โลกหลังเลนส์ที่สื่อสารด้วยหัวใจของพี่ฮาร์ท-สารินท์ ศิษย์เก่านิเทศ ม.กรุงเทพ

พูดคุยกับช่างภาพมืออาชีพที่เล่าเรื่องกีฬาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ

            พี่ฮาร์ท-สารินท์ กรินท์ธัญญกิจ รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนุ่มตี๋ ขี้อาย ที่มีพ่อผู้สอนให้กล้า กับการพิสูจน์ตัวเอง จากการหลงรักการถ่ายภาพทำให้เขาประสบความสำเร็จบนเส้นทางชีวิตที่เลือกเดิน

จุดเริ่มต้นการถ่ายภาพและแรงบันดาลใจ

            พี่ถ่ายภาพมาตั้งแต่ปี 2557 แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นถ่ายภาพ เริ่มจากการไปรอพี่ชายที่สนามวิ่ง ได้เห็นพี่ ๆ ตากล้องไปคอยถ่ายรูปนักวิ่งตั้งแต่เริ่มต้นวิ่ง จนวิ่งจบ ก็เลยทำให้คิดว่า การที่มานั่งรอพี่ชายเฉย ๆ มันไม่เกิดประโยชน์ จึงเปลี่ยนความคิด จากการรอ มาถ่ายรูป

            การเดินทางไปถ่ายรูปการแข่งวิ่ง ทำให้มีรายได้กลับมาด้วย จึงได้สร้าง Heart Attack Sports ขึ้นมา โดยถือคติ ว่า “ทุก ๆ ภาพ” คือความทรงจำของคุณ “ทุก ๆ คำขอบคุณ” คือความทรงจำของเรา สไตล์การถ่ายภาพของพี่จะเน้นแนวภาพกีฬาล้วน ๆ

            พี่เคยลองถ่ายภาพแนวอื่นบ้างแล้ว มันฝืนตัวเองมาก พี่เป็นคนไม่ชอบสั่งให้คนอื่นทำ ไม่ชอบจัดท่าทางคนอื่น อย่างเช่น พวกถ่ายงานแต่ง หรือว่าถ่ายงานพิธีต่าง ๆ นี่ไม่ถนัด ยิ่งงานรับปริญญา คือ ไม่ชอบเลย ส่วนตัวพี่เป็นคนที่ชอบเล่นกีฬาด้วย ก็รู้ว่านักกีฬาเขาต้องการภาพแบบไหน คือ เรารู้โมเมนต์ต่าง ๆ ว่าเขาคงต้องการรูปประมาณไหน จึงเป็นเหตุผลที่พี่เลือกถ่ายแนวกีฬา

ความสนุกของการถ่ายภาพแนวกีฬา

          แต่ละชนิดกีฬา มีความไม่เหมือนกัน อย่างกีฬาแข่งรถ เน้นความเร็วล้วน ๆ จะมีความท้าทายอะไรใหม่ ๆ เข้ามาตลอด การถ่ายภาพกีฬา ขึ้นอยู่กับดวงด้วย เราอยู่ในจังหวะที่มันถูกต้องและพอดีด้วย และต้องถ่ายให้มีโมเมนต์ของภาพ ให้สื่ออารมณ์ได้เยอะ ๆ อย่างถ่ายภาพบอล ก็แบบกำลังวิ่งมาเบียด หรือกำลังจะยิงทำประตู อะไรประมาณนั้นครับ

เทคนิคประจำตัวในการถ่ายภาพ

            เวลาถ่ายภาพจะใช้ตาทั้งสองข้างดู ตาขวาดูในช่องมองภาพ ตาซ้าย ดูสิ่งที่จะถ่าย พี่จะไม่หลับตาข้างหนึ่ง เพราะว่า ถ้าหลับตาดู มันจะไม่เห็นภาพรวมว่า ตรงส่วนอื่น มีอะไรหรือเปล่า พี่ใช้ตาดูคู่กัน จนตอนนี้ตาสองข้างไม่เท่ากันแล้ว มันทำให้เห็นเหตุการณ์ตลอดเวลา เพราะกีฬาเราไม่สามารถเดาได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นตอนไหน หรือว่า จะเกิดอะไรขึ้นตรงไหนด้วย

