นิก-สิริพงศ์ มั่นจิตร ช่างภาพที่เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

คิดและลงมือทำก่อนคนอื่น ได้ประสบการณ์เยอะกว่า

          “ผมเลือกที่จะถ่ายทอดภาพในหัวออกมาในรูปแบบวีดีโอที่แทรกไปด้วยศิลปะและเทคนิคการถ่ายทำต่าง ๆ เพื่อให้ภาพที่ผมจินตนาการไว้ถูกเอาออกมาให้คนอื่นได้เห็น” พี่นิก-สิริพงศ์ มั่นจิตร รุ่นพี่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวกับเรา

          เขาตัดสินใจใช้ความสามารถที่มีในการสร้างรายได้และเดินตามความฝันของตัวเองโดยไม่กลัวความล้มเหลว เพียงแค่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ทำงานร่วมกับมืออาชีพ เพื่อมีโอกาสพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

เรียนรู้แบบลงมือทำมีแต่ได้กับได้

          “สิริพงษ์” เล่าว่า มาจากความชอบดูงานในคลิปวิดีโอ ดูหนัง แฟชั่น MV ที่เป็นงานที่มีสไตล์ วีดีโอเท่ ๆ ก็เลยสนใจเข้ามาเรียนคณะนี้ พอได้เริ่มเข้ามาทำจริง ๆ ก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานกับคนที่เป็น Marketing เขาทำ Marketing Online ได้เข้าไปในดูส่วนของ Art Director คือ ช่วยเขาดูเฉย ๆ แต่บังเอิญว่ามัน มีลูกค้าเขาอยากได้ คนที่ถ่ายวีดีโอกับตัดต่อได้ด้วย โดยส่วนตัวก็ชอบการตัดต่ออยู่แล้ว แต่ไม่เคยทดลองถ่ายวีดีโอด้วยตัวเองมาก่อน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำงานอย่างจริงจัง

จากคนเรียบเรียงภาพสู่คนบันทึกภาพ

          เมื่อได้ลงมือทำ ทำให้ได้ฝึกฝนตนเอง ผมมีพี่ที่ทำงานด้วยกัน เขาถามว่า สนใจอยากลองทำไหม ก็ได้เริ่มลองงานเลย เป็นงานแรก ที่ผ่านมาไม่ได้เคยฝึกถ่ายวีดีโอเลย แต่ส่วนตัว คือ ใช้กล้องเป็นอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เคยลองถ่ายจริงจัง ด้วยความที่เรามาสายงานตัดต่อ ก็จะมีภาพที่อยากได้ เมื่อต้องถ่ายภาพเอง จะพยายามถ่ายออกมาให้ได้ตามภาพตามที่คิดไว้ แล้วบังเอิญมันเวิร์ค ก็เลยเริ่มสนใจการถ่ายวีดีโอมากขึ้น เริ่มศึกษามากขึ้น เริ่มดูเทคนิค ดูสไตล์มากขึ้น ทำให้ปัจจุบัน รับงานถ่ายวีดีโอเป็นประจำแล้ว

การผลิตงานสร้างสรรค์

          คนที่ต้องการมาถ่ายภาพเป็นอาชีพ หรือ การถ่ายวีดีโอเป็นอาชีพ ความจริงมีคนชอบงานด้านนี้ค่อนข้างเยอะมาก แต่คนที่สามารถก้าวเข้ามาทำงานนี้ได้และสร้างรายได้ได้ด้วยนั้น มีไม่เยอะ ความเห็นส่วนตัว คือ ชอบถ่ายภาพก็จริง บางคนถ่ายภาพดี แต่ว่าคนที่จะเข้ามาทำงานจริง ๆ มันต้องใช้อะไรหลายอย่าง เช่น ความสัมพันธ์ โอกาส สำหรับเราการได้มาทำงานตรงนี้คือได้โอกาสในการเริ่มต้น

เมื่อมีโอกาสจึงสร้างผลงาน

          คิดว่า ผลงานที่ประทับใจที่สุด น่าจะเป็นงานชิ้นแรก ที่รับงานจริง เป็นงานถ่ายแฟชั่นเซท ถ่ายแบบ เราได้ทำงาน กับ นายแบบ นางแบบต่างชาติ ก็เลยได้เห็นมุมมองหลายมุมมอง ได้เห็นวิธีการทำงานจริง แล้วพอได้เห็นงานที่ออกมาแล้ว มีความภูมิใจ แล้วก็ออกมาดี ได้รับคำชม ทำให้พอเราผ่านงานนั้นมาแล้ว เรามี Passion ที่จะทำงานชิ้นต่อไป

