ส่องสองสาวเด็กอีเว้นท์ม.กรุงเทพ สุดน่ารัก พี่แก้มและพี่กัสจัง เบื้องหลังการจัดอีเว้นท์สุดคูล

เรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงานจริง ผู้อยู่เบื้องหลังงาน หลง BU และ Bangkok Night

            หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับสาขาสุดฮิตของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือสาขาการผลิตอีเว้นท์และการจัดการนิทรรศการและการประชุม หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่าสาขาอีเว้นท์นั่นเองค่ะ

            ปีที่ผ่านมานักศึกษาในสาขานี้ก็ได้สร้างผลงานขึ้นมามากมาย เช่น งาน Bangkok Night และ งานล้อมวงหลง BU ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก และได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้าง

            เราจึงอยากจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับหัวหน้าทีมผู้อยู่เบื้องหลังงานเหล่านี้ นั่นก็คือ พี่แก้ม-ชุติมา จันรุ่งเรือง และพี่กัสจัง-เจนนิสา กิจจาชาญชัยกุล ซึ่งทั้งสองคนต่างก็เป็นคนสำคัญที่ทำให้งานออกมาปังขนาดนี้ เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่ากว่าจะได้มาทำงานตรงนี้นั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง ลำบากขนาดไหน แล้วประสบการณ์จากการทำงานสอนอะไรแก่เราบ้าง

ก่อนจะมาเป็นเด็กอีเว้นท์ ม.กรุงเทพ

            เรามาทำความรู้จักพี่แก้มให้มากขึ้นอีกนิด พี่แก้ม เป็นลูกคนจีน ผิวขาว หน้าตาสวยคมได้รูป ทรงผมเป็นสิ่งที่ดึงดูดสายตาเป็นอย่างมากเพราะผมที่ยาวสวยเงางาม

แก้ไข1

พี่แก้ม-ชุติมา จันรุ่งเรือง

            เมื่อเราถามถึงวัยเด็กของพี่แก้ม พี่แก้มยิ้มแล้วตอบว่า “ตอนเด็กเป็นคนขี้เล่น ซนเลยแหละ แล้วก็เป็นคนร่าเริง เข้ากับคนอื่นง่าย” อีกทั้งพี่แก้มยังเสริมอีกว่าเป็นคนชอบศิลปะ ชอบวาดรูประบายสีมาตั้งแต่เด็ก ๆ ได้เริ่มมาเรียนศิลปะตอนช่วงมัธยมปลาย ด้วยความสนใจนี้เองจึงทำให้พี่แก้มได้มาทำในฝ่าย PR หรือฝ่ายโปรโมทในงานอีเว้นท์

พี่กัสจัง-เจนนิสา กิจจาชาญชัยกุล

            เมื่อมาถามทางพี่กัสจัง ที่ดูเป็นผู้หญิงลุย ๆ แต่น่ารัก เราได้รับคำตอบว่า ตอนเด็กพี่กัสจังเป็นคนที่ชอบเที่ยว ชอบออกไปเจอผู้คนใหม่ ๆ ไม่ค่อยชอบอยู่ในบ้าน เป็นคนชอบทำกิจกรรม อย่างตอน ม.ปลาย พี่กัสจังเคยเป็นหัวหน้าในงานต่าง ๆ “ตอน ม.4 เป็นประธานพาเหรดกีฬาสี ม.5 ได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ม.6 กลับมาเป็นประธานหนังสือรุ่น คือเป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรม ชอบออกไปเที่ยว” เป็นนักกิจกรรมตัวยงเลยทีเดียว นั่นเป็นเพราะครอบครัวของทั้งสองคนมีส่วนสนับสนุน

จุดเริ่มต้นในวงการอีเว้นท์

            ต่อมาเราถามถึงเรื่องเหตุผลที่อยากมาเรียนในสาขาอีเว้นท์ ซึ่งคำตอบของพี่แก้มสร้างความประหลาดใจไม่น้อย พี่แก้มตอบว่าเพราะพี่แก้มเป็นคนที่ชอบจัดงานวันเกิดให้เพื่อนและคนรอบตัว เป็นคนที่ชอบคิด ชอบทำงานร่วมกับเพื่อน จึงทำให้คิดว่างานออร์แกไนซ์น่าจะใช่ทางของตัวเอง

            “ตอนม.4 เริ่มจัดวันเกิดให้เพื่อนเกือบทุกเดือน เพื่อนมีสิบคนก็จัดให้หมด คิดว่าเราน่าจะชอบสังคม ชอบเจอผู้คน ชอบแบบสังสรรค์ปาร์ตี้ เราแฮปปี้กับการทำงานแบบนี้ คิดว่าออร์แกไนซ์น่าจะเหมาะกับเราที่สุดแล้ว” ปัจจุบันพี่แก้มได้มาทำงาน Graphic design งานคิดสร้างสรรค์ด้านภาพในงานอีเว้นท์

            ส่วนพี่กัสจัง ตอนแรกตั้งใจจะไปเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่ความคิดได้เปลี่ยนไปเมื่อได้ลองไปเข้าค่ายตอนม.6 “พ่อกับพี่สาวก็ช่วยมองว่าจะเรียนภาษาเหรอ รู้สึกว่ามันไม่เข้ากับตัวเอง เพราะเราเป็นคนไม่ค่อยชอบอยู่ในห้องเรียน เราได้ไปเข้าค่ายตอนม.6 ค่ายที่ให้ไปลองเป็นอาชีพนั้นจริง ๆ ไปอยู่กับพวกพี่ ๆ ที่เป็นผู้ใหญ่ที่เขาทำงาน แล้วคราวนี้เราก็ลองเลือกอาชีพครีเอทีฟ ตอนแรกก็รู้สึกว่ายังไม่ค่อยใช่ แต่ได้ออกไปงานข้างนอก พอดูพี่เขาทำงานแล้วรู้สึกว่ามันสนุก ก็เลยเป็นประเด็นที่ทำให้รู้สึกว่าตรงนั้นน่าจะใช่เรา”

            ทำให้เราค้นพบว่า อย่าเพิ่งปฏิเสธในสิ่งที่ยังไม่ได้ลอง ไม่แน่สิ่งนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เราชอบก็ได้ และด้วยความชอบนี้จึงทำให้พี่กัสจังได้มาทำงานตำแหน่งครีเอทีฟในปัจจุบัน

พี่แก้มกับ “ล้อมวงหลง BU” ซิกเนเจอร์ของเด็กอีเว้นท์ม.กรุงเทพ

            พอเราได้ข่าวมาว่าพี่แก้มมีส่วนร่วมในการสร้างงานหลง BU เราไม่รีรอที่จะถามเกี่ยวกับรายละเอียดในขั้นตอนการทำงาน พี่แก้มเล่าว่าได้เป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ เริ่มมาจากว่าได้รับโจทย์จากอาจารย์ว่าให้จัดงานในลานวงกลม พี่แก้มและเพื่อน ๆ คิดว่าอยากจะทำเป็นธีม Music festival ขึ้นมา “ตอนแรกก็คือแข่งกันก่อนว่ากลุ่มไหนจะชนะในโจทย์ที่อาจารย์ให้มา พอชนะ กลุ่มที่ชนะจะต้องแบ่งฝ่ายว่าตัวเองจะไปอยู่ฝ่ายไหน พี่ถนัด PR โปรโมต พวกกราฟฟิก จึงได้เป็นหัวหน้าฝ่ายนี้ไป”

            เราจึงได้เห็นงาน Music festival เป็นที่แรกและครั้งแรกของคณะนิเทศศาสตร์นั่นเองค่ะ พี่แก้มยังได้เล่าเกี่ยวกับความประทับใจที่ได้มาทำงานหลง BU เสริมมาอีกว่า “พอถึงวันงานจริงมีคนมาเยอะมาก ๆ สิ่งที่เราภูมิใจคือเราจัดงานตั้งแต่คิดงานเลยนะ จนมาถึงการที่มีคนเข้ามาดูเป็นพันคน ซึ่งเป็นผลงานของเด็กปี 2 สาขาอีเว้นท์นะจัดงานได้ขนาดนี้เลยหรอ มีทั้ง Music festival ด้วย แล้วก็ตลาดด้วย เรามีความภูมิใจเพราะเราอยู่ปี 2 เอง เราสามารถรับผิดชอบจัดงานใหญ่ได้” นอกจากนี้สิ่งที่พี่แก้มได้รับเพิ่มเติมคือได้มิตรภาพและเพื่อนใหม่เพิ่มด้วย

ค่ำคืนที่น่าจดจำกับเบื้องหลังงาน Bangkok Night ม่านน้ำและไฟสุดตระการตา

            อีกหนึ่งงานคือ Bangkok Night ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในงาน Open House BU 2019 ที่ผ่านมา พี่กัสจังได้รับการชวนมาจากเพื่อนให้มาร่วมทีมคิดงาน เมื่อได้เข้ามาทำงาน อาจารย์และเพื่อน ๆ ได้มอบหมายหน้าที่ให้มาเป็น Show director ของงาน “งานนี้เราได้ช่วยคิดกันมาตั้งแต่ต้น ก็รู้ลำดับคิว รู้ว่าตรงไหนเป็นยังไง เพื่อนกับอาจารย์ก็ไว้ใจให้มาเป็น Show director”

            หน้าที่ของพี่กัสจังในงานนี้ คือการประสานงานกับคนออกแบบ และเรียงลำดับเรื่องราวเพื่อให้คนดูเข้าใจ “เราต้องคุยกับพี่เขาว่า พี่ทำแอนนิเมชั่นแบบไหนได้บ้าง แล้วทีนี้ก็มาลำดับว่าเราจะจัดงานอย่างไรเพราะว่า Bangkok night เป็นโชว์ที่ต้องคิดเรื่องราว”

            พอเราถามถึงสิ่งที่ได้รับจากการทำ Bangkok Night พี่กัสจัง บอกว่าได้ฝึกฝนประสบการณ์ใหม่ในสิ่งที่ไม่เคยทำ อีกทั้งยังทำให้เป็นคนละเอียดมากขึ้นด้วย “เราต้องมาคุมโชว์ แต่เราไม่เคยเป็นมาก่อน เราก็รู้สึกว่าเรากดดันมากเพราะเป็นตำแหน่งที่สำคัญ คือเราพูดอะไรผิดหรือไม่มีสติ มันก็หลุดไปเลย แล้วโชว์ก็จะผิดพลาด เราไม่เคยทำมาก่อน แล้วพอได้ทำก็รู้สึกเหมือนปลดล็อคแล้วก็ได้เรียนรู้ว่าเราต้องแก้ไขสถานการณ์ยังไง แล้วก็ได้รู้ว่าจะจัดงานซักงานคือมันละเอียดมาก มันไม่ใช่แค่แบบหน้างานไง อีเว้นท์มันก็คือหลังงานด้วย เช่น เราจะจัดตรงไหน กันคนถึงตรงไหน แล้วปิดไฟตรงไหนบ้าง คือต้องคิดหลายอย่าง ทำอะไรปลอดภัยไหม ก็รู้สึกว่ามันทำให้เราพัฒนาทำงานให้ละเอียดมากขึ้น”

ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานจริง

            แน่นอนว่าการทำงานทุกงานให้อะไรกับเราเสมอ เราจึงได้ถามพี่ทั้งสองคนถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานในสาขาการผลิตอีเว้นท์

            พี่แก้มตอบว่าได้รู้ข้อผิดพลาดของตัวเองในแต่ละงานแล้วก็ได้นำมาพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวสู่การเป็นมืออาชีพในอนาคต “การจัดงานอีเว้นท์หรือการทำงานอีเว้นท์ มันมีเสน่ห์ก็คือ มันมีปัญหาเข้ามาในทุกงานค่ะ แต่เราก็ต้องแก้ไขสถานการณ์เบื้องหน้าให้ดีที่สุดแล้วก็ทำให้ผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดี ในทุกงานจะทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น”

แก้ไข2

            พี่กัสจังย้ำว่า การทำงานจริงได้อะไรมากกว่าการที่เราเรียนแต่ในห้องเรียนอย่างเดียว การทำงานจริงจะทำให้เราได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดที่ในห้องเรียนไม่ได้สอน “เล็กเชอร์ทำให้เราเข้าใจคือเหมือนกับว่าเรารู้นะ เรารู้ แต่ไม่ได้มาเจอปัญหาจริง ๆ คือเราเรียนสาขาอีเว้นท์ด้วยแหละ ก็อาจจะไม่ได้เล็คเชอร์มาก เพราะว่าต้องทำ ต้องเจอปัญหาจริง พอเจอปัญหาจริงเพิ่มประสบการณ์ในตัวไปให้มากขึ้นในการเรียน”

เรียนรู้ชีวิตที่ญี่ปุ่นทำให้เห็นโลกกว้างมากขึ้น

            พี่กัสจังยังเคยเป็นนักเรียนทุนไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นด้วย โดยพี่กัสจังได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนตอนม.5 เราได้ถามถึงวิถีชีวิตตอนไปอยู่ที่นั่น พี่กัสจังเล่าให้ฟังด้วยความสนุกสนาน อีกทั้งยังเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่ได้กลับมาจากการไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นคือการที่ได้เรียนรู้ ได้เติบโต ช่วยเหลือตนเอง เพราะต้องไปอยู่กับโฮสแฟมมีลี่ที่เป็นครอบครัวชาวญี่ปุ่น

            “รู้สึกว่าเป็นปีที่แบบทำให้เราเติบโต เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะว่าเราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เราห่างจากครอบครัว ไม่มีคนไทยด้วย อยู่คนเดียว อยู่กับโฮส โฮสเป็นครอบครัวญี่ปุ่นหมดเลย ไปตอนแรกยังพูดไม่ได้ ต้องพยายามสื่อสารให้ได้ ต้องเอาตัวรอด”

            อีกเรื่องที่พี่กัสจังประทับใจคือ “ที่ญี่ปุ่นคือทุกคนแยกขยะ เขาทำเป็นปกติมาก พอกลับมาไทยก็ไม่มีใครทำเลย ไม่มีใครแยกขยะ เราก็ได้มาทบทวนใหม่ว่า ทำไมทุกคนไม่แยกขยะทั้งที่มันก็เป็นเรื่องสำคัญมาก คือถ้าเราแยก ก็จะไม่มีขยะ คือเราได้เรื่องจิตสาธารณะกลับมามาก”

            พี่กัสจังยังเสริมมาในเรื่องของการเล่นกีฬาตอนไปญี่ปุ่นด้วยว่า “กีฬาสำคัญมากที่ญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าจะเป็นชมรมในโรงเรียนก็จริงจังมาก คือ คุณก็ต้องซ้อม คุณต้องมีวินัยแล้วคุณก็ต้องอดทน คือเราไม่เคยเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว แล้วยิ่งไปอยู่ญี่ปุ่นอีก คือเครียดมาก ต้องซ้อมทุกเย็น เสาร์อาทิตย์ไม่ได้หยุด นักเรียนแลกเปลี่ยนคนอื่นที่เป็นคนไทยได้ไปเที่ยว ส่วนของพี่คือแบบไปซ้อม สนุก ได้อะไรเยอะมาก รู้แพ้ รู้ชนะ ต้องอดทน ถ้าจะทำให้ได้ต้องอดทน ฝึกซ้อม พยายาม”

เพจของเด็กอีเว้นท์

            พี่กัสจังนอกจากจะเป็นหัวหน้าในฝ่ายงาน พี่กัสจังยังเป็นนักศึกษาทุนของม.กรุงเทพอีกด้วย โดยทุนที่ได้คือ BU Creative ด้วยการนำเสนอโปรเจคเกี่ยวกับการนำเอาขยะมาทำอีเว้นท์แฟชั่นโชว์ พอต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนโปรเจคเป็นการทำเพจ Facebook และทำช่องยูทูปที่เกี่ยวกับการเรียนอีเว้นท์

            “ล่าสุดคือทำเกี่ยวกับว่าเราอยากนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กที่มาเรียนสาขาอีเว้นท์ เพราะว่าเรารู้สึกว่าใหม่ในประเทศไทย ยังไม่ค่อยมีใครมาเล่า สาขาคณะอื่นก็มีคนพูดเยอะแล้ว แต่คณะอีเว้นท์เพิ่งเปิดเป็นปีแรก คือเรารู้สึกว่าตอนเราอยากเรียน เราไม่มีข้อมูลเลย แล้วรุ่นพี่ไม่มีด้วย รู้สึกว่าอยากทำตรงนี้ อีกทั้งในอนาคตมันเป็นประโยชน์กับคนอื่น” ถ้าใครสนใจก็อย่าลืมไปกดไลค์เพจของพี่กัสจังกันนะคะ ชื่อเพจว่า อีเว้นท์ไดอารี่ สะกดเป็นภาษาไทย

ฝันที่ใฝ่ในอนาคต

            ก่อนที่จะจบการสัมภาษณ์ เราได้ถามเกี่ยวกับอาชีพที่อยากทำในอนาคต “อยากเป็นฟรีแลนซ์ ใครจ้างมาเราก็สามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่ได้กำหนดว่าต้องไปสังกัดบริษัทนะ” พี่แก้มตอบ

            ส่วนของพี่กัสจังบอกว่ายังอยากทำในเครือข่ายของงานอีเว้นท์อยู่ “ตอนนี้สนใจคืออยากไปทำงานเกี่ยวกับแวดวงในอีเว้นท์ อยากลองไปเป็นออแกไนซ์ในบริษัทใหญ่บ้าง”

แก้ไข3

            ผลงานพี่ทั้งสองคนก็แอบกระซิบมาว่าตอนนี้กำลังเตรียมงาน BU Open house ของปีนี้อยู่ รับรองว่า Bangkok Night ในปีนี้จะกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม ฟังมาถึงตอนนี้บอกได้เลยว่างานอีเว้นท์ที่ยิ่งใหญ่ สนุกสนานของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ขับเคลื่อนและจัดงานด้วยพลังเล็ก ๆ ของนักศึกษา ไม่ว่างานจะเล็กหรืองานจะใหญ่ ถ้าเราทำด้วยใจที่มุ่งมั่น รับรองว่าเราได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ที่จะทำให้เราเติบโตต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณภาพประกอบจากสาขาวิชาการผลิตอีเว้นท์และการจัดการนิทรรศการและการประชุม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Writer

เรียนอยู่คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาดิจิทัล ชอบอ่านนิยายเก่า อิงประวัติศาสตร์ ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับป่า แต่เกลียดการเดินป่า พยายามทำสถิติอ่านหนังสือวันละเล่ม หอสมุดคือบ้านหลังที่สอง อยากเจอให้ไปตามที่หอสมุด

Photographer

การถ่ายภาพเปรียบเสมือนการบันทึกความทรงจำ เพียงแค่การถ่ายภาพทำให้ความทรงจำเหล่านั้นชัดเจนขึ้น

Photographer

ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ เพราะโลกมีหลายมุมมอง

Photographer

ตอนเด็กคิดว่าคนที่เก่งคือคนที่รวย แต่พอโตขึ้นจึงรู้ว่า คนที่เก่งคือคนที่หาเวลาว่างทำในสิ่งที่ตนเองชอบได้เสมอ