อุปกรณ์ที่ใช้และการเตรียมตัวก่อนปฏิบัติงาน

            พี่ใช้ Canon 5D Mark IV Lens 70-200mm f/2.8 จะใช้เป็นหลัก เพราะถ่ายภาพกีฬาบางทีใช้เลนส์กว้างไป ไม่ได้รูปที่ได้อารมณ์สักเท่าไหร่ แล้วเราเข้าไปใกล้นักกีฬาไม่ได้ด้วย ก่อนจะไปถ่ายงาน เราต้องเตรียมอุปกรณ์ของเราให้พร้อม และต้องศึกษาก่อนว่า กีฬานั้นเป็นยังไง เขาเล่นกันยังไง กติกาเป็นยังไง สถานที่ที่ไหน มีแสงไฟพอรึเปล่าสำหรับงาน indoor แต่ถ้าเป็นงาน outdoor จะดูเรื่องสภาพอากาศ เรื่องเส้นทาง สถานที่ที่ต้องใช้ในการจัดงานที่เราไปถ่าย ส่วนช่างภาพในดวงใจพี่ เป็นพี่ ๆ ที่ถ่ายรูปในงานวิ่งด้วยกัน คือ เขาถ่ายรูปกีฬาทุกอย่าง ส่วนมากพี่จะชอบไปเปิดดูรูปเขา คือ รูปมันดูดี ทุกรูป มีโมเมนต์ของภาพทุกภาพ

อุปสรรคในการถ่ายภาพเกิดขึ้นเสมอ

            บางครั้งจำนวนนักวิ่งที่วิ่งเข้ามาหากล้องในเวลาเดียวกันมีเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเก็บภาพได้ครบทุกคนนั่นคือปัญหา และปัญหาอีกอย่าง เช่น อุปกรณ์ทำงานไม่ปกติ เช่น เลนส์ ไม่สามารถโฟกัสได้ หรือ SD Card ประมวลผลไม่ทัน อุปสรรคที่เจอตลอดทุกครั้งที่ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอล คือ เรื่องสภาพอากาศ เรียกได้ว่า พี่มากับฝน

ความผิดพลาดเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ

            ความผิดพลาดเกิดจากการที่เราไม่ศึกษาว่า งานที่เราไปถ่าย คือ งานอะไร จัดที่ไหน เคยไปอยู่งานหนึ่ง แล้วไม่ได้หยิบแฟลชไป นึกว่ามีแสงไฟ คิดว่า กล้องเราเอาอยู่ ไปถึงปรากฏว่าไม่มีแสงไฟ ถ่ายออกมาไม่เห็นอะไร จึงต้องนั่งรอยันเช้าให้พระอาทิตย์ขึ้น จนนักวิ่งวิ่งเข้าเส้นชัย

ประทับใจที่สุด

            ภาพที่ถ่ายมาแล้ว จบหลังกล้อง คือ ไม่ต้องแต่งอะไร เป็นภาพกีฬาจักรยานยนต์วิบาก Motocross ซึ่งเป็นกีฬาเก่าของพี่อยู่แล้ว ตอนช่วงออกตัวรถเรียงกันเยอะ ๆ และก็ถ่ายมาดูองค์ประกอบ แล้วมันโอเคมาก และเป็นประสบการณ์การถ่ายภาพที่พี่ประทับใจที่สุด

มองย้อนไปเห็นอะไรในตัวเราเมื่อวันวาน

            พี่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเรื่ององค์ประกอบภาพเรื่องการดูมุมภาพ แสง ตอนแรกในความคิดคือมีกล้องจะถ่ายอะไรก็ถ่ายได้ พอทำงานผ่านงานไปสักระยะหนึ่ง มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ภาพแบบนี้ต้องถ่ายยังไง เราเจอสถานการณ์อย่างนี้ เราจะต้องทำยังไง มันทำให้เรารู้จักการจัดองค์ประกอบภาพมากขึ้น และพอดูภาพแรกที่ถ่าย คือ โอ้โห ถ่ายอย่างนั้นไปได้ยังไง

เสน่ห์ของการถ่ายภาพ

            ภาพถ่ายคือความทรงจำที่เราไม่สามารถย้อนกลับไปทำได้อีก มีโอกาสน้อยที่เราจะได้กลับไปทำ ณ จุดจุดนั้น อีกครั้ง

แรงผลักจากอดีตทำให้เดินมาถึงวันนี้

            คำดูถูก คำเหยียดหยาม อะไรทั้งหลาย โดนว่า ถ่ายรูปอะไรแบบนี้ ทำให้เรา active ตัวเอง และลงมือทำ ฝึกฝน ขยันถ่ายภาพ ขยันหามุมภาพ ขยันหาเทคนิค ศึกษาสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้เรามีพลังดี ๆ ในการพัฒนาตัวเองขึ้นไป เป็นการเอาคำดูถูกมาเป็นแรงผลักดันตัวเอง พิสูจน์ตัวเองให้พวกเขาเห็น

จุดอิ่มตัวในการทำงาน

            ต้องบอกว่าตอนนี้เลย มันถึงจุดอิ่มตัวแล้ว อยู่ในวงการนี้มาจะ 6 ปี เมื่อก่อนช่างภาพยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจ ทุกวันนี้ช่างภาพเยอะมาก ใครมีเงินซื้อกล้อง ก็เรียกตัวเองว่า ช่างภาพ และผันตัวมาเป็นช่างภาพ อย่างเมื่อก่อนพี่ถ่ายงานวิ่ง ช่างภาพเต็มที่ก็ไม่เกิน 20 คน แต่ตอนนี้เป็นร้อยกว่าคนต่องาน และในวงการช่างภาพงานวิ่งนี่ ไม่ต่ำกว่าพันคน เยอะจนจำนวนช่างภาพเกือบเท่าจำนวนนักวิ่ง ก็เลยทำให้เรามีความรู้สึก เบื่อ บวกกับตอนนี้พี่มีธุรกิจที่บ้านด้วย ก็เลยเบาเรื่องถ่ายรูปลง และมาเน้นธุรกิจมากกว่า แต่พี่ไม่ได้จะทิ้งเสียทีเดียว พี่ยังพยายามหาแรงบันดาลใจไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะถ่ายภาพต่อไปได้อีก

มุมมองการมองโลกของพี่ฮาร์ท

            ในมุมมองของพี่คือ ทุกอย่างที่เข้ามา ทุกอย่างที่เจอ พี่จะมองเป็นประสบการณ์ที่ดีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือเรื่องร้าย พี่คิดว่า ทุกอย่างที่เข้ามา คือ บทเรียนชีวิตที่จะต้องเจอ ที่เราต้องเรียนรู้ ด้วยการมองโลกในแง่ดี มันดีตรงที่ว่า มันไม่มีอะไรไปคิดลบกับคนอื่น และไม่มีเรื่องอะไรมารบกวนสมอง มองทุกอย่างเป็นบวกไปหมด ชีวิตก็จะไม่มีเรื่องซีเรียสเลย

ได้รับอะไรจากการมาเรียนที่นิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ

            พี่ได้รับแนวคิดใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ได้เอาวิชาที่เรียนเอาความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง ใช้ในงานได้จริง ๆ

การบริหารเวลา

            ธุรกิจที่พี่ทำ เป็นยิมสอนเทควันโด พี่จะแบ่งเวลา คือ เสาร์อาทิตย์ จะกลับไปสอนและกลับมาเรียนวันจันทร์ถึงศุกร์ ในช่วงที่พี่กลับมาเรียน ที่ยิม ก็จะมีพี่อีกคนคอยดูแลอยู่ แต่เสาร์อาทิตย์พี่ก็ไม่ได้แค่กลับไปสอน บางสัปดาห์พี่ก็มีงานถ่ายรูปด้วย เรียกได้ว่าแทบไม่ได้นอนเลย แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียน ทำให้การเรียนดีขึ้นด้วย เพราะว่ามันมีความตั้งใจมากขึ้น ทำให้เรามีเป้าหมายชัดเจนว่าเราต้องทำอะไรตอนไหน ทำให้เราไม่วอกแวก ถ้าไม่มีงานเข้ามา การเรียนพี่ก็อาจจะไม่ค่อยสนใจก็ได้

            นี่คือบทสนทนาอิ่มไปด้วยพลัง และแรงบันดาลใจ กับพี่ฮาร์ท-สารินท์ กรินท์ธัญญกิจ ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

เด็กนิเทศศาสตร์ เสพติดการดูซีรีส์ ชอบดูละคร ภาพยนตร์ และรายการแวดวงบันเทิงเป็นชีวิตจิตใจ ที่อยากทำงานเบื้องหลัง ผลิตงานในสิ่งที่ตัวเองชอบให้ได้ดีเป็นที่รู้จัก

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว