BU Restaurant บริการด้วยรักและใส่ใจ

เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงกับ BU Restaurant ภัตตาคารสไตล์ Fine Dining Restaurant ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            BU Restaurant Fine dining restaurant ที่เปิดมาอย่างยาวนาน บริหารจัดการโดยนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง BU Restaurant เสิร์ฟอาหารฟูลคอร์สตามยุคสมัยใหม่ระดับภัตตาคาร

            เราขอชวนทุกท่านมาลิ้มรสความอร่อยแบบมืออาชีพ ในนาม BU Restaurant ที่มีผู้อยู่เบื้องหลังคือ อาจารย์พันธ์เทพ ทอเพ็งภูมาลัย อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

อาจารย์พันธ์เทพ ทอเพ็งภูมาลัย อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เปิดร้านจัดโต๊ะ BU Restaurant 

            ก่อนที่จะมาเป็น BU Restaurant ที่บริหารและให้บริการโดยนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว เราขอพาไปรู้จักกับประวัติคณะมนุษยศาสตร์ (ชื่อเดิม) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2524 ยกระดับขึ้นมาจากแผนกภาษาอังกฤษและแผนกศิลปศาสตร์ จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556

            BU Restaurant เดิมใช้ชื่อว่า Skyline เป็นร้านอาหารแบบภัตตาคารที่บริหารจัดการโดยนักศึกษา ให้บริการอยู่ที่ชั้น 9 อาคารเจริญ คันธวงศ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยากล้วยน้ำไท (City Campus) จนกระทั่งมีการย้ายวิทยาเขตมาที่รังสิต เมื่อปี พ.ศ.2548 จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น BU Restaurant รวมระยะเวลาประมาณ 30 กว่าปีแล้วที่ได้เปิดให้บริการ

การให้บริการของ BU Restaurant 

            อาจารย์พันธ์เทพ เล่าให้ฟังว่า “ร้านเปิดให้บริการในรูปแบบ Set Menu เราจะถือว่าเป็นการบริการในรูปแบบ Fine dining คือมีการบริการที่เสิร์ฟเป็นคอร์ส แล้วแต่ว่าช่วงเทอมนั้นเราจะจัดเซ็ทอย่างไรบ้าง และมีการบริการอย่างเต็มรูปแบบในทุกขั้นตอน”

            เราขอขยายความเพิ่มเติมคำว่า Fine Dining หมายถึงร้านอาหารที่ให้บริการอาหารที่มีคุณภาพ ใช้วัตถุดิบอย่างดี ให้บริการอย่างมืออาชีพ บรรยากาศในร้านตกแต่งอย่างสวยงาม มีความเป็นทางการ มีพนักงานให้บริการทุกขั้นตอน BU Restaurant ก็เช่นเดียวกัน ทุกรายละเอียด ทั้งการทำอาหารและให้บริการ นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงโดยมีอาจารย์ผู้สอนเป็น Coach คอยดูแล และให้คำแนะนำ

เมนูอาหารที่บริการด้วยความรักและใส่ใจ

            เราสังเกตภายในร้านที่จัดตกแต่งไว้อย่างสวยงาม รวมทั้งหน้าตาของอาหารที่น่าทานมาก อาจารย์พันธ์เทพ เล่าให้เราฟังต่อว่า “การปรุงอาหารด้วยความใส่ใจก็เปรียบเสมือนความรัก ต้องรู้จักปรับปรุงรสชาติให้กลมกล่อมถึงจะได้กลายเป็นความรักที่หอมหวานดั่งอาหารในแต่ละเมนู ซึ่งเมนูจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ในปกติแล้วในสัปดาห์แรกจะมีเมนูของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้อยู่แล้ว กำหนดไว้ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นอีก 3 สัปดาห์ จะเป็นเมนูของนักศึกษา”

เรียนรู้และปฏิบัติจริง

            อาจารย์พันธ์เทพ ได้อธิบายถึงการทำงานของ BU Restaurant ซึ่งอยู่ภายในวิชา HM351 Restaurant Management ว่า “นักศึกษา 1 Section แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย 1 Section ใหญ่จะมีนักศึกษา 40 คน เราจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน ส่วนหนึ่งก็จะอยู่ในส่วนครัว (Kitchen) อีกส่วนจะทำหน้าที่ต้อนรับอยู่ประจำด้านหน้าร้าน เป็นการให้บริการ (Service) มหาวิทยาลัยจะมีเมนูให้นักศึกษาทำตามที่กำหนดไว้ แต่ขณะเดียวกันนักศึกษาก็ต้องเรียนรู้ที่จะคิดเมนูด้วยตนเอง เพื่อจะขายในร้านเป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา HM351 Restaurant Management”