ปัญหาที่เข้ามาต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไข

          เคยมีงานไหนที่มีข้อผิดพลาดแล้วแก้ปัญหาอย่างไร เขาบอกว่า ถ่ายงานออกมาไม่ดีเลย ไม่เป็นแบบที่คิดไว้ ด้วยอะไรหลายอย่าง ก็เลยตอนนั้นเราต้องแก้ไขงาน เอางานมาปรับให้เวิร์คจนลูกค้าพอใจ พอถ้าจะรับงานต่อไปเราเรียนรู้ว่าต้องวางแผนให้ดีมากยิ่งขึ้นก่อนทำงานทุกครั้ง

เมื่อการเรียนรู้อยู่ในกิจวัตรประจำวัน

          ในชีวิตประจำวันปกติ ก็เสพงานทุกวัน เขาบอกว่า ชอบเกี่ยวกับแฟชั่น ชอบเสพงานอาร์ต งานแฟชั่น ชอบดู แต่ว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนที่แต่งตัวเก่ง หรือว่าเป็นคนที่ที่ศิลปะดี แต่ถ้ามีความชอบเกี่ยวกับ image มากกว่า เราชอบสไตล์งานแบบนี้ ก็ชอบดูผลงานคนอื่น อาจจะรวมไปถึงเราชอบงานวีดีโอ ก็เลยชอบดูหนัง ชอบดูมุมกล้องในหนัง ชอบคิดตาม ก็เลยทำให้ชอบดูหนังมาก

งานแบบนี้ เริ่มได้เมื่อพร้อม

          “นิก” ยังบอกอีกว่า เริ่มทำงานตอนปี 2 ก็เลยคิดใหม่ทั้งหมดว่า คือพอเราไปเรียนก็จริง แต่ว่าเราแบ่งการทำงานกับการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นแบบ 50 ต่อ 50 เริ่มที่จะไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยมากนัก ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยก็เลยน้อยมาก เน้นมาลงมือทำมากกว่า

ความใฝ่ฝันในอนาคต

          เราคิดว่าจะพัฒนางานตรงนี้ต่อ ก็อาจจะไปเป็นคนคุมมากกว่า โปรดิวซ์งานหรือเปิดเป็น Production House พอเราได้มาทำงานเกี่ยวกับถ่ายวีดีโอ รับงานเกี่ยวกับวีดีโอ มีความคิดว่าอยากจะเอาทั้งหมดมาพัฒนารวมกัน เรื่องแฟชั่นที่ชอบ แล้วก็เอามาเปิดเป็นแบรนด์โดยที่เราก็มีพื้นฐานการทำ Marketing การถ่ายภาพ คือสามารถโตไปด้วยกันได้ เลยคิดว่าจะเอามารวมกัน แล้วก็ทำงานไปพร้อมกัน อาจจะไม่ได้รับงานด้าน Production อย่างเดียวอาจจะมาดูส่วนของแบบ Business ด้วย

เด็กรุ่นใหม่ต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

          เรื่องราวที่ “นิก สิริพงศ์” อยากแบ่งปันในช่วงท้าย คือ คนที่ทำงานด้วยทุกคน ลูกค้าทุกคน ไม่เคยขอดูว่าจบจากที่ไหน เขาขอดูแค่พอร์ตว่า สามารถทำงานแบบที่เขาต้องการได้ไหม ก็เลยอยากบอกน้อง ๆ ว่า ไม่ต้องกลัวว่า เราอยู่แค่ ปี 1 ปี 2 ปี 3 หรืออาจจะอยู่มัธยม เราจะไปสู้คนที่จบแล้วได้ยังไง แค่เราทำงานที่ลูกค้าต้องการได้แล้วมันโอเคกับเราแล้ว

          เราต้องกล้าที่จะยื่นความสามารถเราไปให้คนอื่นรู้แค่นั้นเอง ถ้าคนอื่นเขาโอเคกับผลงานเราแล้ว ไม่จำเป็นเลยว่าเราจะเริ่มงานได้เมื่อไหร่ คือเริ่มได้ตลอด แค่ต้องกล้าที่จะคุยคนที่เราทำงานด้วย เพราะฉะนั้นการเริ่มทำงานจริงเร็วกว่า โอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองก็มากกว่าตามไปด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก พี่นิก-สิริพงศ์ มั่นจิตร รุ่นพี่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ทุกความพยายามย่อมได้รับความชื่นชม ยังคงเชื่ออยู่เสมอว่าสิ่งที่เราได้รับมาทั้งหมด คือทั้งหมดที่เราได้ให้ไป

Photographer

ทำในสิ่งที่รักให้เต็มที่ ถึงมันจะเหนื่อย แต่หมายความว่าเรายังหายใจอยู่