ผู้นำเชียร์รุ่นที่ ๒๑ กล่าวกับเราว่า “ผมคิดว่าการประหยัด การประมาณตัว คือสิ่งที่เราทำได้ อีกทั้งเราใช้ชีวิตในสังคม อยู่ในบรรทัดฐานความถูกต้องอย่างมีความสุขไม่เบียดเบียนใคร นั่นคือความพอเพียง การสานต่อแนวคิดของพระองค์ท่าน คือเราเป็นนักศึกษา เป็นบุคคลธรรมดา เราต้องตั้งใจเรียนแล้วก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทำตัวเราให้มีความสุขโดยที่ไม่ไปเบียดเบียนและก็เดือดร้อนผู้อื่นด้วย”

            ฟังรุ่นพี่ผู้นำเชียร์ฝ่ายชายกันไปแล้ว มาฟังฝ่ายหญิงกันบ้าง พี่อารียา จิวอเลต์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ผู้นำเชียร์รุ่นที่ ๒๑ พี่อารียาแสดงความคิดเห็นว่า

พี่อารียา จิวอเลต์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ผู้นำเชียร์รุ่นที่ ๒๑

            “ความพอเพียงคือมองที่ความพอดี ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป มีพอใช้ ไม่ใช่ประหยัดจนเกินไป และไม่เบียดเบียนผู้อื่น เราพอเพียงในแบบที่เรามีความสุข ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เราสานต่อแนวคิดเรื่องความพอเพียงคือ เราจะนำพระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสของพระองค์ ไปปรับใช้ในชีวิตในประจำวัน จะเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ พอเพียงในทุกเรื่อง ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม คือเริ่มจากตัวเราเอง ถ้าเราพร้อมใจกันทำแบบนี้ทุกคน สังคมก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ”

พระบารมีปกเกล้า: ขับร้องเพลงลูกทุ่งและกล่าวสุนทรพจน์

            เรายังคงอยู่ที่ Black Box Theater มาละเมียดละไมกันต่อกับ โชว์ขับร้องเพลงลูกทุ่ง และการกล่าวสุนทรพจน์เทิดพระเกียรติ

พี่เจนจิรา นามวิเศษ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์

            พี่เจนจิรา นามวิเศษ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ขับร้องเพลงพระบารมีปกเกล้า พี่เจนบอกว่า “เหตุผลที่เลือกนำเพลงนี้มาขับร้องเพราะเป็นที่มีความหมายดี เป็นเพลงที่แต่งถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุขของชาติ และการนำเพลงนี้มาร้องก็เพื่อนึกถึงวันที่พระองค์ท่านได้ทำเพื่อคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะหนักเพียงใดท่านก็ทำให้ราษฎรของท่าน”

พี่ไอฟ์-นิติวุฒิ พวงเพชร นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์

            พี่ไอฟ์-นิติวุฒิ พวงเพชร นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ขับร้องเพลงล้นเกล้าเผ่าไทย เป็นเพลงที่นักร้องลูกทุ่งส่วนใหญ่นำไปร้อง ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่เลือกเพลงนี้เพราะเราเกิดมาก็มีพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงเป็นที่เทิดทูน และในงาน ๙ ก่อ ก็อยากจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ผู้ที่เป็นดั่งพ่อของทุกคน”

 พี่ต้น-ปฏิภาณ ยุวนะวณิช นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์

            พี่ต้น-ปฏิภาณ ยุวนะวณิช นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสโมสรนักศึกษา ตำแหน่งประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้รับหน้าที่ในการกล่าวสุนทรพจน์เทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน พี่ต้นบอกเล่าความในใจ ความรู้สึกของตนเองที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทำให้เราน้ำตาคลอตามไปด้วย

ต้นไม้ของพ่อ: ชมรมดนตรีสากลและขับร้องประสานเสียง

            อีกหนึ่งการแสดงคือ “โชว์ขับร้องประสานเสียง” จากชมรมดนตรีสากลและขับร้องประสานเสียง ซึ่งมาถ่ายทอดบทเพลง “ต้นไม้ของพ่อ” ได้ซาบซึ้งและกินใจมาก เพลงต้นไม้ของพ่อที่เลือกมาใช้ สื่อความหมายถึงแรงบันดาลใจ และยังเปรียบเทียบว่าประชาชนคือลูกของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระองค์ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างโครงหลายพันโครงการให้ประชาชนของท่านได้เติบโตขึ้นอย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

