เน-วีรวุฒิ ช่องสาร หนุ่มนักดนตรีจากคณะมนุษย์ฯ ม.กรุงเทพ

เพราะความท้าทายทำให้ก้าวออกจาก Safe Zone สู่เส้นทางสายดนตรี

          การเล่นดนตรีมักจะเกิดจากความชอบ แต่สำหรับ -วีรวุฒิ ช่องสาร นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่ได้เกิดจากความชอบ แต่หากเกิดจากความท้าทายของผู้เป็นพ่อ เพียงเพราะได้ชมภาพยนตร์ Suckseed ห่วยขั้นเทพ สานต่อจนกลายเป็นความสุข ความสนุก และอาชีพ จนมาเป็นหนึ่งในสมาชิกวง AYLA ที่เป็นมากกว่ามือกีต้าร์ของวง

          เรามาคุยกับ “เน” กันเลยดีกว่า ฟังเขาเล่าเรื่องเส้นทางสายดนตรีไปด้วยกันตอนนี้เลย!

แรกเริ่มเล่นดนตรี

          เพราะหนังเป็นเหตุเกิดจากความบังเอิญที่ตอนนั้นได้ดูหนังเรื่อง SuckSeed แล้วใจมันอัพ น่าจะเป็นช่วงก่อนเข้ามัธยมต้น พอดูหนังแล้วก็คิดได้ว่า เรายังไม่เคยลองสายนี้เลย เล่นเกมก็เล่นมาแล้ว ทำนู่นนั่นนี่ก็ทำมาแล้ว แต่ยังไม่เคยลองเล่นดนตรีเลย เลยเริ่มต้นจากการเล่นอูคูเลเล่ เราก็เลยไปยืมพี่ชายเล่น พ่อก็แซวว่า โอ้ เป็นผู้ชายตัวเบ้อเร่อเล่นอูคูเลเล่ (หัวเราะ) เราก็เลยแซวพ่อกลับว่า แน่จริงหากีตาร์มาเดี๋ยวจะเล่นกีตาร์ให้ดู พ่อก็เลยซื้อกีตาร์มาให้จนยาวมาถึงทุกวันนี้ แต่ถ้าเริ่มแบบจริงจัง เริ่มมาจากกีตาร์ก่อน แต่ถ้าเริ่มแบบดนตรีจริง ๆ เลยคือเริ่มมาจากอูคูเลเล่

          เราเริ่มเล่นกีตาร์ตอนขึ้น ม.ต้น โชคดีมากเลยตอนนั้นเป็นปีแรกของโรงเรียนที่มีวงดนตรีเกิดขึ้นมาพอเราเข้าไปในชุมนุมก็เริ่มเจอเพื่อนที่เล่นเบส เล่นกีตาร์ รู้สึกว่า ถ้าคนอื่นเล่นได้เราก็ต้องเล่นได้ ก็เลยลองเล่นมั่งดีกว่า ตอนแรกก็เริ่มหัดกลองก่อนโดยฝึกจากการตีลมไปก่อน แล้วก็ถามเพื่อนว่ามันตียังไง เราก็จำท่าทางจากเพื่อนเอาว่านี่คือมือซ้ายมือขวาจำแล้วก็มาตีลมเอา แล้วก็ลองไปจับกลองจริง ๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าเออมันก็ไม่ได้ยาก การเริ่มต้นแบบนี้คือมันก็ดีตรงที่เราเข้าใจในแบบของเรา แต่พอเล่นมาเรื่อย ๆ เราก็เริ่มรู้แล้วว่าเบสิคเราผิดเพี้ยนหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการจับคอร์ดแบบเบสิคเราเพี้ยนมาก ก็เลยต้องรื้อเบสิคใหม่ของแต่ละเครื่องดนตรี

