ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ในช่วงฤดูร้อน ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง มีกลุ่มของเด็กประถมปลายประมาณสี่ถึงห้าคน พร้อมกับผู้ปกครองของพวกเขากำลังนั่งรออะไรบางอย่าง ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้น เราไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ฝ่ามือค่อนข้างชุ่มไปด้วยเหงื่อ เริ่มกวาดสายตามองไปรอบ ๆ บริเวณของโรงเรียนที่เราไม่คุ้นเคย เมื่อพิจารณาดูแล้วโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ไม่มีตึกเรียนสูงแบบโรงเรียนอื่น ๆ ที่เราเคยเรียน การออกแบบดูแปลกตา แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกที่อบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก
รู้สึกตัวอีกทีคุณครูก็ได้เรียกตัวเข้าไปในห้องเรียน เรากำลังจะเริ่มการทดสอบ คุณครูท่าทางใจดี บอกให้ทุกคนวาดรูปบ้านในจินตนาการของตัวเองลงในกระดาษที่ให้มา หลังจากได้ยินคำสั่ง ทุกคนก็เริ่มใช้สมาธิ และบรรจงวาดภาพบ้านในจินตนาการของตัวเองออกมา
หลังจากการทดสอบแรกผ่านไป ทุกคนค่อย ๆ ทยอยออกไปที่สนามหญ้ากลางแจ้ง ที่สนามนั้น มีไม้ไผ่ยาวท่อนหนึ่งวางพาดไว้ บนขอนไม้ที่รองอยู่ทั้งสองข้าง คุณครูก็ได้เริ่มสาธิตการทดสอบในขั้นต่อไป คุณครูค่อย ๆ ก้าวขึ้นไปบนขอนไม้นั้นและเดินทรงตัวบนไม้ไผ่ลำยาวมุ่งหน้าไปยังขอนไม้อีกฝั่งหนึ่ง เด็ก ๆ ปฏิบัติตามที่คุณครูได้สาธิตให้ดูและทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี แต่ในความคิดของผู้เขียน ณ ตอนนั้นกลับเต็มไปด้วยความสงสัย และคำถามมากมาย ว่านี่คือ จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเรียนโรงเรียนแนวทางวอลดอร์ฟหรือ ?
การศึกษาแนวทางของวอลดอร์ฟได้เริ่มต้นขึ้น โดยนักปรัชญาและนักการศึกษาชาวออสเตรีย “รูดอล์ฟ สไตเนอร์” ที่ได้ก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกขึ้นที่ประเทศเยอรมนี การศึกษาในแนววอลดอร์ฟนั้นมีความแตกต่างจากการศึกษาในระบบทั่วไปที่จะมุ่งเน้นการบ่มเพาะความเป็นมนุษย์ ปลุกศักยภาพของผู้เรียนให้มีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ โดยการศึกษาแบบวอดอล์ฟนั้นมีแนวคิดหลักที่ว่าการศึกษาไม่ใช่เพียงการสอนหนังสือหรือการให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้เรียนเท่านั้น แต่จะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้บรรลุศักยภาพสูงสุดเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างสรรค์รู้จักตนเอง รู้จักโลก และสามารถกำหนดแนวทางชีวิตของตนได้อย่างอิสระตามศักยภาพที่มี
โดยกระบวนการในการสอนของการศึกษาแนววอลดอร์ฟ จะกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เกิดการพัฒนาผ่านจินตนาการของตนเอง ดังนั้น โรงเรียนจึงไม่สนับสนุนและสั่งห้ามการใช้และการเรียนรู้ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กปฐมวัย เพราะสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นสื่อสำเร็จรูป ที่อาจมีผลต่อการเสริมสร้างจินตนาการและประสบการณ์ (NONTSTER,2552)