พี่ตาล-ศุภวิชญ์ สุวรรณคำ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว (กลาง)

            ตัวแทนของชมรม พี่ตาล-ศุภวิชญ์ สุวรรณคำ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว อธิบายเบื้องหลังในการซักซ้อมเพลงนี้ว่า เราทุ่มเทกับงานทุกงาน การร้องเพลงแบบประสานเสียง ต้องรู้ใจและเข้าใจกัน เพราะเราร้องกันเป็นทีม

            “ในเรื่องของความพอเพียง ผมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น มีการประหยัดเงินหรือการใช้จ่ายต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้คือการสานต่อปณิธานของพระองค์ท่านครับ”

การแสดงโชว์บทเพลงพระราชนิพนธ์: ชะตาชีวิต ฝัน และแสงเทียน

            ปิดท้ายด้วยโชว์จากนักศึกษาภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ โดยได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงชะตาชีวิต เพลงฝัน และเพลงแสงเทียน สามบทเพลงสำคัญที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความหมายลึกซึ้ง และบอกเป็นนัยให้เราเข้าใจความจริงของชีวิตอีกด้วย

พี่มณิสรา โรจนรักษ์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์

            พี่มณิสรา โรจนรักษ์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งได้ทำหน้าเป็นผู้ขับร้องเพลงชะตาชีวิต และแสงเทียน บอกว่า จากเนื้อเพลงของพระองค์ท่านสอนให้เราเข้าใจชีวิตได้เป็นอย่างดี “ความพอเพียงสำหรับดิฉันคือ การประหยัดอดออม หารายได้เพิ่มโดยการทำอาชีพสุจริต เช่น การขายของออนไลน์ อีกทั้งดิฉันได้ใช้ความสามารถด้านการแสดงและละครเด็ก ที่ได้ฝึกฝนมา แบ่งปันให้กับน้องที่บ้านเด็กกำพร้า การแสดงละครคือการใช้ศิลปะช่วยจรรโลงใจของผู้คนด้วยค่ะ”

พี่ธนัญญา รักแก้ว นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์

            รวมถึง พี่นัญญา รักแก้ว นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นผู้ขับร้องเพลงแสงเทียน บอกถึงนิยามความพอเพียงว่า “สำหรับดิฉัน ความพอเพียงคือการเดินทางสายกลาง ดิฉันตั้งปณิธานจะใช้ความสามารถ ด้านการร้องเพลงทำให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลกระบี่มีความสุข และเห็นคุณค่าของโอกาสที่ได้รับอย่างเต็มที่ค่ะ”

            นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับ พี่ลูกปลา-สุพรรณษา จิตสำราญ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นโชว์มาสเตอร์หรือผู้กำกับเวที จัดลำดับคิว เรียงร้อยโชว์ให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่นที่สุด พี่ปลาบอกว่า “เป็นการทำงานที่ได้เรียนรู้จริง ได้พัฒนาตนเอง เพราะตลอดการแสดงโชว์ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานถวายในหลวงในครั้งนี้ด้วย”

            ความพอเพียงสำหรับพี่ลูกปลาคือ “การประหยัด สิ่งที่ไม่ได้จำเป็นสำหรับชีวิต เราอาจจะไม่จำเป็นต้องตามกระแสมากนัก เรียนรู้ที่จะอยู่กับความเรียบง่าย”

            การจัดงาน “๙ ก่อ แค่ใจที่เพียงพอ ก็พอเพียง” สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกหน่วยงาน นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยากรุงเทพทุกท่านที่เข้าร่วมชมงาน และบอกต่อความดีงามของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทั้งชักชวนกันแบบปากต่อปาก และแชร์เรื่องราวผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นวันที่พวกเราชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพอิ่มเอมใจที่ได้ทำสิ่งดี ๆ ร่วมกัน

            บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่เราได้ยินตลอดทั้งงาน พร้อมกับการได้จุดเทียนดวงเล็ก ๆ ประหนึ่งจะส่งความในใจถึงพระองค์ท่าน ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ส่งความรักและอาลัยแด่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ และเชื่อว่า คำสอนของพระองค์ท่าน จะยังคงอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ นักศึกษา คณาจารย์ และผู้ร่วมงานทุกท่าน

Writer & Photographer

BU CONNECT x Lifelong Learning Center Bangkok University สนุกกับการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด รอบรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