ในชั่วโมงนี้ เรื่องฮ็อตมาแรงเห็นจะหนีไม่พ้น “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy ซึ่งใครรับเอาแนวคิดนี้ไปใช้เรียกได้ว่าทันยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์แนวรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
ว่าแต่ว่า แนวคิดนี้มีอะไรโดดเด่นบ้าง ? แล้วมันไปเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ? คงต้องให้หนึ่งในผู้นำเทรนด์ด้านนี้ ได้แก่ อาจารย์เต้ย-อาจารย์อาชวิชญ์ กฤษณสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาช่วยไขข้อสงสัย
ฤกษ์งามยามดีแล้ว เรามาคุยกับ “อาจารย์พี่เต้ย” ในเรื่องสุดคูลเหล่านี้กัน
รู้จักศัพท์ใหม่ Circular Economy
สำหรับคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แนวคิดที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นแนวคิดที่อ.เต้ยสนใจ หนึ่งในนั้นคือแนวคิดใหม่ที่มีชื่อว่า Circular Economy หากแปลกันตรง ๆ เป็นภาษาไทยเรียกว่า “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน”
อ.เต้ยขยายความให้เราฟังว่า “Circular Economy คือการใช้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม นำกลับมาใช้ใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม”
ทุกคนคงสงสัยแล้วว่า มีความแตกต่างจาก Recycle ที่เราคุ้นเคยกันอย่างไร
“Circular Economy จะมีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวด้วย โดยนำของเหล่านั้นมาแปรรูปเป็น Product เป็นสิ่งของหรือสินค้า ทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มมากขึ้น นำของที่เราคิดว่าไม่มีประโยชน์มาทำให้เกิดคุณค่าและนำรายได้ไปสนับสนุนเป็นทุนอาหารกลางวัน เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมและสังคม เกิดเส้นทางให้คนเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีจิตสำนึกที่ดี”
Passion การทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
หากคนที่ได้ติดตามเฟสบุ้คของอ.เต้ย จะพบว่าหน้าฟีดส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมของอ.เต้ยเริ่มมาจากการได้มีประสบการณ์เข้าไปทำงานเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
“สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของชีวิตคนที่ต้องให้ความสำคัญและขับเคลื่อน เราได้ทุนวิจัยจากสกว. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป้าหมายของทุนนี้เพื่อค้นหาเยาวชนรุ่นใหม่เป็นตัวแทนประเทศเพื่อพูดคุยถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในเวทีระดับโลก”
“เราเห็นประเทศอื่น ๆ ส่งตัวแทนเยาวชนไปร่วมประชุม แต่ว่าประเทศไทยยังไม่มี จึงทำให้เกิดโครงการทุนวิจัยนี้ขึ้นมา พอเราลงไปทำ มันทำให้เราได้เห็นถึงปัญหาระดับโลก สื่อต่างประเทศก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เราสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเริ่มที่ตัวเราก่อน อย่างเช่นการลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเรามองว่าเป็นโครงการที่ควรขับเคลื่อนในระดับมหาลัยวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยในการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม มันทำเราให้เกิด Passion เกิดความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
Circular Living: ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ให้ใส่ใจรักสิ่งแวดล้อม
โลกที่เต็มไปด้วยวัตถุสิ่งของที่ใช้เพียงไม่นานก็แปรเปลี่ยนมาเป็นขยะ ทำอย่างไรจึงจะสร้างไลฟ์สไตล์ที่ลดปริมาณขยะ ใช้สิ่งของอย่างรู้คุณค่า Circular Living จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะขับเคลื่อนภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มุ่งเน้นให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
