อาจารย์ลูกบอล-พัชราพร ดีวงษ์ การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่หัวใจสำคัญอยู่ที่ Passion และ Creativity

เรียนในสิ่งที่ชอบและใช่ทำให้เราไปได้ไกลกว่าคนอื่น

            “เด็กที่เรียน iFIT กับเรา ก็ต้องให้ FIT กับความชอบของเขา” วลีหนึ่งของอาจารย์ที่เคยสอนเลคเชอร์บรรยายหน้าห้องเรียนธรรมดา ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เข้ากับเด็กรุ่นใหม่ แล้ว iFIT คืออะไร หลายคนอาจจะยังสงสัย

            เราพาทุกคนไปร่วมพูดคุยหาคำตอบกับ โค้ชลูกบอล-อาจารย์พัชราพร ดีวงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถึงรูปแบบของการสอนแบบ iFIT (Individual Future Innovative Learning of Thailand) ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเห็นว่าเมื่อนักศึกษามีการเปลี่ยนเรื่องพฤติกรรมการเรียน เทคโนโลยีเปลี่ยน ความชอบของนักศึกษาก็หลากหลาย และมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับความชอบของนักศึกษา

            รูปแบบของการเรียนที่มีนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง แน่นอนว่านักศึกษาแต่ละคนมีความชอบที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคืออาจารย์ต้องปรับรูปแบบการสอนให้ตอบโจทย์ผู้เรียน เพื่อผลิต “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” ที่มีทักษะชีวิต (Soft Skill) และทักษะวิชาชีพ (Professional Skill)

จุดเริ่มต้นของการก้าวมาเป็นโค้ช iFIT

            “โค้ชลูกบอล” กล่าวว่า… “จุดเริ่มต้นของการได้มาสอน iFIT ก็น่าจะมาจากที่มหาวิทยาลัยมองเห็นว่าอาจารย์คนไหนเหมาะกับการที่จะมาเป็นโค้ช เพราะการสอน iFIT หมายถึงการสอนแบบที่เปลี่ยนจากอาจารย์ที่เป็นศูนย์กลาง มาเป็นนักศึกษาเป็นศูนย์กลางแทน ดังนั้นอาจารย์จะเปลี่ยนบทบาทตัวเองมาเป็น “โค้ช” อาจารย์จะต้องสามารถคุยกับนักศึกษาและทำให้เขารู้สึกทำงานร่วมกันแล้วสบายใจ นี่ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นแรกเลยที่ได้มีโอกาสเข้ามาสอน iFIT”

iFIT เรียนได้มากกว่าคณะตัวเอง

            แล้ว iFIT เขาเรียนแบบไหนกัน ? โค้ชลูกบอลเล่าให้ฟังถึงความสนุกกับการเรียนแบบใหม่นี้ว่า “iFIT ไม่จำเป็นต้องเรียนในคณะตัวเอง เพราะว่ารูปแบบของ iFIT คือรูปแบบของการที่ยึดนักศึกษาเป็นหลัก ลักษณะของแต่ละคนจะแตกต่างกัน เขาก็สามารถที่จะเลือกเรียนตามความชอบตามความถนัดได้ เช่น เด็กนิเทศศาสตร์สนใจเรียนเรื่อง แฟชั่น เสื้อผ้า เพื่อนำมาใช้ในงานโทรทัศน์ ก็อาจเรียนบูรณาการโดยเชิญอาจารย์คณะศิลปกรรมมาเติม skill เรียนรู้เพิ่มเติมในด้านนี้ได้”

การเรียนรู้แบบ iFIT กับทักษะของคนในศตวรรษที่ 21

            วิชา iFIT ที่อยากจะให้นักศึกษามีทักษะชีวิตติดตัวนี่คือความสำคัญที่โค้ชลูกบอลบอกกับเรา เพราะไม่ได้มองว่างานคุณต้องเป็น Professional ไม่ใช่ขนาดนั้น แต่สิ่งที่อยากให้นักศึกษาเรียนรู้คือทักษะชีวิต ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่สุดในมุมมองของโค้ช เพราะว่าทักษะในเรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถเรียนรู้ ได้เองตลอดเวลา แต่ทักษะทางด้านอารมณ์ ทักษะทางด้านชีวิตจะต้องเรียนรู้ผ่านการทำงาน และการทำงานที่ทำงานเป็นกลุ่มซึ่งทำให้พวกเขาได้เรียนรู้เลยว่า หนึ่ง เกิดความยืดหยุ่น สอง แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ สาม มีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้เมื่อมาอยู่ด้วยกัน เกิดกระบวนการเรียนรู้ไปด้วยกัน ดังนั้น Project Based หรือว่าการเรียน iFIT จึงจะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของทักษะในการทำงานมากกว่าการเรียนแบบ Lecture base