เพราะชีวิตสนุกกับดนตรี

          ช่วงม.1 พอเราอยู่ชุมนุมเขาก็จะแบ่งเป็นวงเพื่อไปเล่นโชว์หน้าห้องซ้อมดนตรี เราก็ลองไป แล้ววันนั้นนักร้องไม่มา คนที่ร้องได้คือมีแค่เรา ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้ตัวว่าเราร้องเพลงเพี้ยนแบบบรรลัยเลย เราร้องไปสองเพลงจำได้ว่าเราสนุกมากเลยนะ ทำไมเราไม่ทำแบบนี้ตั้งนานแล้ว และตอนนั้นเราก็ร้องเพี้ยนมากจำได้ว่าคนในงานตอนนั้น ไม่มีใครกล้ามองหน้าเราเลย (หัวเราะ) แล้วก็มีรุ่นพี่ที่เป็นมือเบสถ่ายคลิปเอาไปลง Youtube คนในโรงเรียนก็เริ่มมาดูคลิป แล้วคนเริ่มบูลลี่เรา (หัวเราะ) จำได้เลยว่าเด็กข้างบ้านยังบูลลี่เราเลย เราเลยจำฝังใจมากเลย (หัวเราะ) เหมือน ณ ตอนนั้นเราสนุกกับมันมาก โอเคกับมันมาก ถึงแม้ว่าผลลัพธ์มันจะแย่ หรือมันจะอะไรแต่เราแค่รู้สึกว่ามันเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับเรา

ฝึกร้องเพลงจนเพราะ

          ตอนแรกพอเราร้องเพี้ยน เหมือนถ้าคนที่ร้องเพลงเพี้ยน มันเพี้ยนตั้งแต่การฟังของเขาแล้ว คือเราฟังมายังไงเราก็จะออกเสียงไม่ ตอนที่อยู่ม.ต้น ในชุมนุมจะมีอาจารย์คนหนึ่งเป็นทหารเขาคอยพยายามฝึกเรา เขาจิ้มโน้ตแต่ละตัวบนคีย์บอร์ด แล้วเราก็ร้องไม่ตรง ทำยังไงก็ไม่ตรงจนเรารู้สึกว่าเราต้องพยายามฟังให้มาก ๆ เราเล่นกีตาร์เราดีดโน้ตตัวหนึ่งเราก็พยายามร้องตาม แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันตรงหรือเปล่าแต่เราก็ฝึกอย่างนั้นมาเรื่อย ๆ

          จนมีอยู่วันหนึ่งที่พอเราร้องตาม แล้วเรารู้สึกว่าตรงได้ไง เราก็เลยรู้สึกว่าโอเค เราหัดเองก็ได้ ไม่ต้องให้มีใครมาสอนเลยก็ได้ รู้สึกว่าแค่นี้ก็โอเคแล้ว เราก็หัดมาเรื่อย จนขึ้นม.ปลาย เราก็ยังไม่มั่นใจเพราะเหตุการณ์วันนั้นทำเราเสียขวัญเลย (หัวเราะ) พอเราเข้ามหาวิทยาลัย มันเหมือนเป็นการ Reset ชีวิตครั้งหนึ่ง ไม่ว่าตอนมัธยมเราทำเรื่องอะไรมา พอขึ้นมหาวิทยาลัยมันคือการ Reset ได้หนึ่งครั้ง เรามีความมั่นใจแล้วก็ลองไปสมัครชมรมดนตรี ในตำแหน่งนักร้องเพื่อจะ Reset ตัวเองว่าเราไม่ใช่คนร้องเพลงเพี้ยน พอเราอยู่ในชมรมเราก็ได้ฝึกในฐานะนักร้องคนหนึ่ง มันก็เลยทำให้สกิลการร้องมันดีขึ้น

เรียนต่อคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ม.กรุงเทพ

          เป็นปัญหาโลกแตกมาก ก็คือตอนแรกต้องบอกก่อนว่าเป็นคนค่อนข้างติด Safe Zone กว้างมาก เราไม่กล้าไปทางไหนสุดทาง เรารู้สึกว่าถ้าเราบอกที่บ้านว่าจะเรียนดนตรีเพราะเราชอบดนตรี ที่บ้านก็จะเริ่มมีคำถามเหมือนผู้ใหญ่ปกติที่มีคำถามว่าจบไปจะทำอะไร ทำงานได้หรือเปล่า แล้วเรารู้สึกว่าเส้นทางนี้คนเยอะมาก แต่พอโตมาเราก็ได้รู้ว่าทุกเส้นทางคนก็เยอะเหมือนกัน แต่ในตอนนั้นในมุมที่เรายังเด็กเรามองว่า ถ้าจะประสบความสำเร็จ เราต้องเก่งมาก และตอนนั้นเรารู้สึกว่าเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก ไม่ได้อยากไปจริงจังกับมันมาก เรากลัวว่าถ้าเราเข้าไปเรียนแล้วเราจะซีเรียส แล้วเราจะไม่รักมันเหมือนที่เรารักแบบปกติ ก็เลยเลือกที่จะเรียนแบบ Safe คือคณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ เป็นแผนที่ Safe มาก เรายังไม่รู้เลยว่าเราจะทำอะไรด้วยซ้ำ