ผู้เขียนได้เริ่มเข้าศึกษาในโรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกของประเทศไทยเมื่อกำลังเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิตเด็กประถมคนหนึ่ง แน่นอนว่าในช่วงแรกของการเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนวอลดอร์ฟนั้นคือการปรับตัว การไปโรงเรียนนี้ไม่ต้องใส่ยูนิฟอร์ม ห้องเรียนไม่ติดแอร์แต่จะเปิดหน้าต่างรับอากาศธรรมชาติ ในทุกเช้าเราจะต้องออกไปทำงานอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก รดน้ำต้นไม้ ถอนวัชพืช เมื่อทำเสร็จแล้วก็กลับเข้ามาที่ห้องเรียนเพื่อซ้อมดนตรีสากลตามเครื่องเล่นที่ทุกคนเลือกเรียน
ในทุกวันเราจะมีพิธีกรรม ที่นักเรียนหนึ่งคนจะได้เป็นคนนำจุดเทียนที่หน้าห้องและท่องบทกลอนไปพร้อม ๆ กันกับเพื่อน เพื่อเป็นการเริ่มต้นการเรียน
รูปแบบการเรียนที่โรงเรียนวอลดอร์ฟก็แตกต่างจากโรงเรียนในระบบที่ผู้เขียนเคยเรียน อยู่ที่นี่เราจะได้อยู่กับครูประจำชั้นคนเดิมตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เมื่อขึ้นระดับ High School (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-6) แล้วก็จะไม่มีครูประจำชั้น โดยเราจะเรียนวิชาหลักหนึ่งวิชา เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ หรือประวัติศาสตร์ ในตอนเช้าซึ่งใช้เวลาสามถึงสี่สัปดาห์โดยประมาณ แล้วจึงเปลี่ยนวิชาใหม่ การเรียนในเนื้อหาทางวิชาการต่าง ๆ ที่เราได้เรียนนั้น จะไม่ใช่เพียงแค่การนั่งฟังบรรยาย จดบันทึก แล้วกลับไปทำการบ้าน แต่การทำความเข้าใจในหัวข้อที่เรียนครูผู้สอนจะให้เราฝึกตั้งคำถามในการคิดวิเคราะห์ว่าทำไมทฤษฎีต่าง ๆ ถึงเป็นอย่างนั้นได้ แล้วก็จะให้ใช้เวลาได้ถกเถียงกันกับเพื่อนร่วมห้อง แลกเปลี่ยนไอเดียหรือความคิดเห็นกันอย่างอิสระโดยอยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผล ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อความรู้จากตำราหรือสิ่งที่ครูบอกอย่างง่าย ๆ
หลังจากจบวิชาหลักก็จะเรียนตามตารางเรียนวิชาอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน พละ ศิลปะ ปั้นดิน หัตถกรรม หรืองานไม้ ที่จะมีแค่สี่คาบต่อวันเท่านั้น การเรียนในวิชาด้านหัตถกรรมต่าง ๆ เป็นการเรียนรู้ให้เราได้รู้จักการลงมือทำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่จะต้องทำผลงานให้มีความคืบหน้า และสำเร็จเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมตามเวลาที่กำหนดให้ได้
นอกเหนือจากการเรียนในวิชาทั่วไปแล้ว กิจกรรมที่โดดเด่นมาก ๆ ที่นักเรียนวอลดอร์ฟต้องได้มีประสบการณ์คือ การออกทริป ในทุกปีเราจะได้มีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดไว้ให้ เช่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็จะต้องไปเดินป่าและฝึกทำอาหารในสถานที่นั้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ต้องออกทริปปั่นจักรยานทางไกล เช่นเดียวกับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็จะต้องออกทริปไปเล่นเรือใบที่สัตหีบ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะเป็นการออกต่างจังหวัดเพื่อไปฝึกงานด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์
สมัยของผู้เขียนได้ไปฝึกทำน้ำตาลมะพร้าวที่จังหวัดสมุทรสงครามและไปทำฟาร์มม้า ที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยไปอยู่บ้านโฮสต์ที่เป็นชาวบ้านในท้องถิ่น พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จะได้เรียนเรื่องการสำรวจและทำแผนที่ เมื่อได้เรียนทฤษฎีในห้องเรียนแล้ว ก็จะต้องออกทริปเพื่อปฏิบัติจริง ผู้เขียนได้เดินทางไปยังจังหวัดปราจีนบุรีเพื่อสำรวจและทำแผนที่ของโบราณสถาน และยังมีการออกทริปค่ายพฤกษศาสตร์ ที่อุทยานแห่งชาติขุนตาล
ในทริปนี้เราจะได้เดินสำรวจในป่าและวาดรูปพืชพรรณไม้ต่าง ๆ และในช่วงสุดท้ายของค่ายจะเป็นการเดินเขาและเข้าไปตั้งแคมป์ในป่าหนึ่งคืน เราต้องแบ็กแพ็ค ขนเต้นท์ อาหาร และเครื่องใช้ต่าง ๆ เข้าไปเอง ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ต้องก่อไฟเพื่อทำอาหารทานกันในวันนั้น ในปีที่ผู้เขียนได้เดินทางไปนั้นเกิดฝนตกทำให้มีความอันตรายเกินกว่าจะเดินเขาได้ ทำให้ต้องไปถึงสองครั้ง การออกทริปเรียนรู้นอกรั้วโรงเรียนทำให้เราได้มีประสบการณ์ในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปจากชีวิตประจำวัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีทั้งความสบายและความลำบาก อีกทั้งยังทำให้รู้จักการรับผิดชอบตัวเองเมื่อต้องเดินทางหรือทำงานร่วมกับผู้อื่น
กิจกรรมด้านการแสดงเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่นักเรียนทุกคนจะต้องได้ฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรีสากล ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ ที่ทางโรงเรียนจะมีการจัดทริปไปยังสถานที่ต่าง ๆ ให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถ
รวมถึงการแสดงละครประจำปี ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา คือ เรื่องราวที่ได้เรียนรู้มาจากวิชาหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าจากตำนานเทพนิยาย เรื่องในประวัติศาสตร์ หรือชีวประวัติของบุคคลสำคัญ จะถูกนำมาถ่ายทอดเป็นละครที่แสดงโดยนักเรียนในวันปิดภาคการศึกษา หากเป็นการแสดงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาก็จะมีความท้าทายมากขึ้น โดยจะแสดงเป็นภาษาอังกฤษ เช่น เรื่องราวของเทพกรีก หรือบทละครของ William Shakespeare อีกทั้ง ยังมีการแสดง ยูริธมี่ คือ การแสดงจินตลีลา ที่เป็นจุดเด่นของการศึกษาแนววอลดอร์ฟอีกด้วย และสุดท้ายคือการแสดงละครเพลงของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะได้มีการ Workshop ด้านการแสดงจากอาจารย์มหาวิทยาลัย และผลิตละครเพลงที่มีแสง สี เสียงแบบเต็มรูปแบบ
ในบางปีอาจมีโปรเจคพิเศษที่นักเรียนมัธยมต้องทำร่วมกัน เช่น การจัดงานสัมมนาเยาวชนในหัวข้อเรื่องการศึกษา พวกเราต้องติดต่อหาสปอนเซอร์ เพื่อระดมทุน ผลิตคอนเทนต์ เพื่อการประชาสัมพันธ์ ทั้งงานวารสารที่รวมบทสัมภาษณ์จากผู้คนในแวดวงการศึกษา รวมไปถึงการผลิตหนังสั้นที่สะท้อนเรื่องราวของการศึกษาไทย และเชิญนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค ติดต่อวิทยากร เพื่อเข้าร่วมงาน
ก่อนจะจบการศึกษาจากโรงเรียนนี้ได้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนจะต้องคิดหนึ่งโปรเจคที่ตัวเองอยากทำ โรงเรียนจะให้เวลาหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์ ให้เราได้ไปค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับโปรเจค และติดต่อหาที่ปรึกษาของโปรเจคที่จะช่วยให้งานของเราสำเร็จลุล่วงไปได้ ในตอนนั้น ผู้เขียนเลือกทำโปรเจคหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอด ก็ต้องเริ่มต้นหาข้อมูล ติดต่อนักเขียนที่เป็นคนตาบอด ซึ่งสามารถให้คำแนะนำกับเราได้ ไปฝึกอ่านหนังสือเสียงที่ห้องสมุดคนตาบอด ฝึกฝนการใช้โปรแกรมผลิตหนังสือเสียง และเขียนคอนเทนต์บทบรรยายสำหรับการท่องเที่ยวให้กับคนตาบอด และเผยแพร่บน Facebook ในกระบวนการทำโปรเจคนี้ ทำให้เรามีประสบการณ์ ได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ที่ไม่รู้มาก่อนว่า ตัวเองสามารถทำได้ เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เราเติบโตขึ้น
หลังจบการศึกษานักเรียนวอลดอร์ฟอาจใช้เวลาหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น เพื่อ Gap Year เป็นการพักจากการเรียนและค้นหาตัวเองในสิ่งที่อยากจะทำต่อไป บางคนอาจจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยในไทย หรืออาจจะหาประสบการณ์ในต่างประเทศ หรืออาจเริ่มทำงานเลย
เส้นทางชีวิตของหนึ่งในนักเรียนโรงเรียนวอลดอร์ฟที่น่าสนใจจากเพื่อนร่วมห้องของผู้เขียน เธอไม่ประสงค์ออกนาม ปัจจุบันเธอคนนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเยอรมนี เป็น Au Pair และเรียนภาษาไปด้วย เรามีโอกาสได้คุยกันบ้าง ผู้เขียนจึงได้ถามถึงแนวคิดเบื้องหลังของเธอก่อนที่จะตัดสินใจย้ายไปอยู่ต่างประเทศคนเดียว
เธอเล่าให้ฟังว่า “หลังจากจบการศึกษา เธอสนใจงานด้านสถาปัตย์ และการศึกษาต่อด้านสถาปัตย์ในประเทศเยอรมนี จึงลองไปฝึกงานในด้านนี้ เมื่อได้ลองทำงานดูแล้วรู้สึกว่างานด้านสถาปัตย์ยังไม่ใช่ที่สุดของตัวเอง แต่ในตอนนั้นก็ได้เรียนภาษาเยอรมันไปด้วย ทำให้เราได้มีสังคม ได้รู้จักกับลู่ทางต่าง ๆ มากขึ้น จึงตัดสินใจมาเป็น Au Pair ที่ต่างประเทศ เพราะเราอยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง อยากเริ่มทำงาน และซัพพอร์ตชีวิตตัวเองได้ ถึงจะแค่บางส่วนก็ตาม”
ผู้เขียนนับถือในความตั้งใจและความสามารถของเธอมากจริง ๆ จึงได้ถามว่าโรงเรียนวอลดอร์ฟได้ให้อะไรกับเธอบ้าง และได้นำมาปรับใช้กับชีวิตอย่างไร ? เธอบอกว่า “เราเรียนโรงเรียนวอลดอร์ฟมาทั้งชีวิต ก็บอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดีกว่าโรงเรียนอื่นอย่างไร แต่สิ่งที่ได้คือการที่เรากล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองได้ อาจจะด้วยการผ่านการทำโปรเจคต่าง ๆ และยังทำให้เรามีสติ ไม่วิ่งหนีปัญหา”
“อย่างเช่น ในช่วงแรกที่มาอยู่ เราได้โฮสต์ที่ไม่ค่อยดี แล้วเราไม่สบายใจ เราก็ต้องหาทางแก้ปัญหานี้ เราเดินทางเกือบทั่วเยอรมันเพื่อติดต่อหาโฮสต์ใหม่ ไปพูดคุยกับเขา แม้กระทั่ง ยอมทำงานให้ฟรีเพื่อที่เราจะได้รู้จักโฮสต์ และสภาพแวดล้อมที่เราจะโอเค อีกอย่างที่สำคัญมากในการมาใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ คือความสามารถในการปรับตัว ทั้งด้านที่อยู่อาศัย อาหารการกิน ภาษา และวัฒนธรรม โรงเรียนให้สิ่งนี้มา โดยผ่านการที่ให้เราทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยและลำบากมาก ๆ”
ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลาในช่วง Gap Year ไปเรียนรู้ในสิ่งที่เราอยากทำ ในตอนนั้นเราอยากฝึกฝนภาษาและหาประสบการณ์จึงไปทำงานพาร์ทไทม์เป็น Receptionist ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง และได้ทดลองทำงานในหลายส่วนของโรงแรม เมื่อได้ลองสัมผัสในงานจริงแล้ว เราคิดว่างานโรงแรมอาจไม่ใช่คำตอบที่ใช่ที่สุดสำหรับเรา บางทีก็รับงานเป็น Staff ของ Performance บ้าง ระหว่างนั้นเราก็กลับมานั่งดูผลงานที่ผ่าน ๆ มาว่าเราน่าจะเหมาะกับอะไรและพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับที่เรียนไปด้วย
จนได้ตัวเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับตัวเองมากที่สุดคือคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะเราคิดว่า DNA ของมหาวิทยาลัยนี้คือความคิดสร้างสรรค์และเน้นการลงมือทำ ซึ่งค่อนข้างเป็นแนวคิดที่ตรงกับ DNA ของเรา ในระหว่างนั้นเราจึงทำพอร์ตเพื่อยื่นทุน BU Creative จนได้ผ่านเข้าไปสัมภาษณ์แต่สุดท้ายก็ไม่ติดทุน
เราได้พยายามอย่างสุดความสามารถแล้วถือได้ว่าการตัดสินใจในครั้งนั้นก็เป็นประสบการณ์ที่ดี เมื่อได้เข้ามาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพแล้ว เราก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะหาประสบการณ์ต่อไป โดยได้ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นหนึ่งในทูตคณะนิเทศศาสตร์ BUCA Global Ambassador 2020 และได้ผ่านการฝึกอบรมทักษะที่มีประโยชน์ต่อการทำงานอย่างมืออาชีพ ในบทบาทของการเป็นทูตคณะนิเทศศาสตร์ เราได้ต้อนรับและแนะนำคณะนิเทศศาสตร์ให้ผู้เยี่ยมชมชาวต่างชาติจากองค์กรอื่น ๆ ที่มาเยี่ยมเยียนคณะ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเรื่องราวจากประสบการณ์ของอดีตนักเรียนโรงเรียนวอลดอร์ฟ ไม่ว่าจะในเส้นทางชีวิตของผู้เขียนเองก็ดีหรือเส้นทางของเพื่อนร่วมห้องของผู้เขียน จะเห็นได้ว่าเราต่างก็มีทางเลือกในชีวิตและจังหวะชีวิตที่แตกต่างกันออกไป และในทุกการตัดสินใจต่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นไปตามที่เราต้องการหรือไม่ เราจะไม่ถือว่ามันคือความผิดพลาด แต่มันล้วนเป็นบทเรียนและประสบการณ์หล่อหลอมให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ เมื่อได้มาย้อนดูสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ทำตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเรียนโรงเรียนวอลดอร์ฟ ผู้เขียนเองก็ต้องขอบคุณโรงเรียนที่ได้บ่มเพาะทักษะต่าง ๆ ที่สำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ความกล้าในการตัดสินใจ การปรับตัว ความอดทนมุ่งมั่น และการไม่หยุดที่จะเรียนรู้และหาประสบการณ์ และเตรียมความพร้อมให้เราเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงที่เรียกว่าชีวิต
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ
ภาพตะวัน ชุมเกต นักศึกษาสาขาการประชาสัมพันธ์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ และทูตคณะนิเทศศาสตร์ (BUCA Global Ambassdor 2020) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
จิราภัคย์ อัศวปรีชา นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร (นานาชาติ) สาขาเอก Photography and Filmmaking
NONSTER. (2552, 3 พฤษภาคม). การศึกษาวอลดอร์ฟ (Waldorf Education). สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2564 จาก https://nontster.wordpress.com/2009/05/13/การศึกษาวอลดอร์ฟ-waldorf-education