เมื่อเจอสิ่งที่ใช่….ทำอะไรก็มีความสุข

            เราได้พูดคุยกับโค้ชลูกบอล ท่ามกลางการได้เห็นอาจารย์สอนวิชา iFIT ไปด้วย นั้นคือการเรียนของกลุ่มเด็กที่ชอบเรียนทางด้านวิทยุหรือชอบทางด้านการใช้เสียงอย่าง Podcast พอเป็นแบบนี้จึงทำให้การออกแบบการสอนง่ายกว่าเมื่อก่อน เพราะนักศึกษาทุกคนมีความชอบที่ชัดเจน เมื่อความชอบชัดเจน เวลาที่สอนสิ่งที่นักศึกษาชอบคือ นักศึกษาจะมีการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น พร้อมทั้งได้ทำในสิ่งที่ชอบ จะรู้สึกแฮปปี้ และมีความสุขในการเรียน แต่ระหว่างการเรียนความแตกต่างก็มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ก็ต้องวางแผนว่าจะให้นักศึกษาทำโปรเจ็กต์อะไร ทำงานอะไรถึงจะ Fit ในการเรียนของตัวนักศึกษา

เรียน iFIT แปลทฤษฎี เป็นการปฏิบัติ

            เมื่อตั้งคำถามกลับไปว่าแล้วแบบนี้คนที่เรียน iFIT จะได้รู้ทฤษฎีไหม โค้ชลูกบอลเล่าให้ฟังต่อเพื่อขยายความให้เห็นภาพว่า “จริง ๆ แล้วการเรียนแบบ iFIT ก็มี Lecture แต่ Lecture ของ iFIT คือเวลาก่อนที่อาจารย์จะสอน จะดูสกิลของนักศึกษาที่ต้องดูแล พอสอน iFIT จะไม่เรียกตัวเองว่าอาจารย์แล้ว เราจะเปลี่ยนบทบาทจากอาจารย์เป็นโค้ช โค้ชนั่นหมายถึงคนที่เอื้ออำนวยความสะดวก ให้นักศึกษาสมมุติเอกับบี มีสกิลที่แตกต่างกัน เอชอบพูด บีชอบเขียน เมื่อสองคนนี้มาอยู่ด้วยกัน อยากจะรู้ว่าสกิลสองคนนี้มีเท่าไหร่ เริ่มจากการสังเกตหลังจากนั้นสิ่งที่อาจารย์จะต้องทำคือ ถ้าทักษะของสองคนนี้ขาดด้านไหนก็เติมตรงส่วนนั้น”

            “สมมุติ บีจริง ๆ ก็อยากพูดเก่งเหมือนกัน เอก็อยากเขียนเก่งเหมือนกัน หน้าที่โค้ชคือต้องหาคนที่เก่งในเรื่องทักษะเขียน ทักษะพูด แล้วมาเติมให้เขา ดังนั้นการเรียนแบบ iFIT  มันเลยทำให้เกิดกลุ่มย่อย และมันค่อนข้างจะเข้มข้นกว่าการเรียนปกติ ตรงนี้แหละที่ทำให้รู้จักนักศึกษา ได้รู้จักความชอบเขา หรือว่าได้รู้จักสกิลของนักศึกษาก่อน แล้วเราก็ไปเติมเต็มตรงสิ่งนั้นที่เขาหายไป อันนี้คือสิ่งที่มองว่าเรียน iFIT กับ ทฤษฎี แตกต่างกันอย่างไร นี่ก็คือข้อชัดเลยคือโค้ชจะรู้จักนักศึกษา ถ้าเขาขาดอะไรก็สามารถเติมสิ่งนั้นได้เลยนี่คือหน้าที่ของโค้ช”

เทคนิคการสอนแบบสนุก…สไตล์โค้ชลูกบอล

            เทคนิคแรกเลยคือมีนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง เมื่อเข้าไปในคลาสจะไม่ใช่โค้ชที่นำ แต่นักศึกษาที่ต้องนำโค้ช อย่างแรกโค้ชต้องหาก่อนว่านักศึกษามาทำไม อยากได้อะไร อย่างแรกเลยคือต้องมีการกรองมาแล้วส่วนหนึ่ง ว่าความชอบที่อยากมาทำอย่าง Podcast เมื่อคนกลุ่มนี้มีภาพชัด โค้ชจะปั้นนักศึกษาหรือโค้ชจะป้อนข้อมูลอะไรให้กับนักศึกษาก็ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่จะสนุกต้องเกิดจากสิ่งนักศึกษาต้องการ นั่นคือการฟังสิ่งที่นักศึกษาอยากเรียน บางทีแต่ละคนมีความอยากได้ไม่เหมือนกัน แต่พอมารวมๆ กันแล้ว ต้องมาคุยกัน ลองมาดูสิ่งที่ทุกคนกำลังขาดอยู่ กำลังขาดเรื่องอะไร จึงเริ่มเห็นภาพของคลาสเรียน พอโค้ชได้ออกแบบการสอนแล้ว ลงมือสอนจริงแล้ว นักศึกษาได้สกิลตรงนี้จะเป็นเทคนิคเรื่องของ Production ดังนั้นอาจารย์ผู้สอนเองก็ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจะพบเจอกับความสนุกอะไรที่จะออกมาจากตัวของนักศึกษาที่ต้องการจะเรียนรู้

            โค้ชลูกบอลเล่าต่อว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของอาจารย์ในการสอน iFIT มีผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ เข้ามาคอมเมนต์งานนักศึกษา ในมุมของอาจารย์เอง นักศึกษารุ่นใหม่เขาทำงานเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่ต้องการได้จากโค้ชคือการคอมเมนต์งาน เช่น เขาเล่าเรื่องดีไหม จุดที่ต้องพัฒนาต่อไป อะไรที่ดีก็ต้องชม อะไรไม่ดีก็ต้องติ เมื่อติแล้วจะได้เรียนรู้ว่าการทำงานในชีวิตจริงเป็นแบบนี้ การเรียนรู้ก็เหมือนกับการที่นั่งทำงานไปด้วยกัน มีคอมเมนต์งานกัน และสิ่งที่สำคัญที่สุดงานของนักศึกษาได้ผ่านการคอมเมนต์มาหลายรอบ จนงานเป็นมาสเตอร์พีท โค้ชจึงค่อยส่งประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น มาช่วยคอมเมนต์ เพื่อพัฒนางานนักศึกษาให้มีความสมบูรณ์เทียบเท่ากับผลงานจริงในวงการ นี่แหละคือเทคนิคการสอนของโค้ชค่ะ”

การให้คะแนนและการประเมินผลงานนักศึกษา

            Final Project ของวิชาอาจารย์ จะเป็นคนข้างนอกหรือคนที่มีประสบการณ์มาฟังการพรีเซนท์และคอมเมนต์ แต่คนข้างนอกมาฟังไม่ได้มีผลต่อการให้คะแนน เพราะเขาไม่ได้เห็นกระบวนการของความคิดในเติบโตของนักศึกษากลุ่มนี้ แต่เป็นตัวโค้ชเองที่เห็นพัฒนาการของนักศึกษา เช่น นักศึกษาคนนี้เรียนเก่งมากยังไงก็ได้ A แน่นอน แต่สิ่งที่โค้ชจะภูมิใจที่สุดคือการสอนจากคนที่ได้เกรด D แล้วมีพัฒนาการไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเป็น A วันที่มีคนข้างนอกมาฟังการพรีเซนท์ของนักศึกษา เขาจะชื่นชมงาน แต่เขาไม่ได้มีโอกาสเห็นภาพเบื้องหลัง

            ดังนั้นคะแนนที่ได้มาจากโค้ชเพราะได้เห็นถึงพัฒนาการของนักศึกษาคนนั้น นอกจากนั้นคะแนนอีกส่วนหนึ่งมาจาก การประเมินการทำงานกันเองของนักศึกษาที่ทำงานร่วมกัน เพื่อฝึกให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการรับฟังความคิดเห็น และการยอมรับคำคอมเมนต์จากเพื่อนเพื่อนำไปพัฒนางานตนเอง อีกทั้งยังเพิ่มทักษะการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน

ทำโปรเจ็กต์ iFIT จะมีประสบการณ์เท่าเด็กฝึกงานหรือเปล่า

            “คนที่เรียน iFIT ก็ได้ฝึกงาน หมายถึงว่าพอได้เรียน iFIT นักศึกษาก็ได้ฝึกงานในองค์กรที่มีอาจารย์เป็นผู้ดูแล นี่คือความแตกต่าง แต่ถ้าออกไปทำงานจริง ๆ ได้ฝึกองค์กรใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่ถนัดหรือความชอบ ของนักศึกษาแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความเหมือนกับความต่าง ไม่ได้ต่างกัน อยู่ที่ตัวนักศึกษา พื้นฐานความตั้งใจ ใฝ่รู้ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็กต์ หรือฝึกงาน ถ้าเกิดใส่ใจ ตั้งใจที่อยากทำ และสามารถทำได้ทั้งสองทางเลย ผลที่ได้คือเท่ากัน ถ้านักศึกษาบอกว่า ไม่จริงหรอก ออกไปฝึกงานน่าจะได้ประสบการณ์เยอะกว่า แต่ถ้าเขาไม่ตั้งใจ ไม่ไปฝึกงาน มันก็ไม่ต่างอะไร ทุกอย่างอยู่ที่ตัวนักศึกษาเอง ไม่สามารถบอกได้ว่าโปรเจ็กต์ดีกว่าหรือฝึกงานดีกว่ากัน เพราะท้ายที่สุดต้องมองว่าตัวเองพร้อมที่จะทำงานในแบบไหน”

            ก่อนจากกันไปอาจารย์ลูกบอล ฝากทิ้งท้ายกับเราว่า “อยากศึกษาอะไร ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ตัวคุณ เพราะสิ่งที่โค้ชสามารถทำได้คือคอยเติมสกิลเหล่านั้นให้ นักศึกษาเรียนจากความชอบของตัวเองแล้วได้สำรวจดูว่า ตัวเองชอบโปรเจ็กต์ไหนและทำโปรเจ็กต์นั้นได้จริงหรือเปล่า ดังนั้น iFIT จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนแบบโปรเจ็กต์ แล้วสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ค่อนข้างชัดเจนและเห็นภาพมากที่สุดนั่นเอง”

Writer

มดเอ็กซ์ เด็กนิเทศฯ ที่มีใจรักในการทำกิจกรรม แต่ต้องหันมาลองทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ทั้งงานเขียน งานถ่ายภาพ ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมารับหน้าที่เป็นคนเขียน ปกติเป็นคนไม่อ่านหนังสือ ไม่อ่านบทความยาว ๆ พอได้ลองเขียนแล้วก็มีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกอยากเขียนต่อแบบจริงจังมากขึ้น

Writer

นักเขียนมือสมัครเล่น ยังไม่มีฝีมือดีในด้านเขียนมากนัก หลงใหลเสียงเพลงรัก ทำให้เขาคิดว่า ความรักคือสิ่งที่สวยงาม เลยเดินตามหารักแท้ แต่มันหายาก เดินตามหาของกินง่ายกว่า

Writer

นักเขียนตัวน้อยที่ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะเขียนได้ ชอบถ่ายรูปมากกว่า แต่อยากมีคนถ่ายรูปสวย ๆ ให้ ถูกชะตากับสีแดง ชอบคนพาไปกินของอร่อย ๆ แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครพาไปเลย

Writer

เด็กนิเทศฯ ปกติชอบโดนถ่าย แต่ตอนนี้กำลังฝึกถ่ายภาพ ชอบใช้ชีวิตวนลูป เริ่มเบื่ออะไรเดิม ๆ และช่วงนี้กำลังหาอะไรใหม่ ๆ ทำ

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว

Photographer

เด็กฝั่งธนฯ มารังสิต เป็นอดีตนักเรียนโรงเรียนสถาปัตย์ ที่ผันตัวเองจากการออกแบบมามองสิ่งต่าง ๆ ผ่านเลนส์

Photographer

ภูมิครับ เป็นน้องใหม่ใน Be You LIFE อยู่ตำแหน่งถ่ายภาพครับ ได้มาร่วมงานเพราะมีรุ่นพี่ชวนและจะพัฒนาผลงานต่อไปครับ

Photographer

บอมนะครับ พี่เขาชวนเข้ามาแต่งภาพให้ ก็รู้สึกสนุกที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ถือว่าได้ประสบการณ์การทำงาน ต่อจากนี้จะพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้นเรื่อยไปครับ