ก่อตั้งวงดนตรีร่วมกับเพื่อนสนิท

          ตอนแรกไม่มีใครในวงตั้งใจจะทำวงนี้เลย จริง ๆ รวมตัวกันด้วยความบังเอิญที่รวมกันได้เพราะว่ารุ่นพี่เลยครับ คือว่าตอนนั้นมีร้านกลางคืนแถวมอ แล้วช่วงนั้นรุ่นพี่ก็เล่นประจำอยู่ที่นั่น เขาก็รู้มาว่าร้านอยากได้วงเพิ่มก็เลยลองมาถามรุ่นน้องดีกว่า วันนั้นพวกผมก็ไปปาร์ตี้ที่นั้นพอดี รุ่นพี่ก็เลยมาคุยว่าอยากให้พวกผมไปทำวงแล้วมาออดิชั่นที่ร้านนี้ ผมก็คิดว่าน่าสนุกดี แล้วเราก็ไม่เคยมีวงจริงจังเลย ตอนแรกเราก็ไม่คิดจะทำผลงาน เราทำวงเพื่ออยากหาเงินกันเฉย ๆ

          ตอนแรกทำ 4 คน ผมเป็นนักร้องแล้วร้องไม่ไหว เพราะเล่นที่ร้านเพลงมันเยอะ ก็ให้เปอร์ (เพื่อนสนิท) มาเป็นนักร้อง รวมเป็น 5 คน หลังจากเล่นที่ร้านมา 3 อาทิตย์ก็เริ่มมีปัญหากับที่ร้าน พอออกมาก็หาร้านออดิชั่นใหม่หาทั่วรังสิตเลย ออดิชั่นที่ร้าน 2-3 รอบก็ยังออดิชั่นไม่ติด จนเราเริ่มรู้สึกว่าทางเล่นร้านเล่นกลางคืนจะไม่ใช่ทางวงเรา เราเลยลองทำเพลงเล่น ๆ กันดีกว่า ทำไปก็ไม่มีใครรู้สึกจริงจังกัน ทำกันด้วยความสนุก ทำเสร็จก็ให้เปอร์เขียนเนื้อให้ทุกคนมารวมกันอัด เพลงแรกใช้เวลาปีกว่า กว่าจะได้ปล่อย พอทำเสร็จก็ลองปล่อยกันเล่น ๆ  ตอนแรกก็ปล่อยให้แค่คนในชมรมดนตรีสากลฟังกันเองแล้วคนในชมรมก็ Feedback กลับมาว่าเพลงดีมาก เราก็ไม่เชื่อเพราะมีแต่คนรู้จัก พอเริ่มปล่อยก็มีคนนอกเข้ามาฟังเรื่อย ๆ แล้วเริ่มมีคนเข้ามา Comment ชมว่าเพลงดีจังเลย

          พอมีโอกาสทำ MV พอทำเสร็จก็เริ่มปล่อยตาม Streaming ต่าง ๆ พวก Spotify apple หารตังค์ออกตังค์กันเอง ส่วนเพลงเราก็ทำกันเองไม่มีการออกตังค์อะไรกันทั้งนั้น เราก็ใช้ skill น้อย ๆ ที่เรามีทำเพลงขึ้นมา พอเราลงเพลงเริ่มมีคนมาติดตาม เราก็เริ่มมีคนชอบ เพลงแรกยอดวิวขึ้น แล้วเราอ่าน Comment ทุก Comment คนชอบจริง พอ Feedback เพลงแรกดีทั้งวงก็เปิดโหมดจริงจัง (หัวเราะ) เราก็เริ่มรู้สึกว่างั้นเรามาทำเพลงจริง ๆ จัง ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ เลยก็ได้ เลยทำเพลงที่สองออกมาเพิ่งปล่อยไป Feedback ดีมาก ผมไปส่อง Twitter ก็ชื่นใจมาก ๆ

          งานในวงดนตรี เบื้องหน้าเป็นมือกีตาร์และนักร้องรอง ทั้ง Chorus ด้วยอาจจะมีบางท่อนร้องหลักด้วย ส่วนเบื้องหลังที่ผ่านมาทั้งสองเพลงและอีกหนึ่ง Cover ผมเป็นคนเริ่มทำ Demo คนแรก เบื้องหลังอีกตำแหน่งหนึ่งก็คือ Producer เราเป็นคนทำ Demo ส่งให้วงแล้วให้ทุกคนมาอัดที่เรา แล้วเราก็ Mix และทำ Master ในส่วนของฝ่ายเบื้องหลังก็จะเน้นผมเป็นหลัก

แรงบันดาลใจจากไอดอล

          คนในวงของเราแต่ละคนฟังกันแตกต่างมาก มือเบส มือกีต้าร์ ฟังเพลง Pop ตามตลาด เพลงที่เป็นกระแส นักร้องก็ฟัง HipHop R&B มือกลองก็ฟังอีกแนวเหมือนต่างคนต่างมา แล้วตอนที่เรามารวมกัน แรก ๆ คือเราชอบ Sound ของวง Anatomy Rabbit มากแต่ถ้าเราทำเหมือนโดนว่าแน่ เพราะ Sound วงของเขามันเป็นเอกลักษณ์มาก เราก็นำ Sound ของเขาเป็น Reference แล้วก็ค่อยใส่สิ่งที่เราชอบลงไป เราใส่กีต้าร์โปร่ง เราใส่ Tambourine ใส่ในสิ่งที่เราชอบลงไป แต่ถ้าเอาจริง ๆ Reference แรกของเรามีหลายวงมากเลย ก็อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าแนวเพลงของวงยังหากันไม่เจอ ตอนนี้วงก็ยังหาเอกลักษณ์ของตัวเองอยู่เหมือนกัน

          เรายังไม่เกาะไปไหนแนวหนึ่ง เหมือนตอนนี้เราหยิบทุกอย่างที่เราชอบมารวมกัน ตอนแรกเราตั้งใจจะทำแนวเพลงเป็น Indy folk ด้วยซ้ำ แต่พอเพลงแรกออกมาเริ่มรู้สึกหลุด Concept เริ่มไปเป็น Indy pop อย่างเพลงล่าสุดเพลงที่ 2 ที่ปล่อยออกมาก็เริ่มมีความเป็น Rock ขึ้น มีเสียงกีตาร์แตกขึ้นมีอะไรขึ้นมา เราเริ่มรู้สึกว่าตอนนี้แนวของวงมันเป็น Indy pop ที่แบบ Alternative ทางเลือกหยิบอะไรมาใส่หมดที่ชอบตอนนี้ก็เลยนิยามแนวของวงไม่ได้ว่าวงมีแนวทางแบบไหน

ความคิดเห็นที่แตกต่าง

          ถ้าถามว่ามีเห็นต่างกันบ้างไหม เราว่ามันเป็นเรื่องปกติของทุกวงอยู่แล้ว เพราะว่าหูของแต่ละคนก็ชอบไม่เหมือนกัน ถ้าถามว่าเคยทะเลาะกันไหม คิดว่าไม่นะ เหมือนเราทุกคนฟังกัน สมมุติเราทำท่อนนี้มาแล้วส่งไปให้เพื่อน เพื่อนบอกให้แก้ตรงนี้เราก็แก้ เราต่างคนต่างฟังกันและกัน แล้วถ้าถามว่าหาตรงกลางเจอได้ยังไง ยกตัวอย่าง ถ้ามีคนหนึ่งเสนอไอเดียขึ้นมา เราก็จะมาทำให้เป็นรูปธรรมแล้วก็มาโหวตกันว่าอันที่คิดขึ้นมาใหม่กับอันเก่าอันไหนดีกว่ากัน ถ้าเสียงส่วนมากบอกอันไหนดีกว่า เราก็จะเอาอันนั้น

