พรแสวงสำคัญกว่าพรสวรรค์ ถ้าเคยได้ยินคำนี้ นี่คือความเชื่อของ พี่แบงค์–จารุวัฒน์ ด้วงนิล นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนักศึกษาดีเด่น และได้เดินทางไปรับรางวัลเมื่อเร็ว ๆ นี้
รางวัลที่ได้สร้างความภูมิใจให้กับพี่แบงค์เป็นอย่างมาก โดยได้รับรางวัลจาก คุณเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ มอบเหรียญพระราชทานรางวัลเรียนดี ซึ่งเป็นการคัดเลือกของคณะกรรมการอำนวยการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และคณะกรรมการบริหารจากกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เรามาเรียนรู้เส้นทางการเติบโตของหนุ่มวิศวะที่เป็นที่รักของทุกคนไปพร้อมกับ พี่แบงค์-จารุวัฒน์ ด้วงนิล นักโปรแกรมเมอร์ที่สามารถเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์และได้ขึ้นชื่อเป็นนักศึกษาเรียนดีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ กวาดรางวัลมามากมาย มาเจาะลึกเรื่องราวความเป็นมาของพี่แบงค์ตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน
เรียนวิศวกรรมศาสตร์เพื่อต่อยอดสู่การเป็นนักบิน
ตอนเด็กพี่มีความฝันที่จะเป็นนักบิน ทางบ้านค่อนข้างปล่อยคือสนับสนุนเต็มที่ว่าเราอยากไปทางไหนอยู่ที่เรา ไม่ได้ตีกรอบว่าเราควรจะทำอะไร หรือว่าทำเหมือนกับคนอื่น ทุกคนมีความฝัน สำหรับพี่คือการเป็นนักบิน ซึ่งเราจำเป็นต้องมีความรู้ด้านวิศวกรรม เพื่อจะไปสอบการบิน เพราะตอนแรกก็คือพี่สอบติดการบิน แต่ว่าเงินที่ใช้เรียนค่อนข้างเยอะ เราก็เอาเป็นว่ามาเรียนวิศวกรรมก่อน แล้วค่อยกลับไปสอบใหม่อีกรอบ
การเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าในยุคนี้ตอบโจทย์ที่ว่าวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เราสามารถทำได้ทุกอย่าง คือหมายถึงว่าทั้งเขียนโปรแกรมถึงแม้ว่าจะเป็นวิศวกรรมไฟฟ้า เราก็เรียนรู้โปรแกรมเกี่ยวกับ IOT หรือ Internet of Thing ดึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ได้ เรียนรู้เชื่อมโยงกันเพื่อให้เราทำงานเป็น วิศวกรรมไฟฟ้าที่เราได้เรียนรู้ได้ฝึกกระบวนการคิด การวางแผนอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการลงมือทำจริง
โดยเฉพาะเรื่องการเขียนโปรแกรม การใช้งานหุ่นยนต์ ระบบในการควบคุมหุ่นยนตร์ เพราะว่าเราไม่ได้เรียนไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เราเอาอย่างอื่นเข้ามาช่วยเพื่อให้เป็นความสามารถพิเศษของเรา เป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่เราเรียนรู้เพิ่มเติม พี่เป็นคนชอบเรียนรู้ สมมุติว่า ระบบหรืออุปกรณ์ทำงานแล้วมันเป็นแสดงผลออกมา เราก็ค้นคว้าลงลึกเพราะอยากรู้ว่าจริง ๆ แล้วมันทำงานอย่างไร สื่อสารกันอย่างไรข้างใน อยากรู้ว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาทำงานอย่างไร ทั้งตั้งคำถามและหาคำตอบเอง
การวางแผนเรื่องเวลากับการทำโปรเจค
การเรียนในช่วงนี้ก็ไม่หนัก เพราะว่ามีเรียนแค่สองวันแล้วก็มีโปรเจคจบที่ต้องทำอีก คือจะว่าง 4 – 5 วัน จึงทำโปรเจคอย่างเดียว ตอนนี้การไปแข่งขันกับโปรเจคเป็นอันเดียวกันไปแล้ว คือเราทำอะไรก็ได้สองอย่าง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแบ่งเวลาคือทีม ก็คือเราต้องแบ่งว่าหน้าที่ของแต่ละคนแล้วพอมีตารางเวลาว่าถ้าทำถึงวันนี้เราจะรับเท่าไหร่ ทุกครั้งก่อนที่เราทำงานเราจะคุยกันว่าวันนี้เราจะมีเป้าหมายอะไร พอทำเสร็จเราจะมาดูกันใหม่ว่า วันนี้ตามเป้าหมายหรือไม่หรือต้องปรับอะไรเพิ่มเติมอีก การทำงานจึงต้องมีการวางแผนพอสมควร
ไทโย คือชื่อหุ่นยนต์
ผลงานวิศวกรรมที่ทำออกมามีมินิโปรเจคที่เคยทำ เครื่อง sous vide (ซูวี) และมีงานมิเตอร์ IOT ที่รับค่ากระแสไฟฟ้าที่เราใช้อัพข้อมูลขึ้น database ส่งให้การไฟฟ้า
