อาจารย์สุนทรี ผลวิวัฒน์ Circular Economy แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อความคิดเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยนกับอาจารย์สุนทรี ผลวิวัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

            จุดเริ่มต้นจากความสนใจในเรื่องขยะเมื่อหลายปีที่แล้ว จนวันนี้ อาจารย์น้อย-อาจารย์สุนทรี ผลวิวัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เริ่มต้นลงมือทำมันให้เป็นความจริง ด้วยแนวคิด Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมคิด-ร่วมเปลี่ยน-เพื่อโลกของเรา มาร่วมกันแยกขยะให้ถูกต้องเพื่อหมุนเวียนทรัพยากรนำกลับมาใช้ใหม่ โดยสร้างวัฒนธรรมการแยกขยะอย่างจริงจัง

ขยะคือทองคำที่อยู่รอบตัวเรา

            การได้ดูคลิปวิดีโอที่เป็นเรื่องราวของ “วงษ์พาณิชย์” บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจการคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลอย่างครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีสาขามากกว่า 1700 สาขา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เป็นจุดประกายสำคัญที่ทำให้อ.น้อยหันมาสนใจงานด้านสิ่งแวดล้อม

            “ย้อนกลับไป 2-3 ปีครูได้ดูคลิปของบริษัท “วงษ์พาณิชย์” เจ้าของคือ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ หรือเรียกอีกชื่อว่า ราชาขยะ ผู้เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทองคำ เราก็คิดว่ามันเป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนหรือลงทุนน้อยมากเพราะขยะคือของที่คนทิ้งอยู่แล้ว แค่คุณไปโกยมันเข้ามา แล้วคุณแยกขยะ เป็นกระดาษ เป็นขวดพลาสติก เป็นแก้วเป็นกระป๋อง แล้วแยกขาย แล้วคุณก็เอาไปขายเงินเป็นของคุณทั้งหมด ที่สำคัญไม่มีผู้แข่งขัน ครูคิดว่ามันเป็นอาชีพที่น่าสนใจมากและขยะกำลังเป็นปัญหาของโลก”

            จากความสนใจต่อยอดสู่การเรียนรู้อย่างจริงจัง ทำให้มีความเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการขยะ

            “ครูหาความรู้เพิ่มเติมจากการร่วมฟังบรรยายที่ดร.สมไทย มาเล่าประสบการณ์กว่า 40 ปีให้นักศึกษา BUSEM และนักศึกษาภาควิชาการโฆษณา ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ไปดูงานที่วงษ์พาณิชย์ สำนักงานใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก และตัดสินใจไปเรียนรู้วิชาขยะวิทยา โดยเข้าอบรมการคัดแยกขยะเพื่อธุรกิจรีไซเคิล ที่วงษ์พาณิชย์ ”

            “ครูคิดว่า วิชาความรู้เหล่านี้ควรนำมาจัดการเรียนการสอนเราในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ครูอยากให้ทุกคนหันมาศึกษาและรู้จักการแยกขยะ สร้างรายได้และเกิดประโยชน์ต่อสังคม ต่อให้ไม่ได้ทำธุรกิจก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้รู้วิธีการแยกขยะไว้เพราะว่ามันเป็นประโยชน์สำหรับตัวเรา และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม”

ทำไมต้อง Circular Economy: เศรษฐกิจหมุนเวียน

            หลายคนคงสงสัยว่าแล้ว Circular Economy มันคืออะไร อ.น้อยอธิบายให้ฟังแบบง่าย ๆ ว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนมันเริ่มจาก ในอดีตเรานำทรัพยากรมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหรือบริการ  ผู้บริโภคซื้อไปใช้ ใช้เสร็จเราก็ทิ้ง ทิ้งเสร็จก็กลายเป็นขยะ ซึ่งของบางอย่างยังดีอยู่ นำไปใช้ต่อได้ นำกลับไปรีไซเคิลได้ ถ้าทิ้งไปเราก็สูญเสียทรัพยากรไปเปล่า ๆ มันจึงเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้น คือ การที่เราพยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ใช้ได้นานที่สุด และเกิดขยะให้น้อยที่สุดหรือไม่มีของเหลือทิ้งเป็นขยะเลย (Zero Waste)

            “ เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ลดปัญหาขยะล้นโลก ถ้าทุกคนช่วยกันลดการสร้างขยะ (Reduce) เลือกใช้ของที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง (Reuse) และ แยกขยะให้ถูกวิธีเพื่อจะได้นำไปรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นวงจรหมุนเวียนต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด ”  แนวคิดนี้จึงถูกนำมาใช้ในทุกวงการในปัจจุบัน

 

จาก Circular Economy สู่ Creative Community for Change ชุมชนสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

            อ.น้อยอธิบายที่มาที่ไปของโครงการ Creative Community for Change ว่า “ครูได้ไปอ่านหนังสือจาก TCDC หัวข้อคือ Circular Economy เลยคิดว่าอยากลองทำโครงการนี้ใน ม.กรุงเทพดูไหม ครูให้โจทย์นักศึกษา ในโครงการ iFIT AdAgency พี่เอ็ม-พีรวัส เตียวเจริญ ให้เขาได้มีส่วนสำคัญในการคิดไอเดียในการชักชวนวัยรุ่นเข้ามามีส่วนร่วม”

            “เราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เรามองว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพแต่ก่อนไม่มีโครงการอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเลย ไม่มีโครงการอะไรที่เกี่ยวข้องกับการแยกขยะเลย ชุมชนสร้างสรรค์แห่งการเปลี่ยนแปลงนี้จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก”

            เริ่มต้นคนเดียวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อ.น้อยจึงชักชวนคนที่มีความสนใจเหมือนกัน มาก่อการเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ เริ่มต้นจากการแยกขยะ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะให้ถูกต้อง

            “Creative Community for Change เป็นโครงการที่เริ่มตั้งแต่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 เราได้ลองผิดลองถูกอะไรมาเยอะแยะมากมาย เราพยายามสร้างคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน คนที่อยากแยกขยะเหมือนกัน คนที่เข้าใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และมารวมตัวกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในมหาวิทยากรุงเทพให้ได้ เราแก้ปัญหาคนเดียวไม่ได้เราต้องมารวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหา เราต้องการปลูกฝังให้เด็กในม.กรุงเทพให้แยกขยะได้”

            ตอนนี้โครงการก็ยังมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง อาจารย์เองก็ตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้น

            เป้าหมายของครู “ครูอยากให้ทุกคนเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และโมเดลการเรียนรู้ให้คนในม.กรุงเทพ นักศึกษาม.กรุงเทพแยกขยะเพื่อรีไซเคิลเป็น ”

            อ.น้อยกล่าวด้วยสีหน้ามุ่งมั่น สำหรับอ.น้อย มหาวิทยาลัยกรุงเทพเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สอง ที่อาจจะใช้ชีวิตอยู่มากกว่าบ้านจริง ๆ เสียอีก

            “ม.กรุงเทพในความเป็นจริงเป็นมหาวิทยาลัยที่สะอาด แต่มันไม่ได้สะอาดเพราะพวกเรา สะอาดเพราะเราจ้างพนักงานมาทำความสะอาด แต่มันจะดีกว่าไหม ถ้าพวกเราทุกคนร่วมมือกันแล้วรักษาความสะอาดเหมือนกับหน้าบ้านหน้ามอง”

            “ครูอยากให้เด็กทุกคน บุคลากรทุกคน พนักงานทุกคน แยกขยะให้เป็น มหาวิทยาลัยจะได้แยกขยะอย่างเป็นระบบ และมีรายได้จาการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ มีรายได้เพิ่มขึ้น การที่เราบริหารจัดการขยะหรือมีการทำ waste management ที่ดี เราวินวินเรามีรายได้ องค์กรมีรายได้ สังคมได้ประโยชน์ ไม่มีขยะ อากาศก็สะอาดสิ่งแวดล้อมก็สะอาด ไม่มีขยะตามที่ต่าง ๆ ถ้าคนเรารู้จักแยกขยะ”

มาร่วมคิด-เปลี่ยน-โลก

            คิดที่จะเปลี่ยนโลก ที่สำคัญคือ เราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน

            อ.น้อยให้คำแนะนำในการเริ่มต้นด้วยตนเองว่า “ให้ใช้หลัก 3R มาช่วย คือ Reduce ใช้ทรัพยากรให้สิ้นเปลืองน้อยลง ใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งให้น้อยลงหรือเลิกใช้ไปเลย สร้างขยะส่วนตัวในแต่ละวันให้น้อยลง  Reuse พยายามเลือกซื้อเลือกใช้สิ่งของที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น แก้วน้ำ -กล่องอาหารส่วนตัว ใช้กระเป๋าผ้าส่วนตัวแทนการถุงพลาสติกหูหิ้ว Recycle ลองฝึกการแยกขยะเพื่อรีไซเคิลแบบง่าย ๆ ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา จนกลายเป็นนิสัยส่วนตัว”

            “วันนี้ลองสำรวจตัวเองในหนึ่งวันตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนเข้านอน เราสร้างขยะอะไรบ้าง ลองประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และ3R กับตัวเอง เพื่อช่วยกันลดขยะ แยกขยะ และใช้ประโยชน์จากขยะให้มากที่สุดนะคะ”

Writer

นักเขียนตัวน้อยที่ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะเขียนได้ ชอบถ่ายรูปมากกว่า แต่อยากมีคนถ่ายรูปสวย ๆ ให้ ถูกชะตากับสีแดง ชอบคนพาไปกินของอร่อย ๆ แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครพาไปเลย

Writer

เด็กนิเทศฯ ปกติชอบโดนถ่าย แต่ตอนนี้กำลังฝึกถ่ายภาพ ชอบใช้ชีวิตวนลูป เริ่มเบื่ออะไรเดิม ๆ และช่วงนี้กำลังหาอะไรใหม่ ๆ ทำ

Photographer

ชื่อเล่นชื่อ ไมเคิล รักในการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบภาพ สี และงานศิลปะต่าง ๆ จึงเลือกที่จะสอบเทียบข้ามชั้นม.6 มาเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ของม.กรุงเทพ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักจริง ๆ ได้ทำงานก่อนเพื่อน ๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว