ประสบการณ์การการเรียนรู้ที่ท้าทายเด็กรุ่นใหม่คือการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง การเรียนรู้ด้านธุรกิจจึงมีเวทีประกวดมากมายให้นักศึกษาได้เข้าร่วม เราขอชวนมาทำความรู้จัก ทีมนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ ที่ผนึกกำลังกัน สามสมอง สองมือ สร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง ประกอบด้วย พี่เซ้นส์-ชลลดา คุ้มภัย, พี่แพรว-วรดา ต่อวัฒนกิตติกุล พี่พัช-พัชร์ธณิช จันทร์เกลี้ยง นักศึกษาสาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ และพี่กัปตัน-รวิพล หงส์งาม นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์
พวกเขาส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดแผนสื่อสารการตลาด รูปแบบ Clip โฆษณา “The Power of Brand นมไทย-เดนมาร์ค เพิ่มพลังแบรนด์ยืนหนึ่ง” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 539,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร ผลปรากฏว่าพี่ ๆ ทั้ง 4 คน คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3
เราจะพามาจับเข่าคุยกับ 3 ตัวแทนผู้เข้าประกวด และตัวแทนฝ่าย Production ว่า ทั้ง 4 คนมีแรงบันดาลใจอะไร ในการสร้างสรรค์ผลงานจนประสบความสำเร็จ
พี่เซ้นส์-ชลลดา คุ้มภัย นักศึกษาสาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ
เรียนรู้จากโจทย์จริง
การทำงานข้ามศาสตร์ ข้ามคณะคือการยกระดับการเรียนรู้ เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกัน พี่เซ้นส์ บอกกับเราว่า “พวกเรามาจากโครงการ Learning Talent and Development Program หรือ LTDP เหมือนกัน โครงการนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ และคณะนิเทศศาสตร์ทำงานร่วมกัน ทำแผนธุรกิจและแผนการสื่อสาร เราได้เรียนรู้จากโครงการนี้ และยังเคยไปแข่งโครงการอื่นมาด้วยกัน ก็เลยต่อยอดมาถึงการส่งแผนการสื่อสารด้านธุรกิจเข้าร่วมประกวด”
พี่เซ้นส์ ขยายความต่ออีกว่า “LTDP เป็นโครงการทำแผนการตลาด จะมีโจทย์จากโอสถสภาโดยให้ผลิตภัณฑ์จริง มาเป็นโจทย์จริงให้พวกเราทำแผนตลาดกันตามโจทย์ ก็จะมีการจัดการเรียนการสอนแบบให้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาด รวมถึงเรามีการเรียนร่วมกับนิเทศศาสตร์ พวกเราได้เรียนอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่ด้านบริหาร เช่น การทำคลิป ทำ Storyboard มุมกล้อง รวมถึงศาสตร์ของทางคณะนิเทศศาสตร์ โครงการนี้จะมีการรับสมัครทุกปี โดยอาจารย์จะคัดเลือกนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจเข้าร่วมโครงการ คัดจากทัศนคติในการสัมภาษณ์ ตอบคำถาม ความตั้งใจ โดยแต่ละปีจะมีโจทย์แตกต่างกันออกไป”
พี่แพรว-วรดา ต่อวัฒนกิตติกุล นักศึกษาสาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ
เราถามต่อเนื่องถึงโครงการที่ได้รับรางวัล พี่แพรวอธิบายว่า “โครงการที่เราเข้าประกวดเป็นโครงการเกี่ยวกับการแข่งขันแผนการสื่อสารการตลาด เหมือนกับเราต้องไปทำแผนการตลาดให้กับแบรนด์ไทย-เดนมาร์ค โดยสื่อออกมาในรูปแบบของคลิปวิดีโอ แรงบันดาลใจส่วนใหญ่ในการผลิตงานคือมาจากประสบการณ์หลายอย่าง และก็มาจากชีวิตจริงเลย จากอินไซท์ที่เราเองหรือเพื่อนที่ยังเป็นเด็กเคยเจอ”
การตลาดดิจิทัล X ดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์
เมื่อทีมเริ่มคิดไอเดียการทำงาน สิ่งสำคัญคือการมีเพื่อนร่วมทีมจากต่างสาขา มาร่วมเติมเต็ม พี่พัชเล่าให้ฟังอีกว่า “ต้องบอกก่อนว่าเราจะมีเด็กฟิล์มมาช่วยด้วย ในส่วนของเด็กฟิล์มก็จะมาช่วยในเรื่องของ Production การถ่ายทำ โดยเราทีมบริหารจะเป็นแรงสมองในส่วนของการคิดแผนการตลาด เช่น พวกแนวคิด ข้อมูลเนื้อหาต่าง ๆ ที่จะนำเสนอออกมา”
พี่พัช-พัชร์ธณิช จันทร์เกลี้ยง นักศึกษาสาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ
พี่ ๆ เล่าถึงการทำงานอย่างสนุกสนาน “ทีมบริหารพวกเราก็จะทำความเข้าใจ หาความรู้เกี่ยวกับแผนการตลาดที่เราทำกับแบรนด์ให้มากที่สุด เพราะว่าเราต้องมีการตอบคำถามให้ชัดเจนและสื่อสารให้ชัดเจน เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์เพราะเราต้องวิเคราะห์โจทย์แบรนด์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค ส่วนทักษะใหม่ที่ได้มาคือในเรื่องของการถ่ายทำ Production การทำ Storyboard เป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับพวกเรา”
ความยืดหยุ่นทางความคิดและการแก้ปัญหา
การเรียนรู้ด้วยโปรเจคเป็นตัวตั้งเป็นความท้าทายที่จะต้องเกาะติดกับสถานการณ์ปัจจุบัน “เรื่องของการคิดแผนงานมันมีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้งมาก ถึงแม้ว่าเราจะไปเสนองานจนผ่านเข้ารอบมาแล้วแต่ก็จะมีคำแนะนำจากกรรมการที่แนะนำเพิ่มเติมให้เราไปปรับปรุงแก้ไข เราต้องกลับมาคิดกันใหม่หลายครั้ง ในส่วนของการออกไปถ่ายทำ เรามีเวลาที่วางเอาไว้ว่าทุกอย่างจะเสร็จประมาณ 4 ทุ่ม แต่เกินเวลาไปถึงตี 2-3 พอมันเกิดปัญหาขึ้น เราจะมีการคุยกันปรึกษากันว่าตรงไหนที่ดีและเทคไหนโอเคแล้วก็รันไปได้เลย”
ในส่วนนี้พี่กัปตันขยายความให้เราฟัง เพราะมาจากสายโปรดักชั่น “ดีใจที่ได้มาช่วยงานเพื่อน ๆ เราเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว เขาก็เลยชวนมาช่วยงาน เพราะด้วยที่เราเป็นเด็กฟิล์มเรามีความรู้ในด้านการทำวิดีโออยู่แล้ว เขาเลยให้เรามาช่วย”
พี่กัปตัน-รวิพล หงส์งาม นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์
การสื่อสารบวกกับไอเดียทางธุรกิจ
จากโจทย์ของแบรนด์ทำให้ทางทีมต้องตีความออกมาและเล่าเรื่องให้ตอบโจทย์ พี่กัปตันในฐานะฝ่ายโปรดักชั่นบอกว่า “โจทย์คือการที่เราทำคลิปขึ้นมา คลิปนี้มาจากอะไร ช่วยอะไร พอเผยแพร่เนื้อหาสู่สังคมแล้วจะมีผลอย่างไร ก็เหมือนเราทำคอนเทนต์เลย คอนเทนต์ต้องตอบโจทย์ ทุกแผนที่เราคิดมา มีแนวคิดอะไรในการทำวิดีโอ แนวคิดของงานนี้คือเราไปดูวัตถุประสงค์ก่อนว่าทางผู้จัดงานเขาต้องการอะไร เราต้องไปขุดหาสิ่งที่ทางผู้จัดต้องการจริง ๆ เขาจัดงานนี้มา เพราะมีวัตถุประสงค์อะไร เราก็คิดที่ต้องตอบโจทย์เขาให้ได้ เขาต้องการให้เราสื่อสารแบรนด์ เราทำวิดีโอที่ตรงโจทย์ จับจุดผู้บริโภคให้ได้”
พี่กัปตัน บอกถึงการเล่าเรื่องราวในคลิปวิดีโอที่ส่งประกวดให้เราฟังว่า “เรื่องที่เรานำเสนอเป็นเรื่องราวดราม่าเรื่องหนึ่ง คล้ายกับลูกเนรคุณคือลูกไม่เห็นความสำคัญที่แม่ดูแลหรือพยายามทำให้ลูก โดยที่เขาไม่สนใจว่าที่เขาเติบโตมีชีวิตมาได้เพราะแม่มาตลอด แม่ซัพพอร์ตตัวลูกในทุกอย่าง ซึ่งเราแทนความรักของแม่ที่แอบทำมาตลอดเป็นนมไทย-เดนมาร์ค”
พี่พัช กล่าวเสริมว่า “ทุกสิ่งที่แม่ทำให้ แต่ลูกไม่เคยเห็นค่า ในเรื่องก็จะมีขัดแย้งกัน โดยเราจะใช้ตัวแบรนด์นมไทย-เดนมาร์คเป็นตัวสื่อแทนความรักของแม่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บอกรักแต่นี่คือสิ่งที่แทนคำว่ารัก”
สามสมอง สองมือ
การขับเคลื่อนให้เกิดงานวิดีโอชิ้นนี้จึงอาศัยความร่วมมือกันทั้งเด็กบริหารธุรกิจและเด็กฟิล์ม “ทางฝั่งบริหารเขาเป็นเหมือนฝั่งความคิด ฝั่งสมอง ส่วนเราเป็นฝั่งมือ ส่วนใหญ่ทางเพื่อนบริหารก็จะคิดคอนเทนต์แล้วตัวเราเป็นผู้กำกับ เราก็จะไปดูงานในส่วนของทางนั้นบ้าง เพราะเรามีพื้นฐานในด้านนี้อยู่แล้วเราก็จะเป็นคนไปให้คำปรึกษาทางบริหารว่าแบบไหนทำแล้วดีกว่า สิ่งที่เราต้องทำหลักก็คือ เอาความคิดของเขามาควบคุมการทำงานในด้าน Production ให้เสร็จสมบูรณ์” พี่กัปตันบอกกับเรา
อีกทั้งการได้มาทำงานร่วมกัน ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้กันและกันมากขึ้น “การที่เราได้มาทำมีเดียให้กับทางบริหารเนื่องจากเราเป็นเด็กฟิล์มทำให้เราต้องคิดเยอะ ใช้เครื่องมือในการทำสื่อที่แตกต่างกัน เพราะมันคือโฆษณาตัวหนึ่ง ซึ่งมันคนละศาสตร์กับภาพยนตร์ ฝั่งบริหารก็จะมีทั้งไอเดีย ทั้งวิธีการ ทั้งกระบวนการต่าง ซึ่งประยุกต์ใช้กับทางภาพยนตร์ได้เช่นกัน”
เรียนรู้จากงานที่ทำ เปิดประสบการณ์ใหม่
“เราได้มิตรภาพในการทำงานกันเป็นทีม เพราะเราก็ต้องไปขอความช่วยเหลือจากทาง Production ด้วย ทำให้เกิดมิตรภาพระหว่างคนละคณะ สาขา ได้รู้จักเพื่อนใหม่มากขึ้น และเรามีความประทับใจในส่วนของการทำงานของ Production มาก ๆ ด้วยที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยทำมาก่อน” พี่แพรว พี่เซ้นส์ และพี่พัช ตอบคำถามเราเกือบจะพร้อมกัน
พวกพี่ ๆ เขายังบอกอีกว่า “รู้สึกดีใจนะ พวกเราคิดว่า อาจจะไม่ได้รางวัล เพราะกรรมการค่อนข้างติว่าวิดีโอเป็น emotional จะมีหลายทีมที่ทำวิดีโอสื่อสารทางด้านอารมณ์เยอะ กรรมการก็ไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ แต่เป็นทีมเดียวที่เป็นวิดีโอแนวสื่อสารอารมณ์แล้วได้รางวัล พวกเราได้รับคำชมจากผู้บริหารของทางไทย-เดนมาร์ค ซึ่งเราน่าจะเป็นทีมเดียวที่ผู้บริหารเขาพูดว่าผลงานของเรามันตรงกับสิ่งที่เขาอยากจะสื่อสารไปถึงผู้บริโภค ตรงโจทย์ที่ทางแบรนด์อยากจะทำ นอกจากนั้นก็มีเพื่อน ๆ ทีมอื่นชมด้วย”
ก่อนจากกัน พี่ทุกคนได้ส่งข้อความประทับใจถึงเพื่อนและอาจารย์ที่เกี่ยวข้องในการทำผลงานว่า “พวกเราอยากขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษามากค่ะ เพราะว่าช่วยพวกเราเกลาไอเดีย เกลาความคิดหลายอย่าง ทำให้แผนของเรามันมีพลังมากขึ้น การเรียนการสอน ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เราได้เรียนรู้จากโครงการ หรือแม้กระทั่งในห้องเรียนเอง ทำให้เราได้ฝึกฝนตัวเองเรื่อย ๆ จนเราสามารถที่จะไปสู้กับโลกภายนอกได้”
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ พี่เซ้นส์-ชลลดา คุ้มภัย, พี่แพรว-วรดา ต่อวัฒนกิตติกุล พี่พัช-พัชร์ธณิช จันทร์เกลี้ยง นักศึกษาสาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ และพี่กัปตัน-รวิพล หงส์งาม นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