ส่วนโปรเจคหุ่นยนต์คือช่วงแรก จะเป็นส่วนของหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า ไทโย ที่ทางแล็ปหุ่นยนต์คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพพัฒนาร่วมกับ MK restaurant ตอนพี่ทำพี่ต้องเอาหุ่นยนต์ตัวนี้มาเปลี่ยนระบบการทำงานของหุ่นยนต์ให้เป็นระบบ ROS หรือ Robot Operating System หลังจากนั้นได้มีโอกาสได้ทำหุ่นยนต์ Turtlebot3 Burger ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่เป็นการจำลองการทำงานของ Autonomous driving หลังจากที่ทำมาสักพักก็ได้มีการจัดอบรม Young AI Robotics ให้กับโรงเรียนมัธยม 10 โรงเรียน
เมื่อเสร็จโครงการทางบริษัท ROBOTIS ที่เป็นบริษัทที่จัดทำหุ่นยนต์ตัวนี้ขึ้นมา เขาเห็นว่า Bangkok University Robotics Laboratory (BURL) มีความสามารถในการทำหุ่นยนต์ค่อนข้างมาก จึงเชิญไปแข่ง Steam Cup Turtlebot3 Autorace 2020 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ปกติแล้วจะแข่งช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่ตอนนี้ต้องเลื่อนเพราะมีเรื่องของไวรัส covid-19 ทำให้เลื่อนไปแข่งช่วงต้นสิงหาคม เป็นการแข่งหุ่นยนต์ที่ประเภทไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษา โดยเขาจะเชิญตัวแทนแต่ละประเทศที่เป็นพาร์ทเนอร์เข้าแข่งขัน ROBOTIS จัดแข่งขึ้นทุกปี
ตำแหน่งในทีมของพี่คือ Programmer ซึ่งการแข่งตัวนี้เป็นโปรเจคจบของตัวเองด้วย จากตัวบริษัท ROBOTIC ที่เขาทำหุ่นยนตร์สำหรับแข่งขันระดับอุดมศึกษา จึงจะฟอร์มทีมกับเพื่อนทำหุ่นยนต์เอาไปแข่งที่เกาหลี แต่ตอนนี้คือปกติแล้วพี่ต้องเดินทางช่วงนี้ แต่ต้องเลื่อนเพราะว่า covid-19 คงต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลายก่อน
แรงบันดาลใจกับผลงานที่ภูมิใจที่สุด
แรงบันดาลใจของพี่ก็เหมือนกับความฝัน คือพี่ต้องการใช้ความรู้เป็นทุนให้มากที่สุด เพื่อที่จะเป็นนักบิน ผลงานที่ภูมิใจที่สุดของพี่คงจะเป็น Turtlebot 3X ที่จะใช้ไปแข่งที่เกาหลี เพราะทำในนามของตัวแทนประเทศไทย
ส่วนเรื่องรางวัลนักเรียนดีเด่น พี่ได้รางวัลครั้งแรกตั้งแต่ปีหนึ่ง เป็นตำแหน่งดีเด่นที่ได้มาจากการวัดจากผลการเรียนของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ส่งเข้าไปที่ตัวแทนของวิศวกรรมสถาน เขาจะคัดเลือกตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ของเรา ปรากฏว่าประกาศผลออกมาเราได้รับตำแหน่ง เป็นหนึ่งใน 39 คน จากทั่วประเทศ
นอกจากนี้รางวัลที่เคยได้รับ ก็จะมีทุนบุญจินดา เป็นทุนของสมาคมตำรวจสองครั้ง แล้วก็จะมีรางวัลเรียนดียอดเยี่ยมสามครั้ง เป็นรางวัลเรียนดีด้านวิศวกรรมศาสตร์ของมูลนิธิด็อกเตอร์แถบ นิละนิธิของจุฬา และได้รับทุนหุ่นยนต์ที่เข้ามาศึกษาที่ได้รับตอนที่เข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
อุปสรรคที่เจอ
ถ้าเป็นอุปสรรคด้านการเรียนไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นการประดิษฐ์หุ่นยนต์มีเยอะพอสมควร เพราะเราเรียนไฟฟ้าแล้วถ้าเราจะศึกษาหุ่นยนต์ เราต้องศึกษาด้วยตัวเองเพราะว่าที่แล็ปเราเน้นตรงที่ว่าเขาให้โจทย์มาแล้ว เราต้องไปศึกษาว่าเราควรจะทำอย่างไร อาจารย์จะคอยเป็นโค้ชให้คำแนะนำตลอด ที่ทำอยู่ก็คืออยากเอาตัวโรบอทไปรวมกับมัลติมีเดีย ทำ UI ให้คนใช้งานได้ง่ายขึ้น เพราะปกติแล้วหุ่นยนต์แต่ละตัวที่เราทำขึ้นมาต้องเป็นการพิมพ์โค้ดภาษา C เป็นเรื่องที่ท้าทายและสนุกที่จะเรียนรู้
การเรียนรู้ทำให้เราเติบโต
พี่อยากให้ทุกคนตั้งใจเรียนรู้ให้มาก ๆ เป็นสี่ปีสุดท้าย ก่อนที่เราจะไปทำงาน ยิ่งเราเก็บประสบการณ์ได้มากเท่าไหร่ การออกไปทำงานก็จะมีข้อได้เปรียบ ยิ่งเราพัฒนาตนเอง เราจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ยิ่งเรามีความสามารถสูงก็ยิ่งมีโอกาสในการเติบโตมากขึ้น
เรื่องราวของพี่แบงค์ หนุ่มวิศวะทำให้เห็นว่าเส้นทางของความสำเร็จในแต่ละเรื่องไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ทั้งความพยายาม มุมานะ ตั้งใจจริง และไม่ยอมแพ้ และจริงอย่างที่เขาพูดกันว่า พรแสวงสำคัญกว่าพรสวรรค์ นี่คือเรื่องจริง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากพี่แบงค์-จารุวัฒน์ ด้วงนิล นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