เพลงที่ดีในความหมายของเรา

          เราเป็นคนที่เวลาฟังอะไรแล้วชอบสงสัย จนวันหนึ่งเราเริ่มมีความรู้สึกว่าเวลาเขาทำเพลงเขาทำกันยังไง เราก็เริ่มไปหาข้อมูลใน YouTube ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่มีอุปกรณ์ เราก็ล้มเลิกความคิดที่จะทำเพลง แต่เราก็ยังศึกษาเรื่อย ๆ อยู่ จนขึ้นปี 1 เราก็เริ่มกลับมาหัดทีละนิด จนมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อโบว์เอาไมค์มาให้ยืม พอเราได้ลองเราก็เริ่มรู้สึกสนุกขึ้นมา เพื่อนคนอื่น ๆ ก็เริ่มเอาของมาให้ยืมเรื่อย ๆ จนของมันเริ่มครบ เราก็รู้สึกว่าไหน ๆ ของก็ครบแล้ว เริ่มทำเลยละกัน

          เราก็เริ่มดู YouTube และสิ่งที่ยากที่สุดของการเริ่มคือการไม่ใจร้อน เหมือนกับว่าเราต้องยอมฟังใครก็ไม่รู้สอนเราเป็นชั่วโมงโดยที่เราห้ามข้ามเลย ซึ่งเราตั้งกฎของตัวเองไว้ว่าจะไม่มองข้ามข้อมูลพื้นฐานอะไรในคลิปเลย เราก็เริ่มหัด ๆ ทำ ๆ แล้วถ้าถามว่าพอเราเริ่มทำ Scale ที่ใหญ่ขึ้นเราจะรู้ได้ยังไงว่า Skill เราถึงขั้นนั้นแล้ว สำหรับเรา เรามองว่ามันอยู่ที่ประสบการณ์ล้วน ๆ เลย พอมีประสบการณ์เราก็จะเริ่มรู้แล้วว่าตรงนี้โอเคแล้ว คนส่วนใหญ่เขาก็รับได้แล้ว แล้วเรามีช่วงปิดเทอมอยู่ช่วงหนึ่งว่า ใน 1 วันเราต้องทำให้จบ 1 เพลง ไม่ว่าจะเป็น Cover หรืออะไรก็ตาม พอเราทำอย่างนั้นสิ่งที่ได้มาคือ Skill และประสบการณ์ พอเรามีประสบการณ์เราก็จะพอรู้ว่า Sound แบบนี้มันยังไม่ดียังไม่ได้ แต่ทุกวันนี้มันยังไม่เยอะหรอก ก็พอฟังได้

ผลงานที่น่าติดตาม

          เรามีช่อง YouTube NAYNAY ทุกอันจะเป็นเพลง Cover หมดเลย ช่องนี้เหมือนเก็บพัฒนาการของตัวเอง เหมือนเราทำไว้ Check ด้วยว่าปีนี้เราทำประมาณนี้ได้ อีกปีหนึ่งเราเริ่มพัฒนากขึ้น ส่วนผลงานของวงเราก็วง AYLA ช่อง Facebook AYLA YouTube  AYLA Official ถ้าเป็น Instagram aylaband

          เพราะความท้าทายจากคุณพ่อ บวกแรงบันดาลใจจากหนัง ทำให้เดินทางบนถนนสายดนตรีมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าเขาจะทำเพราะอะไรก็ตาม แต่เราได้เห็นถึง Passion ในการทำงานในสิ่งที่รักอย่างเต็มเปี่ยม เราขอเป็นกำลังใจให้ ไปติดตาม “เน” กันได้นะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ เน-วีรวุฒิ ช่องสาร นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

คติประจำใจ เราคือคนเก่ง ถึงตอนนี้เราจะยังไม่เก่ง แต่เรามีสิ่งที่คนก่อนจะเก่งมี

Writer

คติประจำใจ ทำทุกวันให้เต็มที่ที่สุด แล้วฉันจะไม่มานึกเสียใจในภายหลัง

Writer & Photographer

คติประจำใจ ชีวิตก็เหมือนเกมส์ ไม่เก็บประสบการณ์แล้วจะเก่งได้ไง

Photographer

คติประจำใจ Work hard, play harder