อาหารที่มีคุณภาพ ต้องมาจากวัตถุดิบที่ดี

            การทำร้านอาหารสิ่งสำคัญที่ต้องเลือกสรรคือ “คุณภาพของวัตถุดิบ” อาจารย์พันธ์เทพ ถ่ายทอดความรู้ให้เราฟังว่า “นักศึกษาต้องทำการหาวัตถุดิบ เพราะฉะนั้นในสกิลด้านนี้ เราต้องเสริมสร้าง เพราะเขาต้องไปหาวัตถุดิบต่าง ๆ ด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่เพียงแค่ตัวนักศึกษาจะต้องทำอาหารอย่างเดียว เขาจะต้องหาวัตถุดิบมาเองด้วย แต่ทางเราจะจัดไว้ให้ด้วยส่วนหนึ่ง เช่น วัตถุดิบที่เป็นพวกเครื่องปรุงหรือ seasoning คือพวกซอส น้ำตาล วัตถุดิบหลักที่ใช้ร่วมกันได้ในทุกเซคชั่น เราก็จะมีส่วนกลางที่จัดเตรียมไว้ให้ แต่ที่เหลืออาจจะเป็นตัวปลาแซลมอน เส้นสปาเก็ตตี้หรือว่าจะเป็นใบโรสแมรี่ที่เป็นวัตถุดิบเฉพาะเหล่านี้นักศึกษาจะต้องออกไปเลือกซื้อเอง แล้วต้องสอนตั้งแต่กระบวนการว่าจะต้องคัดสรรวัตถุดิบอย่างไร ต้องไปเลือกซื้อที่ไหนเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด และนำมาใช้ในการประกอบอาหารขายที่ร้าน”

ครบวงจรเรื่องการบริหาร BU Restaurant 

            การเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงกับ BU Restaurant นักศึกษาจะได้ความรู้ด้านการเงินไปพร้อมกันด้วย เพราะมีการเปิดให้บริการจริง ได้รายได้เข้ามา อาจารย์พันธ์เทพ ได้ไขข้อสงสัยให้เราในเรื่องรายได้ว่า “จากการที่นักศึกษาได้มีการทำอาหารให้กับบุคคลที่เข้ามารับประทานอาหารใน BU Restaurant มีรายได้ที่เข้ามา มหาวิทยาลัยเราจะมีงบประมาณ (Budget) ให้ก้อนหนึ่ง ซึ่งก้อนตรงนี้ให้เขาบริหารจัดการภายใน Section ก็คือในวันที่เปิด 1 วันก็คือ 1 Section เขาก็ต้องบริหารกัน พอสิ้นสุดวันจะต้องทำบัญชี ปิดงบให้เรียบร้อย เพื่อให้ได้ต้นทุนคืน ส่วนของกำไรเราแยกออกไว้แล้ว และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เราก็จัดสรรในด้านของบัญชี ตรงด้านนี้นอกจากการซื้อของแล้ว ยังมีด้านของบัญชีเข้ามาเกี่ยวด้วย ที่สำคัญนักศึกษาจะได้เรียนรู้ในเรื่องของ Marketing ด้วย ด้านการโปรโมทต่าง ๆ” เรียกได้ว่าเรียนรู้ครบถ้วนและรอบด้านของการเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร

            “กำไรก็จะแบ่งปันส่วน แบ่งให้ทางมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่ง เป็นค่าใช้จ่าย Maintenance แล้วก็ให้นักศึกษาอีกส่วนหนึ่ง จริง ๆ กำไรที่ได้มา เด็ก ๆ ก็จะเอามาใช้ในการจัดธีม Final ซึ่งเขาจะได้ไม่ต้องออกเงินกันเอง เหมือนเป็นการบริหารจัดการภายในว่า ถ้าเกิดคุณทำกำไร (Profit) ค่อนข้างสูง การแบ่งสรรปันส่วนก็จะแบ่งออกไปว่ามหาวิทยาลัยได้ส่วนหนึ่ง เด็กได้อีกส่วนหนึ่ง เขาก็จะมีเงินเก็บไว้ใช้ภายในร้านเยอะมากขึ้น” อาจารย์พันธ์เทพอธิบายรายละเอียด

หัวใจสำคัญของ BU Restaurant

            สิ่งที่นักศึกษาทุกคนต้องมีและเป็นสิ่งที่สำคัญคือการทำงานเป็นทีม อาจารย์พันธ์เทพบอกกับเราถึงเคล็ดลับความสำเร็จว่า “ความสำคัญอันดับแรก ก็ต้องการทำงานเป็นทีม คือต้องมีความเป็นหนึ่ง ถัดไปคือด้านคุณภาพ (Quality) ต้องให้ได้คุณภาพตาม Standard เพราะว่าเราจัดบริการแบบ Fine dining คือการบริการที่เป็นรูปแบบเป็น Full service เพราะฉะนั้นก็จะเทียบเท่ากับโรงแรมระดับ 5 ดาว บางคนเข้ามาอาจจะเข้ามารู้สึกว่ามีรายละเอียดมากมาย ซึ่งต้องเข้าใจว่าเป็นหลักทฤษฎีสำคัญที่เอาไว้ใช้สอน นอกจากนี้จะมีในส่วนของความสามัคคีของทีม ด้าน Marketing ก็สำคัญ และที่สำคัญด้านคุณภาพของอาหารรสชาติอาหารก็ต้องดีด้วย”

Let’s eat at BU Restaurant

            หลายคนอาจสงสัยว่านักศึกษาหรือบุคคลภายนอกจะสามารถเข้ามารับประทานอาหารที่ BU Restaurant  ได้หรือไม่ อาจารย์พันธ์เทพให้ข้อมูลว่า “เราเปิดรับทุกคน ในแต่ละวันถ้าหากสังเกตก็จะมีลูกค้าจากภายนอก ซึ่งเป็นผู้ปกครองของนักศึกษา เพราะรู้สึกว่าอยากจะเข้ามาทาน พอเข้ามาทานแล้วก็จะได้ดูฝีมือของลูกหลานด้วย เด็ก ๆ ที่อยู่ในครัว เขาได้โชว์ฝีมือการทำอาหารให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็น ขณะที่ส่วนด้านหน้าที่เป็น Service หรือด้านบริการ เด็ก ๆ ก็ได้โชว์สกิลการบริการ การเสิร์ฟอาหารที่เป็น Professional การทำเครื่องดื่มอยู่ส่วนของม็อกเทล และการฝึกฝนการบริหารจัดการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ด้วยตัวของเขาเอง” จากที่เราได้ฟังมาถึงตรงนี้เป็นการเรียนรู้ด้านการจัดการภัตตาคารที่ครบถ้วน รอบด้าน และลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน

            การเรียนรู้ที่ได้เรียนทั้งทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริง นักศึกษาได้เรียนรู้การบริหารจัดการภัตตาคาร (Restaurant Management) อย่างครบถ้วน เป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning และ Project-based Learning สนุกและท้าทายไปพร้อมกัน ที่สำคัญคือฝึกฝนเรื่องการทำงานเป็นทีม เรียนรู้การแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านอีกด้วย เราขอสนับสนุนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Learning by doing) และขอเชิญชวนเพื่อนทุกคนลองไปรับประทานอาหารที่ BU Restaurant กันนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก BU Restaurant ต้องการลิ้มรสอาหารอร่อยระดับภัตตาคาร ติดต่อ BU Restaurant ได้ที่โทร.02-407-3888 ต่อเบอร์ 2484 Facebook Fanpage BU Restaurant  

Writer

หนุ่มบางปะกง ตาหวาน ผิวขาว จัดฟัน จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักแสดง เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคน และชื่นชอบการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

Writer

ชายหนุ่มผู้มีความใฝ่ฝันในการเป็นนักพากย์ไม่ว่าจะเป็น หนัง ซีรี่ย์ ละคร หรือแม้กระทั่งโฆษณา ชื่นชอบการอ่านนิยายและการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ แต่ถ้าวันไหนว่าง ๆ ไม่มีอะไรก็จะนั่งเล่นเกมไปทั้งวัน

Writer

คติประจำใจ “The future depends on what we do in the present.” - Mahatma Gandhi

Writer

อย่ายอมแพ้กับเรื่องที่ยังมาไม่ถึง

Writer

คติประจำใจ ความพยายามคร้ังที่ 100 ดีกว่าคิดท้อถอยก่อนที่จะทำ

Writer

สิ่งสำคัญกว่าความขยันคือการเชื่อมั่นในตัวเอง

Writer

คติประจำใจ “There are no mistakes, no coincidences. All events are blessings given to us to learn from.” - Elizabeth Kubler-Ross, M.D.

Writer

รักในการแสดงและกิจกรรม คอยสะสมประสบการณ์ เพื่อให้ไปถึงความสำเร็จในอนาคต

Photographer

สาวเรียบร้อย ยิ้มง่าย เเต่เพรียบพร้อมไปด้วยความกล้าที่จะลงมือในการทำงาน

Photographer

อย่าไปเสียใจกับอดีตเก็บไว้เป็นข้อผิดพลาดแล้วนำมันมาปรับปรุง