อ.เต้ยเล่าให้เราฟังว่า “โครงการที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ตอนนี้ ทำร่วมกับรองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ คือ อาจารย์น้อย-อาจารย์สุนทรี ผลวิวัฒน์ เราเรียกว่า Circular Living เป็นการขับเคลื่อนในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิต เราตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้นักศึกษา บุคลากร เห็นว่าขยะที่อยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น มันสามารถแปรรูปเป็นสิ่งของได้ หรือว่าการคัดแยกขยะมันเป็นผลดีอย่างไร เพราะแท้จริงแล้ว มันไม่ใช่ขยะที่ไม่มูลค่า แต่มันสามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย เราก็เริ่มลงมือที่จะให้ความรู้แก่ทุกคนในเรื่องนี้”
นอกจากโครงการภายในมหาวิทยาลัยแล้ว กิจกรรมที่ “อ.เต้ย” ทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีคือ “กลุ่มเสื้อดำธรรมดี” เป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกไปธรรมดี ทำกิจกรรมเพื่อสังคม
“เสื้อดำธรรมดี เป็นโครงการสร้างจิตสำนึกในกับคนรุ่นใหม่ ทำให้มองเห็นคุณค่าของสังคม มองเห็นผู้คนที่มีความหลายหลาก สิ่งที่ทำให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมคือให้เครือข่ายของเสื้อดำธรรมดีเก็บขยะและนำไปขายเพื่อสมทบทุนให้น้อง ๆ ชาวบ้านบนดอย”
เรื่องราวของขยะจึงเป็นเรื่องราวที่น่าเรียนรู้ อ.เต้ยบอกว่า “ตอนนี้เราก็กำลังพูดคุยกัน เพื่อนำเรื่องราวของขยะมาสร้างเป็น Module หรือหัวข้อการเรียนรู้ เพื่อมาสอนให้นักศึกษารู้จักจัดการขยะ ถ้าเขาได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องขยะ เราก็จะต่อยอดในการสร้างคนที่รักและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น”
เริ่มต้นได้ง่าย ๆ หันมาใช้วัสดุธรรมชาติ
ถ้ามีใครบอกว่าพลาสติกเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยาก ขอบอกเลยว่าเริ่มต้นได้ง่ายมาก เพียงแค่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ที่เคยชิน เตือนตัวเองอยู่เสมอให้ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม
“สิ่งที่ต้องเริ่มเลยคือการลดใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้า พกปิ่นโตเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก พอเรารู้ว่าถุงพลาสติกเป็นปัญหา มันทำให้เราลดการบริโภคขนมคบเคี้ยวไปเลย เราต้องรู้จักวิธีการว่าเราจำเป็นที่จะต้องใช้ถุงพลาสติกหรือเปล่า และจะทำอย่างไรให้ใช้ได้อย่างถูกวิธี”
อ.เต้ยยกตัวอย่างให้เราได้เห็นภาพว่า “พวกถุงแกง กล่องโฟม กล่องอาหาร ถ้าเลอะอาหารแล้วทิ้งเลยโดยไม่ทำความสะอาด มันจะถูกฝังจะไม่ถูกนำไปแปรรูป การแปรรูปคือการป่นรวมกับวัตถุอื่น ๆ หากวัตถุนั้นถูกทิ้งโดยยังคงความมันหรือความสกปรกเลอะเทอะอยู่จะนำมาแปรรูปได้ยาก”
“เพราะฉะนั้นถ้าเรายังคงใช้พลาสติก เราต้องรู้จักคัดแยก ทำความสะอาด เพื่อให้วัตถุนั้นพร้อมที่จะแปรรูป ลองสังเกตดู ซึ่งจริง ๆ มันคือภูมิปัญญาตั้งแต่อดีตมาแล้ว เราเห็นยายเก็บถุงพลาสติกแล้วล้างเก็บไว้ อย่างน้อยก็เก็บไว้ใช้ประโยชน์ต่อได้ มันเป็นเรื่องอดีตที่คนเขาทำกัน แต่ปัจจุบันคนก็ไม่ได้สนใจกัน”
อยากให้แนะนำการเปลี่ยน Lifestyle ของเด็ก BU
สิ่งที่เริ่มต้นได้ให้นึกไว้เสมอว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หาทางลดการใช้พลาสติกลง นำกลับมาใช้ซ้ำจะดีที่สุด อ.เต้ยเน้นย้ำอีกครั้ง “อยากให้พกถุงผ้าแทนถุงพลาสติก เพราะเวลาเดินทางมาเรียนมันผ่านร้านค้าเยอะมาก อย่างน้อยก็เป็นการลดที่ดี”
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ อาจารย์อาชวิชญ์ กฤษณสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