ชีวิตมนุษย์เหมือนกับการฉายภาพยนตร์ มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด “ชีวิตคือการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน” เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ อ.ปู-อาจารย์ปนิญญา ภักษา รองคณบดีคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิต สิ่งแวดล้อม ภาพยนตร์ และบทบาทใหม่ในฐานะนักวิ่งมาราธอน จะว่าไปทุกอย่างในชีวิตล้วนมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม
Circular Living ชีวิตคือการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน
การพูดคุยของเราเริ่มต้นด้วยประเด็นคำถามที่เกี่ยวโยงกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว Circular Living หรือการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ มีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์อย่างไรบ้าง
อ.ปูตอบเราว่า “ที่จริงการใช้ชีวิตที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมีมานานแล้ว เพราะว่าชีวิตคนเราเกิดขึ้นมา สุดท้ายก็จากโลกนี้ไป ในระยะเวลาที่ขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่ช่วงชีวิตจะยาวนานแค่ไหน แต่ Circular Living นั้นหมายความว่า เรามองไปถึงคุณภาพชีวิตที่เราเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราดำรงอยู่ ณ ขณะนี้ หรือตอนที่เราชราภาพหรือดำเนินไปสู่รุ่นต่อ ๆ ไป เพราะว่าตอนที่เราจากโลกนี้ไป มันไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถทำได้ เพื่อให้หลายอย่าง เป็น Infinity ไม่สิ้นสุด ดำเนินต่อไป มันวนกันเป็นลูป เป็นวัฏฏะของมัน ไม่ใช่ว่ายิ่งใช้ชีวิตไปก็ยิ่งทำให้มันเสื่อม ใช้และกอบโกยทรัพยากรกันมากขึ้นไปเรื่อย ๆ”
ทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกเราตอนนี้ ถ้าเราใช้อย่างไม่รู้คุณค่ามันมีโอกาสที่จะหมดไป การนำเอากลับมาใช้ใหม่คือวิธีการที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากร อ.ปูขยายความให้เราเห็นภาพเพิ่มมากขึ้นว่า “ทรัพยากรหลายอย่างมันมีจำกัด อย่างใกล้ตัวที่สุด คือ น้ำกับอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ เราก็นำมาใช้ซ้ำกัน หมายถึงมีการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนเกิดขึ้น เช่น การเอาน้ำเสียกลับมาบำบัดแล้วใช้ใหม่ บางห้างสรรพสินค้าเราสังเกตว่าในห้องน้ำ เขาก็แปะป้ายบอกไว้ว่า ใช้น้ำเสียซึ่งบำบัดแล้วนำกลับมาเป็นน้ำในโถชำระใหม่ เราก็รู้สึกว่าดีจัง มันเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นเพราะว่าหลายประเทศก็ทำกันมานานแล้ว”
การหมุนเวียนสิ่งของทำให้เราลดปริมาณการเพิ่มขยะได้ อ.ปูเน้นว่าสิ่งเหล่านี้ต้องค่อย ๆ ทำ ในยุคที่ข้อมูลเชื่อมโยงถึงกันหมด เราเห็นชุดข้อมูลเหล่านี้บ่อยก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ นำไปสู่การปฏิบัติ “การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า รู้จักที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ หลายองค์กร หลายบริษัทชั้นนำ หรือแม้แต่สถาบันศึกษาก็ให้ความสนใจ ถือเป็นก้าวสำคัญ เรามองว่าเป็นสิ่งที่ดี ควรปลูกฝังแนวความคิดและแนวปฏิบัติตั้งแต่เด็ก ๆ และเราเองก็ทำกันต่อไปล่ะ ใครที่ทำอยู่แล้วอาจจะเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ ใครที่ยังไม่ได้เริ่มก็จะได้เริ่ม”
หนังกับสิ่งแวดล้อม
การเล่าเรื่องโดยมีประเด็นสิ่งแวดล้อม อ.ปูแสดงความคิดเห็นว่า “หนังส่วนใหญ่ที่มีประเด็นสิ่งแวดล้อมในรูปแบบที่เป็นเรื่องแต่ง (Fiction) คนดูจะสนุกและอินไปกับเรื่องได้มากกว่าสารคดี (Documentary) หนังสารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม บางทีคนดูก็จะรู้สึกว่ามันไม่สนุก คือด้วยคำว่าสารคดี มันดูซีเรียสสำหรับคนดูหนังทั่วไป แต่ว่าถ้าเป็นในรูปแบบของหนังเล่าเรื่อง ก็มีหลายเรื่องที่ดูสนุก เช่น Wall-E ที่พูดถึงหุ่นยนต์จัดการขยะ ทำหน้าที่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางภูเขาขยะสุดลูกหูลูกตา เพราะมนุษย์บริโภคอย่างฟุ่มเฟือย ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนอาศัยบนโลกต่อไปไม่ได้ หรือ March of Penguins (การเดินทางของจักรพรรดิ) อันนี้เป็นภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวที่ดูเพลินมาก ๆ สร้างขึ้นจากชีวิตจริงของเพนกวินจักรพรรดิ ที่ต้องเดินทางไกลยิ่งกว่ามาราธอน ฝ่าฟันความหนาว เพื่อดำเนินชีวิต พบรัก สืบพันธุ์ วางไข่ เลี้ยงลูก ท่ามกลางสภาพอากาศที่ severe สุด ๆ ซึ่งก็คือ ภัยธรรมชาติและปัญหาโลกร้อนที่เราก็กำลังเผชิญกันอยู่ หรืออย่างหนังไทยเรื่องสายน้ำติดเชื้อที่เดี๋ยวเราจะพูดถึงต่อไป”
ถ่ายหนังแบบ Circular Living
คนทำหนังกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมมีความเชื่อมโยงกัน ถ้าพูดถึงกองถ่ายทำภาพยนตร์ ในอดีตหลายคนอาจจะมองว่ากองถ่ายไปที่ไหน ที่นั่นมักจะมีขยะเกิดขึ้นมาก ซึ่งก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดโลกร้อน โดยเฉพาะการใช้โลเคชั่นที่เป็นธรรมชาติหรือพื้นที่สีเขียว “ในอดีตนะคนมักจะมองกันว่าพอกองถ่ายไปที่ไหน ที่นั่นคือทรัพยากรจะถูกใช้ถูกรบกวน รวมไปถึงขวดน้ำดื่มกล่องโฟมที่ใช้แล้วทิ้งก็เกิดขยะ”
“เพราะฉะนั้นปัจจุบันกองถ่ายฯ เองก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ ทั้งการรณรงค์และร่วมกันสร้างแนวปฏิบัติใหม่ ๆ เช่น แนวคิดกองถ่ายไร้พลาสติก การร่วมกันสร้างกฏห้ามนำกล่องโฟมและถุงพลาสติกเข้าบริเวณอุทยานแห่งชาติ หรือจะเป็นเรื่องขวดน้ำใช้ขวดเดียว แต่ละคนก็จะมีขวดน้ำที่เขียนชื่อไว้ คือใช้แก้วน้ำหรือขวดน้ำส่วนตัวแล้วเติมเอา ในส่วนขององค์ประกอบต่าง ๆ ก็ต้องทำให้มันกลับมาเป็นเหมือนเดิม อะไรที่จะไปกระทบกับ resources ที่เกี่ยวข้อง เราก็จะไม่ทำ ก็นำเอาส่วนของ CG หรือกระบวนการ Post-Production เข้ามาแทน”
การวิ่งทำให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ
อ.ปูเป็นคนหนึ่งที่ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง “เราเองก็ใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป ทั้งกินและเที่ยว จนมาถึงจุดหนึ่ง คงเหมือนหลายคน ที่รู้สึกว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างแล้วไม่งั้นแย่แน่ ๆ พอเราได้เริ่มวิ่ง มันรู้สึกอิน มีความสุข ก็ไม่เคยคิดหรอกว่าจะมาไกลขนาดนี้ และแน่นอนการวิ่งทำให้สุขภาพเราโดยรวมดีขึ้น ความคิดมันเบาขึ้น ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เข้ามาทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะตอนเราวิ่งโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ หรือการวิ่งระยะไกล มันต้องต่อสู้กับอุปสรรคที่หนักกว่า สำหรับเราเราว่าการวิ่งมันท้าทายมาก เป็นเกมที่ต้องต่อสู้กับตัวเองล้วน ๆ ไม่ได้แข่งกับใครเลย เพราะเราสร้างกับดักขึ้นมาเอง”
การไปวิ่งทำให้เป็นคนที่ช่างสังเกตสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น “การไปงานวิ่งของเรา เราสังเกตได้ว่า หลายงานลดการใช้กระดาษและพลาสติก นักวิ่งหลายคนพกขวดน้ำหรือเป้น้ำ ซึ่งการถือขวดน้ำวิ่งก็ทำให้การวิ่งไม่ค่อยสะดวกนัก แต่เราก็เข้าใจและช่วยกันมากขึ้น งานวิ่งมาตรฐานบางงานจะแจกขวดน้ำขวดเดียวตลอดงาน จุดเติมน้ำก็ใช้แก้วกระดาษแบบรีไซเคิลได้ง่าย”
งานวิ่งล่าสุดที่อ.ปูได้ไปร่วมคืองานวิ่งที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี “เราได้สัมผัสธรรมชาติ คือชุ่มปอดมาก เรานึกถึงหนังสารคดีเรื่องหนึ่งที่พูดถึงสิ่งแวดล้อมที่ อ.ทองผาภูมิ เรื่องสายน้ำติดเชื้อ เป็นหนังที่ถ่ายทอดชีวิตของคนในหมู่บ้านคลิตี้ ในอำเภอเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่มานาน แต่มีบริษัทเข้ามาตั้งเหมืองและปล่อยน้ำเสียซึ่งมีสารตะกั่วปนเปื้อนในแหล่งน้ำที่เป็นเหมือนสายน้ำแห่งชีวิตของพวกเค้า ผู้คนป่วยและล้มตาย ซึ่งเรานึกภาพออกเพราะเราไปบ่อย การเข้าออกหมู่บ้านเล็ก ๆ ในอำเภอทองผาภูมินั้นค่อนข้างยากและใช้เวลานาน พวกเค้าใช้ชีวิต ต้องจับปลา ดักปลา ผ่านลำน้ำนั้น”
“พื้นที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้านคลิตี้ พอเกิดเหตุปล่อยน้ำเสีย ทำให้สารตะกั่วไปตกค้างในร่างกายของชาวบ้าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในหมู่บ้าน หนังนำเสนอเหมือนไม่ใช่หนังสารคดี เพราะมีตัวละครจริงมาเล่น ไม่ได้มีคนมานั่งพูด เป็นเรื่องจริงที่มีการฟ้องร้องและต่อสู้เป็นเวลากว่า 14 ปี สุดท้ายชาวบ้านต่อสู้จนโรงงานปิดตัวไป เป็นหนังพูดถึงคนเล็กในป่าใหญ่ ซึ่งต่างจากคนเมืองที่ใช้ทรัพยากรกันอย่างฟุ่มเฟือย บางทีเราเองอาจต้องสัมผัสถึงความลำบาก เพื่อที่เราจะได้รักษาอะไรไว้บ้าง…”
ปั่นจักรยานช่วยลดมลพิษ
นอกจากการวิ่งแล้ว การปั่นจักรยานก็เป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ “จักรยานเป็นการออกกำลังกายที่นำพาเราจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง การซื้อของเล็ก ๆ เราไปด้วยจักรยาน มันเป็นพาหนะที่ไร้มลพิษ (Zero Pollution) เป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ แต่สิ่งที่ทำให้เราขี่จักรยานได้ไม่ค่อยสะดวกนัก คือการจราจรบ้านเราแม้จะมีทางจักรยานอยู่บ้าง (Bicycle Lane) แต่ก็ค่อนข้างน้อย ที่จริงเราอยากปั่นจักรยานมาทำงานนะ แต่มันเสี่ยงเกินไป ที่บ้านไม่อนุมัติ 555 วันหยุดเราจึงใช้จักรยานในการเดินทางระยะใกล้แทน ปั่นจักรยานก็เหมือนกับการได้ไปเที่ยวนั่นล่ะ เราจะใกล้ชิดกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจากการปั่นจักรยาน”
เด็กรุ่นใหม่กับการจูงใจให้รักษาสิ่งแวดล้อม
อ.ปูสังเกตว่า เด็กรุ่นใหม่ก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพียงแต่อาจจะมีวิธีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัยของเขา “การใช้ถุงพลาสติก กล่องโฟม สิ่งเหล่านี้เราต้องรู้จักปฏิเสธบ้าง พอปฏิเสธบ่อย ๆ ก็กลายเป็นนิสัย ก็จะชิน อาจจะเริ่มต้นจากเรื่องการพกขวดน้ำ แก้วน้ำ ใช้ถุงผ้า เด็กรุ่นใหม่จะไวในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ อย่างการใช้กระเป๋าแบรนด์ลดโลกร้อน ก็เป็นได้ทั้งแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของเขา”
“ส่วนเด็กฟิล์มที่นี่ เราก็ย้ำกันเสมอคือเรื่องการออกกองถ่ายทำหนัง ต้องไม่ไปทำลายสิ่งที่มีอยู่ ทำอย่างไรเราจะมีส่วนช่วยรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ เราไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งเราจะได้กลับไปอยู่สถานที่เหล่านั้นหรือไม่ในรูปแบบไหน เราก็อยากจะเห็นพื้นที่เหล่านั้น เห็นธรรมชาติมันอยู่คงเดิม หรือสวยงามแบบที่เคยเห็น เพราะฉะนั้นก่อนเราจะออกมาจากพื้นที่ เราต้องทำให้เหมือนกับเป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าไป หรือทำให้สะอาดและดีกว่าเดิม”
เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพียงเราเข้าใจถึงการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน การนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำในขอบเขตที่ทำได้ จะทำให้เรารักษาธรรมชาติไว้ได้ไม่มากก็น้อย เพียงแค่เริ่มต้นปฏิบัติกับสิ่งเล็ก ๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราจะได้อยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย